เสวนา 'บทเรียนจากทุ่งป่าคา': ชาวบ้านครวญติดคุกแล้ว ยังทำกินไม่ได้

เสวนาบทเรียนจากคดีปกาเกอะญอทุ่งป่าคา ชาวบ้านครวญ โดนจำคุกแล้ว ยังจะโดนขอคืนพื้นที่ทำกิน นักวิชาการชี้ทหารใช้การพิทักษ์ทรัพยากรสร้างความชอบธรรมจากการรัฐประหาร และกระบวนการยุติธรรมตัดสินโดยไม่แยกแยะ ไม่สนใจบริบทสังคม

21 พ.ค. 2558 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ ชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.), คณะเยซูอิต สวนเจ็ดริน, เครือข่ายพระสงฆ์ และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ ร่วมกันจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “บทเรียนทุ่งป่าคา สู่การปฏิรูประบบยุติธรรมในสังคมไทย”

การเสวนาดำเนินรายการโดยเดโช ไชยทัพ จาก กป.อพช.ภาคเหนือ เป็นการพูดคุยถึงบทเรียนกรณีชาวบ้านปกาเกอะญอบ้านทุ่งป่าคา อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 39 คน ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองไม้สักหวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ถูกศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาจำคุกในตอนนี้อยู่ 23 คน (ดูข่าวศาลอุทธรณ์พิพากษาก่อนหน้านี้) โดยในการเสวนาได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์ด้วย

ในช่วงต้น ตัวแทนชาวบ้านจากทุ่งป่าคาได้เล่าเรื่องราวว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาตรวจค้นจับกุมมีเป้าหมายตรวจสอบที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้าไม้จริง แต่กลับมีการเหมารวมดำเนินคดีไปหมด ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการค้าไม้แต่อย่างใด ในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการขอคืนพื้นที่ ชาวบ้านไม่แน่ใจว่าจะทำไร่ทำนาได้ไหม ทำให้เกิดความเครียด-ความกังวล บางคนก็ถางที่ถางไร้ไว้แล้ว แต่ก็ทิ้งไว้แบบนั้น ไม่กล้าที่จะเพาะปลูก เพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามา และถูกจับกุมอีก

ตัวแทนชาวบ้านอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า ครอบครัวตนได้ซื้อไม้เพื่อมาสร้างบ้าน โดยนำเงินมาจากลูกที่ไปทำงานอยู่ในเชียงใหม่ ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการเก็บเงิน ไม้บางส่วนก็ตัดมาจากไร่นาหรือที่ล้มลงมา แต่สามีตนตอนนี้ถูกดำเนินคดีและติดคุก มีความยากลำบากเพราะเป็นไส้เลื่อน น้ำหนักลดลงหลายกิโล ความคาดหวังส่วนหนึ่งวันนี้คืออยากให้ชาวบ้านได้รับการลดโทษ ชาวบ้านในหมู่บ้านตอนนี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ มีแต่ร้องไห้อย่างเดียว คนที่อยู่ข้างหลังก็ไม่มีกำลังในการทำไร่ทำนา และมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงก่อนหน้ากรณีทุ่งป่าคา มีข่าวกรณีการจัดการกับการค้าไม้สะลาวินในช่วงเดือน เม.ย.57 ซึ่งจากข้อมูล ต้องยอมรับว่ามีชาวบ้านบางคนที่ไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้าไม้ แต่ส่วนมากแล้วไม่ได้เกี่ยว ทั้งที่เจ้าหน้าที่บอกว่าจะมีการแยกแยะ แต่กลายเป็นว่าเจ้าบ้านแต่ละบ้านถูกดำเนินคดีกันหมด ไม้ของชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เอามาจากพื้นที่ไร่สวนของตนเอง ตอนแรก ชาวบ้านยอมรับว่าไม้เป็นของเขาจริง เอามาสร้างที่อยู่อาศัยจริง แต่กลายเป็นการสารภาพผิดในกระบวนการยุติธรรม

ในเรื่องกระบวนการค้าไม้สาละวินนั้น มีความซับซ้อนหลายเรื่อง ทั้งใช้การอำพราง ไม้แปรรูปต่างๆ และหลายหน่วยงานรัฐมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องและรับรู้ถึงกระบวนการเหล่านี้ เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ไม่เคยมีการจับกุมกันเยอะแบบนี้

ปัญหาระยะสั้นในตอนนี้ คือจะมีหนทางการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น ทั้งต่อพี่น้องที่อยู่ในคุก หรือสภาพจิตใจของครอบครัวอย่างไร ครอบครัวหนึ่งติดคุก 1 คน แต่อีก 4 คนที่บ้านก็เศร้าและเครียด ลูกก็ต้องหยุดเรียน แม่ก็ต้องออกไปทำงานหารายได้แทน หมู่บ้าน 120 หลังคาถือเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่สำหรับปกาเกอะญอ แต่ตอนนี้ทั้งหมู่บ้านเต็มไปด้วยความเงียบเหงา ความเครียดและกังวล ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้พี่น้องที่เป็นชายขอบอยู่แล้ว ยิ่งกลายเป็นคนชายขอบกว่าเดิม

บทเรียนในระยะยาว คือเรื่องแบบนี้จริงๆ เกิดกับชาวบ้านในอีกหลายพื้นที่ ทั้งกรณีไม้และกรณีที่ดินในเขตป่าด้วย จะทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมเข้าใจปัญหาเหล่านี้ ชีวิตชาวบ้านต้องอาศัยทรัพยากรในการอยู่อาศัย ในการหากินหาอยู่ เพื่อความมั่นคงในชีวิต เข้าใจในสิทธิในที่ทำกิน และการอาศัยทรัพยากรของชุมชน

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าวันนี้ได้ส่งอีเมลไปยังเจ้าหน้าที่ทหารกองข่าว มทบ.33 เพื่อเชิญมาร่วมงาน โดยก่อนหน้านี้หลังรัฐประหาร ทางผบ.มทบ.33 ได้เคยบอกว่าเขาจะไม่จับคนจน แต่ทหารพรานที่ 36 ที่ดำเนินการในกรณีนี้อยู่ภายใต้มทบ.33 ตนจึงอยากให้เจ้าหน้าที่มาฟังเรื่องนี้ เพราะในกรณีนี้ได้ดำเนินการในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับที่เคยพูด

อรรถจักร์กล่าวว่า หลังรัฐประหารทุกครั้ง ทหารจะลงมาเล่นเรื่องการทำลายป่าทุกครั้ง ด้วยเหตุผลสำคัญคือเขาไม่มีความชอบธรรมในการรัฐประหาร จึงพยายามสร้างความชอบธรรมจากการแสดงตนเองเป็นคนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ที่อิงกับกระแสอนุรักษ์ของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่เข้าใจว่าชาวบ้านทำลายป่า โดยที่การกระทำของทหารจะละเลยการต่อรองระหว่างประชาชนกับรัฐทั้งหมดที่ผ่านมา

กระบวนการยุติธรรมก็เป็นเช่นเดียวกัน คือโยนเผือกร้อนไปเรื่อยๆ พอจับส่งก็ตัดสินไปตามกฎหมาย ทำให้รู้สึกว่าคนตัวเล็กตัวน้อยทำลายป่า เป็นการอ้างอิงและตัดสินบนกฎหมายลอยๆ โดยไม่ดูความเปลี่ยนแปลงของสังคม ระบบยุติธรรมเวลาเจอกับคนยากคนจนเมื่อไร มักจะบอกว่าคนทำผิดเหมือนกัน ก็ต้องรับโทษเหมือนกัน แต่กฎหมายกลับไม่เป็นแบบนี้กับคนอื่นๆ

อีกประเด็นหนึ่ง คือท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ในแต่ละชุมชนก็มีการแตกตัวทางชนชั้นอยู่ ความเป็นชุมชนแบบเดิมมันหายไป มีคนที่สามารถเกาะเกี่ยวกับรัฐได้ ที่สามารถตัดไม้และสามารถผ่านด่านต่างๆ ไปได้ แต่คนตัวเล็กตัวน้อยที่ตัดไม้ไม่กี่ท่อนก็โดน คนที่ถูกเลือกเป็นแพะคือคนที่อ่อนแอที่สุดในชุมชน

