“โชว์วิชาการ”สะท้อนวัฒนธรรมการศึกษา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ใครว่าในอเมริกาไม่มีโชว์ทางด้านวิชาการ?

มีครับ แถมยังเป็นต้นแบบด้านการทำธุรกิจด้านวิชาการให้กับบุคคลและบางสถาบันในบางประเทศอีกด้วย และผมเชื่อว่าในประเทศไทยอาจกำลังมีโชว์ที่ว่านี้โดยพวกเขาได้แบบ (model) ไปจากอเมริกานั่นแหละ

“โชว์” ที่หมายถึงการแสดง เหมือนกับการแสดงละครอะไรทำนองนี้ โชว์ทางวิชาการจึงหมายถึงการแสดงความเปรื่องทางวิชาการ ผ่านการกระบวนงานวิชาการ เช่น การนำเสนอบทความ การเสนอข้อมูลเชิงวิชาการในงานวิชาการต่างๆ หรือเรียกกันว่า เวทีวิชาการ  แต่ในข้อเท็จจริงก็คือ มันเป็นโชว์ เป็นการเซ็ตฉากการนำเสนองานวิชาการ

ถามว่า ทำไมถึงต้องมีการเซ็ตฉากด้านวิชาการ ให้ได้กลิ่นอายทางวิชาการ หรืออะไรๆ ในรูปแบบวิชาการ คำตอบคือ เพราะผู้เซ็ตฉากต้องให้เกิดบรรยากาศที่ดูดีทางด้านวิชาการ จากตัวอย่างที่เห็นในบางประเทศที่ไม่ใช่อเมริกา เช่น ผู้จัดโชว์วิชาการให้นำเสนอโชว์ (present) เป็นภาษาอังกฤษ หรือจัดที่โรงแรม สถานศึกษาที่มีชื่อเสียง สามารถสร้างเครดิตให้กับโชว์ด้านวิชาการแบบนี้ได้ 

ดังนั้นผู้เข้าร่วมรายการโชว์ก็คือ ผู้อยากได้ใคร่มีชื่อเสียงว่าเป็นนักวิชาการที่ผลงานถูกนำเสนอบนเวทีอินเตอร์ เพราะผู้จัดโชว์วิชาการได้เตรียมตัว ด้วยการจ้างผู้ร่วมงานที่ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งมานั่งเป็นสักขีพยาน ไม่ก็นักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียง ซึ่งเราอาจเรียกพวกเขาว่าเป็นกรรมการ หรือแขกผู้มีเกียรติของของโชว์ก็ได้ 

วัตถุประสงค์สำคัญและแท้จริงของการจัดโชว์วิชาการที่ว่านี้ คือธุรกิจ เมคมันนี่ !!  และให้เผอิญว่าโชว์วิชาการที่ว่าตรงกับค่านิยมและวัฒนธรรมการอยากได้ใคร่ดี ใคร่มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการของคนไทยบางคนหรือบางกลุ่มที่ต้องการแผ่นประกาศเกียรติคุณ “ผลงานวิชาการอันเยี่ยมยอด”ไว้ติดฝาผนังบ้าน โดยเฉพาะห้องรับแขก ซึ่งหากเป็นในอเมริกา เราน่าจะหากันไม่ยาก แต่ที่เมืองไทยมันเป็นธุรกิจใหม่ ที่เปิดดีล (deal opening)  เพื่อหาเครดิตไปที่สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และองค์กรเอกชนที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรทางการเงิน 

ผู้เซ็ตโชว์หรือผู้จัดโชว์ย่อมทราบอุปนิสัยของคนไทยเป็นอย่างดีว่าคนไทยมีวัฒนธรรมขี้โอ่วุฒิการศึกษามากมายขนาดไหน รู้ว่าคนไทยโอ่เห่อฝรั่งอย่างไร รู้ว่าคนไทยนั้นต่อหน้าก็นิยมไทยแต่ใจนิยม(ของ)นอกประมาณไหน รู้วัฒนธรรมจ่ายครบจบแน่มีความหมายอย่างไร รู้“วัฒนธรรมดอกเตอร์”ว่าเป็นกระแสหรือฟีเวอร์ขนาดไหนจากตัวอย่างขนาดผลสะท้อนเกี่ยวกับความร่ำลือถึงมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๖

โอกาสของผู้เซ็ตงานสัมมนาวิชาการแบบโชว์วิชาการนี้  เกิดจากความเข้าใจวัฒนธรรมคนไทยว่าเป็นอย่างไร มองมันอย่างแทงทะลุ สมัยก่อนผู้เซ็ตกลุ่มก่อนๆ ขนคนไทยผู้คลั่งไคล้เวทีวิชาการ ประเภท”เสนอบทความ” ไปนำเสนอบนเวทีวิชาการในอเมริกา (แน่นอนล่ะว่ามันถูกเซ็ตโดยกลุ่มทำธุรกิจโชว์วิชาการ และผู้เข้าร่วมงานโชว์จำเป็นต้องจ่าย) สมัยนี้ผู้คลั่งไคล้วิชาการที่อยู่ในวัฒนธรรมดอกเตอร์อาจไม่ต้องไปไกลถึงแดนลุงแซมอีกต่อไป แต่เริ่มมีคนเริ่มธุรกิจประเภทนี้ไปบ้างแล้วโดยอาศัยอเมริกันโมเดล สร้างเวทีขึ้นมาและเก็บเงินคนที่ขึ้นนำเสนอบนเวที

ความจริงโชว์วิชาการแบบนี้ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ โชว์นี้มีประโยชน์ในแง่การสร้างสภาพคล่องให้เกิดขึ้นในวงการการศึกษาของไทย ในยามที่เศรษฐกิจกำลังทรงตัวและส่อเค้าทรุด ซึ่งการทำให้เกิดสภาพเงินหมุนเวียนในประเทศย่อมดีกว่าเงินไหลออกนอกประเทศดังที่เคยทำกันมาในการนำเสนอบทความบนเวทีอินเตอร์อย่างในอเมริกา ทั้งอย่างน้อยก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยใส่ใจกับงานการศึกษาและงานวิจัยมากมายขนาดไหน

ท่ามกลางบรรยากาศของการศึกษาไทยที่เต็มไปด้วยความกลัว โดยเฉพาะขั้นการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ถูกวิจารณ์ว่าผู้เรียนไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่กล้าวิพากษ์อย่างสมเหตุสมผล ผู้เรียนและผู้สอนต่างก็ถูกเงื่อนไขของความกลัวที่แฝงอยู่กับระบบการศึกษาครอบงำ ปราศจากความหาญกล้าทางวิชาการ การนำเสนอความคิดใหม่ที่มาจากการวิพากษ์โต้แย้ง ซึ่งก็คือระบบเผด็จการทางการศึกษา

ขณะที่การศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยโดยมาก เป็นไปในลักษณะที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างมี ความกลัวฝังหัว ไม่กล้าแสดงออกทางความคิดที่ตัวเองคิด

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การนำเสนอข้อมูลทาง วิชาการบางด้านบิดเบือนไปมากก็น้อยโดยเฉพาะวิชาการสายสังคมศาสตร์ (ที่อยู่ฟากตรงกันข้ามกับสายวิทยาศาสตร์)  ยิ่งสถาบันการศึกษาใดเดินอยู่ในแนวทางจารีตนิยมความกลัวในการแสดงออก เชิงการวิพากษ์และการเสนอความเห็นจนเกิดความอึมครึมในสถาบันก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

ผมเคยมีข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของความกลัวต่อการแสดงความเห็นเชิงการวิพากษ์ด้วยเหตุและผล ดังนี้ครับ

1. ผู้เรียนผู้สอนมีความรู้ไม่พอที่จะวิพากษ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้เรียนและผู้สอนไม่ พยายามแสวงความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน เพราะในโลกนี้มีความรู้เกิดใหม่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่าง รวดเร็วเสียด้วย หากสถานการณ์ของผู้เรียนผู้สอนเป็นอย่างนี้ ทั้งผู้เรียนหรือผู้สอน ย่อมจึงเกิดความกลัว ในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะการนำเสนองานวิชาการหรืองานวิจารณ์แสดงความเห็นโดยทั่วไปจึง ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเข้าถึงความจริงในประเด็นต่างๆ

2. ระบบอุปถัมภ์ภายในสถาบันการศึกษาของไทย เป็นระบบที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงค่อนข้างมาก หมายถึงระบบเส้นสายในสถาบันการศึกษา เครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้งสองฝ่ายสามารถอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันตามแบบอย่างของ วัฒนธรรมไทยโดยทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ทั้งผู้เรียน และผู้สอนไม่กล้าแสดงออก โดยเฉพาะการแสดงออกเชิงการวิพากษ์ในแง่มุมวิชาการอย่างเต็มที่ 

3. ปัญหาของผู้เรียนและผู้สอนที่โลกทัศน์แคบ ตีความ วิเคราะห์และขยายความประเด็นทางด้าน วิชาการไม่เป็นซึ่งว่ากันตามจริงแล้วข้อนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์เชิงประจักษ์ของทั้งผู้เรียนและ ผู้สอนที่มีไม่มากพอ หากผู้สอนมีโลกทัศน์แคบก็พลอยทำให้กรอบ การเรียนการสอนพลอยแคบไปด้วย แม้ว่าผู้เรียนจะมีประสบการณ์เชิงประจักษ์มากมายเพียงใดก็ตาม แต่ก็จะถูกจำกัดการถ่ายทอดความรู้ออกสู่สาธารณะ  เช่น การนำเสนอความเห็นของผู้เรียนที่เกิดความกลัวต่อผู้สอนเนื่องจากความเห็นจากการตีความ การวิเคราะห์ไม่ตรงกัน เพราะผู้สอนคือ ผู้ควบคุมผู้เรียน เช่น ผ่านระบบการออกเกรดหรือให้คะแนน เป็นต้น ความกลัวดังกล่าวให้ความเห็นที่ควรแสดงต่อสาธารณะแม้แต่การแสดงออกในห้องเรียนของผู้เรียนถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย

4. อำนาจรัฐก่อให้เกิดความกลัวและความอึมครึมต่อการเรียนการสอนได้มาก โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่มีไว้เล่นงานผู้ที่ชอบแสดงความเห็นเชิงวิชาการและวิพากษ์รัฐ หรือแม้แต่การที่รัฐมีกฎหมายป้องกันตัวของรัฐและบุคลของรัฐที่เป็นบุคคลสาธารณะเอง ในบางมาตรา ทำให้การแสดงความเห็นทางวิชาการ ไม่อาจเป็นไปอย่างเต็มที่เพราะลึกๆแล้ว ผู้ที่แสดงความเห็นที่คาบเกี่ยวกับรัฐและสถาบันย่อมมีอาการประหวั่นเกรงกลัวอำนาจ (กฎหมาย) ที่รัฐมีอยู่ในมือและพร้อมที่จะใช้เล่นงานทั้งผู้เรียนและผู้สอนในสถาบันการศึกษาที่แสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐ ซึ่งในประเทศไทยมีกฎหมายบางประเภทและบางมาตราที่ยังมีอิทธิพลครอบงำระบบการเรียนการสอนอยู่

5. ความอึมครึมจากการสุกเอาเผากิน ผู้เรียนหวังแค่ใบปริญญา ไม่ได้หวังความรู้เพื่อให้ใกล้เคียง กับวัตถุประสงค์ของการศึกษาอย่างแท้จริงรวมถึงการใช้เงินปูทางไปสู่วุฒิทางการศึกษา เช่น การบริจาคให้กับสถาบันการศึกษาหรือบริจาคให้กับอาจารย์ผู้สอนในกิจกรรมต่างๆทำให้การแสดงความเห็นทางวิชาการ หรือการแสดงความคิดเห็นเชิงเหตุและผล ไม่สามารถเป็นไปอย่างเสรีหรือเต็มที่ได้ เพราะผู้เรียนไม่ ได้ตั้งความหวังเรื่องความรู้มากนัก ขณะที่การบริจาคเงินและให้ของกำนัลก็มักปิดปากผู้สอนและผู้บริหารให้เงียบสนิท อย่างน้อยผู้สอนและผู้บริหารก็ไม่กล้าวิพากษ์ผู้เรียนอย่างตรงไปตรงมา เกิดการเกรงใจกันแบบไทยๆ ท้ายที่สุดความกลัวก็ยังคงอยู่ในห้องเรียน ในสถาบันการศึกษาเหมือนเดิม

6. กลัวผิดต่อจารีต หรือความกลัวต่อการผิดต่อประเพณีของสถาบันการศึกษาและสถาบันสังคมหมายถึงผู้เรียนหรือผู้สอน ไม่กล้าแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เพราะเหตุของความกลัวต่อจารีต ประเพณีของสถาบันการศึกษา บางสถาบันการศึกษาของไทยถึงกับอาศัยพิธีกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงความสนใจผู้เรียนและบุคลากรของสถาบัน แต่เป็นการสร้างความสนใจที่ผิด เพราะพิธีกรรมหากมีมาก ก็ย่อมลดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ลง  และพิธีกรรมได้กลายเป็นเครื่องถ่วงความก้าวหน้าเชิงวิชาการแบบที่เป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งได้สร้างความกลัวแบบใหม่ให้เกิดขึ้น คือ ผู้เรียนกลัวว่าพิธีกรรมจะกลายเป็นเครื่องบีบบังคับ ให้ผู้เรียนและผู้สอนต้องใช้เวลามาซูฮกต่อพิธีกรรมดังกล่าวมากขึ้น ขณะที่หน้าที่ของผู้เรียนผู้สอน คืองานแสวงหาความรู้และนวัตกรรมความรู้ พิธีกรรมของสถาบันการศึกษาบางแห่งทำให้ผู้เรียนเสียเวลา และเกิดความกลัวจากการสร้างให้พิธีกรรมและจารีตครอบงำทั้งผู้เรียนและผู้สอน จนเกิดความอึมครึมในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น
 
ผมคิดว่า “โชว์วิชาการ” ที่กำลังก่อตัวขึ้นในเมืองไทยอาจเป็นเครื่องชี้วัดตัวใหม่ ที่จะมาวัดว่าคนไทยนั้นมีความกลัวต่อระบบเผด็จการด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ถ้าผู้เรียนหันไปหาโชว์วิชาการมากขึ้นก็แสดงว่าคนไทยยอมรับวัฒนธรรมการศึกษาแบบเผด็จการ แต่ถ้าผู้เรียนสนใจธุรกิจโชว์วิชาการน้อยก็แสดงให้เห็นว่าคนไทยเริ่มเป็นตัวของตัวเองทางการศึกษามากขึ้น

เพราะการเป็นตัวของตัวเองทางการศึกษาสื่อให้เห็นถึงความกล้าหาญของทั้งผู้เรียนและผู้สอนที่มีเพิ่มมากขึ้น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท