"ประมาณ 20 ชั่วโมงที่อยู่กับอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ : จากหอศิลป์ กทม ค่ายทหาร ถึงกองปราบ"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

แม้จะชอบอ่าน บันทึกของคนอื่น แต่ผมก็มีนิสัยเสียคือการไม่อยากเขียนเรื่องตัวเองลงในที่สาธารณะ เว้นแต่จะคิดว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ แต่ในโอกาสครบ 1 ปี ของเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งในชีวิตของผมและเพื่อนร่วมชะตากรรมในวันนั้น ผมคิดว่าน่าจะบันทึกไว้ อย่างน้อยก็เอาไว้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เอาไว้กันลืม

แน่นอนว่าแรงบันดาลใจ มาจาก ข่าวชิ้นนี้

‘อภิชาต’ สู้คดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ชุมนุมหน้าหอศิลป์ นัดตรวจพยานหลักฐาน 10 มิ.ย.

ผมจะเขียนบันทึกที่ตัวเองได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งตกเป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ รวมทั้งการดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในเวลาต่อมาด้วย

…………….

23 พฤษภาคม 2557

ประมาณ 17.00 น.ที่บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กลุ่ม พอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเป็นเพื่อน ๆ ในแวดวงกิจกรรมนักศึกษาในอดีต ซึ่งเคยจัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ต่อต้านความรุนแรง และรณรงค์ให้ใช้การเลือกตั้ง 2 กุมภา 2557 เป็นหนทางในการสร้างความสงบให้เกิดขึ้น ได้กลับมาจัดกิจกรรมจุดเทียน ขึ้นอีกครั้ง ภายหลังรัฐประหาร 1 วัน ผมในฐานะผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่งได้ไปช่วยอำนวยความสะดวก

ผมไปถึงหน้าหอศิลป์ประมาณ 4 โมงเย็นก่อนเวลานัดหมาย 5 โมงเย็น แต่ในวันนั้นแตกต่างจากกิจกรรมที่จัดก่อนรัฐประหารเป็นอย่างมาก เพราะอารมณ์ผู้คนเต็มไปด้วยความโกรธแค้นทหาร มีการจับกลุ่มคุยกัน การเตรียมกระดาษ และแผ่นป้ายในการประณามรัฐประหาร แน่นอนเสียงตะโกนออกมาเป็นระยะด้วยความโกรธแค้น

ในตอนนั้นหน้าหอศิลป์ กทม.มีทหารพร้อมอาวุธครบมือมาตั้งเต็นท์อยู่ประมาณ 10 คน พอถึงเวลา มวลชนรวมตัวกันได้ ก็ได้จัดขบวนกันเองในการผลักดันให้ออกจากบริเวณหน้าหอศิลป์ ในส่วนผู้ปฏิบัติงาน เห็นท่าไม่ดีจึงได้กล้องแขนกันทำกำแพงมนุษย์ แยกระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมไม่ให้เผชิญหน้ากันโดยตรง

เมื่อทหาร 10 คนแรก ถอยร่นออกไป รถยีเอ็มซี บรรทุก ทหารอีก 2 คันก็วิ่งมาทางสามย่าน มาสมทบเพิ่มกำลังไปรวมกับทหารที่มีอยู่ก่อนหน้าที่บริเวณตีนสะพานหัวช้างฝั่งวังสระปทุม

กิจกรรมดำเนินไปด้วยความวุ่นวาย แม้ผู้จัดจะเตรียมกิจกรรมจุดเทียน ไว้เช่นเดิม โดยให้นั่งสงบ แต่ทว่ามวลชนไม่สงบด้วย การนั่งอยู่เฉย ๆ ต่อหน้าทหารนั้นเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึก หน้าที่ของผมและเพื่อน ๆ จึงต้องพาคนเดินวนรอบ ๆ หอศิลป์ รวมทั้งกิจกรรมอื่นเพื่อไม่ให้มวลชนแตกกระจายไปปะทะกับทหาร

กิจกรรมเลิกประมาณ 6 โมง กว่า พระอาทิตย์ยังไม่ทันตกดิน แต่มวลชนยังไม่ยอมกลับ การจัดกลุ่มพูดคุยมีมากขึ้น เป็นกลุ่มย่อย ๆ ขณะที่มีคนจำนวนมากที่ทยอยกันมา

พอเริ่มมืดทีมงานที่เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ เสร็จพากันแยกย้ายไปขึ้นรถ เรานัดไปหาอะไรทานกันก่อนกลับบ้าน

ระหว่างที่คนอื่นเดินไปขึ้นรถพี่เหน่ง พันศักดิ์ ศรีเทพ ที่จอดอยู่สนามศุภชลาศัยนั้น บริเวณบันไดทางเชื่อมกับบีทีเอส ทหารก็ได้จับกุมชายผู้หนึ่ง มาพร้อมกับสื่อมวลชนที่ถ่ายภาพจำนวนมาก และมวลชนที่เดินตามมา และพร้อมที่จะ “ชิงตัว” เพื่อนของเขากลับมาโดยไม่กลัวอาวุธครบมือของฝ่ายทหารแต่อย่างใด

ขบวนดังกล่าวเดินผ่านหน้าผมไป มีเสียงตะโกนถามชื่อว่า ชื่ออะไร เบอร์โทรอะไร เพื่อให้สื่อมวลชนได้จดไว้ เผื่อว่าจะติดตามได้

ชายคนดังกล่าวตอบกลับมาว่า

"ผมชื่ออภิชาต พงษ์สวัสดิ์  เป็นประชาชนที่ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อนของคณะรัฐประหาร"

พร้อมกระดาษในมือที่เขียนว่า

ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน


 

เมื่อทหารได้คุมตัว อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ เข้าในเขตแนวกั้นของทหาร ที่ตั้งอยู่จุดแรกของกำแพงรั้ววังสระปทุม มวลชนกลับไม่ยอม พยายามเดินน้าไปชิงตัวกลับมา โดยไม่หวาดหวั่นต่ออาวุธสงครามต่อหน้า ระหว่างนั้นอภิชาตถูกนำตัวเข้าไปในรถฮัมวี่ที่จอดรอไว้

ผมคิดว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่พอจะช่วยได้ คือการเข้าไปเจรจากับทหารว่า ขอไปเป็นพยานได้ไหม เพื่อบอกกับมวลชนว่าไม่ต้องเป็นห่วงอภิชาต ผมจะรายงานว่าเขาไปอยู่ที่ไหน

หลังจากนั้นทหารได้นำผมเข้าไปรถฮัมวี่ที่อภิชาตนั่งอยู่ก่อนหน้าแล้ว ในรถเรานั่งเบาะหลัง ซ้าย ขวา ของเรา มีทหารนั่งอยู่ รวมทั้งด้านหน้าอีก 2 คน คือคนขับ 1 และอีก 1 เป็นคนคุมตัว

เหตุการณ์ที่ผมจำไม่ลืมในคืนนั้น ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว รถฮัมวี่คันดังกล่าวกลับปิดกระจกทุกด้าน ผมไม่ทราบว่า เป็นปกติของทหารที่ทนได้หรือไม่ แต่ เราทั้ง 2 คนนั่งในรถด้วยความทรมาน

ที่จำได้แม่นคือวันนั้นผมมีอาการเสมหะติดคอด้วย ยิ่งทำให้หายใจไม่สะดวกเข้าไปใหญ่ ผมพยายามบอกกับทหารที่นั่งในรถว่าให้เปิดกระจกหน่อยได้ไหม ผมหายใจไม่ออก แต่ระบบทหารเท่าที่ผมเรียนรู้ด้วยตนเอง (หลังจากเคยอ่านแต่ในหนังสือ) ว่าอยู่ที่การกำหนดภารกิจที่ชัดเจน ห้ามทำนอกเหนือคำสั่งและหน้าที่ความรับผิดชอบ ทหารทั้ง 4 คนจึงมีสีหน้านิ่งเฉย เมื่อผมขอร้องให้เปิดหน้าต่าง

ผ่านไปเกือบ 20 นาที ผมพยายามเคาะกระจกเมื่อนายทหารเดินผ่าน และเมื่อเขาหันมามอง ก็ขอให้เขาสั่งให้เปิดหน้าต่างให้ด้วย นายทหารท่านดังกล่าว จึงตำหนิทหารที่อยู่ในรถด้วยว่า “ทำไมไม่เปิดหน้าต่างให้”

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น เมื่อ ผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวไปค่ายทหารต้องขาดอากาศหายใจเนื่องจากการทับซ้อนกัน ขณะที่พลขับก็มีหน้าที่ขับอย่างเดียว ไม่สามารถทำนอกเหนือจากภารกิจที่รับมอบหมายได้

หลังจารกนั้นผมกับอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ก็เริ่มพูดคุยทักทายกัน ผมเริ่มจากแนะนำตัวว่าชื่ออะไร ทำอะไรอยู่ คุยไปสักพักก็ถามว่าเป้นคนที่ไหน พอเขาบอกว่าเป็นคนนครศรีธรรมราช ผมก็แนะนำว่ามาจากตะกั่วป่า หลังจากนั้นการคุยกันด้วยสำเนียงปักษ์ใต้ทำให้เราสนิทกันมากขึ้น

อภิชาตเล่าว่าเขา เรียนจบคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเรียนที่สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย อภิชาตทำกิจกรรมมาตั้งแต่เป็นนักเรียน เขาได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นระดับประเทศ ของกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมกับทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)

อภิชาตเล่าว่าเขานั่งรถตู้มาจากแจ้งวัฒนะ แล้วมาต่อรถไฟฟ้า โดยกระดาษที่เขาเตรียมมาจากออฟฟิศ เขาเล่าว่าในฐานะนักเรียนกฎหมาย และทำงานเกี่ยวกับกฎหมายเขาไม่อาจยอมรับอำนาจเถื่อนของคณะรัฐประหารได้ เมื่อแนะนำว่าผมทำงานที่ฟ้าเดียวกัน เราก็คุยกันรื่นขึ้น

อภิชาตชื่นชอบนักวิชาการหลายคน รวมทั้ง อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และอ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อยู่ในนั้นด้วย

ระหว่างนั้นเราทั้ง 2 ก็เป็นประจักษ์พยานว่ามีการทำร้ายร่างกาย ชายผู้หนึ่ง โดยที่ตอนนั้นเราไม่รู้สาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น และชายคนดังกล่าวคือใคร และมีชะตากรรมเช่นไร

เมื่อรถเคลื่อนออกไปจากบริเวณหน้าวังสระปทุม โดยที่เรายังไม่รู้ว่าจะเดินทางไปยังที่แห่งใด และมีใครตามมาด้วย จนมาถึงบริเวณ สถานีรถไฟฟ้าสนามเป้า ก็เลี้ยวขวาเข้ามาใน กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สนามเป้า

เมื่อไปถึงเราก็รู้ว่า มีคนที่ถูกจับกุมมาเพิ่มอีก 2 คน คือ วีรยุทธ คงคณาธา และบุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

โดยที่ทราบว่าหนึ่งในนั้นชายที่โดนทำร้ายคือคุณวีรยุทธ คงคณาธา แกมาในสภาพที่ไม่มีรองเท้า เนื่องจากหล่นลงขณะที่ถูกทำร้าย ผมเลยเอารองเท้าของผมให้คุณวีรยุทธ ใส่ โดยที่ตัวเองเดินเท้าเปล่าไปพลางก่อน

เราน่าจะเป็นประชาชนชุดแรกที่ถูกนำไปควบคุมตัวเนื่องจากการฝ่าฝืนคำประกาศของ คสช.ฉบับที่ 7 ว่าด้วยการชุมนุม ดังนั้นจึงไม่มีการตระเตรียมสถานที่เพื่อรองรับ มีนายทหารยศร้อยเอก ที่รับผิดชอบตึกที่นำเรามาควบคุมตัวไว้ ถูกเรียกตัวด่วน ผมยังจำได้ว่าเขาบ่นเรื่องการนัดหมายตีกอล์ฟที่เมืองกาญจนบุรีในวันเสาร์ อาทิตย์ ที่จะต้องยกเลิก

เรารอจนกระทั่งมีนายทหารพระธรรมนูญมา ซึ่งในคืนนั้นเองที่ผมได้เจอ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นครั้งแรก (และเจอกกันอีกหลายครั้งต่อมา)

หลังจากนั้นได้เริ่มต้นกระบวนการสอบสวน ทำประวัติ โดยผมเป็นคนที่ถูกนำมาทำประวัติคนแรก ในห้องที่ห่างออกมาประมาณ 20 เมตร ระหว่างการให้ข้อมูลอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงตะโกน ขึ้นมาดังมาก จากบริเวณที่สอบสวนอภิชาต ทราบต่อมาว่าอภิชาต ไปทำอะไรที่ถือว่าผิดมารยาททหาร (ซึ่งเป็นปกติของพลเรือน) สักอย่างหนึ่ง จึงเกิดการโวยวายขึ้น

ระหว่างสอบสอนนั้น มีญาติของ บุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ เข้ามาเจรจากับนายทหารด้วย การสอบประวัติเสร็จสิ้นเกือบจะเที่ยงคืนหลังจากนั้น ทางทหารได้นำเราไปเข้าพัก ซึ่งทราบต่อมาว่า ห้องดังกล่าวมีประตูเป็นลูกกรงเหมือนกับคุก

ใช่แล้ว พวกเราเข้าไปในที่เขาเอาไว้ขังทหาร แต่อาจจะถือว่าโชคดี เมื่อเข้าไปด้านซ้าย ก็เป็นห้องขังลูกกรง ที่มีทหารที่ถูกลงโทษ นอนอยู่ในสภาพตีตรวน และนอนกับพื้นซีเมนต์ แต่พวกเราทั้ง 4 โชคดีที่นอนอีกห้องทางด้านขวา ที่เป็นห้องใหญ่กว่ามาก มีติดแอร์และเครื่องนอนไว้ด้วย คาดว่าห้องดังกล่าวนี้คงมิใช่เป็นห้องนักโทษ แต่มาอยู่ในประตูเดียวกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรานอนในคุกห้องแอร์

แน่นอนว่าเราทั้ง 4 ยังไม่มีใครนอนหลับ เราได้มานั่ง แนะนำตัว และแลกเปลี่ยนสถานการณ์กัน พร้อมทั้งทำเซนาริโอว่ามันจะเกิดอะไรได้บ้าง แต่วงคุยก็ยุติลงเมื่อนายทหารเข้ามาบอกว่าเราทั้ง 4 คนต้องแยกกันนอน ผมยังอยู่ห้องดังกล่าวคนเดียว

ส่วนอีก 3 คนไปนอนอีกห้องหนึ่ง แต่ให้นอนคนละมุมกัน

คนอื่นไม่ทราบ ผมนอนหลับตามปกติ ตื่นขึ้นมา นายทหารเจ้าของพื้นที่ซื้อ ข้าวมันไก่ น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ มาให้ บอกด้วยว่านี่เป็นเจ้าที่อร่อยที่สุดในย่านนี้ นายทหารท่านนั้นบอกว่าต้องควักเงินเอง เพราะภารกิจการคุมตัวพวกเรานี้ ไม่ได้คิดมาก่อน หลังจากนั้น พวกเราก็นั่งในบริเวณใต้ถุนอาคารขนาดยาว และพูดคุยกันเองได้สักพักหนึ่ง ทหารก็ให้แยกออกมา แค้ไม่มีการสอบสวนเพิ่ม

เท่าที่ทหารได้แจ้งกับพวกเราคือ จะมีการปล่อยตัวบุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ ที่ค่ายทหาร ส่วนที่เหลือจะไปปล่อยที่กองปราบ

ตอนนั้นมีการค้นมือถือ และให้โทรไปแจ้งญาติได้ว่าให้ไปรับที่กองปราบ ระหว่างนั้นพี่วีรยุทธก็ได้คุยกับทางบ้านว่าแกโดนทำร้ายร่างกาย

ขณะที่นายทหารได้ยินก็ยืนยันว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ปกติ คำพูดดังกล่าวของพี่วีรยุทธได้สร้างความไม่พอใจให้ทหารพอสมควร จึงมีการเปรยให้ฟังว่า อาจจะมีการเพิ่มข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ประมาณ 10 โมงก็มีข่าวโทรทัศน์ออกมาว่ามี คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 5/2558 เรื่องให้บุคคลมารายงานเพิ่มเติม โดยมีรายชื่อผมอยู่ในลำดับที่ 17 (ทราบภายหลังว่ามีการประกาศรายชื่อออกมาตั้งแต่คืนวันที่ 23 พฤษภาคม แล้ว)

ระหว่างนั้นพวก ทั้ง 4 เราคุยกัน ฝากอวยพรน้องนักศึกษาแพทย์คนนั้นด้วย และขอให้น้องเขาเที่ยวญี่ปุ่นด้วยความสนุก

ขณะที่เราทั้ง 3 ขึ้นรถตู้ไปแล้วนั้นจู่ ๆ ก็มีคำสั่งบอกว่าให้ผมลงมาจากรถก่อน แล้วให้ทั้ง 2 ไปกองปราบ ระหว่างนั้นผมก็มานั่งรอ แต่อีกประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีคำสั่งใหม่ว่าให้ผมตามไปสมทบที่กองปราบ

เมื่อผมไปถึงกองปราบประมาณบ่ายโมง อภิชาตและพี่วีรยุทธ รออยู่แล้ว พร้อมเพื่อนร่วมงานที่ คปก. ของอภิชาตรวมทั้งทีมทนาย ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน

เมื่อเราไปถึง ได้คุยกันไม่นาน ผมถูกเรียกเข้าไปสอบเพิ่มเติม

แม้การพูดคุยจะเริ่มต้นไปด้วยดี แต่สักพักผมก็เริ่มสังเกตว่า เหตุการณ์ชักไม่ปกติ การปล่อยตัวอาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างที่คาดไว้ ผมขอตัวไปเข้าห้องน้ำ ระหว่างเดินผ่านอภิชาต นี่นั่งรออยู่ข้างนอกนั้นผมได้สะกิดให้เขาเดินตามไปห้องน้ำ ระหว่างนั้นก็พูดกับเขาว่าสถานการณ์ชักไม่ดี ให้เตรียมตัวไว้ เราอาจจะอยู่กันยาว

เมื่อผมเดินทางกลับเขาห้องสอบสวน ไม่นานก็ถูกนำตัวไปหอประชุมกองทัพบก ที่ซึ่งผู้ถูกเรียกไปรายงานตัว ระหว่างเดินผ่านอภิชาตนั้น เราได้จับมืออำลากัน แน่นอนว่าตอนนั้น ผมคิดว่าผมคงต้องโดนหนักกว่าอภิชาตแน่ หลังจากนั้นเครื่องมือสื่อสารผมก็ถูกยึด และไม่ทราบชะตากรรมของเพื่อนที่กองปราบอีกเลย

ประมาณ 5 ทุ่ม ผมและอีก 6 คนที่ถูกเรียกตัวพร้อมกันได้ไปที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี

เป็นอันว่าทั้ง 4 คนที่ถูกคุมตัวไว้ในคืนวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ได้รับการปล่อยตัว 1 คนคือ บุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ ส่วน อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ วีรยุทธ คงคณาธา และ ผม ยังถูกคุมตัวต่อไป (ดูทหารเผยปล่อยผู้ชุมนุมหน้าหอศิลป์ 1 รายอีก 3 ยังคุมตัวอยู่)

กว่าที่ผมจะได้สื่อสารกับโลกภายนอกก็วันที่ 25 พฤษภาคม โดยมือถือจากทหารที่ให้เราได้ใช้ ทราบต่อมาว่า อภิชาตแลพี่วีรยุทธ ถูกจำคุกที่กองปราบ 7 วัน เมื่อสอบถามถึงสภาพห้องขังในกองปราบเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า มันก็เหมือนกับห้องขังที่โรงพักนั่นแหละ ทำให้ตัวเองคิดว่าโชคดีมากที่ได้มาอยู่ค่ายทหารที่ราชบุรี เพราะเมือเปรียบเทียบทางกายภาพที่ราชบุรีดีกว่ามาก