การช่วยเหลือชาวบ้านเฉพาะหน้า อยากเสนอว่าน่าจะมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในมิติต่างๆ โดยขยายไปช่วยเหลือชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ด้วย และรณรงค์กองทุนนี้ออกไปสู่ชนชั้นกลางที่พอจะมีสติอยู่บ้าง และอาจจะใช้ช่องทางถวายฎีกา ที่ทำในเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้เป็นข่าวว่าบ้านเมืองนี้ไม่มีความยุติธรรมเหลืออยู่แล้ว หรือคิดเรื่องการรื้อฟื้นคดี

การเดินไปข้างหน้า คือการทำความเข้าใจกับสังคมที่กว้างขวางมากขึ้น จะสร้างความเข้าใจกับชนชั้นกลาง วิธีคิดเรื่องระบอบทรัพย์สินทั้งหมด เช่น สิทธิชุมชน ทรัพย์สินชุมชน ที่เราพูดกันมาหลายปี ก็ยังช่วงชิงชนชั้นกลางมาได้น้อย รวมทั้งจำเป็นต้องกลับมาคิดถึงการสร้างเครือข่ายพี่น้องชนเผ่าทั้งหมด นึกถึงสมัชชาชนเผ่า อย่างน้อยในช่วงสองสามปีนี้ เพราะโอกาสที่จะเกิดกรณีแบบนี้มีอีกมาก

โจทย์อีกอย่างคือจะทำอย่างไรให้การเรียนการสอน หรือบทบาทของคนที่เกี่ยวข้องในระบบยุติธรรม ลืมตาเพื่อจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม เปิดหูเพื่อจะได้ยินเสียงแห่งความยุติธรรม เข้าใจถึงสิ่งที่มันลึกกว่าความเที่ยงตรงทางกฎหมายแบบหยาบคาย แต่เข้าใจความยุติธรรมที่มันขึ้นอยู่กับชีวิตมนุษย์

บาทหลวงวินัย บุญลือ คณะเยซูอิต สวนเจ็ดริน กล่าวว่าสังคมไทยมักจะมองคนไม่เท่ากัน คนรวย-คนชั้นกลางมักจะมีความเป็นคนสูงกว่าคนด้อยโอกาส คนจน ชาวเขา ความเป็นอื่นต่างๆ ความผิดเรื่องการทำลายทรัพยากรก็ต้องหาแพะรับบาป คำถามคือชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายป่า ทำไมยังมีป่าอยู่ด้วย แต่กรุงเทพฯ ไม่มี

ในกระบวนการค้าไม้ทั้งหมด ทำไมไม่จับคนซื้อ แต่จับคนตัด คนในแม่ฮ่องสอนทั้งหมดมีไม้เกือบทุกบ้าน ถ้าจะไปจับก็จับได้แทบหมดทุกบ้าน มีบ้านคนใหญ่คนโตที่เป็นไม้เยอะแยะ แต่ไม่ถูกจับอะไร

ระบบยุติธรรมของศาลก็ดูตามตัวอักษร ที่ถูกเขียนขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ แล้วไม่ใช่ชาวบ้านเขียน มีภาษาของมันเอง ภาษาของกฎหมาย ภาษาตำรวจ ภาษาป่าไม้ มีภาษาเฉพาะของมัน แล้วภาษาเหล่านี้มันผูกมัดกับความทุกข์ของคน

สภาพเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ชาวบ้านทุ่งป่าคาถูกจองจำ แต่เราก็ล้วนถูกจองจำในคุกของความอยุติธรรมและคุกของความกลัวตรงนี้ มันมีความทุกข์ของความเป็นคนเล็กคนน้อย หรือความเป็นคนอื่นอยู่ในจิตใจ เวลาเราถูกบอกว่าทำผิดเพราะเอาไม้เข้าไปอยู่ในบ้าน มันทำให้เราคิดว่าเราผิดไปทุกอย่าง

จอนิ โอ่โดเชา เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวถึงการต้องหาทางจัดเวทีพูดคุยหารือร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อจะให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ป่าไม้ หรือทหารในพื้นที่เข้ามาพูดคุยแก้ปัญหา และจะนำกลไกมติ ครม. 3 ส.ค.53 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงมาใช้อย่างไร รวมทั้งอาจคิดเรื่องการหาทางรื้อฟื้นคดี โดยที่ยังต้องมีคนลงไปจัดทำข้อมูลปัญหาให้ชัดเจน ทั้งในส่วนชาวบ้านที่ติดคุก และชาวบ้านที่ไม่ติดคุก

พระครูพิพิธสุตาทร จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมมีปัญหาอย่างมากในชั้นตำรวจ เห็นด้วยว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศ โดยผู้ที่ถูกกระทำกลายเป็นคนยากไร้ ที่ไม่มีปากมีเสียงเท่าไร ไม่มีสายสัมพันธ์กับผู้นำหรือผู้มีอำนาจ

เราพบว่าไม่เฉพาะสังคมไทย ที่เรามักจะมีความรู้สึกเศร้าใจกับคนไม่มีข้าวกิน หรือถูกทอดทิ้งโดยลูกหลานไม่ดูแล พอออกทีวีเราก็จะบริจาคเงินให้ โดยที่คิดว่าต้องช่วยเหลือเร่งด่วน แต่พอเกิดกรณีของคนจำนวนมากกลุ่มหนึ่งถูกกระทำ เรามักจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ค่อยมีความรู้สึกร่วมทุกข์กับเขาเท่าไร เช่น พี่น้องชนกลุ่มน้อยไม่มีที่ทำกิน หรือชาวบ้านปากมูนได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เราไม่ค่อยเห็นความทุกข์ร่วมที่เป็นของกลุ่มชน เท่ากับความทุกข์ของปัจเจกชน

เคน แคมป์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย กล่าวว่ากรณีแบบนี้เป็นบทเรียนว่าผู้มีอำนาจจะกระทำต่อคนไม่มีอำนาจและไม่มีเงินทอง กระบวนการยุติธรรมเองก็อยู่ในมือของคนที่ต้องการรักษาอำนาจของตนเอง และคนที่มีอำนาจก็ไม่มีวิชา มีแต่ตัวบทกฎหมาย ยึดตัวหนังสือต่างๆ มากกว่าความยุติธรรม และสภาพสังคมจริงๆ

มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าไม่เคยลงพื้นที่ทุ่งป่าคา แต่จากประสบการณ์ที่ลงไปเจอชาวบ้านในพื้นที่ปัญหาต่างๆ ที่ถูกจับกุม เราเกิดความรู้สึกว่าชาวบ้านไม่ใช่ปัญหาของการตัดไม้บุกรุกทำลายป่า ขณะเดียวกันทำไมพวกเขาต้องมาทนทุกข์ ทำให้คนที่มีศักดิ์ศรีต้องมาอยู่อย่างไร้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วแปลกใจว่าทำไมคนที่มีอำนาจ คนที่จับกุม ถึงไม่รู้สึกถึงตรงนี้ ทำไมแยกแยะไม่ออก

แล้วพอทำแบบนี้ คนที่ทำมาหากินและยึดถือภูมิปัญญาระบบประเพณีเดิม จะถูกผลักให้คนจนตรอก หลายคนยอมรับการเป็นผู้พ่ายแพ้ ขณะที่หลายคนต้องดิ้นรนด้วยตนเอง ต้องออกมาเป็นแรงงานรับจ้าง ชาวบ้านบางคนก็นอนรอแล้วโหยหาอดีต

ส่วนการคิดถึงการรื้อฟื้นคดีอาจจะใช้เวลายาวนาน ต้องคุยกันให้ชัดว่าเขาอาจต้องสูญเสียอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เขาได้คือการยืนยันสิทธิของตนเอง สิทธิของชุมชน สิทธิความเป็นปกาเกอะญอ แม้อาจจะเป็นเรื่องนามธรรม โดยอาจต้องมีเครือข่ายเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือ แต่ตัวผู้ต่อสู้เองก็ต้องเข้มแข็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท