แอมเนสตี้ระดมชื่อออนไลน์ ขอมาเลย์-อินโด-ไทย ช่วย 6,000 ชีวิตกลางทะเล

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2558 แอมเนสตี้ ประเทศไทย รณรงค์ระดมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ http://www.amnesty.or.th/get-involved/take-action/594   เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ปรับเปลี่ยนท่าทีเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้นมีรายงานมีชาวโรฮิงญากว่า 2,000 คนเดินทางไปถึงแล้ว

นอกจากนี้ยังมีจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรีของมาเลซีย เรียกร้องว่าในฐานะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียน ขอเรียกร้องให้ท่านร่วมมือกับประเทศต่างๆในอาเซียนเพื่อ

-ให้มีการประสานงานเพื่อค้นหาและช่วยเหลือ

-ให้มีการอนุญาตให้เรือซึ่งมีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเหล่านี้เข้าฝั่งอย่างปลอดภัย

-ให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยทันทีสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเหล่านี้ ทั้งการให้อาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย และการรักษาพยาบาล

-ให้การประกันว่าบุคคลซึ่งแสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงขั้นตอนปฏิบัติเพื่อจำแนกสถานภาพผู้ลี้ภัย

-เรียกร้องให้ทางการพม่ายุติระบบที่เอื้อให้มีการทำร้ายและสังหารชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาโดยทันที


ภาพโดย ฐาปนีย์ เอียดศรีไชย

สำหรับข้อมูลบางส่วนในเว็บรณรงค์ดังกล่าวระบุว่า

การปฎิเสธการให้ความช่วยเหลือและการพยายามผลักดันเรือเหล่านี้ไม่ให้ขึ้นสู่ฝั่งไม่ต่างอะไรจากการส่งให้พวกเขาไปตาย ในรายงานของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่าการเพิกเฉยต่อสถานการณ์และการไม่ยื่นมือเข้าช่วยนี้ทำให้อย่างน้อยกว่า 300 ชีวิตต้องสูญเสียบนเรือที่ลอยลำอยู่กลางทะเลนับตั้งแต่ต้อนปี 2558  

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) เชื่อว่ายังคงมีผู้คนอีกประมาณ 6,000 คนอยู่บนเรือที่ลอยลำนอกชายฝั่งใกล้กับประเทศไทย ทางการไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียได้ประกาศเป็นนโยบายห้ามไม่ให้เรือเหล่านี้เข้ามาในเขตแดนของตน เว้นแต่มีสภาพที่ไม่อาจเดินทางต่อไปได้ ตามรายงานข่าวที่ได้รับ ทางการทั้งสามประเทศยังส่งเรือไปประกบเรือเหล่านั้นให้ออกไปจากน่านน้ำของตน หลังจากให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหารและเชื้อเพลิง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้คนกว่า 2,000 คนเดินทางมาจากประเทศพม่าและบังคลาเทศโดยทางเรือ จนมาถึงประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย หลายคนอยู่ในสภาพอิดโรยเนื่องจากขาดน้ำและอาหาร อีกหลายคนถูกควบคุมตัวเอาไว้และเสี่ยงจะถูกส่งตัวกลับ

ในประเทศอินโดนีเซียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้าฝั่งที่แคว้นอาเจะห์และสุมาตราเหนืออย่างน้อย 1,300 คน หลายคนอยู่ในสภาพขาดอาหารและขาดน้ำ และต้องการการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน ในวันที่ 10 พฤษภาคม มีผู้โดยสารประมาณ 600 คนได้รับการช่วยเหลือจากเรือไม้สองลำที่ลอยอยู่นอกชายฝั่งอาเจะห์เหนือ ในแคว้นอาเจะห์ ในตอนเช้าของวันที่ 15 พฤษภาคม ชาวประมงอินโดนีเซียช่วยเหลือผู้โดยสารประมาณ 700 คนที่ลอยคออยู่กลางทะเลใกล้กับเมืองลังสา อาเจะห์ตะวันออก ในวันเดียวกัน ชาวประมงอินโดนีเซียยังพบผู้โดยสารอีก 96 คนรวมทั้งผู้หญิงแปดคนนอกชายฝั่งใกล้กับเมืองลังกัต ตอนเหนือของสุมาตรา

ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม มีผู้เดินทางขึ้นฝั่งเกาะลังกาวีกว่าพันคน รวมทั้งที่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาและบังคลาเทศ พวกเขาถูกควบคุมตัวในศูนย์กักตัวชั่วคราว และกำลังถูกส่งตัวไปยังศูนย์กักตัวคนเข้าเมืองที่เบลันติก ที่จังหวัดเคดาห์ เพื่อเตรียมส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง กองทัพเรือมาเลเซียยังพบเรืออีกลำหนึ่งซึ่งมีผู้โดยสาร 500 คนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นอกชายฝั่งตอนเหนือรัฐปีนัง มีการให้เชื้อเพลิงและเสบียงอาหาร ก่อนผลักดันออกไปสู่น่านน้ำสากล มีรายงานข่าวว่าทางการผลักดันเรือลำที่สามที่มีผู้โดยสารประมาณ 300 คนออกไปนอกชายฝั่งเกาะลังกาวีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 

ตามข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) มีชาวโรฮิงญาประมาณ 25,000 คนจากพม่าและบังคลาเทศซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ในเรือในอ่าวเบงกอลระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้ คิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของสองปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องการเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย หลายคนผ่านพรมแดนเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย โดยก่อนหน้านั้นพวกเขาถูกนักค้ามนุษย์หรือผู้ลักลอบนำคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายควบคุมตัวไว้ในที่พักพิงชั่วคราวที่มีสภาพเลวร้ายในประเทศไทย ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนซึ่งเดินทางทางเรือผ่านอ่าวเบงกอลไปถึงประเทศมาเลเซียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังได้เดินทางทางเรือต่อไปอย่างผิดกฎหมายไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย โดยผ่านช่องแคบมะละกา

แม้ว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียไม่ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (1951 Refugee Convention) และประเทศไทยกับมาเลเซียไม่มีกรอบกฎหมายและมาตรการของฝ่ายบริหารที่จะแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย แต่ประเทศเหล่านี้ยังคงต้องปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ทั้งนี้รวมถึงหลักการไม่ส่งกลับซึ่งห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายบุคคลไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขา รวมทั้งห้ามการทรมาน และการปฏิบัติที่เลวร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีและไร้มนุษยธรรม หลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้อื่น ๆ ยังประกอบด้วยข้อบัญญัติต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 2525 (1982 UN Convention on the Laws of the Sea) (ซึ่งประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียเป็นรัฐภาคี) ซึ่งกำหนดหน้าที่ในปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ นอกจากนั้น ตามข้อ 1 (7) ของกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ยังกำหนดให้ประเทศในอาเซียนต้องรับผิดชอบในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท