สุรพงษ์ กองจันทึก: ชี้ “ผลักดัน” เรือชาวโรฮิงญายิ่งเข้าทางขบวนการค้ามนุษย์

ทนายความด้านกฎหมายสัญชาติ-คนเข้าเมือง เสนอทางการไทยยุติ “ผลักดัน” เรือโรฮิงญา ชี้ จนท.ไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น แนะให้ควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เพื่อสืบหา-ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ และสามารถส่งคนกลับประเทศต้นทางอย่างปลอดภัย ส่วนการประชุม 29 พ.ค. นี้ ทุกชาติควรร่วมมือกัน อย่าผลักภาระให้คนอื่น มิเช่นนั้นประชุมไปก็ไม่เกิดผล

ตามที่เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 24 พ.ค. มีการเสวนาหัวข้อ "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง" ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภาหน้าโดม วิทยากรประกอบด้วย ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อาลี อะหมัด สมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ประชาไทนำเสนอการอภิปรายผ่านวิดีโอของดุลยภาคไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สุรพงษ์ กองจันทึก (ซ้าย) ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

ต่อมาในการอภิปรายของ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลผู้อพยพ และผู้ที่เคลื่อนย้ายผ่านประเทศไทยน้อยมาก เราแทบไม่ได้คุยกับพวกเขาเลย ไม่ได้สอบถามอย่างเจาะจงว่าพวกเขาเป็นใคร กรณีของกลุ่มคนที่เราเรียกว่า “โรฮิงญา” นั้น เมื่อก่อนก็เป็นคนที่อยู่ในพม่า ต่อมาหนีการกดขี่มาไทย เชื้อสายเป็นมาอย่างไร เราหาที่มาที่ไป ถอยเวลากลับไปให้มากที่สุดเพื่อหาว่าเขามาจากไหน คำถามก็คือ การค้นหาเช่นนี้จะนำไปสู่การแก้ไขอย่างไร หากเปรียบเทียบกับเรื่องคนไทยมาจากไหน มาจากเทือกเขาอัลไตจริงหรือ เป็นต้น

เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องไปหาที่มาว่า บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บรรพบุรุษมาจากไหน ใครเป็นคนขนมา เรื่องนี้จึงไม่มีนัยยะที่สำคัญ เท่ากับเรื่องที่ว่า ปัจจุบันนี้ เขามีสภาพเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในสังคมไทย เราเรียนรู้เรื่องนี้ตลอดมา สังคมไทยเอาเรื่อง “เชื้อชาติ” ออกจากทะเบียนราษฎร์ไปแล้ว 30 ปี เพราะเชื้อชาติก่อให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดความเกลียดกันไม่ชอบกัน หลายประเทศทั่วโลกจึงเอาเรื่อง “เชื้อชาติ” ออกจากระบบทะเบียนราษฎร์ เหมือนกับเรื่องการระบุศาสนาในบัตรประจำตัวประชาชน มีข้อถกเถียงมานาน จนในปัจจุบัน ในบัตรประชาชนเราจะใส่ศาสนาหรือไม่ใส่ก็ได้ ทั้งนี้รัฐต้องการ การอยู่ร่วมกันของคน ไม่ต้องการแบ่งแยก หรือแตกแยกกัน ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์โลก มีการเข่นฆ่าระหว่างเชื้อชาติเกิดขึ้นตลอด

ในส่วนของข้อเท็จจริง หนึ่ง ถือว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้มาจากทั้งพม่าและบังกลาเทศ จำนวนคร่าวๆ นั้นพอๆ กัน หากพูดถึงต้องพูดถึงทั้งพม่า และบังกลาเทศ ไม่อย่างนั้นจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา

สอง เรื่องศาสนา ทุกคนเข้าใจว่าผู้ที่อพยพมาเป็นมุสลิม แต่เมื่อเราไปดูค่ายกักกัน ซึ่งขุดเจอหลุมศพ รวมทั้งเจอคนที่รอดชีวิต คนที่ป่วยใกล้ตาย ก็มีการนำตัวมารักษา และพบว่า คนใกล้ตายนับถือศาสนาฮินดู มาจากบังกลาเทศ บ้างก็เป็นชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นเรื่องทฤษฎีศาสนาก็ตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตามคนที่เป็นผู้นับถือศาสนาอื่นยังถือเป็นส่วนน้อย แต่ผู้ที่อพยพมากับเรือส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอธิบายไปเลยว่า ผู้ที่มาทางเรือ เป็นเพราะถูกเกลียดชังเรื่องศาสนาอย่างเดียว เพราะไม่อย่างนั้นเราจะหลงทางในการแก้ปัญหา

ส่วนสาเหตุที่ว่าต้องออกจากประเทศ เพราะถูกรัฐบาลกดขี่ หรือเพราะนับถือศาสนาต่างกัน ที่จริงมีสาเหตุมากกว่านั้น บางคนสรุปง่ายๆ ว่าออกมาหางาน แต่ในเรือจะเห็นว่าเขามาทั้งเด็กและผู้หญิง คือมาตามครอบครัว ดังนั้น จึงมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เขาออกมา บางคนระบุว่า เขาสมัครใจมา แต่ก็พบกรณีที่คนที่เดินทางมากับเรือถูกถูกอุ้มมาก็เยอะมาก เช่น มีกรณีที่เด็กอายุ 15-16 ปี ถูกลากขึ้นเรือ และมาแบบไม่ได้จ่ายเงินค่าลงเรือ คือมาแบบไม่ได้สมัครใจ แต่เราจะแยกคนที่เดินทางมากับเรืออย่างไร และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างไร ดังนั้นจึงต้องไปศึกษา ต้องไปพูดคุยกับพวกเขา

สุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากคลิปข่าวที่ฉายก่อนเสวนา ที่ออกข่าวระบุว่า “นายหน้าทิ้งเรือไปแล้ว” หรือ “ผู้ลี้ภัยต้องการไปประเทศที่สาม” คำถามก็คือ จริงหรือไม่ที่นายหน้าจะทิ้งเรือ เพราะเรือที่ใช้บรรทุกคน เป็นเรือสามชั้น มีเรดาร์ มี GPS และมีเครือข่ายแบบเรือแม่-เรือลูก นายหน้าจะทิ้งเรือ ปล่อยให้เรือลอยเท้งเต้งจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ถึงนายหน้ารายใหญ่ตัดสินใจทิ้งเรือ แต่นายหน้ารายเล็กๆ ก็คงคุมเรือต่อ เพราะผลประโยชน์มหาศาล ใครจะทิ้งเรือง่ายๆ

ข้อสังเกตจากสุรพงษ์ก็คือ คนที่ให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ อาจเป็นคนคุมเรืออีกทีหนึ่ง เพราะถ้าเป็นเหยื่อ คำถามก็คือ เขาจะกล้าเอ่ยปากหรือไม่ คนที่ลงเรือมาทำงาน จะเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้หรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องศึกษาหาความจริง ที่เขาบอกว่าต้องการไปมาเลเซียนั้น ก็เพราะถ้าไม่ไปมาเลเซีย แต่มาฝั่งไทย เขาก็ต้องถูกจับ และคนนำพาก็มีโทษหนัก ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ไทยไปผลักดันเรือเหล่านี้ออกไป ก็เป็นเจตนาของคนหรือขบวนการที่นำพาชาวโรฮิงญาเข้ามา จึงเสนอว่า เรื่องนี้ต้องศึกษาให้มากขึ้น และยิ่งนานไป หากมีข้อมูลนี้มากขึ้น หลากหลายขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจสภาพปัญหาของคนเหล่านี้

สุรพงษ์อภิปรายต่อไปว่า แม้กระทั่งเรื่อง “ปลายทาง” ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ มักพูดว่าไปมาเลเซียหรือประเทศที่ 3 คำถามก็คือ ถ้าจะไปมาเลเซียทำไมต้องลอยลำในไทย โดยสาเหตุเป็นเพราะปลายทางระยะแรกคือประเทศไทย ที่มีปลายทางคือประเทศไทย เพราะเรือพวกนี้เป็นเรือที่จดทะเบียนในไทยไปรับมา กล่าวคือมีกระบวนการไปหลอกชาวโรฮิงญาให้ลงเรือ ถึงในหมู่บ้าน

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมเรือจึงต้องลอยอยู่ในน่านน้ำ 2 เดือน คำตอบก็คือ ในสมัยก่อนเรือลำเล็ก 200 คน จอดรอคนลงเรือไม่นานก็เต็ม แต่ปัจจุบันมีการใช้เรือลำใหญ่ คนทยอยมาลงเรือเรื่อยๆ กว่าจะเต็มต้องรอเป็นเดือน แต่พอมีข่าว เลยต้องรออยู่ในน่านน้ำนานขึ้น เพื่อรอจังหวะที่สามารถขึ้นฝั่งประเทศไทยได้

ส่วนที่ว่า ทำไมไม่ไปมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ก็ไปไม่ได้ เพราะเป็นเรือไทย ถ้าเข้าไปก็กลายเป็นรุกล้ำน่านน้ำ ดังนั้นเรือทีมีชาวโรฮิงญาโดยสารมาเหล่านี้จึงอยู่ในน่านน้ำไทย แต่จะไม่ข้ามไปมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย เพราะไม่มีกระบวนการรอรับ โดยที่กระบวนการรอรับอยู่ฝั่งไทย ต้องรอรับทางบกที่ฝั่งไทย เพื่อส่งคนไปต่อ โดยที่ไม่ไปที่มาเลเซียหรืออินโดนีเซียทีเดียวทั้งที่เรือมีศักยภาพ ซึ่งถ้าเราเข้าใจกระบวนการนี้ ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดขึ้น

ในส่วนที่ว่าไทยควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร สุรพงษ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา รัฐไทย ดำเนินนโยบายแบบ “ไม่รู้ไม่เห็น” คือเราไม่รู้ว่ามีชาวโรฮิงญาเข้ามาเท่าไหร่ มีใครเข้ามาบ้าง แล้วทางการใช้วิธีผลักดันออก ซึ่งวิธีการการผลักดันเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้ทำได้ คือการกระทำที่ผ่านมาผิดกฎหมายทั้งนั้น หากจะกระทำตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องกระทำตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้ “ส่งกลับ” ซึ่งแตกต่างจาก “ผลักดัน” มาก

โดยที่ความหมายของการผลักดันคือ ถ้าเขาจะล้ำเขตแดน ทหารไปเฝ้าแล้วผลักไว้ไม่ให้เข้า แต่การส่งกลับคือเขาทำผิดกฎหมายไทยแล้ว คือล้ำเข้ามาในเขตไทยแล้ว เกือบถึงฝั่ง ก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มีการสอบสวน สืบสวน ทำคดี ส่งให้อัยการฟ้อง ให้ศาลตัดสิน หากตัดสินว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็ให้ส่ง ตม. เพื่อดำเนินการส่งกลับตามกฎหมาย การส่งกลับตามกฎหมาย คือส่งกลับต้องมีประเทศต้นทางเป็นคนรับ บุคคลต้องได้กลับไปบ้านอย่างปลอดภัย ทั้งนี้กระบวนการส่งกลับถูกกำหนดอยู่ในกฎหมายทั่วโลก เพื่อให้บุคคลสามารถกลับภูมิลำเนาได้อย่างปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ไทยเคยทำกระบวนการนี้ไหม ที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้ทำเลย ทั้งนี้กลุ่มผู้อพยพทางเรือเริ่มเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ในปี พ.ศ. 2549 ข้อมูล กอ.รมน.ภาค 4 จ.ระนองบอกว่าจับกุมได้ 1,225 คน ถัดมา พ.ศ. 2550 เพิ่มเป็น 2,763 คน และ พ.ศ. 2551 เพิ่มเป็น 4,886 คน “นโยบายผลักดัน ยิ่งผลัก คนยิ่งมาเรื่อยๆ เพราะพอเราผลักออกแล้ว คนพวกนี้จะเอาเรือเล็กเข้ามาประเทศไทยใหม่ เขาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทางเรือไปมาเลเซีย อินโดนีเซียเลย แต่เขาต้องเข้าไทย เพราะมีเรือเล็กมารับ มีกระบวนการรองรับ”

สถานการณ์เป็นเช่นนี้ จนปลายปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยถูกนำเสนอข่าวว่าผลักดันผู้อพยพทางเรือ และสหรัฐอเมริกาจะประณาม ทำให้ในปี พ.ศ. 2552 เจ้าหน้าที่ไทย ให้เรือที่ขนชาวโรฮิงญาขึ้นบกที่ระนอง จากนั้นให้แพทย์มาตรวจร่างกาย และรุ่งขึ้นฟ้องศาล คือเป็นการใช้กฎหมายคนเข้าเมืองเป็นครั้งแรก โดยนำผู้ที่เข้ามาทางเรือทั้งหมด 78 คน ฟ้องศาล และศาลตัดสินว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย ให้ส่งประเทศต้นทาง โดยหลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาตำหนิมาเลเซียว่าค้ามนุษย์โรฮิงญาโดยไม่มีการตำหนิประเทศไทยเลย ผลจากการปฏิบัติครั้งนั้น ทำให้ไม่มีเรือขนชาวโรฮิงญา และชาวบังกลาเทศ เข้ามาในประเทศไทยอีกเลย ลำเดียวก็ไม่มา

โดยสถิติตลอดปี 2552 เหลือคนเข้ามาทางเรือ 92 คน รวมในกลุ่มนี้ด้วยอีกไม่กี่คน กระทั่งมีการออกมาพูดว่า “เราจะเอาจริง เราจะผลักดัน” ผลหลังจากนั้นก็คือเรือขนชาวโรฮิงญาก็เข้ามาเรื่อยๆ เพราะเราไม่จับ เราใช้วิธีผลักดัน ดังนั้นจะแก้ไขอย่างไร ก็ต้องจับ หากไม่จับ ขบวนการเหล่านั้นจะเติบโตเรื่อยๆ หากินด้วยการนำชาวโรฮิงญาเข้ามาเป็นหมื่น แล้วการเรียกค่าไถ่ก็จะเพิ่มขึ้นโดยขบวนการเหล่านี้

“ประเทศไทยต้องใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาเราไม่ใช้กฎหมาย การผลักดัน คือการไม่ใช้กฎหมาย เราต้องใช้กฎหมายมาตรวจสอบว่าเขาเป็นใคร ใช้เวลาคุย ที่ผ่านมาในปี 2552 ใช้เวลาพูดคุยสามเดือน โดยไปเยี่ยมทุกวัน โดยผู้ที่เข้ามาทางเรือในจำนวน 78 คนนี้ พบว่า 5-6 คนเป็นคนของนายหน้า คนขับเรือ คนที่พูดเก่งๆ นายหน้าทั้งนั้น เราค่อยๆ แยกคุย พอเขาไว้วางใจเขาเริ่มเล่าให้ฟัง นายหน้าที่เกี่ยวข้องคือใคร ไปมาเลเซียแล้วต้องทำอย่างไร”

สุรพงษ์กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลปี 2552 คนที่เข้ามาทางเรือ 78 คน พบว่า 29 คนเป็นบังกลาเทศ เขามีบัตรประจำตัวบังกลาเทศ เราตรวจสอบกลับไปพบว่าใช่จริง สุดท้าย ทั้ง 29 คน ก็สามารถขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิกลับประเทศ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ส่วนชาวโรฮิงญาที่บอกว่ากลับไม่ได้ คือกลับได้ ทางออกมี แม้กระทั่งคนที่มาจากพม่า เราอาจอ้างว่าทางการพม่าไม่รับกลับ แต่ที่ผ่านมากลับไปแล้ว 1 ลำเรือ ตอนประเทศไทยเอาจริง เคยมีเรือลำหนึ่งวิ่งเข้ามาแล้ว ขึ้นฝั่งไทยไม่ได้แน่ จึงลอยลำรอเป็นเดือน โดยที่ไม่รู้จะทำอย่างไร เรือลำที่เข้ามาดังกล่าวจึงมาเบนหัวกลับไปส่งคนที่พม่า กล่าวคือตอนมาใช้วิธีแอบมา ดังนั้นตอนกลับจะแอบกลับ ทำไมจะทำไม่ได้

“คือมีช่องทางจำนวนมากที่จะใช้แก้ไขปัญหา แต่เราต้องมีข้อมูล ถ้าผลักดันแบบไม่รู้ไม่เห็น ก็คือการเอื้อประโยชน์กระบวนการค้ามนุษย์ ถ้าเข้าเมืองประเทศไทยก็ผิดกฎหมาย แต่ถ้าผลักดันออกไป เขาก็ใช้เรือเล็กแล้วพาเข้ามา แล้วเรียกค่าไถ่คนที่เดินทางมา ดังนั้นใช้วิธีผลักดันไม่ได้ต้องใช้กฎหมาย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทย มักระบุในแนวนโยบายว่าสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงเป็นสิ่งที่อยู่คนละด้าน แต่เมื่อดูประเทศอื่น ที่เขาส่งเสริมทั้ง 2 เรื่อง ไปดูตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น เขานิยามสองเรื่องนี้มันเรื่องเดียวกัน ประเทศที่ความมั่นคงดี สิทธิมนุษยชนก็ดีไปด้วย ถ้าแย่ก็แย่ทั้งสองด้าน ดังนั้น ประเทศไทยต้องเข้าใจเรื่องนี้ ถ้าเราจัดการความมั่นคงให้ดีได้ ก็ทำให้สิทธิมนุษยชนดีได้ ถ้าเราเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ก็จะแก้ไขปัญหาได้เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552

ในการเสวนาช่วงท้าย สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบสถานที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงญาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่า ล่าสุดจะเห็นการเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ต่อขบวนการค้ามนุษย์ จนสามารถตรวจพบสถานที่พักพิงชาวโรฮิงญาบริเวณชายแดน ทำให้สามารถขยายผลไปจับกุมรายที่ใหญ่ขึ้น รัฐสามารถเล่นงานเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ ซึ่งมีส่วนรู้เห็น รวมทั้งผู้มีอิทธิพลระดับกลางๆ แต่สิ่งที่รอการเปิดเผยคือระดับใหญ่ๆ

อย่างไรก็ตาม หากทางการไทยยังไม่รับชาวโรฮิงญาเข้ามา ขบวนการก็จะยิ่งมีการแอบพาเข้ามา เท่ากับเป็นการสนับสนุนกลุ่มคนที่หากินกับผลประโยชน์แล้วเอาความมั่นคงมาอ้าง แต่ถ้าทางการไทยใช้หลักมนุษยธรรมและกฎหมายควบคู่กัน คำตอบคือ การเข้ามาทางเรือจะไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม ปัญหาภายในประเทศพม่า ทางการไทยก็ต้องเข้าไปแก้

โดยการประชุมในวันที่ 29 พ.ค. ที่ชาติที่เกี่ยวข้องจะมาประชุมกันนั้น ขอฝากรัฐบาลต่างๆ ที่จะมาหารือกันว่า การมาคุยกัน ต้องเป็นไปเพื่อถ้าหาทางแก้ร่วมกัน ฝ่ายไทยต้องออกแรงด้วยถึงจะแก้ปัญหาได้ ถ้าเข้ามาคุยกันเพื่อโยนภาระให้คนอื่น ก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะตัวเองก็ไม่ร่วมทำด้วย เช่น ไทยบอกเรื่องนี้เป็นเรื่องพม่า ไม่เกี่ยวกับประเทศไทย พม่าก็บอกเอ็งทำสิ ฯลฯ ซึ่งถ้าคุยแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ สุดท้ายก็จะกลายเป็น “ไทยแอบค้า พม่าแอบส่ง” ขบวนการเหล่านี้ก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ดังนั้น คนที่พาเข้ามา รัฐบาลต้องจับเลย และถ้าแต่ละประเทศสามารถร่วมมือกันจะนำไปสู่การแก้ไข อย่าผลักภาระให้คนอื่น จะนำมาสู่ทางออก ถ้าผลักภาระ ประชุมไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท