หนึ่งปีหลัง 'ขบวนการดอกทานตะวัน' ไต้หวัน พลังของประชาชนที่ยังไม่จางหาย

บทความจากเว็บไซต์ Foreign Policy In Focus ระบุถึงผลที่เกิดตามมาหลังการประท้วงต่อต้านสัญญาไต้หวัน-จีน ที่ชื่อว่า 'ขบวนการดอกทานตะวัน' ซึ่งดูเหมือนว่าไม่เพียงทำให้รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งเสียคะแนนนิยมอย่างมากและต้องพักแผนการชั่วคราว แต่ยังทำให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ประชาชนและคนหนุ่มสาวด้วย

ในช่วงเช้าที่มีแดดจ้าวันที่ 18 มี.ค. 2558 นักกิจกรรม 4 กลุ่มพากันชุมนุมกันที่หน้าสภานิติบัญญัติของไต้หวัน จัดแถลงข่าว และเดินขบวนรอบสถานที่ 7 รอบ เพื่อเลียนแบบเรื่องราวในคัมภีร์ฮีบรูเกี่ยวกับการรบที่เจอริโก้ ก่อนที่จะสลายตัวไปเงียบๆ อีกสามสัปดาห์ต่อมากลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเดิมกลับไปชุมนุมโซมนุษย์ล้อมรอบกลุ่ม ส.ส. ก่อนที่จะประกาศเรียกร้องประชาธิปไตยทางตรงผ่านการปฏิรูปกฎหมายประชามติ

การแสดงออกเหล่านี้คือการรำลึกครบรอบ 1 ปีขบวนการ "ดอกทานตะวัน" ซึ่งเป็นการประท้วงในไต้หวันเมื่อปี 2557 ซึ่งมีชาวไต้หวันราว 500,000 คนเข้าร่วมกับนักศึกษาที่ปักหลักชุมนุมอยู่ที่สภานิติบัญญัติเป็นเวลา 23 วัน เพื่อประท้วงต่อต้านความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (CSSTA) ที่ผ่านการพิจารณารวดเร็วมาก ซึ่งนักวิชาการด้านกฎหมายให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าสังคมไต้หวันเปลี่ยนไปแล้วหลังขบวนการดอกทานตะวันและจะส่งผลแพร่กระจายไปเรื่อยๆ และประชาชนจะลุกฮืออีกเมื่อรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน

แต่ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามรำลึกถึงการชุมนุมใหญ่ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศรื่นเริงของประชาธิปไตยเมื่อปีที่แล้ว แต่บทความจากเว็บไซต์ Foreign Policy In Focus (FPIF) ก็ระบุว่านอกจากจะมีคนเข้าร่วมน้อยแล้วยังมีลักษณะของการจัดการแบบมีลำดับชั้นและการจัดชุมนุมในช่วงเวลาทำงานทำให้บุคคลทั่วไปไม่ได้เข้าร่วม และตัวผู้ชุมนุมเองส่วนมากก็เป็นคนที่เกินวัยนักศึกษาแล้ว มีนักศึกษาที่พอจำหน้าได้จากปีที่แล้วเข้าร่วมเพียงบางส่วนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เกลน สมิธ ผู้เขียนบทความใน FPIF ก็ยังแสดงความเชื่อมั่นว่ากลุ่มการเคลื่อนไหวดอกทานตะวันในไต้หวันยังไม่สิ้นแรงลงแบบที่นิตยสารฟอร์บส์ซึ่งประกาศในพาดหัวข่าวว่า "กลีบดอกร่วงหล่นจากขบวนการดอกทานตะวันในไต้หวันที่ต่อต้านจีน" และตามที่หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าวไว้เมื่อ 2 วันหลังการชุมนุมรำลึกว่าความตกลงกับจีนถูกยับยั้งไว้เพราะมีขบวนการต่อต้านเมื่อปีที่แล้วแต่ในปีนี้ความตกลงทางการค้าจะย้อนกลับมาอีก

"ผู้เขียนพาดหัวข่าวฟอร์บส์และประธานาธิบดีหม่ากำลังใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่อนุญาตให้คิดฝันไปเองได้" สมิธระบุในบทความในเชิงเสียดสี

ความสัมพันธ์ของไต้หวันกับจีน

สมิธมองว่าประเด็นสำคัญที่อยู่เบื้องหลังขบวนการดอกทานตะวันคือเรื่องอธิปไตยของไต้หวัน ไต้หวันเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเพียงข้อตกลงทางพฤตินัย ซึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองของไต้หวันมาหลายรุ่น เมื่อประธานาธิบดีหม่ามีท่าทีเข้าหาจีนตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดแรงต่อต้าน ที่แม้จะมีการแสดงออกในการประท้วงชั่วคราวแต่ก็ไม่มีท่าทีจะล่าถอยง่ายๆ

เว่ยเหรินหวู่ ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถาบันประวัติศาสตร์ไต้หวันกล่าวว่าถึงแม้จะหวังให้ผู้คนอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ แต่ขบวนการเคลื่อนไหวหลายอย่างก็มาจากการขับเคลื่อนกันมายาวนาน โดยขบวนการดอกทานตะวันเองก็มีกระบวนการมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงช่วงไคลแม็กซ์ในการประท้วงปีที่แล้วซึ่งเว่นเหรินหวู่กล่าวเน้นย้ำว่า "นักศึกษาเป็นแค่หน้าตาของขบวนการดอกทานตะวันเท่านั้น"

ในตอนที่นักศึกษาไต้หวันเข้าไปในสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2557 พวกเขาสื่อสารสถานการณ์ผ่านทางโซเชียลมีเดียทำให้เครือข่ายนักกิจกรรมที่อยู่ในอีกรุ่นแก่กว่ารับรู้และเห็นว่าเป็นการขอความช่วยเหลือจึงส่งนักกิจกรรมเข้าไปช่วยเหลือทั้งการให้คำปรึกษาทางการเมืองและการช่วยแก้ปัญหาในช่วงที่มีการปิดล้อม แต่สมิธระบุว่าสิ่งที่ทำให้การประท้วงมีความชอบธรรมคือประชาชนหลายแสนคนที่เข้าไปร่วมขบวนกับนักศึกษาเพื่อแสดงความไม่พอใจร่วมกันในกรณีที่ไต้หวันเริ่มเชื่อมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับจีน

แล้วพลังจากการประท้วงเมื่อช่วงกลางปี 2557 หายไปไหน คำถามนี้ เว่ยเหรินหวู่ ตอบว่าพลังจากการประท้วงดอกทานตะวันส่งผลไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน พ.ย. 2557 ซึ่งพรรครัฐบาลก๊กมิงตั๋ง (KMT) สูญเสียคะแนนเสียงแม้แต่ในพื้นที่ๆ เป็นฐานคะแนนเสียงดั้งเดิม ทำให้พรรคฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้รับชัยชนะ และยังทำให้มีคนที่อยู่นอกวงการการเมืองเป็นผู้แทนอิสระคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี แม้กระทั่งสื่อในไต้หวันและและนักวิเคราะห์ตะวันตกยังบอกว่าเป็นความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของพรรคก๊กมินตั๋ง แสดงให้เห็นว่าขบวนการดอกทานตะวันส่งผลต่อการเมืองไต้หวันอย่างมหาศาล

บทความใน FPIF ชี้ให้เห็นอีกว่าประธานาธิบดีไต้หวันเริ่มมีท่าทีรั้งรอการทำสัญญาการค้ากับจีนต่อ หม่าเคยบอกว่าแผนการความตกลงกับจีนเน้นเป้าหมาย "เศรษฐกิจก่อน การเมืองทีหลัง" และเรื่อง "งานง่ายๆ ก่อน งานยากๆ ทีหลัง" ในตอนเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกหม่าเริ่มปฏิบัติในแง่เศรษฐก่อน จนกระทั่งเริ่มมีเป้าหมายทางการเมืองหลังได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2555 แต่ดูเหมือนว่าในตอนนี้โอกาสที่หม่าจะจัดประชุมร่วมกัยผู้นำจีนอีกดูจะยากขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตามสมิธระบุว่ามีอยู่อย่างหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไปคือเจตนาของจีนต่อการทำข้อตกลงกับไต้หวัน นักวิเคราะห์การเมืองทั้งตะวันออกและตะวันตกประเมินตรงกันว่าจีนจะไม่ล้มเลิกความตั้งใจผนวกรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นงานที่ยังไม่สำเร็จลุล่วงในการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน พวกเขารอมาเป็นเวลา 60 ปี จนกระทั่งเห็นว่าหม่าเป็นผู้นำไต้หวันที่ร่วมมือกับพวกเขา หม่ายอมรับมติปี 2535 ที่ระบุว่ามีประเทศจีนเพียงประเทศเดียวซึ่งมตินี้แต่ละฝ่ายก็ตีความไปตามแบบของตัวเอง ในทางตรงกันข้ามผู้นำจากการเลือกตั้ง 2 คนก่อนหน้านี้ของไต้หวันพยายามทำให้ประเทศเป็นอิสระจากอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่

