Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชนในฝรั่งเศสออกรายงานคู่ขนาน (shadow report) เรื่องการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ของไทย ชี้จำกัดเสรีภาพการแสดงออก ส่งผลเซ็นเซอร์ตัวเอง แนะไทยตัดโทษจำคุกออก


ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มที่นี่


4 มิ.ย. 2558  สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) องค์กรสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกรายงานว่า การใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ของไทย ในทางที่ผิด เป็นการจำกัดการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในประเด็นสถาบันกษัตริย์ และส่งผลให้มีการคุมขังศิลปินและนักเขียนเป็นจำนวนหลายคน

รายงานของ FIDH ในชื่อ "ยุคมืด: การละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศไทย" (Dark Ages - Violations of cultural rights under Thailand’s lèse-majesté law) ได้อธิบายถึงการบังคับใช้กฎหมาย 112 ของประเทศไทยซึ่งขัดแย้งกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในการคุ้มครองไว้ ทั้งนี้รายงานชิ้นนี้เป็นรายงานคู่ขนาน (shadow report) ซึ่งเผยแพร่ออกมาเนื่องในโอกาสที่คณะกรรมการสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม องค์การสหประชาชาติ (CESCR) จะทบทวนรายงานของประเทไทย ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 4-5 มิถุนายนนี

คาริม ลาฮิดจี ประธานของ FIDH กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่รัฐสั่งบล็อคเว็บไซต์ แบนหนังสือ รวมถึงปราบปรามการกระทำและสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือการพูดที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของไทยอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการกำหนดโทษรุนแรงต่อผู้ละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ ส่งผลให้ไม่มีการถกเถียงสาธารณะในประเด็นสถาบันกษัตริย์ไทย”

ทั้งนี้ กฎหมายอาญา มาตรา 112  ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ต่อหนึ่งกรรม

นอกจากนี้รายงานชิ้นนี้ยังได้นำเสนอว่าประเทศไทยมีการบังคับใช้มาตรา 112 มากเกินไปและส่งผลให้ประเทศไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะเคารพและปกป้องสิทธิของทุกคนต่อสิทธิทางวัฒนธรรมซึ่งมาตรา 15 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้รับรองเรื่องนี้ไว้

FIDH ระบุด้วยว่า การจำคุกสองนักแสดงละครเวที นายปติวัฒน์ หรือแบงก์ และ นางสาวภรณ์ทิพย์ หรือ หรือ กอล์ฟ ความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 ด้วยเหตุแสดงละครทางการเมืองเป็นเรื่องที่ชี้ให้ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้มาตรา 112 ในทางที่ผิด กับความล้มเหลวในการปกป้องสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงดังกล่าวต้องหนีออกนอกประเทศ เพราะหวาดกลัวต่อการถูกจับกุมภายใต้มาตรา 112

FIDH ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้มีการตั้งข้อหาและจำคุกในความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายคดีสืบเนื่องจาการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์  ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังจากที่ประเทศไทยถูกยึดอำนาจโดยเผด็จการทหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็มีการจับกุมและดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในหลายกรณีที่ปัจเจกบุคคลถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยเหตุว่าได้แชร์ความคิดเห็นหรือเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันผ่านทางเฟซบุ๊ก รวมถึงมีกรณีของ สิรภพ ที่ถูกจับกุมตั้งแต่มิถุนายนปี 2557 จากการเขียนบทกวีที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้มีการออกคำสั่งให้แบนหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่มีการเผยแพร่มุมมองวิพากษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ มาตรการเหล่านี้ส่งผลให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวและทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ FIDH ระบุว่าหลังจากการยึดอำนาจปี 2557 คสช. ได้บล็อคเว็บไซต์กว่าพันเว็บที่มองว่ามีการพาดพิงถึงสถาบัน ในต้นเดือนมกราคม 2558 คสช. ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ซึ่งมีอำนาจถูกต้องตามกฎหมายในการควบคุมระบบการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หัวหน้า คสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าวว่าจุดมุ่งหมายหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.นี้ก็เพื่อเป็นการปราบปรามการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพออนไลน์ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยไม่ต้องมีการขอหมายศาล

คาริม ลาฮิดจี ประธานของ FIDH กล่าวเสริมว่า “การเซ็นเซอร์ จับกุม และเนรเทศ เป็นสถานการณ์ที่ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ต้องเผชิญ” และเขาเรียกร้องว่า  “อย่างน้อยที่สุด ประเทศไทยต้องแก้กฎหมายอาญามาตรา 112  ตัดโทษจำคุก สำหรับการกระทำความผิดที่เกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก รัฐบาลควรหยุดเซ็นเซอร์สื่อออนไลน์และสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ทั้งนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการไหลเวียนอย่างอิสระของไอเดียและข้อมูล
 

 

เรียบเรียงจาก

Thailand: Abuse of lèse-majesté law obstructs creative expression
https://www.fidh.org/International-Federation-for-Human-Rights/asia/thailand/thailand-abuse-of-lese-majeste-law-obstructs-creative-expression

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net