Skip to main content
sharethis

17 พ.ค. 2558   เวลา 13.30 น. มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย จัดกิจกรรมสหปาฐกถารำลึก 23 ปี เหตุการณ์พฤษภา 35 สืบสารอุดมการณ์เจตนารมณ์ของวีรชนประชาธิปไตย ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลาฯ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยมี  เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร, นพ.เหวง โตจิราการ, นพ.สันต์ หัตถีรัตน์, ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว เป็นองค์ปาฐก อย่างไรก็ตามหลังจากดำเนินกิจกรรมได้สักพัก เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางมาขอความร่วมมือกับผู้จัดงานจนทำให้ต้องยุติกิจกรรมก่อนกำหนด

โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารกลุ่มหนึ่งอ้างเป็นทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เดินทางมาที่สำนักงานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ซ.แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 26 จ.นนทบุรี เพื่อมาแจ้งกับทางมูลนิธิวีรชนฯ ว่าผู้บังคับบัญชาขอให้ตัดกิจกรรมงานรำลึกวีรชนพฤษภาประชาธิปไตย ช่วงสหปาฐกถาออก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ศรีไพร นนทรีย์ ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยว่าก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายขออนุญาตจัดงานไปกับกองทัพภาค 1 เพื่อขอจัดงานแล้ว

จดหมายที่ทางมูลนิธิฯ ส่งขออนุญาตจัดกิจกรรมกับ คสช.

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ กล่าวว่า เจตนารมณ์พฤษภา 35 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 มีองค์กรอิสระที่ประชาชนเสนอร่างกฎหมาย ถอดถอนผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ รวมทั้งในทางปฏิบัติที่รัฐบาลที่มาจากประชาชนมีการดูแลประชาชน เช่น การมีระบบหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ล้วนแล้วแต่จะทำให้ประชาธิปไตยฐานรากเติบโต ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบการเมือง แต่ก็สะดุดจากการเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ทหารไม่ยึดในครรลองของประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 49 ทำให้ประเทศเราถอยหลังไปมาก เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

ประทีป กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมมาธิการร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันเปิดช่องให้สามารถมีนายกคนนอกได้นั้นว่า มีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์ปี 35 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ยอมเสียสัจจะแล้วมาเป็นนายกฯ คนนอก จนนำมาสู่เหตุการณ์พฤษภา 35 ดังนั้น แม่น้ำทั้ง 5 สาย ขณะนี้ควรเป็นแม่น้ำของประชาชนที่รับเจตนารมณ์ของประชาชนที่สูญเสียไปตั้งแต่ปี 35 และ 53 เราน่าจะประคองระบอบประชาธิปไตยให้เดินไปสู่หลักสากล

ฉลาด เล่าว่าเหตุการณ์ พฤษภา 2535 นั้น เริ่มจากการยึดอำนาจของทหาร จากนั้น พล.อ.สุจินดา ก็เป็นนายกฯ เอง โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตนจึงปิดบริษัทออกไปอดอาหารเพื่อประท้วง โดยวันที่ 8 เม.ย.35 ตนมาที่หน้ารัฐสภา และไม่มีใครให้ความสนใจ แม้แต่นักข่าวก็ไม่สนใจการอดอาหารประท้วงครั้งนั้น

“มันต่อเนื่อง เราพยายามกดดันเพื่อที่จะให้นายกฯ มาจากรัฐสภา มาจากการเลือกตั้ง” ฉลาด กล่าวถึงเจตนารมณ์ในครั้งนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

จากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้เดินทางไปที่สวนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อจัดกิจกรรมรำลึก บริเวณปฏิมากรรม พฤษภา 35 โดยมีการเช็ดข้อความที่ปฏิมากรรมในข้อความว่า "นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง" รวมทั้งวางหรีด ดอกไม้ และอ่านบทกวี ก่อนสลายตัวอย่างสงบ

'ฉลาด-ครูประทีป-หมอสันต์-หมอเหวง' ร่วมเช็ดข้อความในปฎิมากรรม พฤษภา 35 ที่สวนประวัติศาสตร์ มธ. ข้อความ "นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง"

‘รสนา’ จัดอีกงาน ตัวแทนรัฐบาล สนช. และ บวรศักดิ์ ร่วม

วันเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้จัดพิธีรำลึกและสืบสาน 23 ปี พฤษภาประชาธรรม โดยมีกิจกรรมทำพิธีบรรจุอัฐิวีรชนที่บริเวณอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม พิธีทอดผ้าบังสุกุลอุทิศบุญกุศลให้แก่วิญญาณของผู้ล่วงลับ และพิธีเจริญพุทธมนต์พระสงฆ์ 10 รูป เสริมสร้างความเป็นมงคล ให้สังคมไทยข้ามพ้นความขัดแย้งที่รุนแรงในอดีต โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่ายร่วมวางพวงมาลา พร้อมกล่าวรำลึก อาทิ  ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ตัวแทน สนช.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะตัวแทนประธานสปช. จุตพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พระอุทัย อุทาโย หรืออุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)

รสนา โตสิตระกูล ในฐานะประธานจัดงาน ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวของวีรชนในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เพราะต้องการปฏิรูประบบการเมืองไม่ให้เกิดการครอบงำ โดยหวังว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ไม่ให้กลับสู่การรัฐประหาร แต่ในความเป็นจริงสวนทางกัน เพราะเวลาต่อมาเกิดการรัฐประหารอีก 2 ครั้ง ซึ่งเกิดจากความเห็นต่างของประชาชน ดังนั้น ตนได้แต่หวังว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะสามารถคลอดประชาธิปไตยได้

จากนั้น  ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆได้ร่วมกล่าวรำลึก โดย มล.ปนัดดา กล่าวว่า แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยรัฐประหาร กระทั่ง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นายกฯ และคนไทยเข้าใจร่วมกันดีว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ และหากย้อนไปใน ปี 35 วีรชนพยายามหาทิศทางนำประเทศไปสู่ความเจริญ โดยหลักการปกครองที่กล่าวถึงคือธรรมาภิบาล ซึ่งจะเร่งบรรลุผลโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นความสงบคงเกิดได้ยาก จึงหวังว่าประเทศไทยจะไม่มีการแบ่งแยก ไม่แตกแยก พูดกันด้วยเหตุผล และรักสมัครสมานดังเช่นในอดีต

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เวลานี้แม่น้ำ 5 สาย กำลังหาทางออกประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ว่าอะไรคือปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ แต่ภารกิจที่จะบรรลุได้ด้วยแม่น้ำ 5 สาย เป็นภารกิจของประชาชนทุกคนด้วย เช่นเดียวกับวีรชนที่คาดหวังจะเปลี่ยนแปลงให้เกิดการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่การนำโดยพรรคการเมืองเดียวเท่านั้น

จากนั้นเวลา 11.00 น. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “อนาคตการปรองดองและสมานฉันท์สังคมไทย” ตอนหนึ่งว่า การปรองดองและสมานฉันท์เป็นสิ่งที่คนไทยคาดหวัง ประเทศประสบกับความขัดแย้งมาหลายยุค ฉากแรก คือความขัดแย้งของชนชั้นนำตั้งแต่สมัยอยุธยา ฉากที่ 2 ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และนิรโทษกรรมในที่สุด ฉากที่ 3 ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและประชาชน เช่น เหตุการณ์ในเดือน พ.ค. ปี 35 และฉากที่ 4 ยุคที่ผู้นำที่มีประชาชนบางกลุ่มสนับสนุนจำนวนมาก และประชาชนที่ไม่สนับสนุน ซึ่งในฉากสุดท้ายนี้มีผู้ประเมินความเสียหาย คาดว่ามีมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความขัดแย้งในอดีตจบลงด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงมาระงับความขัดแย้ง กับ จบลงด้วยการนิรโทษกรรม ซึ่งการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ที่สุดคือในสมัยพล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัน เป็นนายกฯ  หรือ 10 ปีให้หลังนโยบาย 66/23 

‘เมล็ดพริก’ โผล่ชูป้ายประท้วงขณะ ‘บวรศักดิ์’ ปาฐกถา

มีรายงานด้วยว่า ระหว่างที่บวรศักดิ์กำลังกล่าวปาฐกถาได้มีผู้หญิง จำนวน 4 ในนามกลุ่มเมล็ดพริก ได้เข้ามาชูป้ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อความว่า “เนติบริกรตัวพ่อรับจ้างทำลายประชาธิปไตย” หรือ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2558” และ “ไม่ปรองดองกับฆาตกรรม” พร้อมได้อ่านแถลงการณ์ของกลุ่มว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 มีข้อเรียกร้องของสังคมในเวลานั้นที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้กองทัพเข้ามาสืบทอดอำนาจทางการเมือง และให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนที่ชัดเจน จนนำมาสู่การปราบปรามประชาชนในที่สุด แม้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพจะถอยออกจากการเมืองแต่เจตนารมณ์การต่อสู้ของประชาชนก็ได้หายไป และถูกลืมไปในที่สุด วันนี้เรามีรัฐบาลทหาร และคนที่ร่วมต่อสู่ในเหตุการณ์วันนั้น ได้ทรยศต่ออุดมการณ์อย่างไม่น่าให้อภัย

ดังนั้น ทางกลุ่มจึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาล 1.ประกาศยกเลิก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 2.ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนในเหตุการณ์พฤษภา 35 3.นายกรัฐมนตรีและ ส.ว.จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 4.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และ 5.กองทัพต้องไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง             

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่พยายามร้องขอให้เลิกกิจกรรมแต่ทางกลุ่มก็ยังดำเนินการกิจกรรมจนจบ ก่อนแยกย้ายออกจากงาน โดยที่ไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

กลุ่มเมล็ดพริกชูป้ายประท้วงระหว่างบวรศักดิ์ปาฐกถา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net