วันต่อ ๆ มา ก็มีข่าวร้ายเกี่ยวกับปอนด์มาเรื่อย ๆ มีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมในมาตรา 112 พร้อม ๆ กับข่าวว่าคดี 112 จะพิจารณาโดยศาลทหาร

30 พฤษภาคม 2558 เป็นวันที่ผมออกจากค่ายทหาร พี่วีรยุทธได้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่เป็นวันที่อภิชาตต้องเข้าเรือนจำ เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ฟ้องด้วยข้อหาละเมิดคำ สั่ง คสช. เลขที่ 7/2557, พรบ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 วรรค 3 ร่วมกับ ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112, และ ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 215 216 และ 368

แม้ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นหลักทรัพย์ เพื่อขอปล่อยชั่วคราว แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว พิเคราะห์พฤติการณ์ ประกอบหลักทรัพย์แล้ว เห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับผู้ต้องหาใช้ตำแหน่งราชการ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันเป็นญาติ หรือเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีความใกล้ชิดเป็นหลักทรัพย์ ขณะที่พนักงานสอบสวนก็ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวด้วย จึงเกรงว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้ว อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีคำสั่งยกคำร้อง

แต่โชคดีที่คดีของอภิชาต ยังไม่ต้องขึ้นศาลทหาร

ดู ศาลไม่ให้ประกัน “จ.ส.อ.อภิชาต” โพสต์หมิ่นเบื้องสูง-ชูป้ายต้าน คสช.

อภิชาตถูกคัดค้านการฝากขังมา 2 ผลัดจนกระทั่ง 24 มิถุนายน 2557 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 506 ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ศาลได้นัดพิจารณาคดีเรื่อง ไต่สวนคำร้องขอฝากขังผลัดที่ 3 ถึงแม้ พนักงานสอบสวนในฐานะผู้ร้องได้อ้างเหตุจำเป็นในการร้องฝากขังต่อ โดยอ้างเหตุว่าพนักงานสืบสวนสอบสวน ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการสืบสวน โดยเป็นการส่งหนังสือและหลักฐานดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ซึ่งต้องได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาและส่งความเห็นกลับมายังพนักงานสืบสวนปองปราบฯ โดยทางพนักงานสืบสวนกำลังรอให้มีการตั้งคณะกรรมการฯ และจำเป็นต้องทำการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการโพสต์ทางอินเทอร์เนตของผู้ต้องหาก จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) รวมถึงต้องการรอความเห็นจากนักวิชาการจาก 4 สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับข้อความที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหา ในการช่วยตีความความหมายในการแสดงข้อความของผู้ต้องหา

ขณะที่ทีมทนายผู้ต้องหาได้คัดค้านเหตุจำเป็นในการฝากขังต่อ สามประเด็นหลัก คือ

1.ผู้ต้องหามีภาระจำเป็นทางด้านการศึกษา ซึ่งผู้ต้องหาอยู่ในขั้นตอนการเขียนสารนิพนธ์ ในโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตอาสาสมัคร สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายในการสำเร็จการศึกษา ภายหลังจากผู้ต้องหาได้ปฏิบัติงานภาคสนามในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อย และผู้ต้องหามีความจำเป็นต้องไปดำเนินการลงทะเบียนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้วยตัวเอง ในสาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา ในสถาบันการศึกษาแห่งเดียวกัน ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย หากไม่สามารถไปดำเนินการได้ก็จะสูญเสียโอกาสในการศึกษาต่อทันทีหลังจากที่ผู้ต้องหาผ่านการสอบคัดเลือกได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2. ยังไม่มีกระบวนการดำเนินการสืบสวนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ต้องหา ทนายผู้ต้องหาคัดค้านว่าทั้งหมดเป็นกระบวนการภายในของพนักงานสืบสวนฯ ซึ่งเป็นกระบวนการของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ดังนั้นไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องฝากขังผู้ต้องหาต่อไป

3. ปัญหาทางครอบครัวที่ผู้ต้องหาต้องดูแลมารดา และการฝากขังต่อไปจะทำให้ถูกระงับค่าตอบแทนจากการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายต่อไป เนื่องจากไม่ได้ทำงาน แต่อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้เคยรับรองผู้ต้องหาว่าหากได้รับการปล่อยตัวจะดูแลความประพฤติผู้ต้องหาให้อยู่ในวินัยของสำนักงาน

แต่ผิดคาด ศาลได้อ่านคำสั่งฯ โดยมีความเห็นว่า จากที่ผู้ร้อง ได้อ้างว่าอยู่ในกระบวนการส่งหลักฐานให้นักวิชาการ รัฐเอกชน ให้ความเห็นนั้น ศาลมีความเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้กำลังศึกษาอยู่และมีภาระในการเขียนสารนิพนธ์ให้เสร็จสิ้นกระบวนการประกอบกับทั้งผู้ต้อง และศาลเห็นว่าผู้ต้องหา มีสถานที่ทำงานที่เป็นหลักแหล่งที่ชัดเจนแน่นอน สามารถติดตามได้ ถ้าหากมีการฝากขังต่อไปก็อาจจะทำให้ผู้ต้องหาเกิดผลกระทบหลายอย่าง อาทิ การต้องถูกเลิกจ้างจนไม่สามารถเลี้ยงดูแม่ มีปัญหาต่อการศึกษาต่อ ซึ่งไม่สามารถทดแทนได้หรือชดเชยได้ในภายหลัง

ถ้าใครตามคดี 112 พบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษมากที่ศาลไม่อนุมัติให้ฝากขังต่อ ทั้งที่ได้อยนุมัติมา 2 ครั้งก่อนหน้า

ผมคิดว่าเป็นเพราะมีแถลงการณ์ ของสหภาพยุโรป ในการประณามรัฐประหาร สั่ง รมต.งดเยือน-ระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ "อียู-ไทย"(ดู"อียู"ออกแถลงการณ์ประณามไทย ระงับความร่วมมือ)

อภิชาตได้ออกจากเรือนจำในคืนวันนั้นเลย ศาลยกคำร้องฝากขังผลัด3 ปล่อยแล้ว 'อภิชาต' คดีชูป้ายต้านรัฐประหาร-ม.112

คืนนั้นผมได้ไปรออภิชาตที่หน้าเรือนจำ พร้อมกับญาติของเขา และแม่ที่กำลังเดินทางขึ้นมากรุงเทพในคืนวันนั้นเลย หลังจากออกจากเรือนจำ ผมได้ไปทานข้าวกับครอบครัวอภิชาต

สำหรับผม หลังจากแยกกับอภิชาตในคืนวันที่ 24 มิถุนายน วันที่ 5 กรกฎาคม 2558 ทางทหารได้ชวนไปทายกาแฟ และได้ควบคุมตัวในเวลาต่อมาไปขังไว้ที่กองปราบ 5 วัน โดยไม่ตั้งข้อหา เพียงแต่บอกว่าไม่พอใจที่ผมโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

เป็นอันว่า ผมได้ตามไปกองปราบ ภายหลัง อภิชาตและพี่วีรยุทธ. ที่โดนจับพร้อมกัน แต่ได้ออกไปก่อนแล้ว

แต่สำหรับอภิชาตแล้ว เขามีคดีที่จะต้องต่อสู้อีกมาก ในคดีต่าง ๆ

1.ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก

2.ขัดคำสั่งคสช.7/57

3. ป.อาญา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

4.ป.อาญา 216 ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน

5.ป.อาญา ม.112
และ
6. ความผิดตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์

โทษรวมกันกว่า 30 ปี

สำหรับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ผมคิดว่า “คำแถลง” ของอภิชาต ข้างล่างนี้เป็น ข้อเขียนที่มีพลังที่สุดชิ้นหนึ่ง ในรอบ 1 ปี หลังรัฐประหาร จึงขอนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง

ขอแสดงความนับถือ

.................................

 

 

ผมได้เลือกที่จะต่อสู้คดีถึงที่สุด ไม่ยอมรับสารภาพใดๆ และเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย และพร้อมจะต่อสู้ทั้งในด้านวิชาการและหลักกฎหมายตามหลักนิติธรรม ที่หวังว่าจะพอมีอยู่บ้าง แม้ระยะเวลาการต่อสู้ต่อจากนี้จะยาวนานและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และหากผลการพิพากษาคดีออกมาว่าจำเลยผิดจริง ผมคงได้รับโทษหนักด้วยเหตุที่ไม่ยอมรับสารภาพก็ตาม

แต่การต่อสู้ในทางกฎหมายและหลักวิชาการจะเป็นเครื่องยืนยันและดำรงไว้ซึ่งหลักการว่า "การรัฐประหาร" นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติรัฐและนิติธรรมทั้งปวง ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาหรือใช้อำนาจตามคำสั่งของคณะรัฐประหารมาพิจารณาได้

การดำเนินคดีของผมทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ ศาล เป็นไปตามกลไกของกระบวนการยุติธรรมที่ผมยินดีจะเข้าร่วม (เว้นแต่การจับกุมและการปฏิบัติต่อผมไม่เป็นไปตามหลักการยุติธรรมและกฎหมายด้วย คือ ผมไม่สิทธิพบญาติ พบทนายความ แจ้งสถานที่ถูกควบคุมตัว และใช้กิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสม แต่ผมได้ให้อภัยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดและไม่มุ่งที่โกรธเคืองแต่เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรทำกับประชาชนไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะใดแบบนั้นอีก

เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หากแต่กระบวนการยุติธรรมได้ใช้มาตรฐานที่เป็นหลักนิติรัฐ นิติธรรมฟังความทุกฝ่ายเปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ปราศจากการแทรกแซงโดยอำนาจทั้งปวงและเคารพในสิทธิของประชาชน ตามหลักการปกครองประชาธิปไตยสากลนั้น ก็ย่อมยอมรับผลการพิจารณาทั้งปวงไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไรแต่ยืนยันได้ว่า ไม่ยอมรับคำสั่งใดๆ ที่ออกโดยคณะรัฐประหาร หรือคณะใดๆ ที่ใช้กำลังเพื่อยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชน และละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง

อีกประการ อย่างที่กล่าวว่ากระผมได้ประกาศอย่างเด่นชัดว่า จะเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมนี้อย่างบริสุทธิ์ใจและเต็มใจ พร้อมจะสู้คดีโดยใช้ทนายความ พยานหลักฐาน หลักการทางกฎหมาย สู้คดีอย่างเต็มที่

องค์กรในกระบวนการยุติธรรม ก็ควรพิสูจน์ให้กระผมและคนในสังคมได้เห็นด้วยว่า ได้ใช้มาตรฐานเดียวในกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยต่อผลการพิจารณาคดีของกระผมและบุคคลอื่น อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้องค์กรและบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมสืบต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นคดีการปิดสถานที่ราชการ การขัดขวางการเลือกตั้ง การทำลายทรัพย์สินของทางราชการ การบุกยึดสนามบิน การสลายการชุมชนุมจนมีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มการเมืองใดหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตาม

ตอนผมเป็นนักศึกษากฎหมาย ท่านอาจารย์ของผมซึ่งเป็นรองประธานศาลฏีกา ได้บอกกับผมว่า "ผู้พิพากษาที่ปราศจากอคติ ย่อมจะได้รับความชื่นชมและไม่มีวันตาย เพราะคนรุ่นหลังอ่านคำพิพากษาครั้งใด ท่านก็จะกลับฟื้นมีชีวิตมาให้ผู้อ่านได้ชื่นชม ผิดกับ ผู้พิพากษามีอคติ อยู่ก็เหมือนตาย ไปแล้ว"

ผมคิดว่าผู้พิพากษาจะรักษาเกียรติของท่านและองค์กรได้ทั้งในอนาคตและเมื่อท่านจากไปแล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท