Skip to main content
sharethis

4 มิ.ย.2558 พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณา เร่งรัด ติดตามร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ครั้งที่ 1/2558 เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองฯให้ทันต่อการประกาศใช้ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. ....ที่มีกรอบระยะเวลาการประกาศใช้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2559 โดยในที่ประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรอง มีตัวแทน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงคมนาคม และจากภาคเอกชน คือ ประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย และประธานสมาคมวิชาชีพชาวเรือไทย เป็นคณะทำงานพิจารณา เร่งรัด ติดตาม ร่างกฎหมายดังกล่าว รวมประมาณ 65 ฉบับ แยกหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานเอาไว้ และการกำหนดกลุ่มของกฎหมายตามภารกิจ อาทิ ประกาศกรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำขอรับแบบในรับรอง การออกใบรับรองชั่วคราว อายุและการต่ออายุ การตรวจสอบ ติดตาม และการเพิกถอนใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล

“กฎหมายทุกฉบับ รวมถึงกฎหมายลูก ขอให้ดูด้วยความรอบคอบ จับทิศทางให้เร็ว อย่างไรก็ตามความรอบคอบทางด้านกฎหมายเป็นภูมิปัญญาของส่วนราชการ รับฟังจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง การบังคับใช้ต้องเกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งกฎหมายเป็นเครื่องบังคับใช้ไปสู่อนาคต เป้าหมายหลักของกฎหมายฉบับนี้ คือการเข้าสู่การแข่งขันกับนานาประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

โดยร่าง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. .... เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานของสภาพการจ้าง การทำงาน ความปลอดภัย และสุขอนามัย ของการทำงานบนเรือเดินทะเล โดยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour  Convention,2006 : MLC) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีกฎหมายลำดับรองหลายฉบับขึ้นมารองรับเพื่อใช้บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย

ชู “อาสาสมัครแรงงาน” คือบุคคลขับเคลื่อนงานในพื้นที่ที่สำคัญ

พล.อ.กิตติ ปทุมมาศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมอาสาสมัครแรงงานจังหวัดนครปฐม ณ โรงแรมริเวอร์ จังหวัดนครปฐม ว่า พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) เป็นอย่างมากเพราะมองว่าเป็นบุคคลที่ขับเคลื่อนภารกิจงานของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่ลงพื้นที่สู่ประชาชนได้มากที่สุด อสร. จึงถือเป็นเครือข่ายการทำงานที่เข้าถึงประชาชนที่มีบทบาทมากที่สุดในขณะนี้ ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการพูดคุยและรับฟังปัญหาข้อขัดข้องเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติต่อไป

พล.อ.กิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีสิทธิประโยชน์ของประชาชนทุกเรื่อง โดยหลักการของรัฐบาลอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีก็พร้อมจะทำ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามต้องดีกว่าเดิมโดยมุ่งที่ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

สุนิสา เนี๊ยะกุ๊น อาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ตำบลไร่ขิง  อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า “เป็น อสร. มาปีกว่า เหตุผลที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งอาสาสมัครแรงงานเพราะอยากเห็นคนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ มีสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากการประกันตนกับประกันสังคม และข่าวสารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ซึ่งได้รับจากหน่วยงานราชการของกระทรวงแรงงาน อสร.ได้กระจายข่าวสารให้คนในพื้นที่ คนในชุมชนได้รับรู้ข่าวสาร ความรู้ รวมถึงได้แนะนำการสร้างรายได้จากอาชีพอิสระต่างๆ ซึ่งการทำหน้าที่ของ อสร. บอกจริงๆ ทำด้วยใจค่ะ”

มณี สุรวัฒนาประเสริฐ ประธานอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า “ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครแรงงาน มากว่า 4 ปี แรกเริ่มเนื่องจากเห็นชาวบ้านในชุมชนลำบาก อยู่บ้านไม่มีอาชีพ จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เขาได้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้สามารถนำมาจุนเจือครอบครัวได้ จึงได้ประสานกับสำนักงานแรงงานเพื่อจะรวมกลุ่มชุมชน การเป็น อสร. สร้างความภาคภูมิให้กับตัวเองมากเพราะมีโอกาสช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนให้มีงานทำ สร้างรายได้ หรือได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อันเนื่องมาจากการเข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม”

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net