Skip to main content
sharethis

ผู้แทนจากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทางการพม่ายอมให้สัญชาติแก่ชาวโรฮิงญาและให้มีการแก้ไขปัญหาต้นเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพ ในขณะที่ทางการพม่ายังคงแสดงท่าทีว่าผู้อพยพ "ส่วนมาก" เป็นคนที่มาจากบังกลาเทศ และกำลังออกนโยบายดำเนินการแบบไม่ลดราวาศอกต่อ 'มนุษย์เรือ' เหล่านี้


4 มิ.ย. 2558 สื่ออิระวดีรายงานว่าวุฒิสภาเมียนมาร์รับฟังข้อเสนอเร่งด่วนจากพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ในประเด็นเรื่องการช่วยเหลือผู้อพยพ "มนุษย์เรือ" ในน่านน้ำพม่า โดยพรรค USDP เสนอให้มีการออกนโยบายอย่างเร่งด่วนในการจัดการกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยซึ่งลอยอยู่บนเรือในอ่าวเบงกอลและในทะเลอันดามัน

ผู้อพยพที่อาศัยอยู่บนเรือในน่านน้ำดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา มีอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้อพยพจากบังกลาเทศ ซึ่งทางการพม่ายืนยันว่าประเทศของพวกเขาเป็นประเทศทางผ่านในเส้นทางการค้ามนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบังกลาเทศ รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศของตนแต่เรียกพวกเขาว่าเป็น "ชาวเบงกาซี" ที่ถือว่าเป็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ทางการพม่ายังปฏิเสธไม่ให้สัญชาติชาวโรฮิงญามากกว่า 100,000 คน ทำให้พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นหลังเกิดการจลาจลจากความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธในพม่ากับชาวมุสลิมในรัฐอาระกันเมื่อปี 2555

ทางการพม่ายังกล่าวโต้ตอบประชาคมนานาชาติที่กล่าวหาว่าสภาพการณ์ในพม่าทำให้ผู้อพยพต้องหนีออกจากประเทศโดยพยายามเน้นเรื่องที่ว่าในกลุ่มผู้อพยพบนเรือมีชาวบังกลาเทศอยู่ด้วย และอ้างว่าทางสหประชาชาติให้การยอมรับแล้วว่ามีผู้อพยพมาจากที่อื่นนอกจากพม่า

ฮลา ซหวี (Hla Swe) สมาชิกพรรค USDP กล่าวว่า รัฐบาลควรกำหนดช่วงเวลาให้ชัดเจนในการกักกันผู้อพยพว่าจะเป็น 15 วันหรือ 30 วัน โดยอ้างว่าถ้าให้เวลามากกว่านี้ประชาชนจะกังวลว่า "มนุษย์เรือ" จะมีโอกาสหลอมรวมกับคนในประเทศและ "ทำตัวเหมือนเป็นคนชาติพันธุ์ทางการของพม่า" ซหวีเสนออีกว่าควรมีการพาเหล่ามนุษย์เรือไปยังประเทศอื่นที่ใกล้เคียงหรือไปที่น่านน้ำสากลโดยให้น้ำและอาหารแก่พวกเขา

อิระวดีรายงานว่ามีผู้อพยพ 200 คนถูกกุมขังอยู่ในฝั่งพม่าเพื่อรอส่งตัวเข้าไปในบังกลาเทศ ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (29 พ.ค.) กองทัพเรือพม่าพบว่ามีเรืออีกลำหนึ่งซึ่งบรรจุคนมากกว่า 700 คน ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งจนนักข่าวและผู้ให้ความช่วยเหลือไม่สามารถเข้าถึงได้ เยตุต (Ye Htut) รัฐมนตรีข้อมูลข่าวสารของพม่ากล่าวว่ามนุษย์เรือที่โดยสารมา "แทบทั้งหมด" เป็นชาวบังกลาเทศ

ในขณะที่ทางการพม่ากำลังพยายามกล่าวถึงมนุษย์เรือว่าเป็นผู้อพยพมาจากประเทศอื่น ผู้แทนด้านผู้อพยพของสหรัฐฯ แอนน์ ซี ริชาร์ด ก็เรียกร้องให้ทางการพม่าให้สัญชาติต่อชาวโรฮิงญาและขอให้ภูมิภาคนี้ร่วมกันช่วยเหลือพวกเขา

ริชาร์ดกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวหลังไปเยือนศูนย์ควบคุมตัวผู้อพยพในมาเลเซียและอินโดนีเซียว่าควรจะมีการค้นหาและกู้ภัยเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือคนเรือ 2,000 ชีวิต รวมถึงจัดการแก้ไข "รากเหง้าของปัญหา" ที่ทำให้เกิดการอพยพเป็นอันดับแรกๆ


เรียบเรียงจาก

USDP Lawmaker Calls for Hard Line on ‘Boat People’, The Irrawaddy, 03-06-2015
http://www.irrawaddy.org/burma/usdp-lawmaker-calls-for-hard-line-on-boat-people.html

Rohingya Need to Be Treated as Burmese Citizens: US, The Irrawaddy, 03-06-2015
http://www.irrawaddy.org/burma/rohingya-need-to-be-treated-as-burmese-citizens-us.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net