ตรังวุ่นหาเกณฑ์ ‘จน’ ไม่โดนฟันต้นยาง กำนันติงวัดยาก เจ้าของที่ไม่แสดงตัวกลัวคดีบุกรุก

3 มิ.ย.2558 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จัดประชุมเรื่อง การแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินป่าไม้ (การตัดไม้ยางพารา) ในท้องที่ตำบลละมอ และตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โดยมีหัวหน้าอุทยานฯ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ตัวแทนสภาองค์กรชุม และประชาชนร่วมประมาณ 30 คน

เป้าอุทยานเขาปู่ฟันยาง 7,000 ไร่ เฉพาะตรัง 1,478 ไร่

นายอิศราพันธ์ บุญมาศ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ชี้แจงว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแผนแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ.2557 นั้น อุทยานฯ มีเป้าหมายในการรื้อถอนตัดฟันยางพาราทั้งหมด 7,000 ไร่ เฉพาะในจังหวัดตรังนั้นมีเป้าหมายในการตัดฟัน  1,478 ไร่

นายอิศราพันธ์  กล่าวว่า ทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ปฏิบัติการรื้อถอนยางพาราในพื้นที่ป่าที่มีการบุกรุกซึ่งได้ดำเนินคดีตามกฎหมายและคดีถึงที่สุดแล้วตามขั้นตอนมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 โดยมีเป้าหมายในตำบลละมอ 22 แปลง เนื้อที่ 107 ไร่ ส่วนตำบลช่อง 4 แปลง เนื้อที่ 12 ไร่ ใน 2 ตำบลรวมกันทั้งหมด 26 แปลง เนื้อที่ 119 ไร่

ยึดข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) วัดเกณฑ์ ถ้าจนไม่โดนฟัน

นายอิศราพันธ์  กล่าวว่า การรื้อถอนของอุทยานฯ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 66/2557  จึงต้องมีกระบวนการสอบสวน และพิสูจน์ เพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม โดยต้องการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านร่วมกันตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ในแปลงที่จะถูกรื้อถอน และผู้ทำประโยชน์นั้นยากจนหรือไม่  โดยมีมติจากการการประชุมร่วมกับส่วนราชการที่ศาลากลางจังหวัดตรังกำหนดให้วัดเกณฑ์จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หลังจากถกกันว่าจะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์วัดความจน 

‘ละมอ-ช่อง’ชงกำนัน-ผญ.เช็คเข้มข้น มึนเกณฑ์คนจน

ผู้เข้าร่วมประชุมต่างมีความเห็นว่า หากวัดเกณฑ์ จปฐ. ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือของกระบวนการสำรวจข้อมูลเพราะการกรอกข้อมูลของชาวบ้านบางตำบลจะกรอกข้อมูลจปฐ.ต่ำเกินจริง เพื่อต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ในขณะที่บางตำบลคนที่สำรวจจปฐ.ก็กรอกข้อมูลสูงเกินจริงเพื่อให้ตำบลตัวเองพ้นเกณฑ์วัดความยากจน จึงควรหามาตรการกำหนดกรอบความจนใหม่

ผู้เข้าร่วมประชุม เสนอว่า ที่ผ่านมารัฐมักรื้อถอน ตัดฟันยางพาราในที่ดินที่มีเนื้อที่เกิน 15 ไร่ โดยตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่าเป็นนอมินีนายทุนและของนายทุน ไม่ใช่ของชาวบ้าน หากใช้หลักการนี้มาดำเนินการก็ไม่ถูกต้อง สมมุติว่าบ้านหนึ่งมีที่ดินเกิน 15 ไร่ แต่มีลูก 5 คนจะว่าอย่างไร ดังนั้นจึงต้องให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตรวจสอบตามสภาพความเป็นอยู่จริง ว่ามีที่ดินเหมาะสมกับจำนวนคนในครอบครัวหรือไม่ ถึงจะกำหนดฐานะของครอบครัวได้ว่าจนหรือไม่จน ควบคู่ไปกับตรวจสอบควบคู่ไปกับข้อมูลจปฐ.

“ถ้าเสนอแนวทางแบบนี้แล้วหัวหน้าอุทยานฯ สามารถปฏิบัติตามแนวทางนี้ได้หรือไม่ เพราะอุทยานฯ ก็แค่ผู้ปฏิบัติงาน  ผู้ที่กำหนดแนวทางได้ก็คือรัฐบาล แม้แต่จังหวัดตรังเองยังถกเถียงหาข้อสรุปเกณฑ์วัดคนจนแทบไม่ได้ แล้วมาลงเอยด้วยการวัดด้วยข้อมูลจปฐ.” ผู้เข้าร่วมประชุม ถาม

เร่งส่งข้อมูลคนจน ก่อนขอกำลังทหาร-ตำรวจ-อส.ปฏิบัติการ

นายอิศราพันธ์ บุญมาศ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ชี้แจงว่า การสนธิกำลังเพื่อปฏิบัติการรื้อถอน ตัดฟันยางพารานั้นต้องมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านร่วมด้วยเพื่อตรวจสอบทีละแปลง เช็คข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนดำเนินการ เบื้องต้นให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปสำรวจตรวจสอบและประเมินตามสภาพจริง ควบคู่กับข้อมูล จปฐ.ว่าที่ดินแปลงที่จะโดนฟันเป็นของใคร ยากจนหรือไม่ แล้วให้ส่งข้อมูลไปยังตนภายในกำหนดระยะเวลาก่อนค่ำวันที่ 4 มิถุนายน 2558

“วันที่ 5 มิถุนายน 2558 ผมต้องทำแผนปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง เรื่องเกี่ยวกับการขอกำลังทหาร ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดน เพื่อปฏิบัติการจำนวนเท่าไรให้เหมาะสมกับจำนวนสวนยางที่จะตัดฟัน” นายอิศราพันธ์ ระบุ

เสนอแนวทางแก้ ‘ละมอ-ช่อง’ โมเดลตรัง-เทือกเขาบรรทัด

ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอว่า หากที่ตำบลละมอ และตำบลช่อง ตกลงให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตรวจสอบตามสภาพความเป็นอยู่จริงควบคู่กับข้อมูล จปฐ. เป็นเกณฑ์วัดความจน เสนอให้เป็นแนวทางต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการตัดฟันยางพาราของจังหวัดตรัง และเทือกเขาบรรทัดทั้ง 5 จังหวัดได้หรือไม่

กำนันละมอห่วงคนกลัวคดี-ไม่กล้าแสดงตัว-จำนนโดนฟัน

นายถวิล กลิ่นเพชร กำนันตำบลละมอ แสดงความกังวลว่า ที่ดินที่จะถูกรื้อถอน ตัดฟันยางพาราทั้ง 26 แปลง ในตำบลละมอ และตำบลช่องนั้นปรากฏชื่อผู้เข้าทำประโยชน์แค่ 3 แปลง ที่เหลืออีก 23 แปลง ผู้เข้าทำประโยชน์ไม่แสดงตัวเพราะกลัวจะถูกอุทยานฯ ดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง เมื่อไม่มีการแสดงตัวก็ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่ายากจนหรือไม่ยากจน

“หากแสดงตัวว่าเป็นผู้เข้าทำประโยชน์แล้วเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่คนยากจนก็จะถูกดำเนินคดีแน่นอน แม้แต่คนจนจริงๆ เองก็ไม่รู้ว่ากล้าแสดงตัวว่าตัวเองเป็นผู้เข้าทำประโยชน์หรือไม่ เพราะไม่มั่นใจว่ากระบวนการหลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไร นำไปสู่ขั้นตอนไหน ถูกอุทยานฯ ดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่งหรือไม่ ถ้าไม่มีใครกล้าแสดงตัวก็เท่ากับยอมรับให้ยางพาราตัวเองถูกโค่น” นายถวิล ตั้งข้อสังเกต

 

                 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท