Skip to main content
sharethis
ประกันสังคมเผยพกบัตรอุ่นใจเจ็บ-ป่วยรักษาได้ทุก รพ.
 
สำนักงานประกันสังคมแนะนำให้ลูกจ้างพกบัตร รับรองสิทธิการรักษาพยาบาลไว้ติดตัว หากเกิดเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุไม่คาดฝัน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่น ๆ ได้ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน
 
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แนะนำว่า ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ควรพกบัตรรับรองสิทธิการรักษา พยาบาลติดตัวเอาไว้เสมอเหมือนกับการพกบัตรประชาชน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด นักขัตฤกษ์หรือช่วงวันหยุดต่อเนื่อง ที่ลูกจ้างหรือผู้ประกันตน อาจต้องมีการเดินทาง ท่องเที่ยว หรือพักผ่อน เมื่อเกิดเจ็บป่วยทั่วไป เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือประสบอุบัติเหตุ ที่ไม่คาดฝันสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด เพราะกองทุนประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวแทน
 
โดย "บัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล" ใช้เป็นหลักฐานในการแสดงตน เพื่อขอรับ บริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลที่ระบุไว้ ตามบัตรรับรองสิทธิฯ ไม่ว่าจะเป็นของ รัฐหรือเอกชนจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ประกันตน แต่ในกรณีเข้าโรงพยา บาลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ญาติ ควรรีบติดต่อโรงพยาบาล ตามบัตร รับรองสิทธิฯ ให้ทราบทันทีตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่รู้ตัวว่าต้องเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลอื่น เพื่อให้สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และ รับผู้ประกันตนกลับไปรักษาพยาบาลต่อ
 
ทั้งนี้ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลอื่น สำนักงานประกันสังคม ก็จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายใน 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมงแรก ลูกจ้าง, ผู้ประกัน หรือญาติ นำเอกสารค่ารักษาพร้อมใบรับรองแพทย์ มายื่นเบิกได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่จังหวัดหรือสาขาตามที่ท่านสะดวก
 
(ครอบครัวข่าว, 28/5/2558)
 
แรงงานรัฐวิสาหกิจบุกขอขึ้นเงินเดือน พนง. 4 เปอร์เซ็นต์ เท่าขรก
 
เมื่อวันที่  28  พ.ค. ที่กระทรวงแรงงาน  สมาชิกสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) กว่า 50 คน จาก 42 องค์กรรัฐวิสาหกิจที่นำโดยนายมานพ เกื้อรัตน์ รองเลขาธิการ สรส. และนายคมสัน ทองศิริ อดีตเลขาธิการ สรส. ได้มายื่นหนังสือถึงพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน เพื่อขอให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(ครส.) พิจารณาปรับเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจ และแก้ปัญหาการปรับโครงสร้างเงินเดือน โดยมีนายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เป็นผู้รับหนังสือแทน นายมานพ กล่าวว่า ขอให้ครส.พิจารณาปรับเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีรวมทั้งหมดกว่า 2 แสนคน ในทุกตำแหน่ง ให้ได้ 1 ขั้นหรือเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 4 ซึ่งรวมถึงพนักงานที่มีเงินเดือน 5 หมื่นบาทขึ้นไปด้วย โดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ธ.ค.2557 เช่นเดียวกับข้าราชการ รวมทั้งแก้ปัญหาการปรับโครงสร้างเงินเดือนรัฐวิสาหกิจตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ก.พ.2558 เพราะขณะนี้พนักงานรัฐวิสาหกิจยังไม่ได้รับการปรับเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพราะมีปัญหาในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ขอให้ปรับเงินเดือนพนักงานเข้าใหม่ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็น 1.5 หมื่นบาทด้วย ด้านพล.อ.สุรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำข้อเรียกร้องหารือในครส.เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเรียกร้อง  รวมทั้งให้ผู้เรียกร้องได้ชี้แจงเหตุผลเพื่อให้ได้ข้อยุติเบื้องต้น แต่ไม่สามารถไปตัดสินได้ว่าจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนหรือไม่ เพราะต้องนำสรุปเบื้องต้นไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น แล้วเสนอต่อไปยัง ครม.  ส่วนการปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้นเมื่อครม.เห็นชอบแล้ว แต่ละรัฐวิสาหกิจจะต้องไปทำจัดทำโครงสร้างเงินเดือนว่าจะปรับโครงสร้างเงินเดือนอย่างไร ทั้งนี้การปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น ต้องดูโครงสร้างการทำงานและความสามารถในการจ่ายของแต่ละรัฐวิสาหกิจ  ไม่ใช่ทำงานแล้วไม่ก้าวหน้าเลย แต่อยากขึ้นเงินเดือนตลอด ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้
 
(เดลินิวส์, 28/5/2558)
 
ประกาศเจตนารมณ์ “พลังคนพิการ : หุ้นส่วนธุรกิจ สร้างสรรค์สังคม”
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานแถลงข่าวและการลงนามแถลงความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการประกาศเจตนารมณ์หลักการ “พลังคนพิการ : หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม” ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภามหาวิทยาลัย และสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสไทย (Workability Thailand)  ณ ห้องรับรองชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า โครงการประกาศ เจตนารมณ์หลักการ “พลังคนพิการ: หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม” Declaration of Welcome Disability) เกิดจากความมุ่งหมายที่จะสร้างความตระหนักต่อสังคม ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ด้วยการสร้างการเข้าถึงโอกาสทางสังคมในมิติต่างๆ ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการมีงานทำของคนพิการ ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล “คนไทยทุกคนต้องมีงานทำ” ที่หมายรวมถึงคนพิการและผู้ด้อยโอกาสด้วย โดยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนในการสนับสนุนโอกาสการมีงานทำ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพคนพิการ และการจัดสถานประกอบการให้พร้อมสำหรับคนพิการ ตลอดจนการส่งเสริมการซื้อขายสินค้า และบริการ เพื่อสร้างงานและรายได้ให้แก่ กลุ่มคนพิการอีกทางหนึ่งด้วย
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำรัสพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2517 ว่า
 
"...งานช่วยเหลือคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการไม่ได้อยากจะเป็นผู้พิการ และอยากช่วยเหลือตนเอง ถ้าเราไม่ช่วยเขาให้สามารถที่ปฏิบัติงานอะไร เพื่อชีวิตและเศรษฐกิจของครอบครัวจะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้นนโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยเหลือตนเองได้เพื่อจะทำให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม..."
 
กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสไทย จึงได้น้อมนำมาเป็นหลักแนวทางในการดำเนินงาน การบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และคนพิการ ทั้งนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการสนับสนุนหลักการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของ คนพิการ (Principle-based declaration) และร่วมสร้างความตระหนักต่อพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชนโดยรอบผ่านตราสัญลักษณ์ Welcome Disability Mark หรือ Well-D เพื่อปลูกฝังนโยบายการยอมรับความแตกต่างและความเท่าเทียม การไม่กีดกัน คนพิการภายในองค์กร และขยายสู่การดูแลลูกค้าและสังคมภายนอกอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม นับเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีและร่วมรณรงค์สังคมไทย ให้ร่วมเป็นหนึ่งกำลังในการเปลี่ยนแปลงคนพิการจากภาระให้เป็นพลัง
 
“ปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของคนพิการ เพราะคนพิการเป็นเพียงผู้พิการแต่ทางกาย ทางด้านจิตใจและความคิดเขาไม่ได้พิการเลย” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทุกภาคส่วนมีความมุ่งเน้นให้ผู้พิการประสบความสำเร็จในการทำงาน โดยสำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ทัศนะคติ การเตรียมพร้อมของศักยภาพเพื่อเตรียมออกไปทำงานในสังคมภายนอก และการลดอุปสรรคและสร้างโอกาส ของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผลักดันการมีงานทำให้กับผู้พิการให้มากที่สุด
 
นายอุดมโชค ชูรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวทำให้คนพิการได้มีโอกาสเข้าทำงานได้มากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วอุปสรรคของคนพิการไม่ได้อยู่ที่ความรู้ความสามารถ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถหาได้ด้วยการฝึกฝน แต่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อฝึกฝนแล้วหากสถานประกอบการไม่เอื้อต่อผู้พิการความรู้ความสามารถของผู้พิการก็ไม่สามารถที่จะไปต่อได้ ดังนั้นโครงการนี้นับว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้พิการได้มีงานทำได้มากขึ้น นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการทำงานของผู้พิการกับสังคมซึ่งปัจจุบันสังคมช่วยผลักดันและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นสังคมที่เปิดสำหรับผู้พิการมากขึ้น”
 
นายธิติ แก้วเมืองมา พนักงาน Ray Call Center กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวฯ ถือว่าเป็นโครงการที่ทำให้ผู้พิการได้มีพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น ช่วยให้ได้สั่งสมประสบการณ์และสามารถออกสู่สังคมได้ ทำให้เราสามารถกล้าคิด กล้าทำ ในสิ่งที่ผู้พิการส่วนใหญ่กลัวได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมการทำงานที่อดีตการจ้างงานคนพิการมีน้อยมาก รวมถึงกายภาพด้านสังคมในสถานประกอบการก็เอื้อต่อผู้พิการมากขึ้น การสนับสนุนการมีงานทำของภาครัฐปัจจุบันถือได้ว่าดีมากๆ สำหรับผู้พิการ”
 
(กระทรวงแรงงาน, 29/5/2558)
 
กรมการจัดหางาน เตรียมหารือกับผู้แทนอิสราเอลปรับปรุงสภาพชีวิตแรงงานไทยในอิสราเอล
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ ( 2 มิ.ย.) จะร่วมประชุมกับนายแอมนอน เบน อมิ(Amnon Ben Ami) อธิบดีหน่วยงานประชากรการเข้าเมืองและชายแดน(PIBA) พร้อมคณะ เกี่ยวกับการดูแลแรงงานไทยในอิสราเอล โดยหารือในการปรับปรุงสภาพการจ้าง สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทย การดูแลในเรื่องของสุขภาพ การแก้ปัญหายาเสพติดโดยการจับกุมปราบปราม รวมทั้งหารือเรื่องภาษีฉบับใหม่ของอิสราเอลที่ทำให้แรงงานไทยต้องเสียภาษีจำนวนมากกว่าเดิม โดยเจ้าหน้าที่อิสราเอลจะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ขั้นตอนคัดเลือกแรงงานไทย เพื่อไปทำงานที่อิสราเอลทั้งในเรื่องการคัดด้านสมรรถภาพทางร่างกายการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล และขอเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่อิสราเอล ในจังหวัดอุดรธานี อีกทั้งจะหารือในเรื่องที่ผ่านมามีแรงงานไทยเสียชีวิต โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือที่มักเรียกว่าไหลตาย (หัวใจวาย) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบที่แน่ชัดต่อไป เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของแรงงานอีก นอกจากนี้ยังจะพูดคุยเรื่องสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเสียชีวิตที่อิสราเอลด้วย
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 31/5/2558)
 
ตร.-ทหารเคลียร์วุ่นประท้วง บ.เลิกจ้าง 
 
เมื่อเวลา 00.30 น. วันที่ 30 พ.ค.58 พ.ต.ท.สุริยงค์ โพธิ์จันทร์ รอง ผกก.ป.สภ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา รับแจ้งมีกลุ่มรถบรรทุก 6 ล้อรถบรรทุกเล็ก 4 ล้อ ประมาณ 100 คัน ได้รวมตัวนำรถมาปิดประตูโรงงานดีทแฮมล์ม ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินกิจการกระจายสินค้าอุปโภค-บริโภค ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นพร้อมด้วย พ.ต.อ.ชัยยะ เพชรปัญญา ผกก.ฝ่ายสืบสวนและทหารเดินทางไปตรวจสอบ
 
พบคนขับรถและเด็กติดรถประมาณกว่า 100 คน กำลังยืนคุยกันเสียงดังอยู่หน้าบริษัทเกี่ยวกับเรื่องการบอกยกเลิกสัญญากับบริษัทแซนดี้ โลจิสติก ซึ่งเป็นผู้รับเหมางานขนส่งสิ่งของมาจากบริษัทดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจึงขอร้องให้เลื่อนรถออกจากหน้าโรงงานเพื่อให้เป็นระเบียบ
 
ขณะที่นางเอื้อม นารมย์ อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นผู้จัดการดูแล บริษัทแซนดี้ โลจิสติก กล่าวว่าก่อนจะมีการรวมตัวชุมนุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากบริษัทที่ดำเนินการขายสินค้าได้จ้างให้บริษัทตนเป็นผู้รับสัมปทานในการส่งของ ทางบริษัทจึงเปิดรับสมัคร รับรถบรรทุกเข้ามาร่วม สุดท้ายบอกเลิกสัญญาทำให้คนขับและลูกน้องตกงานจึงเกิดความแค้นนำรถมาปิดประตูโรงงานดังกล่าวพร้อมทั้งเรียกร้องให้กรมสวัสดิการแรงงานเข้ามาช่วยด้วย หากบริษัทฯ ไม่ยอมให้รถเข้าวิ่งร่วมก็จะนำรถไปปิดถนนประท้วงต่อไป
 
(บ้านเมือง, 31/5/2558)
 
สศช.เผยเด็กไทยหนีเรียนสายสามัญส่งผลสายอาชีวะขาดแคลนด้านแรงงาน เร่งจับมือเอกชนปั้นบุคคลากรป้อนตลาด
 
นางชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เปิดเผยว่า  ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพโดยเฉพาะแรงงานฝีมือระดับกลางที่จบการศึกษาจากระดับสถาบันอาชีวะศึกษา ที่พบว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วจะเข้าสู่ระบบแรงงานในอุตสาหกรรมน้อยกว่าที่ควรเป็น และบางส่วนก็หันไปเลือกเรียนต่อในสายสามัญศึกษาเพื่อจบปริญญาตรี
 
ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาจะมีการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบ ทวิภาคโดยให้สถานศึกษาด้านอาชีวศึกษาร่วมมือกับผู้ผลิตหรือเจ้าของกิจการที่ใช้แรง งานเข้ามาช่วยพัฒนานักศึกษาเพื่อเข้ามาป้อนในตลาดแรงงาน แต่กับพบข้อจำกัดหลายด้านเช่น การขาดความรู้ความเข้าใจในระบบการเรียน ขาดความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการการบริหารจัดการ คุณภาพของสถานศึกษาที่นำไปสู่ทัศนคติของผู้เรียนและสถานประกอบการ ที่ยังจ่ายค่าแรงให้กับผู้จบสายอาชีพต่ำกว่ากลุ่มที่จบปริญญาตรี
 
นางชุตินาฎ  กล่าวต่อว่า แม้ความต้องการตลาดแรงงานสายวิชาชีพจะมีสูงกว่าแรงงานสายสามัญแต่ปัจจุบันนักศึกษาไทยยังเลือกเรียนสายสามัญอยู่ถึง 60% และสายอาชีวะ40%  โดยในปี 56 มีผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาอาชีวะศึกษา1 ล้านคน ในสถานศึกษา 800 แห่งทั่วประเทศแบ่งเป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) 6.9 แสนคน และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)3.1 แสนคน  โดยมีผู้จบการศึกษาปีละ 3-4 แสนคน เป็น ปวช. 2 แสนคน ปวส. ประมาณ 1.5 แสน
 
“แม้ความต้องการแรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผู้จบสายอาชีพแต่ 60% ของนักเรียนยังเลือกเรียนสายสามัญทำให้มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยสาเหตุหลักมาจากค่านิยมที่มองว่าเด็กที่เรียนอาชีวศึกษาเป็นเด็กที่เรียนไม่ดี เกเร ยากจน คุณภาพเด็กไม่มีคุณภาพเพียงพอจะปฏิบัติงาน ซึ่งส่งผลต่อค่าจ้าง มีความแตกต่างระหว่างผู้จบปริญญาตรีกับผู้จบอาชีวศึกษาอยู่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ปกครองสนับสนุนให้นักเรียนเรียนระดับปริญญาตรี”
 
นางชุตินาฎ  กล่าวว่า แนวทางการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคระหว่างสถานศึกษากับผู้ประกอบการเพื่อแก้ปัญหาการขาดแรงงานพบว่า จำนวนนักเรียนที่ศึกษาในระบบนี้ยังมีน้อย โดย ปี 2557มี 61,244 คน คิดเป็น 9.4% ของนักเรียนในระบบอาชีวศึกษาทั้งหมด โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มช่างเทคนิคที่ต้องฝึกทักษะและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาก ยังมีผู้เรียนในระบบทวิภาคีเพียง 39,545 หรือ  11% ของผู้เรียนในสายอุตสาหกรรมทั้งหมด 359,774คน
 
อย่างไรก็ตาม สศช.เห็นว่าการขับเคลื่อนการศึกษาระบบทวิภาคีให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเร่งทำฐานข้อมูลการจัดอาชีวศึกษาทวิภาคีของประเทศเพื่อให้เห็นทั้งจำนวน นักเรียนจำนวนสถานประกอบการและสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการ รวมถึงการติดตามความสำเร็จของนักศึกษาเพื่อใช้เป็นข้อมูลการพิจารณารายได้ที่ควรเพิ่มขึ้น มีระบบการเลือกผู้บริหารสถานศึกษาที่มีทัศนคติ ในการร่วมมือกับผู้ประกอบการพัฒนาหลักสูตรเร่งผลิตและพัฒนาครูช่างให้เพียงพอ ตลอดจนต้องมีมาตรการกำกับคุณภาพการศึกษาด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.)รายงานสถานการณ์การว่างงาน ณ เดือนมี.ค.58 ว่า ไตรมาสที่1ปี 58 มีจำนวนผู้มีงานทำอยู่ 37.61 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 3.61 แสนคน อัตราการว่างงาน 0.94%ซึ่งเป็นการว่างงานของผู้จบ ปวช. 1.15%  ปวส.1.37% และปริญญาตรี 1.61% 
 
(เดลินิวส์, 1/6/2558)
 
กรมจัดหางานเตือนคนหางานอย่าลักลอบไปต่างประเทศผิด ก.ม.'เกาหลีใต้' ระงับผู้ลักลอบแล้ว 89 ราย
 
กระทรวงแรงงาน โดย นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เดือนเมษายน 2558 มีคนงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวน 8,147 คน โดยนิยมเดินทางไปทำงานในประเทศเอเชียมากที่สุด จำนวน 5,838 คน ได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 2,959 คน เกาหลีใต้ จำนวน 1,084 คน และประเทศญี่ปุ่น 510 คน (มาเลเซียกำลังประสบปัญหาเช่นกัน) รองลงมาประเทศในตะวันออกกลาง จำนวน 1,046 คน ประเทศในยุโรป จำนวน 601 คน ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ จำนวน 224 คน ประเทศในแอฟริกา จำนวน 214 คน ประเทศในทวีปออสเตรเลียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก 190 คน และประเทศในทวีปอเมริกาใต้ 34 คน คนหางานถูกระงับการเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด รวม 89 คน รองลงมาได้แก่ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น และรัสเซีย จากทั้งหมดที่ได้ระงับการเดินทาง จำนวน 139 คน
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า ผู้ที่ถูกระงับการเดินทางเนื่องจากมีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ ส่วนใหญ่มักถูกชักชวน หลอกลวงจากสายนายหน้าให้ลักลอบเข้าไปทำงาน โดยอ้างว่าจะมีรายได้สูง แต่เมื่อเดินทางไปแล้วกลับไม่มีงานให้ทำ ถูกลอยแพ ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน และถูกจับกุมเนื่องจากลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย จึงขอเตือนแรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศให้เดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากเกิดปัญหาจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และควรศึกษากฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการจ้างงานของประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการร้องทุกข์ ติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือที่กองตรวจและคุ้มครองคนหางานกรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 6763 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้เปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (SMART JOB CENTER) เป็นศูนย์ไอทีเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการจัดหางานทั้งในประเทศและไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งสามารถตรวจสอบตำแหน่งงานที่ต้องการไปทำงานยังต่างประเทศโดยถูกกฎหมายได้ พร้อมกันนั้นยังเป็นศูนย์รับเรื่องราร้องทุกข์ของคนหางาน ทั้งนี้ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย เป็นศูนย์จัดหางานเบ็ดเสร็จ อันทันสมัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจัดหางานของประเทศไทย
 
(บ้านเมือง, 2/6/2558)
 
จังหวัดลำพูน ยังมีความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นจำนวนมาก
 
นางสาวสลาลีย์ ชัยศิริวงษ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ รักษาราชการแทนแรงงานจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของจังหวัดลำพูน มีอัตราชะลอตัว อันเนื่องมาจาก ความต้องการด้านบริโภค (อุปสงค์) หดตัวอย่างต่อเนื่องโดนเฉพาะด้านการใช้จ่ายภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันความต้องการในการผลิต (อุปทาน) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานในด้านการผลิตเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 1,147 อัตรา 
 
จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่ของภาคอุตสาหกรรมเป็นบริเวณกว้าง และสถานประกอบการมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้อัตราของผู้ใช้แรงงานมีเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านการผลิตให้ตรงตามเป้า และเพื่อให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีคุณภาพ จึงต้องส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานมีทักษะที่ดีและพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สำนักงานแรงงานจังหวัดลำพูน จึงส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานได้เข้ารับการฝึกเตรียมเข้าทำงานในด้านวิชาชีพช่างหรืออื่นๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงานให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด อีกทั้ง ยังมีการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานจำแนกตามกลุ่มอาชีพ การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน อีกด้วย 
 
(ส.ปชส.ลำพูน, 2/6/2558)
 
จับมืออิสราเอลแก้ปัญหาแรงงานไทยไหลตาย-ติดยาเสพติด
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวภายหลังการหารือร่วมด้านแรงงานระหว่างไทย และ อิสราเอล ว่า ได้หารือใน 4 ประเด็น คือ 1. กรณีแรงงานไทยเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ “ไหลตาย” พบว่า ในปีนี้มีกว่า 10 ราย โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทางการอิสราเอลมาหารือกับหน่วยงานด้านการแพทย์ของไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อสรุปหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และแนวทางการป้องกัน 2. กรณีแรงงานไทยบางส่วนใช้ยาเสพติด อิสราเอลยืนยันว่าจะมีมาตรการเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบขนถ่ายยาเสพติด และการใช้ยาเสพติดในหมู่แรงงานไทยให้มากขึ้น โดยจะประสานงานผ่านสำนักงาน ป.ป.ส. ของไทย และที่ปรึกษาฝ่ายตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เพื่อให้มาตรการมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ ขอให้คนงานตรวจสุขภาพก่อนไปทำงาน ซึ่งได้หารือกับโรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว ทั้งนี้ หากพบแรงงานไทยในอิสราเอลใช้สารเสพติดจะถูกลงโทษทางอาญา และส่งกลับประเทศทันที
       
นายสุเมธ กล่าวว่า 3. การจัดเก็บภาษีสำหรับแรงงานทุกชาติ ทางการอิสราเอลจะพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลอิสราเอลชุดใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้ว คาดว่า คำตอบที่ชัดเจนจะมีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และเป็นผลดีต่อแรงงานทุกชาติ โดยเฉพาะแรงงานไทย และ 4. ข้อตกลงหากมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย เช่น สิทธิประโยชน์ การคุ้มครอง กรณีแรงงานไทยกระทำผิดกฎหมายในอิสราเอล จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมที่อิสราเอลเพื่อหามาตรการในการป้องกันแก้ไขหรือช่วยเหลือแรงงานไทยโดยเร็ว
       
“ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทางการอิสราเอลได้ดำเนินการกับนายจ้างและบริษัทจัดหางานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษปรับคิดเป็นมูลค่ากว่า 90 ล้านบาทไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลราว 22,000 คน และอาจเพิ่มขึ้นถึง 25,000 คน เชื่อว่า จากนี้เมื่อมีการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายข้นมาจะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยในทุกๆ เรื่องได้เป็นอย่างดี” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2/6/2558)
 
