Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ผู้เขียนได้อ่านบทความของพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชรที่ลงในมติชนออนไลน์เมื่อวัน 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 แล้วเกิดแรงปรารถนาอย่างยิ่งยวดในการอ่านความซ่อนเร้นภายในบทความของเขา เมื่อได้พิจารณาพอสมควรแล้วจึงได้รู้ว่าวสิษฐได้นำวาทกรรมประชาธิปไตยซึ่งมักอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับรัฐประหารอันนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการมาอำพรางความคิดที่แท้จริงของตนเอง  เป็นความจริงที่ว่ามีคนไทยจำนวนมากที่ยึดถืออุดมการณ์ขวาอำมาตย์นิยม (เช่นราชานิยมและกองทัพนิยม) ที่สนับสนุนรัฐประหารอย่างเปิดเผย แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่พยายามแสร้งเป็นกลางในผ่านการพูดแบบสำบัดสำนวนอย่างเช่น "ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ผมก็มองไม่เห็นวิธีทางอื่น" เหมือนกับนายอานันท์ ปันยารชุนที่ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ คม  ชัดลึกเมื่อวันที่16 สิงหาคม 2557 [i] ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแม้ประโยคคำพูดจะต่างกัน ทั้งวสิษฐและอานันท์มีสารที่ต้องการสื่อไม่แตกต่างกันนัก 

บทความของวสิษฐเริ่มต้นด้วย

"ผมไม่ชอบรัฐประหาร เพราะในชีวิตได้เห็นรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง ไม่มีครั้งใดเลยที่รัฐประหารจะไม่ลงท้ายด้วยการตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยแต่ชื่อ ส่วนตัวจริงคือเผด็จการหรือคณาธิปไตย และเมื่อเป็นรัฐบาลขึ้นมาแล้วก็บริหารราชการแผ่นดินแบบสุกเอาเผากิน หาประโยชน์ให้ตนเองและสมัครพรรคพวก ไม่เคยนึกถึงประชาชน จนในที่สุดก็โดนรัฐประหาร แล้วก็ตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา แล้วก็ซ้ำรอยเดิม เป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ"

หากมองแบบผิวเผิน วสิษฐเหมือนกับพวกที่อยู่ตรงกันข้ามกับกลุ่มขวาอำมาตย์นิยมคือมองในด้านลบต่อการทำรัฐประหาร แต่น่าสนใจที่ว่า เขาใช้คำว่า "ไม่ชอบ" กับรัฐประหารอันเป็นการแสดงอารมณ์ซึ่งเบาบางกว่าคำว่า "ไม่เห็นด้วย" หรือ "ต่อต้าน" ซึ่งจะสามารถแปรเปลี่ยนเพื่อตอบรับกับประโยคในย่อหน้าอื่นว่าเหตุใดวสิษฐจึงหันมาชื่นชอบประยุทธ์ได้ไม่ยาก  ประโยคต่อมาซึ่งเป็นการโจมตีรัฐประหารและกองทัพของ วสิษฐนั้นเป็นการกล่าวถึงอย่างไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นใครในอดีตซึ่งไม่เหมือนกับงานวิจัยหรือบทความของนักวิชาการทั้งหลายจึงทำให้ข้อเขียนของเขาดูขาดพลังไปอย่างมาก หากมองแบบไม่คิดอะไรมาก วสิษฐอาจไม่ถือว่าการยกตัวอย่างหรือการขยายความของย่อหน้านี้จำเป็นต้องมีเพราะขีดจำกัดของพื้นที่ของบทความอันจะทำให้ประเด็นสำคัญของบทความที่สนับสนุนการปฏิรูปราชการไขว้เขวไป หากมองในแง่ที่ลึกกว่านั้นผู้เขียนเห็นว่ามันสามารถสะท้อนสำนึกของวสิษฐว่าไม่ได้ถือว่าประโยคของตนข้างบนนั้นจริงจังหรือเกิดจากความเชื่อของเขาจริงๆ ผู้เขียนคิดว่าการเขียนประโยคที่เป็นเชิงสนับสนุนประชาธิปไตยเช่นนี้มาไว้ในบทความของตัวเองเป็นการหลีกหนีการโจมตีว่าสนับสนุนเผด็จการในอดีตจากพวกหัวเสรีนิยมจำนวนมากซึ่งก็น่าจะเป็นแฟนประจำของวสิษฐเอง นอกจากนี้ถ้าวสิษฐกล้าเฉพาะเจาะจงว่าใครเช่นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พวกขวาอำมาตย์นิยมที่ศรัทธาสฤษดิ์ (ซึ่งไม่รู้ว่ารวมถึงตัววสิษฐด้วยหรือไม่) ก็อาจจะแสดงความไม่เห็นด้วย หรือพวกเสรีนิยมที่ต่อต้านบทบาทของกองทัพก็อาจจะนำสฤษดิ์มาเทียบกับพลเอกประยุทธ์คนที่วสิษฐกำลังจะยกย่องว่ามีความแตกต่างกันตรงไหนอันจะทำให้บทความของเขาเกิดปัญหา เช่นสำหรับตัวผู้เขียนเองเห็นว่าการทำรัฐประหารในแต่ละครั้งนั้น คณะรัฐประหารมีการวางแผนกันอย่างแยบยลและมีสารพัดวิธีในการสร้างความชอบธรรมและความมั่นคงให้กับระบอบของตัวเองไม่ต่างจาก คสช.ในปัจจุบัน ดังเช่นยุคของจอมพลสฤษดิ์นั้นได้ระดมทั้งนักวิชาการด้านกฎหมายเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2502 ที่มอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารจนล้นแผ่นดิน และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมาทำงานให้กับรัฐบาลของตนในยุคที่ประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ด้านเศรษฐกิจเสรีนิยมและอุตสาหกรรมเช่นเดียวการสร้างรัฐภายใต้สฤษดิ์ยังปลูกฝังอุดมการณ์เพื่อสร้างให้ไทยกลายเป็นรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จซึ่งยังส่งอิทธิพลจนถึงการเมืองไทยในปัจจุบันเช่นมาตรา 44 และลัทธิราชาชาตินิยม หาได้บริหารราชการแผ่นดินแบบสุกเอาเผากินดังที่วสิษฐได้กล่าวอ้างไม่ วสิษฐเองก็เคยมีชีวิตผ่านยุคนั้นจึงทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าการประณามรัฐบาลทหารเช่นนี้ของวสิษฐจากความไม่รู้หรือว่าลืมหรือว่าจงใจกันแน่

ไม่ว่าอย่างไรนั้นผู้เขียนเห็นว่าวสิษฐล้มเหลว (อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่) ในการเชื่อมโยงให้เห็นว่าการทำรัฐประหารและขบถที่เกิดขึ้นรวมกันกว่า 20 ครั้งในไทยรวมทั้งในปี 2557 เป็นปัจจัยที่สืบเนื่องกันและเกิดจากสำนึกของกองทัพที่เข้ามาแทรกแซงรัฐบาลพลเรือนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและกลุ่มมากกว่าความมั่นคงของชาติที่มักอ้างกัน กล่าวคือเขาได้โยนความบาปให้กับกองทัพซึ่งเป็นอดีตจริงๆ (ที่ดูทึบเป็นกล่องดำไม่รู้ใครเป็นตัวละครบ้างซึ่งก็เหมาะกับความรู้แบบกระท่อนกระแท่นในเรื่องประวัติศาสตร์ทางการเมืองของคนไทยจำนวนมาก) และอำพรางว่าไม่มีความสัมพันธ์กับการทำรัฐประหารของ คสช. การปฏิเสธเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะรัฐบาลทหารรวมไปถึงกลุ่มผู้สนับสนุนเผด็จการในประเทศโลกที่ 3 จำนวนไม่น้อยได้ปฏิเสธบทบาทของกองทัพรุ่นพี่ในอดีตซึ่งล้มเหลวเพื่อทำให้ตัวเองมีความชอบธรรมมากขึ้น

