Skip to main content
sharethis

10 มิ.ย.2558 เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค ออกจดหมายเปิดผนึกถึงปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งออกคำประกาศคัดค้านร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้ ระบุขาดทั้งการสะท้อนเจตนารมย์และสาระสำคัญของความเป็นป่าชุมชนและขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียหลักของกฎหมาย ฉบับนี้

ผู้สื่อข่าวรายเพิ่มเติมว่า ต่อมาในวันที่ 11 มิ.ย. 2558 เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค ได้เดินเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ต่อปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สปช.) แล้ว โดยปราโมทย์กล่าวว่า ตนและคณะกรรมาธิการจะนำข้อมูลดังกล่าวไปตรวจสอบ ก่อนมีการดำเนินการต่อไป

จดหมายเปิดผนึก

11 มิถุนายน พ.ศ.2558

เรียน  คุณปราโมทย์  ไม้กลัด ประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

เรื่อง  คัดค้านการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้

ตามที่คณะอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการจัดทำ (ร่าง)พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.... นั้น เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชนและเครือข่ายป่าชุมชนจากทั้ง 6 ภาคของประเทศไทย ได้มีการประชุมติดตามและทำความเข้าใจตัวร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะ อนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้มาเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาและประชุมหารือกัน เครือข่ายฯ มีความกังวลเป็น อย่างยิ่งทั้งต่อเนื้อหาสาระสำคัญและ กระบวนการจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวซึ่งพบว่าขาดทั้งการสะท้อนเจตนารมย์ และสาระสำคัญของความเป็นป่าชุมชน และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียหลักของกฎหมาย ฉบับนี้ หลังจากได้มีการพิจารณาและหารือกันอย่างรอบด้านแล้วองค์กรสมาชิกของเครือข่ายฯ จึงได้มีมติคัดค้านและ ไม่เห็นด้วยต่อการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะอนุกรรมธิการที่ดินและป่าไม้ ตามคำประกาศที่แนบมาด้วยนี้

ด้วยเหตุนี้ทางเครือข่ายฯ จึงขอเรียนให้ท่านในฐานะของประธาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ยุติกระบวนการร่างกฎหมาย และเริ่มต้นกระบวนการใหม่โดยการเปิดให้มีการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อทำให้กฎหมายป่าชุมชนที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยนี้ได้สร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาและการบริหารจัดการป่าไม้ของประเทศอย่างแท้จริง และเพื่อช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนจำนวนมากที่ต้องพึ่งพิงป่า ทางเครือข่ายฯ ยินดีที่จะร่วมผลักดันและนำเสนอความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากฎหมายป่าชุมชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากกระบวนการวางอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ด้วยความนับถือ

เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค

=========

คำประกาศคัดค้านร่าง

โดย เครือข่ายติดตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค

11 มิถุนายน 2558

เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค เป็นเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชนและเครือข่าย ป่าชุมชน ซึ่งมีตัวแทนจาก 6 ภาคของประเทศไทย ได้มีการประชุมติดตามและทำความเข้าใจ ตัวร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะ อนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้มาเป็นระยะและต่อเนื่อง จากการศึกษาและประชุมหารือกันเครือข่ายฯ มีความกังวลเป็นอย่าง ยิ่งทั้งต่อเนื้อหาสาระสำคัญและกระบวนการจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวซึ่งพบว่าขาดทั้งการสะท้อนเจตนารมย์และสาระ สำคัญของความเป็นป่าชุมชน และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียหลักของกฎหมายฉบับนี้ หลังจากได้มีการพิจารณาและหารือกันอย่างรอบด้านแล้วองค์กรสมาชิกของเครือข่ายฯ จึงได้มีมติคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อ ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับคณะอนุกรรมธิการที่ดินและป่าไม้ โดยเหตุผลสำคัญของการคัดค้านมีดังนี้

ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนไม่ได้สะท้อนหัวใจของป่าชุมชนและเรียนรู้จากบทเรียนการจัดการป่าไม้ที่เป็นสากล

หัวใจสำคัญของการบริหารและจัดการป่าไม้โดยชุมชนตามหลักสากล คือการให้การยอมรับ สิทธิ และอำนาจแก่ ชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานราชการในการปกป้อง ดูแล บริหารและใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนภายใต้ข้อตกลงและขอบเขตการจัดการที่ชัดเจน ซึ่งได้มีงานศึกษาจำนวนมากมายที่แสดงหลักฐาน ให้เห็นถึงความสำเร็จของของการจัดการป่าไม้ร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชนว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นใน พื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่ป่าที่ต้องการการฟื้นฟู แต่เนื้อหาหลักของร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ร่างโดยคณะอนุกรรมการฯ นี้มิได้ สะท้อนเป้าหมายและแนวทางดังกล่าว ร่างพ.ร.บ.นี้มิเพียงไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการ แต่มุ่ง เน้นการควบคุมและมุ่งเน้นเพียงด้านการอนุรักษ์โดยให้อำนาจและสิทธิในการบริหารและตัดสินใจอยู่ที่เพียงฝ่ายรัฐ ซึ่งบทเรียน ที่ผ่านมานั้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการจัดการป่าโดยรัฐเพียงฝ่ายเดียวนั้นไม่สามารถชะลอการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ และจะไม่นำไปสู่การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ตามที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน

ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญ

ในปัจจุบันตามสถิติของกรมป่าไม้ ประเทศไทยมีป่าชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ จำนวนมากกว่า 9,300 แห่ง และมีจำนวนป่าชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อีกไม่ น้อยกว่า 2,000 แห่ง โดยประมาณน่ามีประชากรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายฉบับนี้มีมากกว่า 10 ล้านคน อย่างไรก็ดีจาก การสำรวจของเครือข่ายฯ นั้นพบว่ามีเครือข่ายป่าชุมชนจำนวนน้อยมากที่ทราบว่า ณ ขณะนี้กำลังมีการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับนี้เกิดขึ้น การขาดการมีส่วนร่วมแม้แต่ในระดับการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดของการมีส่วนร่วมนั้นสะท้อน ปัญหาประการสำคัญของร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ ซึ่งเนื้อหาและกรอบคิดทั้งหมดวางอยู่บนฐานคิดของภาครัฐ แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยประชาชนผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและร่วมเสนอแนะว่ากฎหมายฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและต่อการจัดการป่าชุมชนได้อย่างไร ดังนั้นการคาดหวังว่าจะให้ประชาชนเข้ามาร่วมกับรัฐใน การดูแลและบริหารจัดการป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชนที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตหลังจากมีกฎหมายฉบับนี้แล้ว จึงเป็นสิ่งที่ไม่ น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และจะทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีตอบเป้าหมายการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วม

นี่คือการริดรอนสิทธิของชุมชนที่อยู่อาศัยกับป่าและทำป่าชุมชนมาแต่ดั้งเดิม

ตามที่ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนนี้ได้ระบุไว้ในมาตราที่ 18 ในหมวดการจัดตั้งป่าชุมชน พื้นที่ที่จะสามารถขอจัดตั้งเป็นป่า ชุมชนได้นั้น คือ “ชุมชนในท้องถิ่นที่ใดที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า ซึ่งไม่ใช่เขตอนุรักษ์...” ซึ่งคำนิยามของคำว่าเขตอนุรักษ์ ตามร่างพ.ร.บ. นี้หมายถึง เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือเขตอื่นที่เป็นพื้นที่ ต้นน้ำลำธารหรือพื้นที่ที่มีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมอันควรแก่การอนุรักษ์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น ถือเป็นการริดรอนสิทธิ ขั้นพื้นฐานของชุมชน และจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยและจัดทำป่าชุมชนมาตั้งแต่ก่อนการ ประกาศของพื้นที่อนุรักษ์ นอกจากนี้คำนิยามของเขตอนุรักษ์ที่กำหนดไว้นี้มีความหมายกว้างขวางมากเกินไป เพราะสามารถตี ความรวมถึงกฎกระทรวงที่กำหนดเขตอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ดิน กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนด พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทำให้การจัดตั้งป่าชุมชนนั้นเต็มไปด้วยข้อกำจัด และพื้นที่ป่าที่ยังคงเหลือที่ชุมชนเข้าไป จัดตั้งป่าชุมชนขึ้นมานั้นล้วนเป็นพื้นที่ที่สามารถตีความให้เข้าตามคำนิยามนี้ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ป่าชุมชนหลาย แห่งที่ชุมชนดูแลมาตั้งแต่ดั้งเดิมอาจจะไม่สามารถจัดตั้งได้ตามกฎหมายนี้

นอกจากนี้ จากการศึกษาของงานวิจัยการจัดการป่าไม้ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นพบว่าในหลายกรณีการตัดไม้ ทำลายป่านั้นแท้จริงแล้วเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นเขตป่าอนุรักษ์มากกว่าพื้นที่ป่าที่มีการจัดการในรูปแบบป่าชุมชนและมากไปกว่านั้นการที่ชุมชนมีความมั่นคงที่จะถือครองและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนนั้นมียังทำให้เกิดการขยายและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้อย่าง มีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้นการตัดสิทธิที่จะจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ออกไปนั้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่คับแคบ และไม่ทบทวนบทเรียน ความล้มเหลวในการบริหารจัดการป่าไม้ของภาครัฐที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งหากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังคงกำหนดพื้นที่การจัดตั้งป่าชุมชนเช่นนี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนหลายหมื่น และแสนครอบครัวจะเกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย ทั้ง ๆ ที่ประชาชนเหล่านี้คือคนที่ได้ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ให้คงอยู่จน ถึงปัจจุบัน

การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชุมชนต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนและมีกติกากำกับที่ชัดเจน

หลักการประการสำคัญของการจัดการป่าชุมชนที่ทำให้ป่าชุมชนยังคงอยู่คือ การสร้างแรงจูงใจและทำให้ป่าชุมชน นั้นต้องตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพของสมาชิกป่าชุมชนได้อย่างชัดเจน แม้ในตัวร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะได้มีการให้สิทธิในการใช้ประโยชน์จากไม้ แต่การจำกัดสิทธิในการใช้เฉพาะไม้ที่ปลูกขึ้นเองในบริเวณป่าใช้สอยนั้นถือว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในหลายพื้นที่และสภาพป่าไม้ การฟื้นฟูป่าชุมชนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการปลูกต้นไม้ เพิ่มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งจากการศึกษาบทเรียนสำคัญในการจัดการป่าชุมชนทุกแห่งล้วนมีการใช้ประโยชน์จากไม้ที่มี กฎระเบียบชัดเจน กฎระเบียบดังกล่าวได้ปรับปรุงมาจากกฎจารีตและประเพณีของชุมชนท้องถิ่นและความรู้สมัยใหม่ กำหนดเป็นแนวทางในการฟื้นฟู ดูแลรักษา ควบคู่กับการใช้ประโยชน์ส่งผลทำให้สภาพพื้นที่ป่ายังคงความสมบูรณ์และ คุณภาพชีวิตในชุมชนมีความสุข การจำกัดสิทธิในการในการใช้ประโยชน์จากไม้ของชุมชนที่มีวิถีปฏิบัติสืบกันมาไม่เพียง สร้างภาระให้กับชุมชนในการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังได้ทำลายกฎจารีตและประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนท้องถิ่นที่สืบต่อกันมาให้สูญสิ้นไปและบั่นทอนคุณค่าของป่าชุมชนในที่สุด

ด้วยเหตุผลหลักข้างต้นนี้ เครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอให้คณะอนุกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้พิจารณาถอนร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชนฉบับนี้ และเริ่มต้นจัดทำร่างกฎหมายนี้ใหม่ โดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และควรเปิดให้มี การรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและอิสระ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการจัดทำกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ ควรรีบเร่งจัดทำขึ้นเพียงเพื่อให้ได้มีกฎหมายขึ้นมา เพราะกฎหมายฉบับนี้จะสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อการพัฒนาและบริหารป่าไม้ของประเทศ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก พวกเราตามราย ชื่อแนบนี้ต้องการเห็นความจริงใจจากท่าน และพร้อมที่จะร่วมให้ความร่วมกับท่านที่จะผลักดันให้เกิดร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่มีส่วนร่วม เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาและสร้างป่าไม้ที่สมบูรณ์และสังคมที่มีความสุขสำหรับทุกคน

ด้วยความนับถือ

เครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค

 

รายชื่อสมาชิกเครือข่ายติดตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 6 ภาค

1.       สภาป่าตะนาวศรี

2.       เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเทือกเขาตะนาวศรี

3.       เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

4.       มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ

5.       มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

6.       มูลนิธิไทยรักษ์ป่า

7.       โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท จังหวัดลำพูน

8.       โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท จังหวัดพิจิตร

9.       มูลนิธิทะเลเพื่อชีวิต

10.    องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

11.    สถาบันรักษ์ถิ่นกำแพงเพชร

12.    สถาบันการจัดการทรัพยากรชุมชน

13.    ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จ.พิษณุโลก

14.    มูลนิธิคนเพียงไพร

15.    สมาคมป่าชุมชนอีสาน

16.    เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน

17.    โครงการทามมูล

18.    มูลนิธิอันดามัน

19.    มูลนิธิพัฒนาอีสาน

20.    เครือข่ายองค์กรชาวบ้านป่าดงขุมคำ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

21.    เครือข่ายลุ่มน้ำคลองยัน จ.สุราษฏร์ธานี

22.    เครือข่ายองค์กรชาวบ้านรักษ์ป่า จ.สุราษฎร์

23.    สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน

24.    สมาคมองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

25.    เครือข่ายองค์กรชาวบ้านป่าหนองเยาะ จ.สุรินทร์

26.    เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี

27.    เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดลำพูน

28.    เครือข่ายอ่าวบ้านดอน

29.    เครือข่ายทรัพยากรดินน้ำป่า ภาคเหนือตอนล่าง

30.    เครือข่ายอนุรักษ์ห้วยสะแนง

31.    เครือข่ายป่าชุมชนดงลาน

32.    เครือข่ายประชาสังคมภาคตะวันตก

33.    เครือข่ายป่าชุมชนรอบป่าตะวันออก

 

หมายเหตุ : มีการเพิ่มเติมเนื้อข่าวเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net