Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


หากพูดถึงแรงงานชาวโรฮิงญาที่อพยพหลบหนีเข้ามาอาศัยพักพิงภายในประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ บางกลุ่มก็ตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยไม่คิดจะเดินทางกลับบ้านเกิดแล้ว บางกลุ่มก็เดินทางเข้ามาทำงานเพื่อสะสมทุนหรือทำงานเพื่อส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่อยู่อย่างยากลำบากในประเทศต้นทาง โดยส่วนมากจะอาศัยอยู่กันเป็นชุมชนเน้นการสร้างเครือข่ายทางสังคม การมีเครือข่ายฯ ทำให้รู้สึกอุ่นใจในภาวการณ์ที่พวกเขาต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่กฎระเบียบนั้นไม่เอื้ออำนวยให้กับพวกเขาในการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตประจำวันในฐานะแรงงานข้ามชาติ ซึ่งต่างไปจากแรงงานข้ามชาติกลุ่มอื่นๆ…….หากเป็นเช่นนี้ การสร้างพื้นที่ในจินตนาการ การต่อรองความหมายของคำว่า “บ้าน” จึงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ในสังคม

การที่ผู้เขียนลงพื้นที่ภาคสนามทำให้พอเข้าใจถึงวิถีการดำเนินชีวิตของชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาที่ขายโรตีหลายต่อหลายคน นับตั้งแต่วันแรกที่เหยียบแผ่นดินไทยจวบจนทุกวันนี้ว่ามีวิธีการดำเนินชีวิตภายใต้โอกาสที่เปิดทางให้กับคนตัวเล็ก ตัวน้อยอย่างพวกเขาได้ทำมาหากินอย่างไรบ้าง จากการพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับชาวโรฮิงญาที่ขายโรตี……..เป็นการเล่าสู่กันฟังให้มวลมนุษยชาติได้เห็นถึงเส้นทางการดำเนินชีวิตอันเงียบสงบที่เต็มไปด้วยอุปสรรคต่างๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญ

ชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งนามว่าอารี (นามสมมติ) เล่าให้ฟังว่าตัวเขาเองนั้นเข้ามาอยู่ประเทศไทยย่างเข้าปีที่ 12 แล้ว เขาอพยพเข้ามายังประเทศไทยด้วยความที่ฐานะทางบ้านนั้นยากจนมากๆ สมาชิกในครอบครัวไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ  เขาเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวเพียงผู้เดียว ประกอบกับปัญหาภัยสงคราม เขาจึงตัดสินใจหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยด้วยการชักจูงจากญาติพี่น้อง ถึงแม้จะรู้ว่าการเดินทางเข้ามานั้นผิดกฎหมาย แต่ก็ยังเเลือกที่จะหนีตายเข้ามาทำงาน ตอนแรกจะพาครอบครัวมาด้วยกันทีเดียว แต่เพราะอุปสรรคในการเดินทางเข้ามานั้นยากลำบากจึงต้องเปลี่ยนแผน

ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้วมันทรมานจริงๆ พุดคุยกับใครๆ ก็ไม่ได้ รู้สึกท้อแท้กับชีวิตมาก ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเอกสารทางราชการใดๆ ก็ไม่มีเลยสักอย่าง ในเมื่อหลบหนีเข้ามาแล้วต้องทำงานและอาชีพเดียวที่ทำได้คือ ขายโรตี เพราะทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  จึงเลือกยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลักเพื่อหาเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัว ซึ่งในทุก ๆ 2 เดือนจะส่งเงินกลับบ้านครั้งละ 10,000 บาทไทยเมื่อรวมกับเงินที่จะมีนายหน้าคอยรับส่งให้เบ็ดเสร็จต่อครั้งราวๆ 15,000 บาทไทย นี่เป็นหนทางเดียวที่ทางบ้านจะได้รับเงินก้อนนี้ค่าใช้จ่ายในการส่งเงินแต่ละครั้งมันแพงมาก แต่ดูเหมือนเขาไม่มีทางเลือกอื่นใด จึงต้องส่งเงินกลับบ้านด้วยช่องทางนี้

ในเมื่อความยากจนมันสอนให้ตัวเขาต้องอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เขาเล่าให้ฟังต่ออีกว่าเคยโดนจี้เอาเงินในขณะที่ตัวเขาเองกำลังเดินทางกลับที่พักในเวลากลางคืน ช่วงนั้นเป็นช่วงแรกๆ ที่เข้ามาใหม่ๆ ด้วยความที่เป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมืองจะไปแจ้งตำรวจก็ไม่ได้ กลัวว่าตัวเขาจะต้องโดนจับกลับประเทศก็เลยต้องปล่อยไป


ในแต่ละวันพี่อารีจะออกไปขายโรตีช่วงบ่ายๆ กว่าจะกลับบ้านก็เกือบเที่ยงคืน ยานพาหนะที่ใช้ในการไปขายโรตีของพี่อารีเป็นสามล้อเครื่องมันจึงพาเขาไปขายโรตีในระยะไกลๆ ได้จนทำให้คนแถวๆ นั้นรู้จักเขาเป็นอย่างดี พี่อารีเป็นคนจิตใจดี หากมีใครมาซื้อโรตีครั้งละมากๆ จะแถมให้เป็นประจำ ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยได้รับประสบการณ์นั้นเช่นกัน อยู่ดีๆ พี่อารี ก็ถามผู้เขียนว่า “ได้ฟังข่าวเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาบ้างไหม” ผู้เขียนก็ตอบว่า “ติดตามอยู่ตลอดแล้วพี่อารีหละ มีความคิดเห็นกับข่าวการอพยพโดยสารทางเรือของชาวโรฮิงญาอย่างไรบ้าง” ก็ได้คำตอบว่า………

“ตัวเขาเองก็ไม่รู้อะไรมากเหมือนกัน เพราะชาวโรฮิงญามีจำนวนมาก บางกลุ่มก็นิสัยดี บางกลุ่มก็นิสัยไม่ดี ในการขึ้นเรือมาแต่ละครั้งจะมารวมๆ กัน คนโรฮิงญาไม่ได้แย่ไปซะทุกคนนะ”พี่อารีกล่าวต่อ “คนดีมันก็มี ก็เข้าใจนะว่าประเทศไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแต่ชาวโรฮิงญานั้นนับถือศาสนาอิสลามก็น่าจะช่วยพวกเขาขึ้นมาพักพิงบนฝั่งสักนิดก็ได้ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย เพราะถึงอย่างไรก็เพื่อนมนุษย์เหมือนกัน และขอชื่นชมทหารไทยนะที่ช่วยเหลืออาหาร เครื่องดื่มให้กับชาวโรฮิงญา”

พี่ชายชาวโรฮิงญาอีกคนที่ผู้เขียนไปพูดคุยด้วยคือพี่อาบี (นามสมมติ) พี่อาบีเล่าให้ฟังว่าตนเองเข้ามายังประเทศไทยกว่า 15 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เคยเป็นแรงงานก่อสร้างมาแล้วหลายจังหวัด ตัวเขาเองต้องเดินทางอยู่บ่อยๆ มันอยู่ที่เดิมไม่ได้นานจนย้ายมาอยู่ที่นี่ (ผู้เขียนขอสงวนสิทธิ์ไม่บอกว่าที่จังหวัดใด)ประมาณ 8 ปี(ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจเพราะพี่อาบี พูดภาษาไทยชัดมาก) ตั้งแต่เดินทางเข้ามาประเทศไทยยังไม่เคยกลับประเทศต้นทางเลย ผู้เขียนจึงถามกลับไปว่า “คิดที่จะกลับบ้านเกิดอยู่ไหม” ก็ได้คำตอบว่า“ชีวิตตอนนี้มีความสุขดี ปรับตัวเองกับเพื่อนฝูงและประเทศไทยได้แล้ว”(ผู้เขียนรู้สึก “เงิบ” เลยไปต่อไม่ถูก 555+)

ขณะเดียวกันผู้เขียนก็แลไปเห็นรถสามล้อที่ใช้ประกอบอาชีพขายโรตีคู่ใจที่พี่อาบีใช้เป็นประจำ พี่อาบีเล่าให้ฟังถึงที่มาของมันว่าซื้อมาในราคา 5,000 บาท จากร้านขายเศษเหล็ก นำมาซ่อมแซมเองนิดหน่อยก็ใช้ได้แล้ว เป็นเพียงสามล้อถีบธรรมดาไม่มีเครื่องยนต์ ซึ่งแต่ละวันพี่อาบีจะออกไปขายโรตีตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงสามถึงสี่ทุ่มด้วยการปั่นสามล้อถีบคู่ใจเป็นระยะทางกว่า 25 กิโลเมตรเป็นประจำทุกวัน แล้วสิ่งที่พี่อาบีบอกกับผู้เขียนก็คือว่าหากวันไหนขายดีๆ เลยต้องปั่นสามล้อไประยะทางที่ไกลกว่าเดิม (ต้องอดทนมากกว่าเดิมนั่นเอง) แต่ถ้าวันไหนฝนตกก็เท่ากับว่าวันนั้นจะไม่มีรายได้ทันที อีกครั้งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นบริเวณนิ้วมือทั้ง 2 ข้างของพี่อาบี  มีลักษณะไหม้ดำเป็นจุดๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เนื่องจากโดนความร้อนของกระทะจากการพลิกแป้งโรตี พี่อาบีกล่าวว่า “ตอนนี้ไม่รู้สึกร้อนไปแล้ว มันชิน” พร้อมกับเสียงหัวเราะ “นี่แค่ขนาดขายโรตีนะยังแย่ขนาดนี้แล้วถ้าเป็นอาชีพอื่นๆ ล่ะจะขนาดไหนกันเนี่ย”ผู้เขียนอุทานออกมา

ผู้เขียนคงอุทานดังไปหน่อยเลยทำให้พี่อาบีหันกลับมาแล้วเล่าให้ฟังอีกว่าเพื่อนของเขาที่มาจากประเทศต้นทางเดียวกัน ตอนนี้ทำงานใช้แรงงานที่หนักหนากว่านี้มาก ทำงานกันทั้งวัน ทั้งคืนไม่ค่อยได้หยุดพัก แถมยังได้เงินไม่เท่ากับขายโรตีที่ขายดีๆ ต่อวันเลย (โอ้ว!!!)

จากนั้นก็มีการพูดคุยกันเรื่องข่าวผู้อพยพโดยสารมาทางเรือที่เป็นชาวโรฮิงญานั้นพี่อาบี จะมีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรก็ได้รับคำตอบว่า……..

”ก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน เพราะว่าตัวพี่อาบีเองก็หลบหนีเข้าเมืองมาเหมือนกันหลบเข้าเมืองมาตั้งนานแล้วพี่อาบีกล่าวพร้อมกับเสียงหัวเราะ“แต่จะว่าไปคนเหล่านั้นก็คงจะไม่มีทางเลือกจริงๆ ต่อให้ไม่เดินทางออกมาสักวันก็ต้องตายได้อยู่ดีเพราะความอดยาก ยากจนที่มีให้เห็นเป็นประจำชาวโรฮิงญาพวกนั้นขอแค่เพียงหนีตาย มีงานให้พวกเขาทำเหมือนที่ตัวเขาเองทำอยู่อย่างทุกวันนี้แค่นั้นก็น่าจะพอแล้ว ดีนะที่คนไทยยังช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่อพยพโดยสารมาทางทะเล ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ชะตาชีวิตของพวกเขาว่าจะเป็นอย่างไรเหมือนกัน ขอบคุณคนไทยที่ช่วยเหลือ” นี่เป็นคำกล่าวหลังเสียงหัวเราะของพี่อาบี

การสนทนากับพี่อาบีครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนมองย้อนกลับมาคิดว่ามันก็จริงที่ชาวโรฮิงญาต้องอพยพหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเพราะเหตุผลหลายอย่าง แต่ทว่าเป็นเพียงการหนีตายเพื่อที่จะเข้ามาอยู่ในบ้านของคนอื่น พอหลังจากกินอิ่มนอนหลับก็ช่วยเจ้าของบ้านเก็บ กวาด เช็ด ถู ให้บ้านหลังนั้นๆ ดูสะอาดขึ้นมาก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี อาทิ ชาวโรฮิงญาที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นปัจจุบันทั้งคู่และอีกหลายๆ คนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสถึงความเป็นอยู่อย่างแท้จริงต่างใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสงบบนเส้นทางเดินชีวิตของแรงงานที่เข้าใจถึงวิธีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยแรงงานกลุ่มนี้ถูกจ้องมองจากกลุ่มคนที่ผลักดันพวกเขาให้ออกจากศูนย์กลางการพัฒนาประเทศหรือให้กลายเป็นคนชายขอบนั่นเอง

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าต่อให้พี่อารีและพี่อาบี มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับข้อกล่าวหาที่ว่า “ชาวโรฮิงญา คือ แรงงานชั้นต่ำที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศไทย โดยที่ยังไม่เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิตแรงงานกลุ่มนี้ว่าใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบากแค่ไหน ตลอดจนในช่วงเวลานี้ข่าวการอพยพย้ายถิ่นแบบไม่ปกติที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ทำให้ทัศนคติของคนไทยที่มีต่อชาวโรฮิงญาเดิมก็ไม่ดีอยู่แล้วกับทำให้ดูแย่ลงไปอีก” ซึ่งพี่อารีและพี่อาบีก็คงทำได้แค่คิดและเฝ้ามองเพื่อนร่วมศาสนาเดียวกันเผชิญชะตากรรมที่ยังไม่รู้ตอนจบ ประกอบกับวาทกรรมที่ชี้หน้ากลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นเพียงแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่ผิดกฎหมาย เป็นอิสลามที่ชอบใช้ความรุนแรง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกหาสิทธิหรือเสรีภาพให้กับตัวเอง เพียงเพราะพวกเรานั้นยังยึดติดกับวาทกรรม “แรงงานต่างด้าวชาวพม่า” และ “อิสลามโรฮิงญา” จนมองไม่มองเห็นถึง “คุณค่า” ของชีวิตน้อยๆ ที่สลัดแผ่นโรตีร้อนๆ ให้เราได้กินในราคาถูกๆ มาหลายสิบปี

 

 

 

 

 

 

 




[1]นิสิตปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net