Skip to main content
sharethis

16 มิถุนายน 2558 นี้ตัวแทนคณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ จะเข้ายื่นหนังสือกับแม่ทัพภาคที่ 4และเจรจาเป็นการเบื้องต้นเพื่อให้ยุติการจับกุมดำเนินคดีหยุดรื้อถอนทำลายพืชผลอาสินของประชาชนที่มีที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัดจากยุทธการทวงคืนผืนป่าของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยมีกำลังทหารร่วมปฏิบัติการ 


วันที่ 8 มิถุนายน 2558 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล ประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด โดยมีประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจากจังหวัดตรัง, พัทลุง, นครศรีธรรมราช, สงขลา และสตูล รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประมาณ 40 คน

16 มิถุนา ‘5 จังหวัดเทือกเขาบรรทัด’ ยื่นหนังสือแม่ทัพภาค 4

คณะทำงานยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัดมีมติว่า วันที่ ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ.2557ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกันจัดทำภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 64/2557เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

“เพราะรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นทหารจึงต้องยื่นกับการยื่นหนังสือกับแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อประสานงานแก้ไขปัญหาให้” คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ให้เหตุผลในการยื่นหนังสือกับแม่ทัพภาคที่ 4

ชงแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม‘รัฐ-ประชาชน’ ร่วมตรวจก่อนฟัน

คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ มุ่งหวังให้แม่ทัพภาคที่ 4 ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีตัวแทนฝ่ายรัฐ และฝ่ายประชาชนในจำนวนที่เท่ากัน มีกลไกทั้งระดับภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล

คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ  เสนอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด มีบทบาทหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบแปลงพื้นที่เป้าหมายที่จะทำลายพืชผลอาสินนั้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 66/2557  จึงต้องมีกระบวนการสอบสวน และพิสูจน์ เพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม รวมถึงให้ตรวจสอบว่าเป็นผู้บุกรุก หรือเป็นผู้ครอบครองที่ดินดั้งเดิม ถ้าเป็นคนจน หรือเป็นผู้ครอบครองที่ดินดั้งเดิมให้ยุติการจับกุมดำเนินคดี หยุดรื้อถอนทำลายพืชผลอาสิน และให้มีการโค่นยางที่หมดสภาพเพื่อปลูกทดแทนได้ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน

จี้ทบทวนแผนแม่บท-ใช้พ.ร.บ.การจัดการที่ดิน 2511แก้

คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ   มีเสนอทางนโยบาย คือ

1.ให้รัฐทบทวนปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ.2557
2.ให้นำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มารองรับในการแก้ไขปัญหาที่ดิน
3.ให้รัฐรับรองกระบวนการทำข้อมูลที่ดินทำกินเดิมที่ประชาชนผู้เดือดร้อนทำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสภาองค์กรชุมชน

เดดไลน์12 มิถุนารวบรวมข้อมูลเบื้องต้น 5 จ.พร้อมตามแนว‘ช่อง-ลานข่อย’

คณะทำงานยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด มีมติให้ตำบลต่างๆ แนวเทือกเขาบรรทัด 22 ตำบลจาก 43 ตำบล จาก 5 จังหวัด ส่งข้อมูลผู้เดือดร้อนเบื้องต้นไม่เกินวันที่ 12 มิถุนายน 2558 เพื่อรวบรวมจำนวนแปลงที่มีปัญหาว่ามีกี่แปลง กี่ไร่ กี่ครัวเรือน  กี่คน

ส่วนตำบลไหนพร้อมก็ให้จัดทำแผนที่ทำมือประกอบ โดยมีข้อมูลตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง และตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุงเป็นตำบลนำร่องที่ได้ทำข้อมูลโดยประชาชนผู้เดือดร้อน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสภาองค์กรชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net