Skip to main content
sharethis

สกว.ระดมสมองทบทวนแผนยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าสร้างภูมิคุ้มกันและองค์ความรู้จากงานวิจัย เพื่อรับมือกับโอกาส ความเสี่ยง และภัยคุกคามชุดใหม่ในศตวรรษที่ 21 หวังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกที่หนึ่ง

4 มิ.ย. 2558  สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหาร สกว. ระเบียบวาระพิเศษ การทบทวนแผนยุทธศาสตร์ สกว. (2557-2560) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อทบทวนแผนยุทธศาสตร์ สกว. สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของประเทศไทยทั้งในเมืองและชนบท รวมถึงพลวัตในต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการจัดกระบวนการใหม่เพื่อมองไปอีกสิบปีข้างหน้า โดยระดมสมองผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงแผนงบประมาณและแผนปฏิบัติการสำหรับการนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัยในวันที่ 18 กันยายนต่อไป

สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์ และออกแบบอนาคตประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวระหว่างการเสวนาบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในกระแสโลก หัวข้อ “อนาคตประเทศไทยในทศวรรษหน้า” ว่าประเด็นท้าทายในศตวรรษที่ 21 ของไทย คือ จะปรับตัวให้เข้ากับอารยธรรมโลกได้อย่างไร รวมถึงการรับมือภัยคุกคามไม่ตามแบบซึ่งเป็นประเด็นท้าทายของการวิจัย เช่น โลกร้อน โรคระบาด การปรับเปลี่ยนจากสังคมฐานเศรษฐกิจสู่สังคมฐานความรู้เศรษฐกิจสร้างมูลค่า และประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง

คำถามของประเทศไทย คือ ตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในเวทีโลกยังอยู่กับที่ ขณะที่หลายประเทศขยับสู่การเป็นประเทศโลกที่หนึ่งและสองในอัตราเร่ง เรายังไม่สามารถสู้กับประเทศที่มีเทคโนโลยีและการออกแบบที่ทันสมัยได้ ปัญหาโครงสร้างการส่งออกของไทยปัจจุบันที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ และมีแนวโน้มว่าตลาดจะหายไปเรื่อยๆ ขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอย เราจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ปรับการลงทุนเพื่อเข้าถึงปัจจัยการผลิตพื้นฐาน รวมถึงการเข้าถึงตลาดและเครือข่ายและการพัฒนาองค์ความรู้

สิ่งที่น่ากลัวคือ ขีดความสามารถในระยะยาวซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนไทย แต่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยขณะที่อัตราการแบกรับคนสูงวัยลดลง นอกจากนี้ปัญหาสำคัญของสังคมไทย คือ ยังติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางในขณะที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ไทยไม่เคยปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนาดใหญ่ เพราะไม่เคยมองนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากพอ ถ้าไม่สามารถก้าวข้ามได้ก็จะมีปัญหาอย่างแน่นอนในอนาคต รวมถึงติดกับดักของความเหลื่อมล้ำ คนรวยกระจุกตัว ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงความขัดแย้งรุนแรงบนฐานของความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน และอภิสิทธิ์ชน นำมาสู่สังคมที่ไม่ชัดเจน ไม่ยุติธรรม และไม่แบ่งปัน ประเด็นท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีความมั่งคั่งแบบกระจายตัว มีการแบ่งเค้กกันมากขึ้น

สุวิทย์เผยว่า ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันเป็นโลกเดียวกันตลาดเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่เข้าใจโลกใหม่โดยเริ่มต้นจากการวิจัย ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกหลังสงครามเย็นพบว่าผู้เล่นภาครัฐจะเปลี่ยนเป็นผู้เล่นนอกภาครัฐที่ประกอบกันเป็นโลกไร้ขั้ว พลังอำนาจในการต่อรองจะเปลี่ยนแปลงไป

ประเด็นสำคัญคือ ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามร่วม ทั้งเรื่องความยากจน สงครามกลางเมือง โลกร้อน วิกฤติเศรษฐกิจ เป็นต้น วิกฤติระดับโลกจะเกิดถี่ขึ้นในระดับที่หนักหน่วงขึ้น เป็นวิกฤติซ้ำซาก ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอก็จะประสบปัญหาตลอดเวลา รูปแบบของสงครามในโลกยุคใหม่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อภาคอุตสาหกรรม ไทยจะมียุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหารและพลังงานอย่างไร ขณะที่หลายประเทศเริ่มผลักดันยุทธศาสตร์การทำเกษตรนอกประเทศ

4 สถาบันเสาหลักที่ค้ำจุนโลกในศตวรรษที่ผ่านมาเริ่มไม่สามารถตอบโจทย์พลวัตในศตวรรษที่ 21 ได้ ประเด็นปัญหาคือ เกิดธนาธิปไตย ทุนนิยมสามานย์ การเสื่อมถอยของพลังภาคประชาสังคม และสังคมสองมาตรฐาน เมื่อเกิดความไม่สมดุลของระบบเราจะรับมืออย่างไร ดังนั้นประเด็นท้าทายของการวิจัยคือ จะมีการปฏิรูปเชิงสถาบันอย่างไรเพื่อลดอิทธิพลของระบบทุนนิยม และเพิ่มความเข้มแข็งในสถาบันอื่น รวมถึงต้องมีการจัดระเบียบโครงสร้างอำนาจใหม่และการปฏิรูปเชิงพฤติกรรม จากการพึ่งพิงอิงแอบให้มีการพึ่งพาอาศัยและความเป็นอิสระมากขึ้น

“การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกที่หนึ่งได้นั้น ต้องมาดูว่าจะรับมือกับโอกาส ความเสี่ยงและภัยคุกคามชุดใหม่นี้ได้หรือไม่ อย่างไร เราต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ในเวทีโลกอย่างมีศักดิ์ศรี มีโมเดลการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทที่เหมาะสม อยากเห็นคนไทยมีความหวัง ความสุข และเป็นหนึ่งเดียวกันในทศวรรษหน้า โดย สกว.จะต้องขับเคลื่อนประเทศไทยผ่านการทำวิจัยและร่วมออกแบบประเทศไทยใหม่”

ด้าน ธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึง “ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12” ว่าจากการประเมินบริบทและประเด็นการพัฒนาในวิสัยทัศน์ประเทศไทย ปี 2570 และการจัดทำแผนฯ สามารถสรุปประเด็นการพัฒนาที่สำคัญในการจัดทำแผนฯ รวม 9 ประเด็น ประกอบด้วย การจัดการความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาสู่สังคมเมือง ภูมิภาคภิวัตน์ การออกจากกับดักรายได้ปานกลาง การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการผลิตและการดำรงชีวิต การพัฒนาคนตามช่วงวัย การสร้างธรรมาภิบาลภายใต้แนวทางการปฏิรูประบบราชการ การเจริญเติบโตอย่างมีส่วนร่วม เศรษฐกิจและการเจริญเติบโตสีเขียว

ปัจจัยภายนอกสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในอนาคต ได้แก่ การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศในอาเซียน การเคลื่อนไหลของกระแสวัฒนธรรมโลก ภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่ การวางตำแหน่งของประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎกติกาใหม่ของโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงของโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การก่อการร้ายสากล ตลอดจนความมั่นคงอาหารและพลังงาน ฉากทัศน์สังคมไทยในอนาคตจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เป็นสังคมพหุนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นปัจเจกนิยมมากขึ้น รวมทั้งเป็นสังคมเมืองกลิ่นชนบท และสังคมที่เหลื่อมล้ำและมีปัญหาความขัดแย้ง

สิ่งที่ไทยต้องเผชิญและดำเนินการให้สำเร็จ คือ สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดและเสื่อมโทรม การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่มีความผันผวนสูง การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การเสริมสร้างทักษะความชำนาญ องค์ความรู้ เทคโนโลยีและภูมิปัญญา การปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการสร้างผลิตภาพ บรรยากาศการค้าการลงทุนและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้ประโยชน์และเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net