ประโยคต่อมาของวสิษฐคือ

"ถึงแม้ผมจะรู้ว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เหลวแหลกเพียงใด และผมดีใจที่รัฐบาลของนางล้มไปเสียได้ แต่ผมก็ยังไม่วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพราะผมเห็นว่าเป็นผลพวงของรัฐประหาร ผมมองดูรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บริหารราชการด้วยอุเบกขา ยังไม่ชื่นชมสรรเสริญด้วยประการใดๆ ทั้งนั้น"

ประโยคเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าวสิษฐนั้นมีแนวคิดร่วมบางอย่างกับรัฐบาลทหารและชนชั้นปกครองเชิงจารีตที่ผ่านมาซึ่งไม่เห็นว่าการทำให้รัฐบาลของพลเรือนหมดอำนาจนั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยตามครรลองของประชาธิปไตยดังเช่นการเลือกตั้งหรือกิจกรรมทางประชาธิปไตยอื่นๆ นอกจากนี้การใช้คำว่า "อุเบกขา" แทนคำว่า "เป็นกลาง" หรือ "รู้เท่าทัน "  ในการมองรัฐบาลชุดปัจจุบันของวสิษฐนั้นเป็นการหยิบยืมภาษาทางพุทธศาสนาเพื่อยกย่องตัวเองว่ามีปัญญาในการพิจารณาความเป็นจริงทางการเมืองอันจะเป็นความชอบธรรมให้การทำรัฐประหารครั้งนี้ภายหลังจากที่ด่ารัฐประหารในอดีตแบบคลุมๆ   น่าสงสัยว่าถ้า วสิษฐไม่ชอบรัฐประหารแต่แรกทำไมเขาจึงต้องทำเป็นอุเบกขากับประยุทธ์ (และเกิดคำถามอีกว่าทำไมเขาถึงไม่อุเบกขากับ คมช.เมื่อปี 2549 หรือกับ รสช.เมื่อปี 2534 ?)  นอกจากนี้วสิษฐนั้นมีฐานะเป็นถึงระดับรองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นถึงขั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในยุคสมัยหนึ่ง และยังเป็นผู้ที่เข้าใจดีเกี่ยวกับการเมืองและระบบราชการซึ่งถูกแสดงออกผ่านนวนิยายของเขาที่ต่อต้านการใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกของผู้มีอำนาจทั้งในระบบราชการและการเมืองเช่นเดียวกับการที่เขาเป็นผู้ภักดีเจ้าชั้นนำของประเทศ  จึงเป็นเรื่องน่าสนเท่ห์ไม่น้อยว่าวสิษฐจะไม่เข้าใจถึงบทบาทและเจตนาของกองทัพในการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้เลยหรือจึงต้องมองแบบอุเบกขา

วสิษฐนั้นยังเลือกใช้คำว่ารัฐบาลประยุทธ์นั้นเป็น "ผลพวง" หรือ Consequence ของการทำรัฐประหาร แทนที่จะบอกว่า "เกิดจาก" อันเป็นความต้องการของวสิษฐในการช่วยรัฐบาลประยุทธ์ให้ถอยห่างจากคำที่ดูขาดความชอบธรรมในปัจจุบันดังเช่น “การทำรัฐประหาร” ให้มากที่สุด เพราะคำว่าผลพวงนั้นดูเหมือนเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก ทั้งที่ความจริงแล้วการทำรัฐประหารแต่ละครั้งนั้นทหารจะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจอย่างไร และใครเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว คำอ้างของวสิษฐนี้ก็คล้ายกับกลุ่ม คสช.ที่ต้องการบอกว่าการยึดอำนาจของตนนั้น "จำเป็น" และ “ไม่ได้วางแผนมาล่วงหน้า” หรือคำพูดของพลเอกประยุทธ์ที่ว่า “ไม่ตั้งใจ” หรือ “ไม่ชอบ” กับการเป็นนายกรัฐมนตรี

"แต่บัดนี้มีสิ่งที่ผมต้องยอมรับว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังทำสิ่งหนึ่งที่ถูกใจผม และเห็นได้ชัดว่าถูกใจคนอื่นๆ อีกเป็นอันมาก นั่นก็คือความพยายามอย่างจริงจังที่จะปราบปรามการทุจริตของข้าราชการทั้งผู้ใหญ่ และผู้น้อย ทั้งในส่วนกลางและในส่วนท้องถิ่น"

ตรงกันข้ามกับย่อหน้าแรก ย่อหน้านี้ถือว่าเป็นการสะท้อนถึงความคิดจริงๆ ของวสิษฐว่าเขานั้น "ชื่นชอบ" รัฐประหารเพียงแต่เขากำลังรอบริบทบางประการในการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง (Outing) โดยการอ้างว่าประยุทธ์นั้นแตกต่างจากทหารในอดีตและเป้าหมายคือทำประโยชน์ต่อประเทศโดยปราบปรามการทุจริต และยังบอกเป็นนัยว่าวสิษฐไม่ยอมรับรัฐบาลแบบประชาธิปไตยจะสามารถทำเช่นนั้นได้ ผู้เขียนนั้นไม่อาจกล่าวว่าได้เฝ้ามองบทบาทของวสิษฐไม่ว่ากิจกรรมทางการเมืองและสังคมหรืองานวรรณกรรมเช่น    นวนิยาย หรือบทความหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่เฟซบุ๊กอยู่ตลอดเวลา แต่เท่าที่รู้ในอดีตเขาไม่เคยออกมาต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างแรงๆ จนไปถึงระดับการจัดตั้งขบวนการไทยสปริงหรือดอกบัวแห่งการตื่นรู้เหมือนกับทำต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลย มิหนำซ้ำขบวนการไทยสปริงของวสิษฐก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับพวก กปปส.คือการส่งสัญญาณหรือการสร้างเงื่อนไขให้กับการทำรัฐประหารของ คสช.  อันสะท้อนให้เห็นว่าเขาเกลียดรัฐบาลพลเรือนยิ่งกว่ารัฐบาลทหารทั้งที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครโกงกินมากกว่ากัน (แต่ผู้เขียนเชื่อว่าวสิษฐนั้นต้องรู้แน่ๆ ว่าภายหลังจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม เขาได้ทิ้งมรดกให้ลูกเมียเก่าและเมียคนปัจจุบันได้แย่งชิงกันกว่าสองพันล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่วสิษฐเพียง “ไม่ชอบ” )

"สิ่งที่ผมหวังว่าจะเกิดตามมาก็คือการเปิดเผยความคืบหน้าทุกระยะของการดำเนินมาตรการกับผู้ที่กระทำผิดทั้งน้อยและใหญ่เพราะเท่าที่แล้วมาแม้จะมีการโยกย้ายและตั้งกรรมการสอบสวนผู้กระทำผิด แต่ก็มักทำกันแบบเงียบๆ หรืองุบงิบ ชาวบ้านไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย และลงท้ายจะมีการดำเนินคดีหรือไม่ ผลคดีเป็นอย่างไร ชาวบ้านก็ไม่มีโอกาสรู้เช่นเดียวกัน"

ย่อหน้านี้ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าวสิษฐนั้นทราบหรือไม่ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ที่ไม่ได้ให้เหตุผลในการโยกย้ายข้าราชการต่างๆ อย่างน่าพอใจนั้นก็เพราะเป็นการ  "ล้างบาง" หรือ purge คล้ายกับรัฐเผด็จการในอดีตอย่างเช่นสตาลินของสหภาพโซเวียตหรือในปัจจุบันดังเช่นสี  จิ้นผิงของจีนซึ่งกวาดล้างการฉ้อราษฎรบังหลวงในพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อรวบอำนาจไว้กับตัวเองและเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง[ii]   ดังนั้นจึงไม่มีทางที่การกระทำเหล่านั้นของรัฐบาลจะโปร่งใส ยกเว้นว่าจะเจอกรณีที่สมควรโยกย้ายและลงโทษเข้าจังๆ  เพียงไม่กี่รายจึงจะมีการประโคมข่าวกันเสียใหญ่โต ซึ่งผู้เขียนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ยังเป็นกลยุทธ์หนึ่งของคสช.ในการทำให้วข้าราชการนั้นเกิดความหวาดกลัวและเกิดความ “เชื่อง” ภายใต้อำนาจของตนจนไม่สามารถมีอำนาจต่อรองอะไรกับรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือนในอนาคต (ซึ่งถูกชักใยจากทหาร) ได้ ใยไม่ต้องกล่าวถึงบรรยากาศของประเทศก็เป็นเผด็จการที่ไม่เปิดให้แสดงออกแนวคิดทางการเมืองอย่างอิสระจึงทำให้การเรียกร้องของวสิษฐนั้นอุปมาเหมือนกับเจ้าของบ้านร้องขอให้โจรซึ่งกำลังรื้อค้นบ้านของตนทำการปล้นอย่างมีเมตตา[iii]

ปัญหาก็ยังมีอีกว่าในบทความนี้วสิษฐเหมือนจะบอกว่าประยุทธ์นั้นเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาวที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพอีกต่อไปไม่ว่าในปัจจุบันหรืออนาคต (ดังใช้คำว่า “ผลพวง”) ทั้งที่การมีอำนาจที่แท้จริงของประยุทธ์นั้นตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างเขากับผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน (และบุคคลซึ่งมีอำนาจแฝงอีกหลายคน)เสียมากกว่าการเป็นนายกรัฐมนตรี และกองทัพนั้นราวกับไม่ใช่ระบบราชการ ซึ่งก็สอดคล้องกับความเชื่อของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่ากองทัพนั้นอยู่คนละมิติกับรัฐบาล ผู้บัญชาการทหารบกเปรียบได้ดังขุนศึกผู้พากองทัพธรรมในการปราบมารคือนักการเมืองผู้ชั่วช้า ทั้งที่ตามความจริงในรัฐธรรมนูญ กองทัพเป็นเพียงแขนขาของรัฐบาลพลเรือนในด้านความปลอดภัยของชาติและผู้บัญชาการทหารของเหล่าทั้งหลายก็เป็นแค่ข้าราชการระดับสูงที่ต้องการมีการตรวจสอบและควบคุมจากประชาชนไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านตัวแทนคือนักการเมืองตามแบบประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมทั่วไป

ด้วยความคิดที่เชิดชูเผด็จการและกองทัพนิยมเช่นนี้ ผู้เขียนจึงไม่เคยได้ยินวสิษฐหรือผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดินเรียกร้องให้ประยุทธ์กวาดล้างการฉ้อราษฎรบังหลวงในกองทัพและองค์กรอื่นๆ ซึ่งน่าจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นกว่าองค์กรทั้งหลายในระบบราชการที่วสิษฐยกมาเสียด้วยซ้ำเพราะตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา กองทัพและองค์กรเหล่านั้นตรวจสอบไม่ได้เอาเสียเลยและมีอิทธิพลเสียล้นฟ้า ซ้ำร้ายวสิษฐก็ไม่คงจะกล้าจะเรียกร้องให้แบบตรงๆ ให้กองทัพออกมาเปิดเผยว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้ใครได้ประโยชน์บ้างและได้ประโยชน์อย่างไร (ตามความจริงแล้วการทำรัฐประหารเป็น “การฉ้อราษฎรบังหลวง” ที่ร้ายแรงกว่าทุกกรณีเสียด้วยซ้ำเพราะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยอ้างความมั่นคง)  เขาจึงเว้นไม่กล่าวว่าการโยกย้ายนายทหารระดับสูงในกองทัพของแต่ละครั้งก็ล้วนแต่เกิดจากการเล่นเกมทางอำนาจในกองทัพเช่นเดียวกับที่วสิษฐก็คงเอาแต่ “อุเบกขา” กับความจริงที่ว่าทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของนายทหารที่เป็นสมาชิกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรืออยู่ในฝ่ายบริหารล้วนแต่หาคำอธิบายที่มาอย่างน่าพอใจไม่ได้เลย โดยที่เขาหันไปโจมตีวงการตำรวจซึ่งมีอำนาจน้อยกว่าทหารแทน

สุดท้ายนี้บทความแห่งความหวังของวสิษฐยิ่งเป็นการตอกย้ำความชอบธรรมของรัฐประหารและรัฐบาลของประยุทธ์เช่นเดียวกับสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหลายที่แสร้งวิจารณ์รัฐบาล เพราะคำว่า "หวัง" นั้นผู้เขียนเห็นว่าเป็นการสนับสนับสนุนกองทัพที่ปลอดภัยที่สุดคือทำให้กองทัพดูดีถึงแม้จะยังไม่ลงมือทำคือเพียงแค่ประกาศนโยบายว่าจะทำ (ไม่ต่างกับนักการเมืองทั้งหลายที่ฝ่ายขวาอำมาตย์นิยมประณาม) อีกทั้งยังเป็นโยนภาระไปยังอนาคตข้างหน้าเพราะถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ปฏิรูปราชการตามที่บอก ประยุทธ์ก็รับความผิดไป ส่วนวสิษฐก็ลอยตัวเพื่อจะเขียนบทความด่ารัฐประหารครั้งนี้และชื่นชอบคณะทหารที่จะทำการรัฐประหารครั้งใหม่ซึ่งน่าจะมีอีกไม่นานโดยใช้คำว่า “หวัง” อีก ทั้งที่น่าจะรู้แก่ใจว่าเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปได้ก็เฉพาะข้าราชการบางกลุ่มซึ่งไม่ได้อยู่ในวงอำนาจของคสช.หรือบุคคลที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง      

ทั้งหมดนี้จึงทำให้บทความของวสิษฐกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อการทำรัฐประหารและเผด็จการภายใต้ผ้าคลุมแห่งลัทธิเสรีนิยมซึ่งเป็นแนวโน้มของพวกแนวคิดขวาอำมาตย์นิยมยุคใหม่ในโลกใบนี้ซึ่งลัทธิประชาธิปไตยกำลังพบกับภาวะถดถอยในขณะที่ลัทธิเผด็จการกำลังหึกเหิมได้ใจ

[ii] กรณีนี้ยังทำให้ผู้เขียนนึกถึงกปปส.ที่โวยวายเสียจะเป็นจะตายเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ก็เงียบเสียงเมื่อนายแพทย์คนหนึ่งถูกย้ายจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้สนับสนุนกองทัพตัวยงและยังเป็นขวัญใจของนักเป่านกหวีดทั้งหลายมาดำรงตำแหน่งแทน

[iii] พฤติกรรมเช่นนี้คล้ายคลึงกับใครหลายคน (โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์เล่มโปรดของผู้เขียน) ที่เรียกร้องให้คสช.เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาอย่างผิวเผินเหมือนกับเป็นเรื่องดี แต่ตามความจริงผู้เรียกร้องน่าจะรู้อยู่ว่ากลุ่มผู้ร่างนั้นมีวาระซ่อนเร้นและคสช.ก็มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการควบคุมเนื้อหาหลักอยู่แล้ว การเรียกร้องจึงทำให้ผู้เรียกร้องซึ่งเป็น “สลิ่ม” ดูดีคือไม่ได้ค้านรัฐประหารแต่ก็สนับสนุนประชาธิปไตย  เช่นเดียวกับคสช.ซึ่งถ้ากระทำตามก็จะเป็นการอำพรางให้ตัวเองเหมือนกับเผด็จการเสรีนิยม (Liberal Autocrat)  และสร้างประเทศให้มีบรรยากาศเป็นประชาธิปไตย ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ (เช่นเดียวกับปี 2550) และถ้ารัฐธรรมนูญเกิดเป็นรูปเป็นร่างและผ่านการลงประชามติ (ซึ่งผลก็สามารถควบคุมได้ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนเหมือนกับโพลทั้งหลายที่เชียร์รัฐบาล) รัฐธรรมนูญก็จะถูกอ้างว่ามีความชอบธรรมเพราะผ่านการถกเถียงกันโดยทุกฝ่ายมามากแล้วแม้เนื้อหาจะไม่เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายต้องการก็ตาม อันเป็นการอำพรางของพวกเผด็จการภายใต้ผ้าคลุมประชาธิปไตยอย่างแยบยลนั้นเอง น่าสนใจว่าด้วยเหตุนี้คสช.จึงมักต้องการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นตามช่องทางที่ตัวเองกำหนดไว้เท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net