Skip to main content
sharethis
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จี้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร
 
23 พ.ค. 2015 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมออกแถลงการณ์ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษา ที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษา
ที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร
 
จากกรณีที่มีประชาชน นักศึกษา ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น  ปรากฏตามภาพและรายงานของสำนักข่าวต่างๆ ว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ทำกิจกรรมบริเวณดังกล่าวรวม 46 ราย โดยในการเข้าจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่สมควรต่อประชาชนและนักศึกษาบางรายจนได้รับบาดเจ็บ และมีการตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับนักศึกษาที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น จำนวน 7 คน นั้น
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)  เห็นว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนและนักศึกษาดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐและประชาชนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเคารพเสรีภาพดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4  ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไว้ ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
 
2. ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวรัฐมีหน้าที่ต้องผูกพันตามพันธะกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 19 “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง  บุคคลทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก...” และข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครอง” โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540  รัฐบาลไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความขยาดหรือความกลัวในการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนรัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำความเห็นดังกล่าวไปพิจารณา ทบทวน และพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธจึงเป็นเสรีภาพที่สำคัญ  ซึ่งหากรัฐให้ความสำคัญจะทำให้รัฐได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
 
3. ด้วยเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วยการชุมนุมโดยสงบและสันติ อีกทั้งไม่อาจใช้อำนาจและกระทำการที่ก่อให้เกิดการกระทบต่อสิทธิในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนแต่อย่างใด
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอเรียกร้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้
 
1. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชน นักศึกษา ที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ
 
2. ตั้งคณะกรรมการที่เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจในการเข้าควบคุมตัวและจับกุมของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่ามีการใช้อำนาจอันส่งผลกระทบต่อสิทธิในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนและนักศึกษา หากการกระทำผิดต้องมีการลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว                                                              
 
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net