เชียงใหม่เปิดศูนย์ ‘Smart Job Centre’ ลดปัญหาว่างงาน
 
นายประพันธ์ วิศิษฏจินดา จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย Smart Job Centre จังหวัดเชียงใหม่ และนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพ ในวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ ณ เชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต โดยการจัดงานครั้งนี้เพื่อลดปัญหาการว่างงานของประชาชนคนหางาน ผู้เลิกจ้าง และเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการจัดหางานของภาครัฐให้ครอบคลุมทั่วถึงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง และได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับความสะดวก รวดเร็วและความพอใจสูงสุด
 
ภายในงานมีกิจกรรม เช่น การเปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย บริการจัดหางานที่ทันสมัยด้วยระบบ IT สมัครและสัมภาษณ์งานกับนายจ้างโดยตรง การจัดหางานพิเศษสำหรับนักเรียน นักศึกษา คนพิการ ทหารปลดประจำการ โครงการ 3 ม. มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม การสาธิตอาชีพอิสระ การตอบปัญหาอาชีพชิงรางวัล และการให้บริการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้คนหางานสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันงาน ทางเว็บไซต์www.cmemployment.org หรือ www.doe.go.th/jobchiangmai และโปรดจำรหัสที่ได้ลงทะเบียนไว้เพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์กับนายจ้างในวันงาน
 
(แนวหน้า, 3/6/2558)
 
ก.แรงงาน จับมือ สิงคโปร์ เร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญคุณวุฒิวิชาชีพอ้างอิงอาเซียน 
 
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดโครงการการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน  ว่ากระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับ Singapore Polytechnic International โดยการสนับสนุนของ Temasek Foundation ประเทศสิงคโปร์ ในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความเชี่ยวชาญด้านกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน เพื่อให้สามารถดำเนินการเทียบเคียงมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและวุฒิอื่นๆ ภายใต้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework :NQF) กับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework:AQRF) และจะได้ต่อยอดพัฒนาเป็นวิทยากรขยายจำนวน ช่วยพัฒนาเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศให้มีความรู้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างมาตรฐานวิชาชีพแรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับ เป็นสากล เทียบเท่ามาตรฐานโลก ซึ่งเป็นกลไกที่จะอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เนื่องจากแต่ละประเทศในอาเซียนมีระบบการศึกษาแตกต่างกันและการกำหนดวุฒิการศึกษาและผลสัมฤทธิ์จากเรียนรู้ก็ไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องสร้างความโปร่งใสในการเทียบเคียงคุณวุฒิระหว่างกันโดยเฉพาะเมื่อเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือเสรี 
 
“การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ความเป็นหุ้นส่วนและการแข่งขันมาพร้อมๆกัน ประเทศใดมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า ประเทศนั้นย่อมได้เปรียบ ทำอย่างไรให้คนไทยได้รับการพัฒนาให้มีฝีมือมากยิ่งขึ้นไป เพราะการพัฒนาประเทศในภาพรวมเราต้องมีการพัฒนากำลังแรงงานให้มีความสามารถ ทำอย่างไรที่จะให้คนไทยก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้างานที่ต้องมีความรู้ความสามารถ มีความรู้การบริหารงานบุคคล และมีทักษะด้านภาษา ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่มาตรฐานการเป็นผู้บริหารได้ ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังพยายามทำอยู่โดยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ปลายปี 58 นี้ จึงน่าจะมีความพร้อมเข้าสู่ AC” รัฐมนตรีแรงงาน กล่าว
 
สำหรับการดำเนินโครงการนี้ เป็นการพัฒนาเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาการศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักคณะกรรมการอุดมศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนและการเชื่อมโยงกับคุณวุฒิต่างๆของไทย ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี นับแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2558-2560 ซึ่งจะประกอบด้วยกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงาน รวม 8 กิจกรรม
 
(กระทรวงแรงงาน, 3/6/2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net