Skip to main content
sharethis
อินโดนีเซียช่วยเรือชาวโรฮิงญาเข้าฝั่งอีก 3 ลำ ขณะที่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ต่อสายถึง รมว.ต่างประเทศไทย ขอให้หาที่พักพิงชั่วคราวให้ชาวโรฮิงญาและระงับการผลักดันออกสู่ทะเล เพื่อมนุษยธรรม ด้านสิงคโปร์ประกาศไม่สามารถรับผู้อพยพได้เพราะเป็นประเทศขนาดเล็ก คาดเมียนมาร์น่าจะไม่เข้าร่วมการประชุมแก้วิกฤติผู้ลี้ภัยที่จัดในกรุงเทพฯ
 
 
ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
16 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าวันนี้ (16 พ.ค.) เรือของชาวโรฮิงญา 3 ลำได้รับการช่วยเหลือเข้าฝั่งจังหวัดอาเจะห์และสุมาตราเหนือของอินโดนีเซียหลังรอนแรมอยู่กลางทะเลเช่นนี้นานกว่า 2 เดือน จนกระทั่งชาวประมงอาเจะห์พบและช่วยไว้ ขณะที่นายเจฟฟ์ รัตเก้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้แถลงว่านายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศ โทรศัพท์ไปหารือสถานการณ์ผู้อพยพโรฮิงญาในทะเลอันดามันกับ รมว.ต่างประเทศไทยแล้ว และได้ขอร้องให้จัดหาที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้อพยพเหล่านี้ และขอร้องให้ระงับการผลักดันมนุษย์เรือโรฮิงญาออกสู่ท้องทะเล เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม ขณะที่ฝ่ายไทย ยืนยันเป็นเพียงทางผ่านไปสู่ประเทศที่ 3 เท่านั้น และได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตามหลักมนุษยธรรมเท่าที่ทำได้
 
กระทรวงมหาดไทยสิงคโปร์แถลงจะไม่รับผู้อพยพหรือผู้ขอลี้ภัยทางการเมืองเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเป็นประเทศขนาดเล็ก
 
สถานีโทรทัศน์แชนแนลนิวส์เอเชียของสิงคโปร์รายงานอ้างโฆษกกระทรวงมหาดไทยว่า ด้วยความที่เป็นประเทศขนาดเล็กมีพื้นที่จำกัด สิงคโปร์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะรับผู้ขออพยพหรือขอลี้ภัยทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ใดหรือมีพื้นเพจากที่ใด
 
สิงคโปร์แสดงจุดยืนดังกล่าวในขณะที่สหรัฐเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ช่วยชีวิตชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศหลายพันคนที่ถูกลอยแพอยู่กลางทะเล โดยอย่าผลักดันเรือผู้อพยพที่ล่องเข้ามา และขอให้ประเทศในภูมิภาคร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างรวดเร็ว ประมาณกันว่าปีที่แล้วมีชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศล่องเรือหนีออกมาราว 53,000 คน และมีผู้เสียชีวิตในอ่าวเบงกอลประมาณ 920 คนระหว่างเดือนกันยายนปีก่อนถึงเดือนมีนาคมปีนี้
 
สหรัฐเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียช่วยผู้อพยพที่อยู่ในเรือลอยลำในทะเล
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา นายเจฟฟ์ รัธเก โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขี้นและขอเรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคร่วมมือกันในการช่วยชีวิตผู้อพยพเหล่านี้ เอกอัครราชทูตของสหรัฐประจำประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังประสานงานกับหน่วยงานของสหประชาชาติและกับรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคที่ไม่ยอมรับดูแลผู้อพยพเหล่านี้เพื่อเจรจาหาทางให้ความช่วยเหลือ นายรัธเก กล่าวว่า มีหลายชีวิตที่กำลังอยู่ในอันตราย ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐคิดว่ามีความจำเป็นเป็นอันดับแรกคือต้องช่วยชีวิตก่อน และขอให้รัฐบาลของประเทศในภุมิภาคนี้ยังคงอำนวยความสะดวกผู้อพยพที่ยังอยู่ในทะเล
 
นายรัธเก กล่าวเน้นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายเร่งด่วนของภูมิภาคและจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยการประสานงานในระดับนานาชาติ และดำเนินการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายทางทะเล รัฐบาลสหรัฐยินดีที่บางประเทศในภูมิภาคยอมรับดูแลผู้อพยพและยินดีที่ประเทศไทยวางแผนจัดการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ในขณะเดียวกันเขาก็ขอให้เมียนมาร์ดำเนินการตามที่ให้คำมั่นไว้ว่าจะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นเขตที่มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 1.3 ล้านคน
 
นายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าวขอร้องให้ประเทศในอเชียอย่าผลักดันผู้อพยพเหล่านี้กลับออกไปสู่ทะเล โดยกล่าวว่า การให้ช่วยเหลือทางทะเลถือเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ
 
