Skip to main content
sharethis
สนช.ครูหยุย "วัลลภ ตังคณานุรักษ์" ตั้งกระทู้ถาม รมต.ยุติธรรม ถึงมาตรการปล่อยตัวและติดตามผู้ต้องขังที่มีจำนวนมากในแต่ละปีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สังคม ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา แจงมีหลักเกณฑ์มาตรฐานพิจารณา ขณะกำลังแก้ไขกฎหมายช่วยติดตามหากมีการกระทำผิดซ้ำ พร้อมยอมรับต้องพัฒนากรมคุมประพฤติให้มีประสิทธิภาพ 
 
 
ที่มาภาพจาก radioparliament.net
 
5 มิ.ย. 2558 สถานีวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถึงเรื่องการพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากกังวลว่าในแต่ละปีมีนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการลดโทษและปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดจำนวนมาก อีกทั้งหลายคดีที่ผู้กระทำผิดร้ายแรง กระทบความรู้สึกประชาชน ได้รับการปล่อยตัวหลังจากจำคุกในระยะเวลาไม่นาน อาทิ คดีที่นายแพทย์คนหนึ่งสังหารภรรยา ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่สุดท้ายได้รับการลดโทษเป็นระยะ จนได้รับการปล่อยตัว รวมการจำคุกเพียง 10 ปี 9 เดือน กรมราชทัณฑ์จึงควรชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุการปล่อยตัวผู้ต้องขังจำนวนมากในแต่ละปี รวมถึงมีหลักเกณฑ์พิจารณาพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุกหรือไม่อย่างไร ตลอดจนมีมาตรการติดตาม สอดส่องดูแลความประพฤติของนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวหรือไม่เพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับประชาชนและสังคมเกิดความเชื่อมั่น
 
ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่าการลดโทษมีหลักเกณฑ์กำหนดที่เป็นมาตรฐาน อาทิ นักโทษชั้นดีเยี่ยมจะได้รับการลดโทษเดือนละ 5 วัน หลังรับโทษ 6 เดือนพิจารณา 1 ครั้ง ส่วนนักโทษชั้นดีจะได้รับการพิจารณาลดโทษลดหลั่นกันตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนการติดตามนักโทษภายหลังได้รับการปล่อยตัวแล้วนั้น มีกรมคุมประพฤติทำหน้าที่ดูแล ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูเรื่องที่อยู่อาศัย กระทรวงมหาดไทยดูการดำเนินชีวิตของผู้ได้รับการปล่อยตัวในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารัฐอาจให้ความดูแลไม่ทั่วถึง จึงได้เร่งพัฒนากรมคุมประพฤติให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงกำลังเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้มากว่า 80 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพสังคม ปรับกฎหมายราชทัณฑ์ให้มีการเก็บดีเอ็นเอของผู้ได้รับการปล่อยตัวไว้ก่อน เพื่อง่ายต่อการติดตามคดีหากมีการกระทำผิดซ้ำ รวมถึงจะต้องหาแนวทางในการช่วยเหลือคนดีที่ได้รับการปล่อยตัวให้มีงานทำ ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องการไม่ทำผิดซ้ำ และทำให้สังคมปลอดภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net