บทความใน FPIF ระบุอีกว่าทางการจีนยังคงพยายามส่งสัญญาณเตือนพรรคฝ่ายค้านไต้หวันก่อนหน้าการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายสหรัฐฯ ที่นำโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งดูเมินเฉยต่อไต้หวันก่อนหน้านี้เริ่มมีท่าทีทางการทูตเปลี่ยนไปหลังจากเกิดขบวนการดอกทานตะวันในไต้หวันและมีการประท้วง 'ปฏิวัติร่ม' ในฮ่องกง โดยโอบามากล่าวย้ำให้จีนดำเนินนโยบายประเทศจีนหนึ่งเดียวโดยคำนึงถึงความร่วมมือของแถลงการณ์ร่วม 3 ฝ่าย (จีน, ไต้หวัน และสหรัฐฯ) และบัญญัติว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวัน อีกทั้งยังขอให้ดำเนิน CSSTA อย่างเคารพต่อศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

การเปลี่ยนแปลงการนิยามตนเองของไต้หวัน

สมิธชี้ว่าในขณะเดียวกันชาวไต้หวันก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของตัวเอง โดยศูนย์ศึกษาการเลือกตั้งจัดทำโพลล์ระบุว่าในช่วงที่หม่าเป็นประธานาธิบดีประชาชนในไต้หวันที่นิยามตัวเองว่าเป็นชาวไต้หวันอย่างเดียวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60.6 เทียบกับที่นิยามว่าเป็น 'ทั้งชาวจีนและไต้หวัน' เหลือร้อยละ 32.5 จากเดิมในปี 2551 ที่มีผู้นิยามตัวเองเป็นชาวไต้หวันอย่างเดียวร้อยละ 43.7 นิยามตัวเองว่าเป็นทั้งชาวจีนและไต้หวันร้อยละ 44.7 ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกัน ส่วนคนที่นิยามตนเองว่าเป็นชาวจีนอย่างเดียวก็ลดลงจากร้อยละ 4.5 เหลือร้อยละ 3.5

นอกจากนี้โพลล์ดังกล่าวยังถามเรื่องเห็นด้วยกับการทำให้ไต้หวันเป็นอิสระจากจีนหรือร่วมกับจีน โดยมีผู้ที่ระบุว่าต้องการให้เป็นอยู่ในสภาพแบบปัจจุบันเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ที่ระบุว่าต้องการเป็นอิสระยังมีมากกว่าที่ระบุว่าต้องการร่วมกับจีน

นอกจากนี้ยังมีนักวิจารณ์บอกว่าความตกลงระหว่างจีนกับไต้หวันจะให้ประโยชน์แต่เฉพาะกับบรรษัทยักษ์ใหญ่และคนร่ำรวยเท่านั้น ซึ่งทางการจีนก็ดูจะตอบสนองต่อการถูกกล่าวหาในข้อนี้ พวกเขาตั้งคณะกรรมการที่เรียกว่า ARATS เพื่อดูแลกิจการการค้าระหว่างจีนกับไต้หวันโดยเพิ่มแนวทางใหม่ให้ความสำคัญกับกิจการระดับเล็กมากขึ้นแทนการเอาใจแต่นักธุรกิจระดับชนชั้นนำ พอหลังจากที่มีการเคลื่อนไหวดอกทานตะวัน ARATS ก็ออกคำขวัญในเชิงเอาใจคนหนุ่มสาวเพื่อหวังการสนับสนุนด้วย

สมิธระบุว่ามีคนหนุ่มสาวบางคนเข้าร่วมงานกับบรรษัทจีนที่เข้าไปรับสมัครงานถึงในมหาวิทยาลัย เพราะในไต้หวันหางานทำยากและเงินเดือนในทุกระดับก็ไม่ค่อยเพิ่มมาเป็นเวลานานแล้ว มีคนที่เกิดในไต้หวันมากกว่า 1 ล้านคนแล้วที่เข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อแสวงโชค แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ยังคงปักหลักอยู่ในไต้หวันและเรียกร้องให้พวกเขามีส่วนร่วมในอนาคตของไต้หวัน

ยังคงปักหลักประท้วง

สมิธระบุถึงกลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่มในไต้หวันที่คอยจัดการการประท้วงต่างๆ เช่นกลุ่ม พีเพิ้ลรูล (People Rule) ซึ่งเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุม "มีความอดทนและการฝึกฝนที่มากกว่านี้" อย่างการสวมชุดยูนิฟอร์ม การประท้วงด้วยวิธีการ "เดิบขบวนอย่างขมขื่น" ซึ่งเป็นลักษณะการแสดงบนท้องถนนที่เป็นการเดินขบวนอย่างเงียบๆ เป็นเวลายาวนาน

กลุ่มต่างๆ ในไต้หวันเป็นนักกิจกรรมที่เคยประท้วงในประเด็นต่างๆ เช่น ประท้วงการใช้อำนาจในทางที่ผิดของการเกณฑ์ทหาร ประท้วงพลังงานนิวเคลียร์ พวกเขาเหล่านี้เรียกรวมตัวกันในนามกลุ่ม '410 นำอำนาจสู่ประชาชน' (410 Power to the People) ซึ่งหนึ่งในกลุ่มนี้มี หลินอี้ชุง นักกิจกรรมที่ต่อสู้มาตั้งแต่สมัยที่เป็นกลุ่มใต้ดินช่วงประเทศประกาศกฎอัยการศึกจนได้รับยกย่องเป็น "นักบุญแห่งประชาธิปไตย" เขาถูกจำคุก ลูกเมียถูกสังหารโดยไม่มีการสะสางคดี แต่ก็ยังเข้าร่วมการเมืองหลังจากนั้นจนกระทั่งไม่ยุ่งกับการเมืองอีกในปี 2543 เมื่อมีความขัดแย้งในพรรค

ไม่เพียงแค่นักกิจกรรมรุ่นเก่าที่กลับมา แต่ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าร่วมด้วยซึ่งประธานบริหารกลุ่มพีเพิ้ลรูลบอกอีกว่าคนหนุ่มสาวในไต้หวันเริ่มมีจิตสำนึกต่อประเทศชาติมากขึ้นและเข้าใจว่าถ้าไต้หวันไม่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพวกเขาจะถูกทำให้เป็นแบบเดียวกับฮ่องกง

สมิธระบุว่าทั้งคนหนุ่มสาวและนักกิจกรรมสูงวัยต่างก็ต้องการให้ไต้หวันปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการทำประชามติและการถอดถอนนักการเมืองซึ่งในไต้หวันมีการตั้งข้อจำกัดไว้มากเกินไป ซึ่งกลุ่มนักกิจกรรมหวังว่าพวกเขาจะสามารถถอดถอนนักการเมืองที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชนได้ซึ่งในตอนนี้เป้าหมายดูเหมือนจะเป็นพรรคก๊กมินตั๋ง แต่สมิธก็ชี้ว่าทั้งพรรคก๊กมินตั๋งและพรรค DPP ต่างก็เป็นพรรคที่สนับสนุนกลุ่มธุรกิจเพียงแต่มีนโยบายต่างประเทศต่อจีนต่างกัน

ซึ่งตรงจุดนี้ โจเซฟ ลิน ประธานมูลนิธิปฏิรูปตุลาการกล่าวว่าขบวนการดอกทานตะวันแสดงให้เห็นถึงทางเลือกที่ 3 จากการเมืองที่มีการครอบงำจาก 2 พรรค

บทความใน FPIF ระบุว่ากลุ่ม 410 นำอำนาจสู่ประชาชน เป็นเพียง "กลีบดอกทานตะวันกลีบหนึ่ง" เท่านั้น เพราะยังมีกลุ่มนักศึกษาในไต้หวันที่เป็น "ดอกไม้ช่อใหญ่" มีเด็กที่มีแนวคิดจริงจังและสุดโต่งมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่เด็กในระดับไฮสคูลก็เริ่มมีคนแสดงการต่อต้านมากขึ้น เช่นในวันรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารนักวิชาการไต้หวันกว่าพันคนในปี 2480 มีคนพ่นสีสเปรย์ใส่รูปปั้นผู้นำทหารหลายรูป มีรูปปั้นหนึ่งถึงขั้นโดนตัดหัว มีการสงสัยว่านักเรียนมัธยมเป็นผู้กระทำการ

สมิธสรุปว่าถึงแม้การประท้วงแบบงานรื่นเริงประชาธิปไตยในช่วงขบวนการดอกทานตะวันจะจางหายไปแต่การเลือกตั้งช่วงเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ก็ทำให้ประชาชนได้เปล่งเสียงตัวเองออกมา และสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาว การต่อสู้เพื่ออนาคตของไต้หวันเพิ่งจะเริ่มต้น

เรียบเรียงจาก

Taiwan’s Sunflower Revolution: One Year Later, FPIF, 07-05-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท