‘อภิสิทธิ์-อดีตส.ส.เพื่อไทย’ ค้าน ‘ประชามติ’ ปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง

หลังจากวันนี้(13 พ.ค.58) นายไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา และนายศิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกันแถลงเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 โดยเพิ่มข้อความในวาระเริ่มแรก นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติภายใน 90 วัน โดยให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาใช้บังคับอนุโลม เพื่อให้พลเมืองทั้งประเทศเป็นผู้พิจารณาเห็นควรให้มีการปฏิรูปประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งหากพลเมืองออกเสียงประชามติเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสองปี นับจากวันที่มีการออกเสียงประชามติเห็นชอบแล้วจึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ ในกรณีผลการออกเสียงประชามติเสียงข้างมากไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป

นายไพบูลย์กล่าวว่า ที่ต้องเสนอให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 2 ปีนั้นคิดว่า เป็นเวลาที่เหมาะสม ฝ่ายที่ไม่ชอบก็พอทนได้ เพราะถือว่าไม่นานจนเกินไป ถ้านานกว่านี้ประเทศจะเสียหาย

‘อภิสิทธิ์’ ค้านทำประชามติถามประชาชนเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า โดยหลักแล้วการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)  แต่เชื่อว่าทุกคนห่วงใยเรื่องการปฎิรูปที่จะทำให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น  โดยไม่ถูกกดดันจากต่างประเทศหรือจากปัจจัยต่างๆ  แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เชื่อว่าคสช. จะเดินไปตามโรดแมปที่วางไว้

“หากเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ  ควรจะเสนอแก้ไขให้ทำประชามติจะดีกว่า  โดยร่วมกันสนับสนุนกติกาและวางกรอบที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงวางการปฎิรูปประเทศให้รัฐบาลต่อๆ ไปมาสานต่อที่จะให้คณะบุคคลมาทำหน้าที่ต่อ  เพราะการทำประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคล  รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาเขียนไว้ชัดแจ้งว่าไม่ควรทำและเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม  ผมขอยืนยันว่าวิธีที่ดีที่สุดคือมาร่วมกันพิจารณากรอบและกติกาการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ  แต่ต้องไม่ใช่กรอบเดิม ที่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ทุกอย่างที่ทำมาไม่มีประโยชน์  จึงต้องมาวางกติกากันใหม่ว่าจะทำประชามติอย่างไรที่แม้ว่าจะไม่ผ่าน แต่ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า ไม่ถอยหลัง  และไม่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณากันมาสูญเปล่า” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสนับสนุนให้ทำประชามติและเคยเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 เป็นตัวตั้ง และเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ กำหนดวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่าน  เช่น ให้ทุกฝ่ายมาคุยกัน  เชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น ทุกฝ่ายจะมาช่วยกันสร้างกติกาที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน  เพราะไม่ว่าใครจะมีความคิดเห็นอย่างไรหากทุกฝ่ายไม่ยอมรับก็ไม่มีทางทำให้ยั่งยืนได้ การที่เสนอการทำประชามติ เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่จะสร้างความชอบธรรมและการยอมรับจากทุกฝ่ายที่ดีที่สุด  รวมทั้งไม่อยากเห็นประเทศหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลังไปมากกว่านี้

“ปีกว่าๆ หลังจากที่ประเทศจะต้องเดินตามโรดแมปแล้ว ยังมีเรื่องที่ต้องแก้ไขอีกมากมายทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร และปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งการเปิดประชาคมอาเซียน เพราะฉะนั้น คสช.มีหน้าที่รักษาความสงบ และวางรากฐานให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้  โดยให้รัฐบาลต่อไปมาสานต่อ แต่ไม่ควรวางแนวทางให้ปฎิรูปต่ออีก 2 ปี เพราะอาจถูกมองได้ว่าต้องการสืบทอดอำนาจ และจะมีการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญไม่จบสิ้น  อีก2-3 ปีก็ไม่หลุดพ้น หากเป็นอย่างนั้นประเทศจะถอยหลัง หากต้องการหลุดวังวนเดิม ๆ ต้องหากติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ คือการทำประชามติ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ค้านประชามติปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง

นายสมคิด เชื้อคง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเป็นการมัดมือชกประชาชน  โดยนำกฎหมายมากำหนดกันเองเพื่อประโยชน์ส่วนตน  สะท้อนเจตนารมณ์ผู้เสนอที่ต้องการสืบทอดอำนาจต่อไป  ทั้งที่หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน จะมีสมาชิก สปช. เข้าร่วมการปฎิรูปตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้วถึง 60 คน

นายสมคิด กล่าวว่า ขอให้สปช.คำนึงถึงกฎกติกาสากล  เคารพสิทธิประชาชน เพราะประเทศไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  ขณะนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญต้องคิดอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรจะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุด  ยิ่งทอดเวลาไว้นาน ยิ่งสะท้อนว่าอยากอยู่ในอำนาจต่อ ผมเชื่อว่านักการเมืองส่วนใหญ่รอได้ หากจะเกินระยะเวลาการเลือกตั้งตามโรดแมปไปบ้างและมีเหตุผลรองรับ เช่น ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายก่อนหรือต้องทำประชามติ  ซึ่งเป็นสิ่งที่รับได้ แต่หากล่าช้าเพราะต้องการสืบทอดอำนาจแบบนี้ เชื่อว่าไม่มีฝ่ายใดรับได้แน่นอน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท