กลุ่ม ANTI-SOTUS จัดเสวนา ‘โซตัส-พลเมือง ทางคู่ขนานที่นศ.ต้องเลือก’

6 มิ.ย. 58  กลุ่ม ANTI - SOTUS จัดประชุมใหญ่ประจำปี 2558 ‘ถอดบทเรียนกับเครือข่ายนักศึกษาทั่วประเทศ’ ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง ในช่วงเช้าเป็นการรายงานผลการทำงานของเครือข่ายตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาและให้สมาชิกเสนอแนะแนวทางในอนาคต ช่วงบ่ายเป็นวงเสวนาวิชาการหัวข้อ ‘โซตัส-พลเมือง ทางคู่ขนานที่นักศึกษา(จำเป็น)ต้องเลือก’ นำเสวนาโดยนายเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี โดยมีวิทยากรคือ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา

เส้นแบ่งระหว่าง พลเมือง-โซตัส
ปริญญา ได้อภิปรายถึงคำถามที่ว่าโซตัสกับพลเมืองมีเส้นแบ่งไหม? คำตอบคือไม่มี เพราะเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง โซตัสคือความคิดบนพื้นฐานที่ว่าคนไม่เท่ากัน ผู้อาวุโสกว่าย่อมมีอำนาจเหนือกว่าคนมาทีหลัง คนมาทีหลังต้องทำตามคนที่มาก่อน เป็นโครงสร้างอำนาจนิยมแนวดิ่ง เช่น รุ่นพี่ถูกเสมอ รุ่นน้องผิดเสมอ ส่วนพลเมืองเป็นอำนาจนิยมในแนวราบ การเป็นปีสี่ ปีสาม หรือปีหนึ่ง เป็นเพียงแค่ความแตกต่างของการเรียนแต่เสมอกันในความเป็นมนุษย์ การเกิดก่อนไม่ได้หมายความว่ามีอำนาจมากกว่า ความเป็นพลเมืองที่คนเท่ากันตัดสินโดยการใช้เหตุผล ส่วนโซตัสใช้ความอาวุโสกว่าเป็นตัวชี้วัดความถูกต้อง สังคมแนวดิ่งไม่ใช้เหตุผล ไม่ใช้อารยะ หากเป็นอารยะต้องเป็นสังคมที่คนเท่าเทียมกัน

ปริญญา ได้เท้าความถึงประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดระบบโซตัสว่า โซตัสเกิดจากโรงเรียนทหารในอังกฤษ เพราะต้องการให้เกิดสังคมแนวดิ่งที่รุ่นพี่สั่งรุ่นน้องได้ เช่น เวลาไปรบในสนามเพราะใน สั่งให้ไปตายก็ห้ามถาม สนามรบไม่มีการใช้เหตุผล ต้องทำตามคนที่อยู่เหนือกว่าอย่างเดียว ต่อมาระบบโซตัสก็ได้แพร่ไปในมหาวิทยาลัยพลเรือนทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  คนเริ่มสนใจและตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมของมนุษย์ จึงเลิกระบบนี้ไปหมดทั้งในอเมริกาและยุโรป

จุดเริ่มต้นโซตัสในประเทศไทย
ปริญญากล่าวต่อว่า  สำหรับโซตัสในไทยเริ่มต้นในศิริราช จากนั้นเริ่มแพร่ไปในทุกแห่งและกลายเป็นสิ่งที่ทำไล่ตามกันมา ข้อน่าสนใจคือ ปีหนึ่งที่โดนกระทำมักจะบ่น ใครทนได้ก็จะผ่านขึ้นมาปีสองได้ ทนไม่ได้ก็จำเป็นต้อง ‘ซิ่ว’ หรือย้ายไปมหาวิทยาลัยอื่น อย่างที่ธรรมศาสตร์จะมีคนซิ่วมาจำนวนมากเพราะที่นี่ปัญหาโซตัสจะน้อยกว่าที่อื่น แต่ในระยะหลังธรรมศาสตร์เริ่มมีคณะเพิ่มมากขึ้นก็ไปรับเอาแนวคิดโซตัสมา

อย่างไรก็ตาม การไม่รับระบบโซตัสในไทยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องความคิดหรือความเชื่อ แต่เป็นเรื่องที่มีเหตุผลและความชอบธรรมทางกฎหมายเข้ามารองรับ เพราะ 3 วันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคือวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2475 ได้มีมาตราหนึ่งบัญญัติว่า ‘มาตรา 1 อำนาจของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ และเมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประเทศไทยก็ต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการแบ่งอำนาจอธิปไตยก็จะเป็นของทุกๆ คนเท่ากัน วันที่ 27 มิถุนายนจึงถือกำเนิดหลักความเสมอภาคขึ้นมาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย นั่นแปลว่าสังคมแนวดิ่งได้กลายเป็นสังคมแนวราบตั้งแต่บัดนั้น ธรรมศาสตร์เองก็ได้ใช้วันที่ 27 มิถุนายนเป็นวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยในอีก 2 ปีให้หลัง เกิดวัฒนธรรมที่รุ่นพี่ธรรมศาสตร์จัดงานต้อนรับนักศึกษาเข้าเรียนใหม่โดยเรียกมันว่าวัน ‘รับเพื่อนใหม่’ ไม่ใช่ ‘รับน้องใหม่’ เพราะตระหนักถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียม

มองระบบโซตัสในปัจจุบัน
ปริญญากล่าวอีกว่า ตอนนี้ระบบโซตัสมีแนวโน้มดีขึ้น สมัยก่อนไม่ได้มีเครือข่ายแอนตี้โซตัสอะไรแบบนี้ ความตื่นตัวเรื่องการไม่เอาโซตัสอาจจะมีมากหน่อยในธรรมศาสตร์ ทุกปีจะมีกระแสโจมตีบางโต๊ะบางกลุ่มที่ยังมีการรับเพื่อนใหม่ในลักษณะนั้นแต่ไม่ได้เป็นเครือข่ายเช่นนี้ ดังนั้นจึงพออธิบายได้ว่าตอนนี้สังคมกำลังตื่นตัวกันในความเสมอภาคและความเท่าเทียม สถานการณ์ในปัจจุบันจึงมองไปในทางบวกและทำนายว่าใช้เวลาอีกไม่กี่ปีโซตัสจะหมดไปจากสังคมไทย เพราะคนที่จะยอมโดนว๊ากจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ นั่นจะเกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เขากล่าวด้วยว่า ตอนนี้ที่เกิดการรัฐประหารก็ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างดี คำถามคือทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความล้มเหลวเช่นนี้อีก จริงๆ แล้วความล้มเหลวอาจจะไม่ใช่เป็นประเด็นการโกงกินหรือการปฎิวัติ แต่เกิดขึ้นก็เพราะว่าแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เคยเสริมสร้างเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมเลย ทุกมหาวิทยาลัยถูกอบรมบ่มเพาะในระบบโซตัส จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ เพื่อให้อยู่ภายใต้อำนาจนิยมที่ไม่ใช้เหตุผล ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ทำไมปี1 ตอนโดนกระทำก็ไม่ชอบใจ แต่ทำไมขึ้นปี2 แล้วทำต่อ ก็เพราะว่าขึ้นปี2 แล้วรู้สึกตัวเองมีอำนาจ ได้ใช้อำนาจสั่งคนอื่นบ้าง ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักรู้ว่าประชาชนมีสิทธิในการปกครองตนเอง ต้องปลูกฝังประชาธิปไตย ใช้เหตุผลและสติปัญญาในการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าใครเกิดก่อนแล้วมีอำนาจ

ข้อเสนอในการล้มเลิกระบบโซตัส
รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มธ. กล่าวถึงข้อเสนอว่า 1.ควรให้มีการจัดอันดับหรือตัวชี้วัดโซตัสของทุกมหาวิทยาลัยในทุกๆ ปี เช่นเดียวกับการจัดอันดับประชาธิปไตยของแต่ละประเทศที่จัดขึ้นในทุกปลายปี ตรงนี้จะทำให้เกิดการเอาจริงเอาจังต่อการตระหนักเรื่องสิทธิและความเสมอภาคมากขึ้น

2.เมื่อในปี 2549 ที่มีปัญหาความรุนแรงในการรับน้องที่ม.เกษตรฯ และลงเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้งดรับน้องในปีนั้น และเกิดความตระหนักถึงปัญหาการรับน้องจึงประกาศเงื่อนไขการรับน้องไม่ให้มีเรื่องลามกและรุนแรง หากมีปัญหาผู้บริหารต้องรับผิดชอบ ในช่วงนั้นตนเองได้เสนอข้อเสนอเข้าไปด้วยว่าให้เติมประเด็นความเสมอภาคเข้าไปด้วย ดังนั้นประกาศในตอนนี้จึงมีทั้งเรื่องสิทธิและความเสมอภาค แต่การประกาศก็ไปไม่ค่อยถึงตัวนักศึกษาเท่าไร ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องช่วยด้วย ประกาศเรื่องนี้ออกมา  5 ปีแล้วว่าการรับน้องต้องไม่ขัดต่อสิทธิความเสมอภาค

3.การรับน้องรุนแรงมีความผิด มีโทษทางอาญา การรณรงค์ในเรื่องนี้ถือว่าดีและควรทำให้มากขึ้น บอกก่อนฤดูรับน้องจะมาถึงให้รู้กัน และหากเกิดอะไรขึ้นอีกในปีนี้ก็ให้ทำเป็นคดีตัวอย่างไปเลย ในธรรมศาสตร์ 2-3 ปีที่ผ่านมาเคยมีการจัดการกันเองโดยมีนโยบายและวิธีการคือ หากนักศึกษาถูกละเมิดหรือการรับน้องขัดกับหลักความเสมอภาคให้แจ้งมหาวิทยาลัยผ่านทางฮ็อทไลน์ทันที เราจะจัดการให้ โดยมากก็ได้ผลเมื่ออธิการบดีลงไปจัดการด้วยตนเอง

โครงสร้างอำนาจแนวดิ่งที่ยังคงอยู่ แนะสร้างความสัมพันธ์แนวราบขึ้นมาสู้
กนกรัตน์
กล่าวถึงปัญหาและความสำเร็จในการรณรงค์ลดความสำคัญของระบบโซตัสว่า สิ่งที่พึงพิจารณาก็คือโครงสร้างอำนาจและความสัมพันธ์ในแบบแนวดิ่งที่ยังคงอยู่ในมหาวิทยาลัยและสังคมไทยเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขให้ได้

กนกรัตน์  เสนอว่าทางออกของปัญหา คือการสร้างโครงสร้างทางอำนาจและเครือข่ายที่มีลักษณะความสัมพันธ์ของบุคคลที่เป็นแนวราบ การสร้างกลุ่มกิจกรรมในรั้วสถาบันที่แยกย่อย หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของนิสิตนักศึกษานอกเหนือจากกิจกรรมรับน้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทดแทนการสูญสลายของโครงสร้างแนวดิ่งและระบบโซตัส เพราะโครงสร้างที่ตอบสนองความแตกต่างหลากหลายจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นเสรีนิยม คือไม่มีความจริงหรือโครงสร้างที่สมบูรณ์จริงแท้เพียงแค่อันเดียว ทั้งนี้ความสามารถในการจัดสรรงบประมาณสู่กลุ่มที่แยกย่อยนั้นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนสนับสนุนให้กิจกรรมขับเคลื่อนไปได้ และกลุ่มเหล่านี้เองที่จะรองรับผู้ที่ไม่เอาระบบโซตัสให้มีที่ยืน ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย และตระหนักว่าพวกเขาอยู่ได้โดยไม่ต้องขึ้นกับระบบโซตัส

กนกรัตน์กล่าวว่า ขบวนการเครือข่ายนิสิต นักศึกษาในปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในความหวังของการท้าทายระบอบเผด็จการเพราะมีทั้งพื้นที่และความสามารถ ในขณะที่กลุ่มทางการเมืองต่างๆ ไม่มีที่ยืน  แต่การเคลื่อนไหวในปัจจุบันนั้นก็ไม่สามารถใช้วิธีการในแบบเดิมๆ ได้เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคมและลักษณะของโครงสร้างของขบวนการที่เปลี่ยนไป

ในช่วงช่วงถาม-ตอบท้ายเสวนามีประเด็นน่าสนใจดังนี้

นักศึกษา: ถามถึงหนทางแก้ไขและการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับความเป็นเอกภาพด้านโซตัสของ ม.แม่โจ้

ปริญญา: การรับน้องของมหาวิทยาลัยแม่โจ้สมัยนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมาก แต่โซตัสก็ยังเป็นเรื่องที่เข้มแข็งอยู่และคนที่ต่อต้านในมหาวิทยาลัยก็เป็นกลุ่มน้อยมากๆ แต่อยากจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้มักเริ่มจากคนไม่กี่คน หากเรามีคนน้อย เราก็ต้องทำให้เกิดผลมาก ใช้สติปัญญาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือยุคสมัยนี้โซเชียลมีเดียเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม โลกโซเชียลมีเดียนั้นให้ผลของการทำน้อยได้มากอย่างแท้จริง แต่ต้องทำเป็น

กนกรัตน์ : ในศตวรรษที่ 20-21 โลกเปลี่ยนแปลงไวมาก ยกตัวอย่างเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีก่อน การเป็นเกย์ที่อังกฤษนั้นผิดกฎหมาย เกย์มีสองทางเลือกคือติดคุก 2 ปีหรือบำบัดด้วยยา คุณอาจจะนึกไม่ออกเลยว่าเขาอยู่ได้อย่างไรในสังคมแบบนี้ แล้วตอนนี้อังกฤษกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ตัวอย่างที่มีความเป็นเสรีมาก พวกคุณอยู่ในช่วงเวลาที่โลกหมุนเร็วมาก โลกจะเปลี่ยนแปลง กาลเวลาอยู่ข้างพวกคุณ ไม่ใช่กับโครงสร้างที่แข็งตัวอย่างแนวทางอนุรักษ์นิยม คุณต้องคิดว่าคุณเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพียงแค่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง  อีกข้อหนึ่งคือ ประชาธิปไตยคือการต่อสู้ตลอดชีวิต มันไม่มีวันที่เราบอกได้ว่านี่คือจุดที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้ว วัฒนธรรมนักศึกษาในอดีตแตกต่างกับในตอนนี้มาก การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากคนที่ทำต่อเนื่อง เคลื่อนไหวต่อเนื่อง จนรัฐและสังคมต้องยอมรับว่าคนแบบนี้มีอยู่จริง และเราจะจัดการกับคนพวกนี้ให้หายไปจากโลกนี้ไม่ได้

ถ้าพูดถึงแม่โจ้ในอดีตมันแย่กว่านี้มาก การต่อสู้อย่างต่อเนื่องมันมีผล เมื่อพวกคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้เลือกแล้วว่าจะเป็นอิฐก้อนแรกให้คนอื่นเหยียบ ยังไงก็ต้องทำหน้าที่หากอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

นักศึกษา: จะสร้างสำนึกพลเมืองอย่างไรในเมื่อคนบางกลุ่มยินยอมที่ได้รับการลงโทษจากระบบโซตัส

ปริญญา: ในแต่ละระบอบมีพลเมืองที่ดีในนิยามของแต่ละระบอบ แต่ในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นเจ้าของประเทศที่เสมอภาค แต่แตกต่างกัน โครงสร้างที่เป็นอยู่ เกิดจากผู้ที่ใช้อำนาจอยู่บนยอดของโครงสร้างอำนาจที่เคยชินกับการปกครองแบบแนวดิ่ง ปัจจุบัน แนวความคิดของความสัมพันธ์แนวราบที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนผ่านของสังคมและผู้ถืออำนาจ ผนวกกับเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ทำให้การใช้สื่อสามารถทำได้อย่างง่ายดายและมีอิทธิพลสูง ทั้งยังกล่าวว่า สังคมกำลังแบนราบลง ขอให้นิสิต นักศึกษา ผลักดันให้เป็นเช่นนั้นด้วยการเอาชนะใจคนเพื่อเปลี่ยนสังคม

กนกรัตน์: ด้วยโครงสร้างที่มีอยู่ในระบบ ทั้งรูปแบบความสัมพันธ์และวิธีการคัดสมาชิกในแต่ละกลุ่ม ทำให้การหล่อหลอมพลเมืองอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากที่โครงสร้างต้องการนั้นเป็นเรื่องยาก สังคมไทยมีโครงสร้างที่ทำให้คนคิดว่าการต่อสู้เพื่อการมีชีวิตและเสรีภาพเป็นเรื่องเหนื่อย รัฐไทยต้องการทำให้ประชาชนเชื่องอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยเองจึงเป็นการจำลองสภาพข้างนอกให้เห็นว่าการต่อสู้มันลำบาก ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นต่อไปสืบทอดการต่อสู้ต่อไปมากกว่า

นักศึกษา: ขอคำแนะนำเรื่องแหล่งทุนในการสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกนอกจากระบบรับน้อง

ปริญญา: การทำเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคม มักจะมีแหล่งเงินสนับสนุนเสมอ ไม่ควรตั้งต้นด้วยคำถามว่ามีเงินไหม แต่ควรตั้งต้นว่าจะทำอะไร ยิ่งรวมกลุ่มกัน ยิ่งมีความคิดมาก และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มาก การตั้งต้นกิจกรรมด้วยปัญหาทางการเงินมักไม่ประสบความสำเร็จ ในส่วนของมธ.ขอรับเรื่องนี้เอาไว้เพื่อจะผลักดันให้มีการสนับสนุนต่อไป

กนกรัตน์: แนะนำให้ขอทุนที่สนับสนุนกิจกรรมทางเลือกจากต่างประเทศในการดำเนินงานเครือข่าย ส่วนในด้านของชมรมทางเลือก จะต้องผลักดันภายใต้โครงสร้างของกระบวนการภายในมหาวิทยาลัย โดยอาศัยบุคลากรที่มีคิดสอดคล้องกับฐานคิดการทำกิจกรรมในรูปแบบดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท