Skip to main content
sharethis

 

 

GoodElectronics องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่จับตาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกติง “โบรชัวร์ประชาสัมพันธ์” ของคณะกรรมการส่งเสร...

Posted by Workazine on 7 มิถุนายน 2015

 

7 เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2015 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ของ GoodElectronics ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่จับตาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกติง “โบรชัวร์ประชาสัมพันธ์” ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยที่ระบุพนักงานไทยฝีมือดี-ค่าแรงไม่แพง แต่กลับละเลยประเด็นละเมิดสิทธิพนักงานในอุตสาหกรรมนี้ในไทย โดยให้ความเห็นว่า BOI พยายามบอกนักลงทุนต่างชาติแค่เพียงว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีคุณภาพและมีค่าแรงที่ไม่แพงมาก ซึ่ง GoodElectronics ระบุว่าน่าเศร้าที่โบรชัวร์นี้ไม่ระบุถึงการละเมิดสิทธิพนักงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไว้ด้วย

โดยโบรชัวร์ประชาสัมพันธ์ของ BOI นี้จัดทำเมื่อปี 2013 สามารถดาวน์โหลดได้ที่: http://goodelectronics.org/news-en/thailands-electrical-and-electronics-industry/at_download/attachment

 

อนึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยนั้น เป็นการผลิตเพื่อส่งออกกว่าร้อยละ 90 และสินค้าส่งออกหลักคือฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) สำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 38 ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และไทยยังมีมูลค่าการส่งออก HDD เป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน

การเข้ามาลงทุน HDD ในไทยนั้นเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบรนด์ชั้นนำของโลก การเข้ามาลงทุนดังกล่าว ทำให้เกิดคลัสเตอร์การผลิต HDD จากการเข้ามาของห่วงโซ่อุปทานเพื่อการผลิต HDD มากมาย เช่น ชิ้นส่วนประกอบ HDD วงจรรวมสำหรับควบคุมการทำงาน HDD วงจรพิมพ์ และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น ชิ้นส่วนและส่วนประกอบดังกล่าว มีสัดส่วนถึงราวร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หากรวมการส่งออก HDD สำเร็จรูปและส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของไทย

ทั้งนี้แผนนโยบายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2015 ที่ผ่านมาซึ่งมีใจความสำคัญในการให้สิทธิประโยชน์ตามลำดับความสำคัญของประเภทกิจการและคุณค่าของโครงการ โดยเฉพาะกิจการที่มีการวิจัยและพัฒนา มีกระบวนการผลิตซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีการให้แรงจูงใจเป็นพิเศษเพื่อให้มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในกิจการการผลิต เช่น การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ และเทคโนโลยี Solid State Drive (SDD) เป็นต้น

แต่ในด้านสิทธิของพนักงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และสหภาพแรงงานต่าง ๆ ระบุว่าพนักงานในอุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น การจ้างงานแบบไม่มั่นคงมีการจ้างงานแบบเหมาช่วงเหมาค่าแรง ขาดสิทธิการต่อรองกับนายจ้างเนื่องจากถูกกีดขวางกิจกรรมสหภาพแรงงาน และในด้านรายได้ของพนักงานนั้นมักอยู่ในระดับเทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้พนักงานต้องทำงานล่วงเวลาหรือโอทีเพิ่มอีก 4 ชั่วโมง รวมชั่วโมงทำงานอยู่ที่ 12 ชั่วโมงต่อวัน หากไม่ทำงานล่วงเวลาก็จะส่งผลต่อการได้เบี้ยขยัน และการประเมินงานเพื่อปรับเงินเดือนช่วงสิ้นปี้รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพต่างของคนงาน เป็นต้น (อ่านประเด็นปัญหาของพนักงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม: ทุนนิยาม101: ชะตากรรมแรงงานไอที)

 

ที่มาข่าวบางส่วนเรียบเรียงจาก

Thailand's electrical and electronics industry
http://goodelectronics.org/news-en/thailands-electrical-and-electronics-industry

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net