Skip to main content
sharethis


เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง

10 มิ.ย.2558 ที่ร้านหนังสือ Candide Books & Cafe สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า ในงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ ครั้งที่ 3 มีจำนวนร้านหนังสืออิสระเข้าร่วมถึง 55 ร้าน โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 12 ร้าน

นอกจากนี้ยังมีงานเสวนาในหัวข้อ “เหลียว(เมือง)นอก มองใน(ไทย)...ก้าวต่อไปของร้านหนังสืออิสระ” โดยมีวิทยากรคือ ปราบดา หยุ่น อุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย  อำนาจ รัตนมณี เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง และผู้เขียนหนังสือเรื่อง Bookstore Style เสน่ห์ของร้านหนังสือซีกโลกใต้ พูดถึงร้านหนังสืออิสระและปรากฎการณ์การอ่านดังกล่าว 

อำนาจ รัตนมณี มองว่าเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระ อยู่ที่คำว่า“อิสระ” อิสระตรงที่สามารถเป็นได้ทุกอย่าง เจ้าของร้านสามารถจัดร้านด้วยองค์ประกอบแบบไหนก็ได้ แต่ละร้านจะมีเอกลักษณ์หรือบุคลิกของตัวเอง ซึ่งต่างจากร้านหนังสือแบบ Chain Store ที่แต่ละสาขาก็จะมีรูปแบบหรือลักษณะร้านแบบเดียวกัน

ปราบดา หยุ่น มองว่า เสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระอยู่ที่เจ้าของร้าน เพราะโดยพื้นฐานแล้วคนที่จะเปิดร้านหนังสืออิสระต้องมีความรักในการอ่านและเจ้าของร้านเองสามารถแนะนำหนังสือให้ลูกค้าได้ ซึ่งร้านหนังสือแบบ Chain Store จะไม่มีในจุดนี้

สำหรับแนวโน้มความอยู่รอดของร้านหนังสืออิสระในอนาคต ปราบดา หยุ่นมองว่า โอกาสของการอยู่รอดแตกต่างกันเป็นกรณีไป แต่ปัญหาที่พบเจอส่วนมากเป็นเรื่องของค่าเช่าที่ไม่สมดุลกับรายได้ที่ได้จากการขายหนังสือ

ปราบดาเสริมว่า บางประเทศอาจมุ่งไปที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน แต่สำหรับเมืองไทยยังไม่มีการเคลื่อนไหวด้านนั้น  

ขณะที่อำนาจ ระบุว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการอยู่รอดของร้านหนังสือนอกจากเรื่องค่าเช่าหรือปัจจัยภายนอกอื่นๆ แล้ว ก็คือแก่นความคิดหรือความรักที่เจ้าของร้านต้องการจะทำร้านหนังสือนั้นเอง

เมื่อถูกถามว่าการเพิ่มขึ้นของร้านหนังสืออิสระนี้จะเป็นเพียงแค่กระแสที่มาเพียงชั่วครู่แล้วก็หายไปเหมือนการเปิดร้านกาแฟหรือไม่  ปราบดามองว่า  “ความเป็นกระแสมันก็เป็นไปได้ตามธรรมชาติของคนที่มีความฝันจะทำอะไรสักอย่าง ในยุคหนึ่งอาจจะเป็นร้านกาแฟหรืออาจจะเป็นร้านเค้ก แต่ละยุคเปลี่ยนไป ในยุคนี้ถ้ามันเป็นร้านหนังสือ จริงๆ ข้อดีของมันคือมันจะทำให้วัฒนธรรมการอ่านมีความคึกคักมากขึ้น ส่วนว่ามันจะอยู่ได้ไหมแต่ละคนอาจจะเจอสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว บางคนอาจจะแค่เบื่อหรือท้อแล้วเลิกก็อาจจะเป็นไปได้”

นอกจากนี้ อำนาจกล่าวถึงสถานการณ์การอ่านไทยในปัจจุบันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือร้านหนังสือ Chain Store เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ด้วย  ทำให้ผู้พิมพ์เล็กๆ ไม่มีพื้นที่วางขายหนังสือ เพราะร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่มีทุนเป็นผู้กำหนดรสนิยมการอ่านโดยรวม ร้านหนังสืออิสระจึงเกิดขึ้นเพื่อเข้ามารองรับความต้องการส่วนนี้ อำนาจมองว่าต่อไปจะเป็นทางเลือกของผู้อ่าน ร้านหนังสือChain Store หรือร้านหนังสืออิสระก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกซื้อหนังสือแบบใดที่ร้านแบบใดของผู้อ่านทั้งสิ้น

กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของนักอ่านกับผู้เขียน ปราบดาหยุ่นกล่าวว่าเป็นกิจกรรมที่ร้าน Bookmoby ที่เขาเป็นเจ้าของจัดอยู่แล้ว มีการวางแผงหนังสือทำมือ หนังสือที่เขียนเองพิมพ์เอง และในการจัดลำดับหนังสือขายดี ก็มักมีหนังสือเหล่านี้ติดอยู่ด้วย อาจเป็นเพราะความพิเศษคือไปหาที่อื่นไม่ได้ ถ้ามีผู้อ่านที่สนใจก็จะมาที่นี่ ปราบดาให้ความเห็น

อำนาจสรุปว่า ประเด็นหลักของการจัดงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ ไม่ได้มีนัยยะในเชิงการขาย ไม่ใช่เทศกาลลดราคา แต่เป็นการแนะนำให้นักอ่านเมืองไทยรับรู้ว่ามีร้านเหล่านี้อยู่ 

“ต่อไปในอนาคตถ้าอยากได้หนังสือ ก็ไม่ต้องรอสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหรือต้องเข้าห้าง มันมีทางเลือกหนึ่งหรือมากกว่า แล้วการไปซื้อหนังสือยังมีบรรยากาศอีกแบบ ไม่ได้มีแค่หนังสือแต่มีความเป็นมนุษย์ มีวัฒนธรรมที่ไปใช้เวลากับมันได้” อำนาจกล่าว

งานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ จัดขึ้นในวันที่ 20-28 มิถุนายน ที่ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net