คาดเมียนมาร์น่าจะไม่เข้าร่วมการประชุมแก้วิกฤติผู้ลี้ภัยที่จัดในกรุงเทพฯ
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมานายซอ เท ผู้อำนวยการประจำสำนักประธานาธิบดีเมียนมาร์ กล่าววันนี้ว่า เมียนมาร์คงจะไม่เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนนี้ ซึ่งมีเป้าหมายในการแก้ไขวิกฤติการณ์ผู้อพยพในอ่าวเบงกอล
 
นายซอ เท กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าเมียนมาร์จะไม่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เขากล่าวว่า เมียนมาร์ไม่ยอมรับหากประเทศไทยเชิญเมียนมาร์เพื่อลดแรงกดดันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เขากล่าวด้วยว่า ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีการค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น และปัญหาเรื่องหลุมศพของผู้อพยพก็ไม่ใช่ปัญหาของเมียนมาร์ แต่เป็นผลเนื่องมาจากความอ่อนแอในการป้องกันการค้ามนุษย์และการรักษากฏหมายของไทยเอง
 
การประชุมที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ จะมีผู้แทนจาก 15 ประเทศเข้าร่วม รวมทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย บังกลาเทศ เมียนมาร์ ออสเตรเลียและสหรัฐ
 
ผู้อพยพทางเรือหลายร้อยคนเดินทางมาขึ้นฝั่งในประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากมีการค้นพบหลุมศพจำนวนมากในภาคใต้ของไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นของผู้อพยพชาวบังกลาเทศและเมียนมาร์ ทำให้เกิดการกวาดล้างการขบวนการค้ามนุษย์ ส่งผลให้พวกลักลอบนำผู้อพยพออกนอกประเทศ ลอยแพผู้อพยพทั้งหลาย
 
รัฐบาลไทยจะจัดการประชุมระดับภูมิภาคในวันที่ 29 พฤษภาคมที่กรุงเทพฯ เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ต้นตอเรื่องผู้อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ที่อยู่ทางตะวันตกของเมียนมาร์ โดยเมียนมาร์ไม่ยอมรับโรฮิงญาว่าเป็นชนกลุ่มน้อยของตน
 
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุรู้สึกวิตกอย่างยิ่งกับสภาพเลวร้ายของผู้อพยพ
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ของมาเลเซียกล่าววันนี้ว่า เขารู้สึกวิตกอย่างยิ่งต่อสภาพเลวร้ายของผู้อพยพที่หลั่งไหลกันเดินทางด้วยเรือเข้ามายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และว่าประเทศในภูมิภาคนี้ต่างก็มีความปรารถนาร่วมกันที่จะหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้
 
นายนาจิบระบุในแถลงการณ์ว่า เขารู้สึกวิตกกังวลกับสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของผู้อพยพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บางคนเดินทางมาจนถึงชายฝั่งแล้ว แต่บางคนยังคงพยายามนำเรือเข้ามาที่ฝั่ง เขาบอกว่า ขณะนี้กำลังมีการติดต่อกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความปรารถนาร่วมกันที่จะหาทางออกให้วิกฤติการณ์ผู้อพยพที่เกิดขึ้น โดยประเด็นเรื่องผู้อพยพนี้มีความสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
 
ผู้อพยพจากเมียนมาร์และบังกลาเทศหลายร้อยคนพยายามเดินทางด้วยเรือที่มีสภาพใกล้พังมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนักเคลื่อนไหวคาดว่า ยังมีอีกประมาณ 8,000 คนยังคงอยู่ในเรือลอยลำอยู่กลางทะเลและมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากไม่มีอาหารรับประทาน
 
นายกรัฐมนตรีนาจิบมิได้กล่าวว่า มาเลเซียจะเปลี่ยนแปลงนโนบายผู้อพยพหรือไม่ หลังจากมีข่าวว่า มาเลเซียผลักดันผู้อพยพกลับไปยังท้องทะเลอีกครั้ง แต่เขากล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียกำลังดำเนินการตามที่มีความจำเป็น และว่า กระทรวงต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการจัดการกับวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรม
 
เผยพบผู้อพยพ 700 คนทางฝั่งอินโดนีเซีย
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจอินโดนีเซียกล่าวว่า ผู้อพยพชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศราว 700 คนเดินทางถึงอินโดนีเซียในวันนี้ ภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากเรือประมงขณะที่เรือผู้อพยพใกล้จมอยู่ทางชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์
 
ผู้บัญชาการตำรวจท้องถิ่นเมืองลังซาที่ผู้อพยพเดินทางเข้ามากล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากผู้อพยพกล่าวว่า กองทัพเรือมาเลเซียผลักดันเรือพวกเขาออกสู่ทะเลเข้ามายังเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย แต่ภายหลังจากเข้าเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย เรือเกิดเสียแต่กลุ่มชาวประมงท้องถิ่นมาพบจึงช่วยลากเข้าฝั่ง อย่างไรก็ตามกองทัพเรืออินโดนีเซียแถลงไม่ให้ผู้อพยพหลายร้อยคนขึ้นฝั่งและไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net