Skip to main content
sharethis

14 ภาคประชาสังคมไทยออกแถลงการณ์ร่วมในเวทีรายงานสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ขององค์การสหประชาชาติ ที่กรุงเจนีวา ถึงความกังวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยใน 6 ประเด็น

2 มิ.ย.2558 ภาคประชาสังคมไทยรวม 14 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในเวทีทบทวนรายงานสิทธิเศรษฐกิจสังคม องค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ กล่าวถึงความห่วงใยต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยใน 6 ประเด็น โดยสรุป ดังนี้

1. ผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นอันเนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยการใช้แผนแม่บทป่าไม้ และคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 แถลงการณ์ระบุว่า ในรอบปีที่ผ่านมา มีการคุกคามและขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินโดยทหารและเจ้าหน้าที่ มีการตัดฟันทำลายทรัพย์สิน และดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับชาวบ้านเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้อนุรักษ์ต่างๆ เพื่อนำที่ดินมาให้ธุรกิจเอกชนเข้าใช้ประโยชน์

2. มีการข่มขู่คุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งจากรัฐและเอกชนในหลายรูปแบบ และมีการฟ้องคดีโดยรัฐและเอกชนต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงมีการให้ข่าวที่บิดเบือนกับสื่อมวลชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่น

3. การควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแห่งรัฐสภา และการคงกฎอัยการศึก และกฎหมายพิเศษอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ โดยเฉพาะต่อผู้หญิงที่ต้องกลายมาเป็นผู้นำครอบครัว

4. การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบโดยการสนับสนุนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

5. ความรุนแรงและการคุกคามชนเผ่าพื้นเมืองและวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยชักจูง บังคับ ให้ดำเนินวิถีชีวิตที่แตกต่างจากวิถีชีวิตดั้งเดิม และพรากปัจจัยหลักของวิถีชีวิตชนเผ่า เช่น สิทธิในที่ดิน

6. ให้คณะกรรมการสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เสนอแนะรัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนการกำหนดระบบการศึกษาที่เคารพระบบคิด และเคารพสิทธิพื้นฐานตามหลักการของ UNESCO และจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ทุกคนในประเทศ  รวมถึงแนะนำให้ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันในปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านการเลือกปฏิบัติในทางการศึกษาของเด็กขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้ ตัวแทนจากองค์การภาคประชาสังคมของไทยจำนวน 14 องค์กร เข้าร่วมการทบทวนรายงานความก้าวหน้าของประเทศไทย ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 1-5 มิถุนายนนี้ และได้แถลงโดยวาจาในประเด็นเรื่องการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเศรษฐกิจสังคมในประเทศไทย เนื่องด้วยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

อ่านแถลงการณ์
…………………..

เรียนประธานกรรมการคณะกรรมการสิทธิเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นแถลงการณ์ร่วมขององค์กรต่างๆ ที่จัดส่งรายงานคู่ขนานต่อคณะกรรมการฯ เราจะขอสรุปประเด็นห่วงใยในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย


ประเด็นแรก แผนแม่บทป่าไม้แห่งชาติส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นที่ยากจนเพราะทหารและเจ้าหน้าที่อุทยานป่าไม้ได้ขับไล่ชาวบ้านที่ยากจนออกจากที่ดินที่พวกเขาทำมาหากิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนอย่างน้อย 44เรื่องที่ระบุถึงการคุกคามชาวบ้านให้อพยพเคลื่อนย้ายนับแต่เริ่มปฏิบัติแผนแม่บทป่าไม้แห่งชาติเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การขับไล่เท่านั้นเจ้าหน้าที่ยังได้ตัดทำลายทรัพย์สินต้นไม้ของชาวบ้านด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำป่าไม้อนุรักษ์ต่างๆ มาเป็นที่ดินที่อนุญาตให้ธุรกิจและบริษัทต่างๆ เข้าไปทำใช้ประโยชน์ได้ รัฐบาลทหารต้องยกเลิกคำสั่ง คสชที่. 64/2557 และ 66 /2557 และหยุดจับกุมประชาชนในข้อหาบุกรุกที่ดิน รวมทั้งการยุติการคุกคามให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นออกจากพื้นที่ก่อนที่จะมีการปรึกษาหารือกับชุมชนเรื่องการกำหนดพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน แผนแม่บทป่าไม้แห่งชาติถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลทหารใช้ในการบังคับไล่ชาวบ้านผู้ยากจนและเป็นการสร้างโอกาสให้การนำที่ดินไปใช้ในทางธุรกิจมากขึ้น เพราะการจัดการเรื่องสิทธิในที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินสำหรับคนยากจนและเกษตรกรที่ไร้ที่ดินที่ใช้กำลังทหารเพื่อการคืนพื้นที่ป่านั้นเป็นการยกเว้นการใช้หลักการทางกฎหมายและทางการบริหารที่มีอยู่ทั้งหมดก่อนหน้านี้ การฟ้องคดีทั้งอาญาและทางแพ่งต่อเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากขึ้นอย่างมากมาย ระหว่างวันที่ 22พฤษภาคม2557 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2558 กฎอัยการศึกถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติการคุกคามประชาชนโดยพลการในการจัดการคืนผืนป่าและจนกระทั่งปัจจุบันประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบไม่มีใครได้รับการชดเชยเยียวยาแต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง สิทธิในที่ดิน ตั้งแต่ปี2546 มีนักกิจรรมด้านสิทธิที่ดินจำนวนกว่า 60 คนถูกฆ่าสังหารในประเทศไทยและมีนักกิจกรรมอื่นอีกจำนวนมากรวมทั้งครอบครัวที่ทุกข์ทรมานจากการบังคับให้สูญหาย ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในเอเชียหากพวกเราลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในที่ดิน

ปัญหาเรื่องที่ดินมีประชาชน 811,892 ครอบครัวที่ไม่มีที่ดินและอีก 1.5 ล้านครอบครัวที่ต้องเช่าที่ดินเพื่อการทำกิจ งานวิจัยหนึ่งระบุว่า 90% ของที่ดินในประเทศไทยถือครองตามกฎหมายโดยคนไทยและนิติบุคคลจำนวนแค่ 50 ราย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในชุมชนเป็นกลุ่มคนที่อยู่แถวหน้าที่ต้องต่อสู้กับความยากชนและสิทธิที่จะกำหนดแผนพัฒนาที่กระทบต่อทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง แต่กลับกลายเป็นว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหล่านี้กลับประสบกับการคุกคามและข่มขู่จากทั้งรัฐและเอกชนหลายรูปแบบ การคุกคามรุนแรงเหล่านี้หมายถึง มีมือปืนรับจ้างเข้ามาในชุมชนในเวลากลางคืน การฆ่านอกระบบกฎหมาย การขู่ว่าจะถูกฆ่าตายครั้งแล้วครั้งเล่า การฟ้องคดีทั้งโดยรัฐและเอกชนซึ่งเป็นการคุกคามโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน การให้ข่าวกับสื่อมวลชนที่บิดเบือนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่นและอื่นๆ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกลับถูกฟ้องคดีอาญาจากพยายามใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของพวกเรา เช่นการรวมกลุ่ม การชุมนุมภายใต้รัฐบาลทหาร การอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ การขุดเจาะหาแก๊สธรรมชาติและน้ำมันเกิดขึ้นมากมายและไม่ได้มีการปรึกษาหารือเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนรวมในการตัดสินแต่อย่างใด

เราขอให้คณะกรรมการให้ความสนใจอย่างยิ่งกับการฟ้องคดีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเนื่องจากการทำงานที่ชอบธรรมของพวกเราในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลต้องยุติการปฏิรูปโดยการออกกฎหมายใดใดที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่ปราศจากกระบวนการประชาธิปไตยและตัวแทนประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง การคุ้มครองสิทธินักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนหญิงในการเรียกร้องสิทธิที่ดินและสิทธิสตรีเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้หญิงสามารถดำรงไว้ซึ่งบทบาทผู้นำในภาวะที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสิ่งที่พวกเธอเผชิญจากการแบ่งภาระการทำงานที่ไม่เท่าเทียมในครอบครัว และรวมทั้งการเลือกปฏิบัติทางเพศและอคติทางสังคม

ประเด็นที่สาม รัฐบาลทหารได้ดำเนินการปฏิรูปสถาบันด้านสิทธิมนุษยชนโดยการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแห่งรัฐสภา สิ่งที่สำคัญคือประเด็นเรื่องจังหวัดชายแดนใต้ของไทยที่ยังคงอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกตั้งแต่ปี 2547 ตั้งแต่ปี2547 ถึงปี2556 มีประชาชนจำนวน 22,979 คนที่ได้รับบาดเจ็บจาการใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และมีกว่า 7,567 คนที่เสียชีวิต (โดย 6,000 คนเป็นผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางอาวุธโดยตรง )รวมทั้งครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการและการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษก็ถูกเลือกปฏิบัติและถูกตีตราในทางลบในโรงเรียนและที่ทำงานผู้หญิงในครอบครัวเหล่านี้มักประสบกับภาวะที่ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งเขาต้องประสบกับความไม่ปลอดภัยและสภาพจิตใจที่กดดันทั้งจากเด็กและสมาชิกอี่นๆในครอบครัว บางครั้งความกดดันนั้นก็มีผลกระทบโดยตรงต่อเด็ก โครงการที่รัฐสนับสนุนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงไม่ครบคลุมถึงครอบครัวผู้ต้องขังเหล่านี้อีกทั้งรัฐบาลทหารต้องคุ้มครองผู้หญิงมุสลิมเพื่อให้เขาสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองท้องถิ่นได้โดยการรับรองมติคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติ หมายเลข 1325 โดยรัฐบาลต้องให้การคุ้มครองครูและเจ้าหน้าที่ที่ด้านสุขภาพในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ เพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึง รวมทั้งการบริการสาธารณสุขต่อผู้หญิงและเด็กในประเด็นเรื่องสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธ์การป้องกันการแพร่การกระจายของโรคเอดส์ และรวมทั้งการเข้าถึงการยุติธรรมต่อผู้หญิง รัฐบาลต้องให้ความสนใจและยุติการตั้งครรภ์ในเด็ก การบังคับแต่งงาน ในบางพื้นที่การเลือกปฏิบัติต่อสตรียังคงถูกกฎหมายหากกระทำในนามของความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนาและความห่วงใยเรื่องความปลอดภัย ทั้งๆที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญายุติการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

ประเด็นที่สี่ องค์กรร่วมภาคประชาสังคมมีความกังวลในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบจากการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐบางนาย สถานการณ์ความรุนแรงต่อกรณีชาวโรฮิงญาต้องการการทำงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อสร้างให้เกิดการปกป้องคุ้มครองชาวโรฮิงญาระยะสั้นโดยทันทีและระยะยาว เราต้องการให้คณะกรรมการเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมแสวงหาความชัดเจนว่าจากการที่ประเทศไทยเพิ่งจะจัดการประชุมสุดยอดในการแก้ไขปัญหากรณีโรฮิงญานั้นได้มีการการพิจารณาถึงต้นตอของปัญหาทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศที่เป็นทางผ่าน รวมทั้งประเทศปลายทางหรือไม่การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อชาวโรฮิงญาได้แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคดังนี้พวกเขาจึงต้องการการคุ้มครองต่อการค้ามนุษย์ต่อการบังคับใช้แรงงานในธุรกิจประมง รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับข้ออ้างที่ว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีส่วนเกี่ยวข้อง

ประเด็นที่ห้า ความรุนแรงและการคุกคามกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยการทำลายปัจจัยหลักของวิถีชีวิต ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยเป็นกลุ่มชายขอบและกลุ่มที่ถูกกีดกันจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและหากมีการพัฒนาก็มักจะเป็นการชักจูง บังคับ ให้พวกเขาดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากวิถีชีวิตดั้งเดิมและนำปัจจัยหลักของวิถีชีวิตชนเผ่าไปเช่นเรื่องสิทธิในที่ดิน

ประเด็นที่หก การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม เราต้องการให้คณะกรรมการฯแสดงความสนใจและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการกำหนดระบบการศึกษาที่เคารพต่อระบบคิดที่เคารพสิทธิพื้นฐานตามหลักการของ UNESCO และจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อทุกคนในประเทศไทย และแนะนำให้ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันในปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านการเลือกปฏิบัติในทางการศึกษาของเด็กที่คณะกรรมการสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี2555 ในประเด็นต่างๆ ที่ระบุนี้ องค์กรภาคประชาสังคมขอเรียกร้องให้มีกระบวนการประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลที่ยุติธรรม ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบให้ได้โอกาสในการมีส่วนร่วมในสถาบันระดับท้องถิ่นและระดับชาติและโดยเฉพาะการกำหนดอนาคตและตัดสินใจด้วยตนเองในประเด็นที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของตนเองและชุมชนของพวกเรา

องค์กรร่วมแถลงการณ์

1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)

2. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา HRDF

3. เครือข่ายการศึกษาชนเผ่มพื้นเมือง (IEN)

4. มูลนิธิศักยภาพชุมชน

5. มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ JPF

6. ศูนย์ข้อมูลชุมชน CRC

7. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

8. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)

9. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย (NIPT)

10. มูลนิธิประสานความร่วมมือชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย (AIPP)

11. Protection International

12.Franciscans International

13.Forum Asia


 

หมายเหตุ มีการแก้ไขข่าว (4 มิ.ย.2558) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net