Skip to main content
sharethis

สมาคมจันทร์เสี้ยวฯ ประชุมวิชาการส่งเสริมความรู้อิสลามด้านการแพทย์ พบข้อมูลน่าตกใจ หลายโรคป้องกันได้แต่ที่ชายแดนใต้ทำไม่ได้ เล็งหาจุดเชื่อมการแพทย์กับวัฒนธรรมอิสลามชายแดนใต้ ปลัดสาธารณสุขชี้เมื่อศาสนานำสังคมก็ต้องสาธารณสุขด้วย แนะสมาคมจันทร์เสี้ยวฯ ต้องเป็นตัวเชื่อมผู้นำศาสนากับบริการสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี

สมาคมจันทร์เสี้ยวฯ ประชุมวิชาการส่งเสริมความรู้อิสลามด้านการแพทย์
วันที่ 30-31 พฤษภาคม 2558 สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา โรงพยาบาลศูนย์ยะลา และมูลนิธิเพื่อการแพทย์และสาธารณกุศล จัดประชุมวิชาการครั้งที่ 10 “ก้าวสู่ AEC กับความท้าทายภัยสุขภาพแห่งศตวรรษ” ณ ห้องประชุมคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในงานมีการนำเสนอผลงานวิชา การเสวนา  และการบรรยายจากนักวิชาการชื่อดังทั้งในและต่างประเทศหลายท่าน อาทิ Prof.Dr.M.Ihsan karaman, ดร.มะรอนิง สะแลมิง, นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, อาจารย์บับลี อับดุรเราะห์มาน เป็นต้น โดยมีบุคคลาทางการแพทย์และสาธารณสุข นักเรียน นักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก
นายแพทย์อะห์มัดซูลัม เปาะจิ นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า  การประชุมวิชาการของสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเป็นภารกิจหนึ่งที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์เป็นศูนย์วิชาการอิสลามทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับการบริการางด้านสุขภาพที่มีการบูรณาการตามหลักการศาสนาอิสลาม และสอดคล้องกับพันธกิจของสมาคมฯ คือการเผยแพร่และส่งเสริมการนำองค์ความรู้วิชาการอิสลามด้านการแพทย์และสาธารณสุขสู่สมาชิกและชุมชน

วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้คือ 1.เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ผลงานเด่น และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการแพทย์และสาธารสุขของสมาชิกสมาคมฯ รวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ 2.เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์ความรู้สถานการณ์ด้านสุขภาพและสุขภาพวิถีอิสลามแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขและประชาชนทั่วไป

น่าตกใจ หลายโรคป้องกันได้แต่ที่ชายแดนใต้ทำไม่ได้
นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 กล่าวเปิดงานว่า ในเขต 12 มีปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ยังรอการแก้ไขจำนวนมาก บางปัญหาอาจจะรุนแรงกว่าของภาคอื่นๆ ของประเทศ เช่น ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก พบว่าแม่เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์และคลอดมากที่สุดในประเทศ แต่ถ้าคิดเป็นสัดส่วนของการคลอดก็อาจจะไม่สูงมากแต่ก็ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ

“เรามีสัดส่วนของโรคที่เกิดในเด็กซึ่งสามารถที่จะปกป้องด้วยวัคซีนได้สูงกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ แต่เราไม่สามารถให้วัคซีนป้องกันเด็กของเราตามเป้าหมายที่กระทรวงตั้งไว้ คือมากกว่าร้อยละ 95 ในเขตของเราหลายแห่ง” นายแพทย์ธีรพล กล่าว

“เขต 12 มีปัญหาเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในพื้นที่ของเราที่มีการสูญเสีย เราต้องการความรู้ความสามารถความเข้าใจในเรื่องการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เรายังมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งมีความรุนแรงและควบคุมยากลำบาก สาธารณสุขของเรารับที่ปลายทางเพื่อจะดูแลผลของกระบวนการเหล่านี้ แต่ต้นทางนั้นเป็นหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและรับผิดชอบ” นายแพทย์ธีรพล กล่าว

นายแพทย์ธีรพล กล่าวต่อไปว่า เขตของเรายังมีบางโรคที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศได้ผ่านพ้นไปแล้ว เช่น โรคเรื้อน ถ้านับจำนวนทั้งประเทศปัญหาโรคเรื้อนไม่ถือว่าเป็นปัญหาของประเทศ แต่ถ้าแยกรายเขตรายจังหวัดพบว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โรคเรื้อนยังมีอยู่สูงมากเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกจะยอมรับได้ ปัญหาเหล่านี้เกิดมาอย่างยาวนาน มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย

หาจุดเชื่อมการแพทย์กับวัฒนธรรมอิสลามชายแดนใต้

นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้ตรวจการกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 


นายแพทย์ธีรพล กล่าวว่า เท่าที่ได้สัมผัสกับผู้คนที่นี่พบว่า สิ่งหนึ่งซึ่งเราต้องการมากนั่นคือ การจะเชื่อมโยงวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้เข้ากับวัฒนธรรมสังคมและศาสนาในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่าสามารถใช้วิชาการทางการแพทย์และสาธารณที่สุขสอดคล้องกับชีวิตประจำวันได้โดยไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ทำให้ประชาชนยอมรับในบริการต่างๆ ของรัฐที่ได้จัดให้ เพื่อให้เขามีสุขภาพที่ดีและเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เพื่อลดปัญหาสาธารณสุขที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากในความคิดของตนที่ต้องมาดูแลในเขต 12 นี้

“หลายๆ เรื่องยังต้องการความรู้ความเข้าใจและการเชื่อมโยงระหว่างศาสนาอิสลามและวิถีชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ากับบริการที่กระทรวงได้ออกแบบมา เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าการประชุมครั้งนี้และครั้งก่อนๆ นี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับพวกเราที่จะได้ข้อสรุปหรือแนวคิดจากการประชุมที่เราได้มาร่วมระดมสมองกันว่า ในวิถีชุมชนและในบริบทของศาสนาอิสลามในพื้นที่ที่พวกเรากำลังดูแลกันอยู่นี้ จะมีทางออกอย่างไรที่จะช่วยให้ประชาชนของเรามีสุขภาพที่ดี” 

“ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในมหาวิทยาลัย ไม่สามารถสอนกันได้ในการประชุม แต่ได้มาจากประสบการณ์ของเราที่ได้ทำงานในพื้นที่แล้ว มาแลกเปลี่ยนกันในเวทีเช่นวันนี้ แล้วได้ข้อสรุปที่จะสามารถจะนำไปขยายผลและนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้” 

นายแพทย์ธีรพล กล่าวอีกว่า ประเทศในอาเซียนมีประชากรนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก เพราะฉะนั้นผลกระทบจากการเปิดประตูบ้านให้มีการติดต่อกันอย่างเสรีได้ ถือเป็นการยากที่จะประเมินผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ตนคิดว่าเราควรมานั่งคิดกันว่า ถ้าให้เพื่อนบ้านอีก 9 ประเทศเข้ามาจะมีผลด้านบวกและด้านลบอย่างไร หลังจากเปิดเสรีอาเซียนปลายปีนี้เป็นต้นไปอาจเกิดประเด็นใหม่ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึงและเราสามารถนำประเด็น AEC มาถกกันใหม่ในการประชุมครั้งหน้าเพื่อรับมือกับอนาคต

ปลัดสาธารณสุข ชี้เมื่อศาสนานำสังคมก็ต้องนำสาธารณสุขด้วย


นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “สาธารณสุขชายแดนใต้ สู่สาธารณสุขแห่งอาเซียน” โดยกล่าวว่า การแก้ปัญหาสาธารณสุขจะต้องมีวิธีการที่แตกต่างกันไป และจากที่เคยมาอยู่ยะลาเมื่อหลายปีก่อนได้เรียนรู้อย่างน้อย 2 ประเด็นที่สำคัญๆ คือ ยุทธศาสตร์ศาสนานำสาธารณสุข กล่าวคือการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะหรือมีศาสนานำสังคมจะต้องใช้วิธีการศาสนานำสาธารณสุขด้วย ประเด็นที่สองคือ ได้เรียนรู้จากนายกเทศมนตรีในสมัยนั้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม

“สิ่งที่ต้องการบอกแด่ชาวสาธารณสุขอย่างแรก คือ ข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะในช่วงที่ยังมีประเด็นความไม่สงบอยู่ ข้อมูลเป็นสิ่งที่ยากลำบากในการเก็บแต่ต้องมีเพื่อระบุปัญหาให้ได้ ส่วนการจัดบริการจะต้องบูรณาการโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน กล่าวคือเราจะต้องมองลงข้างล่างเพื่อแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูล การบริการแบบบูรณาการและใช้พื้นที่เป็นฐาน เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหา”

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า วิธีการที่ตายตัวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ที่ต้องทำคือเจ้าหน้าที่จะต้องบุกเข้าไปเพื่อหาปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะส่วนหน้าคือสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพที่ต้องเข้าใจวิถีชีวิต เช่น ประชาชนชอบกินอะไร และตนคิดว่าพยาบาลสามพันคนที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่เมื่อหลายปีก่อนซึ่งประจำอยู่ที่สถานีอนามัยจำนวนไม่น้อย ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ระบบงานในสถานีอนามัยเชื่อมโยงกับข้อมูลในพื้นที่ได้ หากเจ้าหน้าที่มีความชัดเจนในแนวทางการทำงาน ตนคิดว่าจะเป็นคำตอบสำหรับเรื่องนี้

แนะจันทร์เสี้ยวฯ ต้องเชื่อมผู้นำศาสนากับบริการสาธารณสุข
“สมาคมจันทร์เสี้ยวฯ ในมุมมองของผม เห็นว่าเป็นตัวเชื่อมหรือเป็นตัวกลางระหว่างระบบการให้บริการกับปัญหา ที่อื่นหมออาจจะนำ แต่ในพื้นที่นี้คิดว่าหมอจะนำไม่ได้ เพราะผู้นำศาสนาจะเป็นคนนำ ซึ่งข้อมูลทางวิชาการที่บุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีจะต้องเชื่อมโยงให้ได้ เราไม่สามาถออกคำสอนได้นอกจากให้ผู้นำศาสนาเป็นคนออกแทน ผมจึงคิดว่าสมาคมจันทร์เสี้ยวฯจะสามารถก้าวเข้ามาอยู่ตรงกลางเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้นำศาสนากับสภาพปัญหาและระบบได้” นายแพทย์ณรงค์ กล่าว

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวอีกว่า ระบบการบริการของประเทศไทยยังเข้ากันไม่ค่อยได้เท่าไหร่กับประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ คำถามก็คือวิถีชุมชนกับการบริการของโรงพยาบาลจะไปด้วยกันได้อย่างไร แต่ละศาสนาจะมีที่พึ่งทางใจในช่วงสุดท้ายของชีวิตแตกต่างกันไป คำถามคือจะทำอย่างไรให้โรงพยาบาลให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมุมมองเรื่องเหล่านี้อย่างเข้าใจ

“ตัวแสดงหลักที่สำคัญก็คือผู้บริหารโรงพยาบาลกับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นคนของสมาคมจันทร์เสี้ยวฯ จะทำอย่างไรให้คนสองกลุ่มนี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้ได้เข้าใจกันในบริบทต่างๆ ที่สำคัญต้องคุยกันอย่างเปิดเผยและด้วยเป้าหมายเหมือนกัน นั่นก็คือการทำให้ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสุขภาพที่ดี” นายแพทย์ณรงค์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net