Skip to main content
sharethis
รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเผยรัฐเตรียมมอบสิทธิพิเศษให้ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ คาดเริ่มดำเนินการจังหวัดตากและสระแก้ว เนื่องจากพื้นที่มีความพร้อม ให้กรมธนารักษ์เปิดให้เช่าพื้นที่ราคาถูก ระยะเวลา 30-50 ปี เช่น สระแก้ว หากเช่าพื้นที่ดิบหรือยังไม่มีการถมที่ให้เช่าไร่ละ 32,000 บาทต่อปี ส่วนพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้เลยคิดไร่ละ 160,000 บาทต่อปี แต่จะปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ทุก 5 ปี 
 
29 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และตราด มีความชัดเจนพอสมควร หากผู้ประกอบการใหม่สนใจลงทุนและเปิดบริษัทใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีสิทธิพิเศษทั้งการลดภาษีให้ครึ่งหนึ่ง เช่น จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 และถ้าขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะไม่เรียกเก็บภาษีระยะเวลา 5-8 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงมหาดไทยจัดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยให้กรมธนารักษ์เปิดให้เช่าพื้นที่ราคาถูก ระยะเวลา 30-50 ปี เช่น สระแก้ว หากเช่าพื้นที่ดิบหรือยังไม่มีการถมที่ให้เช่าไร่ละ 32,000 บาทต่อปี ส่วนพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้เลยคิดไร่ละ 160,000 บาทต่อปี แต่จะปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ทุก 5 ปี ซึ่งกรมธนารักษ์จะประกาศค่าเช่าที่ชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า โดยขณะนี้มีผู้มาขอบีโอไอแล้ว 6 ราย เช่น ผู้ประกอบการทำลวด แปรรูปสินค้าเกษตร ทำบรรจุภัณฑ์พลาสติก ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและมุกดาหาร ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาและมีผู้จะขอบีโอไอเพิ่มอีกกว่า 10 ราย ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ก่อนพื้นที่อื่น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและประเทศเพื่อนบ้านตั้งนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียงพื้นที่เศรษฐกิจดังกล่าวอยู่แล้ว
 
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีการเตรียมพื้นที่ภาครัฐ 6 แห่ง เพื่อรองรับการเข้าดำเนินงานของภาคเอกชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยผู้ที่สนใจลงทุนสามารถยื่นเรื่องได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ โดยจะใช้เวลา 7 วันติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการเดินเรื่องให้ทั้งหมด
 
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่ง จะแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ภาคเอกชนและการลงทุนผ่านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้ที่สนใจต้องยื่นความจำนงขอใช้พื้นที่อย่างไร และยื่นแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดหาลูกค้า การพัฒนาสาธารณูปโภค และแผนวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะต้องมีหลักเกณฑ์การเข้าไปใช้พื้นที่พร้อมทั้งพิจารณาผลงานที่ผ่านมาของบริษัทนั้นและแผนปฏิบัติของบริษัทว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งระยะแรกจะเน้นการพัฒนาตามแนวชายแดน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร
 
นายอาคม กล่าวว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและกำลังคนเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งไทยได้มีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในหลายอุตสาหกรรม เพื่อที่จะวางแผนบริหารการทำงานร่วมกันตามแนวชายแดน นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนใน ซึ่ง สศช.ได้มีการประเมินกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว 9 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ต้องใช้เทคโนโลยี เช่น ยานยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ 2.กลุ่มนวัตกรรม 3.กลุ่มท่องเที่ยว 4.กลุ่มเกษตรและอาหาร 5.กลุ่มผู้ประกอบการยาง 6.กลุ่มนิคมอากาศยาน 7.กลุ่มดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8.ภาคบริการการศึกษานานาชาติ 9.กลุ่มศูนย์กลางสุขภาพ เช่น ด้านการรักษาพยาบาลโดยทั่วไป การให้บริการส่งเสริมด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ มองว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะดำเนินการได้ คือ ชลบุรีและระยอง ซึ่งจะเป็น 2 พื้นที่หลัก นอกนั้นจะมีพื้นที่อื่น เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net