การปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทย (1): ว่าด้วยภูมิหลังทางความคิดของการปฏิรูป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพจาก มติชนออนไลน์

 

พุทธศาสนาไทยในจินตนาการ “ชาติ”

สำนึกเกี่ยวกับพุทธศาสนาและความเป็นชาติในสังคมไทยของพระสงฆ์และชาวพุทธไทยเป็นอย่างไร เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อแนวทางปฏิรูปพุทธศาสนาในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยเฉพาะต่อประเด็นที่ว่า เหตุใดรัฐจึงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสภาพการณ์ดำรงอยู่ของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา หรือในทางตรงกันข้าม เหตุใด พระสงฆ์จึงมักเรียกร้องให้รัฐเข้าไปจัดการปฏิรูปคณะสงฆ์หรือรับผิดชอบต่อความมั่นคงของพุทธศาสนาในประเทศไทย เหตุใดจึงไม่ปล่อยให้การจัดระเบียบทางคณะสงฆ์ดำเนินไปเองโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกลไกของรัฐ  ข้อนี้เป็นประเด็นแรกที่นำเสนอในบทความ (ตอนที่ 1) นี้ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทยโดยตรงในบทความตอนต่อ ๆ ไป 

จินตนาการเกี่ยวกับพุทธศาสนากับความเป็นชาติไทยของชาวพุทธไทยหรือพระสงฆ์ไทยโดยทั่วไปยังคงเป็นไปตามแบบแผนเดิมตามที่อยู่ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งความเป็นมาของชาติไทยเป็นพัฒนาการต่อเนื่องแบบเส้นตรง แต่ในที่นี้จะขอนำเสนอจินตนาการพุทธศาสนากับความเป็นไทยจากนักโบราณคดีคนสำคัญคือศรีศักร วัลลิโภดม เพราะเป็นแนวความคิดที่อาศัยข้อมูลใหม่ในทางโบราณคดีรองรับและน่าเชื่อถือที่สุดทฤษฎีหนึ่งในวงวิชาการด้านโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ยังคงร่องรอยจินตนาการเกี่ยวกับพุทธศาสนาและความเป็นชาติไทยแบบดั้งเดิมปรากฏอยู่ โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้น ยังเป็นท่วงทำนองเดียวกันกับจินตนาการเกี่ยวกับชาติไทยและพุทธศาสนาที่ชาวพุทธและคณะสงฆ์ไทยมีร่วมกันในปัจจุบัน

หนังสือ “พัฒนาการทางสังคม-วัฒนธรรมไทย” ของศรีศักร วัลลิโภดม (2544) กล่าวถึงความเป็นมาของพุทธศาสนา “เถรวาท” ในประเทศไทยว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย หรืออาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นก่อนสมัยทวารวดีที่มีนครปฐมโบราณเป็นศูนย์กลางเสียด้วยซ้ำ จากการศึกษาทางโบราณคดีทำให้เชื่อว่าดินแดนที่เป็น “สยามประเทศ” ขั้นแรกเกิดขึ้นที่บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ทางซีกตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีหลักฐานแสดงว่า ผู้คนในดินแดนนี้ติดต่อสัมพันธ์กับอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3-4 จน “อาจ” กล่าวอ้างได้ว่า บริเวณนี้คือ “สุวรรณภูมิ” ดินแดนที่สมณฑูตของพระเจ้าอโศกมหาราชเข้ามาสั่งสอนพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก บริเวณแห่งนี้ปรากฏร่องรอยชุมชนที่ซับซ้อนและต่อเนื่องมาจนถึงสมัยฟูนัน (พุทธศตวรรษที่ 6-7) โดยมีเมืองอู่ทองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในช่วงเวลานี้ปรากฏหลักฐานการนับถือพุทธศาสนาเถรวาทอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) บ้านเมืองในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองก็ขยายตัวเป็นรัฐใหญ่ มีนครชัยศรีหรือเมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองสำคัญ มีหลักฐานชัดเจนว่านครปฐมไม่ใช่สถานที่แรกที่พุทธศาสนาจากอินเดียโดยพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ สมณทูตสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางมาถึงครั้งแรกอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นครปฐมโบราณก็กลายเป็นศูนย์กลางการนับถือพุทธศาสนาที่แพร่หลายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ และบ้านเมืองต่างแคว้นที่ร่วมสมัยเดียวกัน นับแต่พุทธศตวรรษที่ 18 สยามประเทศมีการขยายตัวเป็นเครือข่ายบ้านเมือง ที่กว้างไกลกว่าบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ไปถึงสุโขทัยและนครศรีธรรมราช และเมืองสำคัญที่เคยอยู่ในบริเวณจังหวัดนครปฐมก็เปลี่ยนมาอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิบนสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือท่าจีน แต่พุทธศาสนาเถรวาทก็ยังพัฒนาการสืบเนื่องเป็นศาสนาสำคัญในดินแดนที่เรียกว่าสยามประเทศนี้เรื่อยมา ความสำคัญของพุทธศาสนาเถรวาทที่มีต่อสยามประเทศนั้นเห็นได้ชัดเจนในกรณีที่ (ได้รับการอธิบายว่า)เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สุพรรณภูมิกลายเป็นมหาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (ในงานเขียนของศรีศักร วัลลิโภดม) นั่นเอง

ตามความคิดของศรีศักร วัลลิโภดม การเกิดขึ้นของพระนครศรีอยุธยาแต่พุทธศตวรรษที่ 20 คือการรวมเอาดินแดนที่ต่างรัฐและสังคมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กล่าวคือเป็นการรวมกันระหว่างสยาม (หรือสุพรรณภูมิ) กับละโว้ (หรือลพบุรี)  แม้ว่า พระนครศรีอยุธยา และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) จะอยู่ในพื้นที่ขอบเขตของรัฐละโว้ และเป็นกษัตริย์ของฝ่ายละโว้ แต่ด้านวัฒนธรรม ศาสนาที่นับถือภายในรัฐและระบบกษัตริย์ที่สถาปนาขึ้น กลับเป็นของที่นับเนื่องในพุทธศาสนาเถรวาทอย่างแท้จริง อันเป็นวัฒนธรรมข้างรัฐสยามหรือสุพรรณภูมิที่นับถือสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยทวารวดี จึงนับได้ว่าพุทธศาสนาเถรวาทคือรากเหง้าหรือสถาบันอย่างหนึ่งของความเป็นไทย ที่ทำให้คนในดินแดนประเทศไทยที่ต่างรัฐ ต่างเผ่าพันธุ์กลายมาเป็นคนในพุทธศาสนาเหมือนกัน

จากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ (เช่น ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ และในจดหมายเหตุของจีน) ได้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางการเมืองของกลุ่มเมืองในลักษณะที่ไม่ใช่การรวมศูนย์อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง หากดำรงอยู่เป็นเครือข่ายสัมพันธ์ที่ดูคล้าย ๆ กับสหพันธรัฐ กล่าวคือ มีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มต่างมีเมืองสำคัญของตนเอง เช่น สุโขทัยเป็นกลุ่มหนึ่ง เพชรบุรีกลุ่มหนึ่ง นครศรีธรรมราชกลุ่มหนึ่ง และสุพรรณภูมิอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น ผู้ปกครองแต่ละกลุ่มมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติจากการแต่งงานระหว่างกัน ความสัมพันธ์เช่นนี้นำไปสู่ทั้งการร่วมมือกันและการขัดแย้งกัน เช่น ในการสืบราชสมบัติของเมืองหนึ่งนั้น ลูกกษัตริย์อีกเมืองหนึ่งอาจอ้างสิทธิการเป็นเชื้อสายกษัตริย์อีกองค์หนึ่งของเมืองนั้นได้ และถ้ากษัตริย์องค์ใหม่มีความเข้มแข็งก็อาจได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำจากอีกหลาย ๆ เมืองได้เช่นเดียวกัน ดังเช่น กรณีพระเจ้าอู่ทอง ที่สร้างพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น พระองค์เป็นกษัตริย์จากละโว้ แต่มีพระมเหสีเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์สุพรรณภูมิ จึงสามารถรวมสุพรรณภูมิกับละโว้เข้าด้วยกันได้ ในขณะเดียวกัน การที่สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับนครศรีธรรมราช  สุพรรณภูมิและอื่น ๆ นั้น ก็เนื่องจากพ่อขุนรามคำแหงคือพระญาติที่เข้มแข็งจนได้รับการยอมรับจากบรรดากษัตริย์เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่ายสยามประเทศ

ถ้าศึกษาให้ละเอียดลงไปอีกระหว่างสยามกับแคว้นละโว้ หรือ หลอฮก ในจดหมายเหตุของจีน ก็จะเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกันเกิดขึ้นคือ แคว้นสยามนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มน้ำท่าจีน-ป่าสัก ที่มีการขยายตัวออกไปยังดินแดนใกล้เคียงในลักษณะขยายปริมณฑล ในขณะที่แคว้นละโว้นั้นไม่ได้กลายเป็นศูนย์กลาง  ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นส่วนขยายหรือปริมณฑลของกัมพูชา ซึ่งนับวันจะถูกกลืนให้เป็นปริมณฑลของกลุ่มอำนาจใหม่คือ พระนครศรีอยุธยา แม้สมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองจะทรงเป็นกษัตริย์ของฝ่ายละโว้ ทรงรวมสุพรรณภูมิกับละโว้ได้สำเร็จมาเป็นพระนครศรีอยุธยาก็ตาม แต่ในเวลาต่อมาก็ถูกกษัตริย์ทางสุพรรณภูมิหรือสยามกลืนไปหมด ทั้งยังพยายามขยายอำนาจเข้ายึดครองกัมพูชาอีกด้วย ทำไม ละโว้จึงไม่เติบโต แทนที่จะขยายแต่กลับหดลง ในขณะที่สุพรรณภูมิกลับขยายและเติบโต

ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น  ประการแรก ละโว้ไม่มีศักยภาพที่จะบูรณาการให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์ของผู้คนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างซับซ้อนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ซึ่งก็คงเนื่องมาจากรูปแบบการปกครองและระบบกษัตริย์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากขอมเมืองพระนครที่สร้างซ่องว่างขึ้นจนเกินไปนั่นเอง และประการที่สอง ดินแดนสยามประเทศเปิดตัวเองต่อการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ และคมนาคมได้ดีกว่าดินแดนละโว้ ทำให้มีคนหลายกลุ่มเหล่าเคลื่อนย้ายเข้ามา มีทั้งอำนาจเพิ่มขึ้นและมีพลังสติปัญญามากกว่า[1] และเหตุที่ละโว้ไม่อาจสร้างบูรณาการทางวัฒนธรรมท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์ของกลุ่มชนที่เพิ่มขึ้นได้นั้น เพราะรูปแบบการปกครองและระบบกษัตริย์ไปยึดติดกับขอมเมืองพระนคร ทั้งศาสนาฮินดูและพุทธศาสนามหายานที่เป็นศาสนาหลักของกัมพูชาและละโว้ ทำให้ระบบกษัตริย์เป็นแบบเทวราช ที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นอวตารหรือเชื้อสายของพระเป็นเจ้า เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างกระชับ ไม่ยืดหยุ่น เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นมาก ทำให้การตกผลึกด้านความคิด อุดมคติ ค่านิยมและการมองโลก ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปรับตัวให้ทันสมัยไม่ได้นั่นเอง

ในทำนองตรงกันข้าม  ระบบกษัตริย์และการปกครองของสุพรรณภูมิหรือสยามนั้น เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาเถรวาท กษัตริย์ไม่ใช่องค์อวตารของเทพเจ้าสูงสุด หากแต่เป็นพระสมมติราช คือบุคคลที่ทรงคุณธรรม จนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป แล้วยกย่องขึ้นเป็นกษัตริย์ ผู้ที่เป็นแบบฉบับของพระสมมติราชคือพระโพธิสัตว์ในทศชาติชาดก โดยเฉพาะพระมหาเวสสันดร หัวใจสำคัญของพระสมมติราชคือการให้หรือทานบารมี การให้ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ประสานความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เป็นสิ่งที่สร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม ขจัดซ่องว่างระหว่างมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ผู้ปกครองกับราษฎรผู้ถูกปกครอง การทำบุญทำทานสร้างวัดและสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาคือสิ่งที่นำผู้ปกครองมาพบปะสังสรรค์กับผู้ใต้การปกครองในลักษณะที่เป็นกันเองนับเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดความเหินห่างที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับข้า ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นพระสมมติราชนั้นขึ้นอยู่กับบารมีที่ทำไว้ เมื่อหมดบุญก็อาจหลุดจากการเป็นกษัตริย์ได้ เช่น อาจจะมีผู้เข้มแข็งกว่าหรือมีบุญบารมีมากกว่าช่วงชิงเอาไปได้ ระบบเช่นนี้จึงเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถกว่าผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาปกครองบ้านเมืองให้ก้าวหน้าได้ดีกว่าระบบเทวราช ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ผู้คนที่มีความสามารถจากตระกูลใดก็ได้หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ได้เข้ามาเป็นกษัตริย์อย่างชอบธรรม[2]

คำอธิบายของศรีศักร วัลลิโภดมที่ว่าพุทธศาสนาเถรวาทเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาพัฒนาการจนกลายเป็นมหาอาณาจักรแรกของไทย ทำให้เราเห็นจินตนาการชาติที่ผูกพันกับพุทธศาสนา จินตนาการชาติชนิดนี้มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของเรื่องเล่าและมีพุทธศาสนาเถรวาทเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับแนวคิดเกี่ยวกับ “ชาติ, (พุทธ) ศาสนา, และพระมหากษัตริย์” ของพระสงฆ์และชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ที่เชื่อในความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นระหว่าง “ความเป็นชาติ” กับ “พุทธศาสนา” ที่มีมาตั้งแต่ในอดีต   ชาวพุทธไทยเชื่อว่า “ระบบศีลธรรม” ของพุทธศาสนาช่วยให้สังคมไทยพัฒนาการมาเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและ “อยู่รอดปลอดภัย” เสมอมา ในทางกลับกัน พุทธศาสนาดำรงออยู่ได้อย่างถาวรและปลอดภัยก็โดยอาศัยการอุปถัมภ์บำรุงจากรัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นหัวใจสำคัญ

ดังที่ศรีศักรได้วาดภาพให้เห็นว่า ในอดีตนั้น พระมหากษัตริย์และทางราชการอาศัยสถาบันสงฆ์และวัดในการจัดการด้านการเมืองและวัฒนธรรม วัดได้กลายเป็นศูนย์กลางทางพิธีกรรมและการศึกษาของท้องถิ่น โดยมีพระเป็นผู้ดูแลและให้บริการแก่ผู้คนในสังคม พระมหากษัตริย์คือองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงมีทั้งพระราชอำนาจและพระเมตตาในการดูแลอุปถัมภ์พระสงฆ์และการสร้างวัด กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปกครองและวัฒนธรรมจะสื่อสารไปยังผู้คนในชุมชนท้องถิ่นโดยผ่านทางพระสงฆ์ สถาบันกษัตริย์กับสถาบันสงฆ์จึงแยกกันไม่ออก ศรีศักรกล่าวว่า “ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ คณะสงฆ์ก็คงไม่มี และวัดก็คงไม่เกิด” และ “ใครที่ทำร้ายหรือคิดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ก็คือการทำลายวัดและพระศาสนา” [3] อาจกล่าวได้ว่าคำพูดเช่นนี้ด้านหนึ่งเชิดชูบทบาทของพระมหากษัตริย์ให้มีความสำคัญเหนือสถาบันศาสนา แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำหน้าที่ “ลบเลือน” ความสำคัญและบทบาท “ประชาชนคนธรรมดา” ในการค้ำจุนพุทธศาสนาไทยไปโดยปริยาย

ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์/รัฐ

กษัตริย์กลายมาเป็น “ศูนย์กลาง” ของสังคมในจินตนาการชาติและพุทธศาสนาไทยได้อย่างไร ? คัมภีร์เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเรื่องกำเนิดของรัฐ กษัตริย์ และการปกครองในพุทธศาสนา ได้แก่ อัคคัญญสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ 11) พระสูตรนี้เป็นพุทธาธิบายเกี่ยวกับกำเนิดโลก จักรวาล และมนุษย์ซึ่งเดิมเป็นเทวดาชั้นพรหม แต่จุติมาเป็นสัตว์ในโลกที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ความประพฤติของสัตว์เหล่านี้ได้เสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ แต่ละขั้นที่เสื่อมลง ความเป็นอยู่ก็ลำบากมากขึ้น เพราะธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงไปไม่เอื้ออำนายให้อยู่ได้อย่างสะดวกสบายเหมือนยุคแรก ๆ  เช่น ต้องหาอาหารกินเองจนต้องเกิดเป็นเพศชายเพศหญิงและเกิดราคะตัณหาขึ้นจนมีเพศสัมพันธ์กัน ปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัยเพื่อปิดบังสิ่งที่เรียกว่า “เมถุนธรรม” นั้น ต่อมาความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมได้เกิดขึ้นเป็นลำดับเพราะอธรรมเกิดขึ้นแก่บุคคลในสังคม เกิดการลักขโมย การทำร้ายร่างกายกันและการฆ่ากัน ในที่สุดก็มีความคิดเห็นร่วมกันว่าควรจะได้แต่งตั้งสัตว์ (บุคคล) ผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้มีรูปงามน่าเลื่อมใส มีความสามารถในการพิจารณาว่าการใดดีการใดชั่ว จึงไปหาคนผู้นั้นมาตกลงกันว่าจะให้บุคคลนั้นเป็นผู้บังคับอรรถคดีต่าง ๆ และปกครอง เพื่อแลกกับอาหาร (ข้าวสาลี) ที่คนอื่น ๆ จะนำมาเป็นเครื่องตอบแทน บุคคลนั้นจึงได้ชื่อว่า มหาชนสมมติ หรือกษัตริย์องค์แรกของโลก

ทฤษฎีนี้แพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐพุทธศาสนาก็ได้พัฒนาแนวความคิดเกี่ยวกับรัฐและพระมหากษัตริย์เพิ่มเติมขึ้นไปอีก โดยเฉพาะแนวความคิดเรื่องกษัตริย์นั้น เกิดความเชื่อว่า คนที่เป็นกษัตริย์จะต้องเป็นผู้ที่ได้สั่งสมบารมีมาไว้มากที่สุด  แสดงออกถึงสถานะของชีวิตที่ดีกว่าผู้อื่นในชาตินี้โดยการเป็นผู้ครอบครองเครื่องราชูปโภค พระราชวังและชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่งคั่ง  นอกจากนี้กษัตริย์ยังมีหน้าที่เทียบกับพระอินทร์ในอนุจักรวาลด้วย กล่าวคือเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก ทรงกระทำโดยการสร้างปูชนียวัตถุสถาน ปกครองและบำรุงคณะสงฆ์ และเพราะเหตุที่พุทธศาสนาเชื่อว่า จุดหมายในชีวิตคือนิพพาน ชีวิตปัจจุบันเป็นเพียงทางผ่านจุดหนึ่งไปสู่จุดหมายปลายทางคือนิพพานเท่านั้น ในแต่ละชาติมนุษย์ก็ควรสั่งสมบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเพื่อเป็นปัจจัยไปสู่นิพพานในวันหน้า กษัตริย์ในฐานะผู้บำรุงพุทธศาสนาจึงมีหน้าที่ดูแลให้ประชาชนอยู่ในศีลธรรมเพื่อไม่ตกไปอยู่ในโลกที่ชั่ว  และสั่งสมบารมีไปตามวาสนาของตน ๆ ในแง่นี้รัฐจึงเป็นเครื่องมือไปสู่นิพพาน รัฐเป็นสถานที่จะทำการรื้อฟื้นความดีงามของมนุษย์ที่เสื่อมลงตามลำดับ และกษัตริย์เปรียบเหมือนพระโพธิสัตว์ที่จะนำมนุษย์ไปสู่สุคติ [4]

ภายใต้จินตนาการสังคมพุทธที่มีพระมหากษัตริย์ผู้เป็นดั่งพระพุทธเจ้า (พระโพธิสัตว์) เป็นศูนย์กลางนั้น เราจะพบว่าพระมหากษัตริย์เองก็ต้องใช้พุทธศาสนาเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับแสดงออกถึงเมตตาธรรมและบุญบารีมีอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ปัจจุบัน พระราชประเพณีอันเนื่องด้วยพุทธศาสนายังคงเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของพระมหากษัตริย์ ในสมัยโบราณ พระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนางข้าราชการยังเกี่ยวข้องกับวัดในระดับท้องถิ่นในลักษณะที่ไม่เป็นทางราชการเท่าใด ด้วยการเสด็จมาเป็นประธานหรือร่วมประเพณีบุญในโอกาสต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีทอดผ้ามหากฐินเป็นต้น  ศรีศักรอธิบายว่า ด้วยภารกิจเช่นนี้ทำให้พระมหากษัตริย์ เจ้านายหรือขุนนางข้าราชการได้พบปะราษฎร พระราชพิธีที่เป็นการบุญนั้นคือสิ่งที่ทำให้บุคคลทุกฝ่ายสัมผัสกันในด้านจิตใจ โดยมีจิตเดียวกันร่วมกันในการทำบุญ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความเหินห่างหรือช่องว่างระหว่างชนชั้น “เพราะหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระศาสนานั้น ก็คือ ทำให้คนทุกชั้นทุกวรรณะมีความรู้สึกในช่วงเวลาหนึ่งว่า ทุกคนต่างเท่ากันในเบื้องหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์” [5] ในแง่นี้ พุทธศาสนาเองกลับมีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนสถาบันกษัตริย์ไทย

พุทธศาสนาจึงไม่ใช่พื้นที่ของ “การบุญ” อันบริสุทธิ์ผุดผ่องเสมอไปสำหรับชนชั้นผู้มีอำนาจ ดังที่ศรีศักรอธิบายไว้ว่า การที่พระมหากษัตริย์และราชสำนักในฐานะผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา  แพร่สื่อคำสอนและความเชื่อทางศาสนาที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและสังคมลงมาตามคณะสงฆ์และวัดวาอาราม ตามท้องถิ่นในพระราชอาณาจักร เช่น ความรู้ทางจักรวาลวิทยาที่ได้จากหนังสือไตรภูมิ พระพุทธประวัติ และชาดกพระเจ้าสิบชาติที่พระมหากษัตริย์และนักปราชญ์ในราชสำนักแต่งขึ้น “ก็นับว่าเป็นสิ่งที่แยบยลมาก เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเครื่องโน้มน้าวจิตใจของราษฎรให้มีศีลธรรม และเห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์และราชสำนัก” โดยสื่อผ่านทางวัดจากการเทศน์การสอนของพระสงฆ์ เช่น ประเพณีการเทศน์มหาชาติ การเทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสน การสวดทำนองเสนาะ และการวาดภาพที่ออกมาเป็นจิตกรรมฝาผนังโบสถ์ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ เป็นต้น โดยเฉพาะชาดกพระเจ้าสิบชาติและไตรภูมินั้นมีความหมายอย่างยิ่งในด้านการสร้างค่านิยมทางสังคม ทัศนคติและโลกทัศน์ของคนไทย[6]

พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำในนามการอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาจึงมีนัยทางการเมืองด้วย ตัวอย่างเช่น (จากคำบรรยายของศรีศักร) ก่อนรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ การสอนเรื่องราวชาดกจะมองไปที่พระเจ้าห้าร้อยชาติ เพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการทางจิตที่เป็นพุทธของพระพุทธเจ้า ซึ่งเสวยพระชาติเป็นสัตว์ต่าง ๆ มาก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า (ความสำคัญในทางศาสนา) แต่พอถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีการย่นย่อพระเจ้าห้าร้อยชาติมาเป็นพระเจ้าสิบชาติ โดยเน้นพระชาติสุดท้ายที่เรียกว่ามหาชาติเป็นสำคัญ ประเพณีการเทศน์มหาชาติและการเขียนจิตรกรรมฝาผนังทศชาติและพุทธประวัติที่มีมาแต่สมัยอยุธยาได้รับการฟื้นฟูและเน้นให้เห็นความสำคัญมากขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งร่ายเทศน์มหาชาติเพื่อใช้ในการเทศน์และการสวดของชาวบ้าน ทั้งวรรณคดีมหาชาติและจิตกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติและพุทธประวัติมีความหมายในด้านศาสนาและการปกครองในสังคมไทยเป็นอย่างมากเพราะเป็นสิ่งที่ราชสำนักและบ้านเมืองใช้ในการอบรมเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และธรรมในการอยู่ร่วมกันในชุมชน ตลอดจนสิ่งที่เป็นจริยธรรมแก่ผู้คนตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะว่า ทศชาตินั้นนอกจากจะหมายถึงสิบชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วยังหมายถึงบารมีสิบทัศหรือสิบประการที่ผู้เป็นพระมหากษัตริย์จะต้องทรงบำเพ็ญและสั่งสอนอีกด้วย ศรีศักรอธิบายว่าตามความคิดของคนโบราณนั้น พระสมมติราชกับพระมานุษย์โพธิสัตว์เป็นบุคคลเดียวกัน พระชาติสุดท้ายคือพระเวสสันดรนั้นคือแบบฉบับของพระสมมติราชซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะจะต้องบำเพ็ญบารมีที่สำคัญคือทานบารมี  ทานหรือการให้เป็นคุณธรรมสำคัญของมนุษยชาติ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น การให้ทานและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ดำรงความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ยิ่งกว่านั้น “ทานหรือการให้ยังเป็นสิ่งที่คานความคิดและการกระทำที่เรียกว่า การเอา ที่เกิดจากสันดานดิบในความเป็นสัตว์ของมนุษย์ จึงเท่ากับเป็นการรักษาดุลยภาพระหว่างการเอากับการให้ไว้”  ผู้ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองและเป็นที่พึ่งของคนหมู่มาก หลายกลุ่มหลายเผ่าพันธุ์ จึงต้องมีอยู่สองภาคในเวลาเดียวกันคือ การเป็นผู้ชนะโลก (world conqueror) ที่เน้นการเอา เช่น การรบพุ่ง ปราบปรามยุคเข็ญ และสร้างสมบัติพัสถานให้แก่แผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องการเอาและการแสวงหาวัตถุ ในขณะที่อีกภาคหนึ่งก็คือผู้สละโลก (World renouncer) ที่ทรงบริจาคทานแก่คนยากไร้ เสียสละพระองค์เองเพื่อความสุขของประชาราษฎร์ผู้อยู่ใต้ปกครอง [7]

เอกภาพ : ผลพวงแห่งจินตนาการอันไม่รู้จบ

ภาพความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ รัฐ และพุทธศาสนาดังที่ประมวลมานี้เป็นจินตนาการชาติที่ยังร่วมสมัยอยู่ในปัจจุบัน  เช่นเดียวกับที่พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เคยกล่าวไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา ศรีศักรเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็น “สิ่งจำเป็น” ต่อการดำรงอยู่อย่างความมั่นคงของพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทย โดยอาศัยความเชื่อตามท่วงทำนองดังกล่าวนี้ ผลพวงที่สำคัญไม่เพียงแต่จะทำให้พุทธศาสนากลายเป็นปราการหลักที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่“จินตนาการ” เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เหล่านั้นยังได้หล่อหลอมให้ชาวพุทธหรือพระสงฆ์ไทยยอมรับ “การปฏิรูปศาสนา” ของผู้มีอำนาจในรัฐทุกยุคทุกสมัย การปฏิรูปใด ๆ ที่กระทำในนามของรัฐ  ชาวพุทธหรือสถาบันสงฆ์ไม่เคยตั้งคำถามถึงเหตุผลและความชอบธรรม เพราะเชื่อในน้ำพระหฤทัยอันดีงามของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพุทธศาสนา  

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา หรือพระมหากษัตรย์กับพุทธศาสนา เปลี่ยนแปลงและคลี่คลายไปในทางที่พระมหากษัตริย์บางพระองค์ได้ทรงปฏิเสธแนวความคิดเรื่องกษัตริย์ตามแนวพุทธศาสนาไปที่พัฒนาขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปไม่น้อย โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อได้ทรงศึกษาพุทธศาสนาจนแจ่มแจ้ง และด้วยอิทธิพลทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการสมัยใหม่ทำให้พระองค์ปฏิเสธแนวคิดเรื่อง “การเป็นพระโพธิสัตว์ของพระมหากษัตริย์” รวมทั้งจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิที่เชื่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ อาจกล่าวได้ว่า การปฏิเสธที่จะปรารถนาพุทธภูมิตามแบบบุรพมหากษัตริย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสัญญาณบ่งชี้แนวทางการปฏิรูปพุทธศาสนาที่เริ่มเปิดพื้นที่ให้ “ความมีเหตุผล” และ “ความเป็นวิทยาศาสตร์” หรือ “ความเป็นสมัยใหม่” เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตีความคำสอนแบบดั้งเดิม แต่กว่าการปฏิรูปพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในด้านองค์กรการปกครองและด้านการศึกษานั้น ก็ล่วงเลยมาถึงยุคสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พระปิยมหาราช) ทรงสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นเพื่อต่อสู้กับชาวต่างชาติที่มาพร้อมวิทยาการสมัยใหม่

ในยุคนี้เองเกิดสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ไทยเรียกว่า “การปฏิรูปพุทธศาสนา” ขึ้นอย่างชัดเจนและสมบูรณ์ โดยการรวมคณะสงฆ์ทั้งหมดในราชอาณาจักรไว้ภายใต้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ พ.ศ. 2445 เนื่องด้วยทรงมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นกำลังสำคัญในการจัดการจึงทำให้การปฏิรูปคณะสงฆ์บังเกิดผลสัมฤทธิ์ไปได้ด้วยดี พุทธศาสนากับรัฐไทยซึ่งมีความแนบแน่นมาตั้งแต่สมัยอดีตมีความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เพราะสงฆ์ทั้งหมดได้ถูกรวมเข้ามาไว้ภายใต้ระบบกฎหมาย (พระราชบัญญัติคณะสงฆ์) ที่รวมศูนย์ปกครองทั้งหมดไว้ส่วนกลาง พระสงฆ์ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียว มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีบทบาทอย่างสูงในด้านการศึกษาพุทธศาสนาในประเทศไทยปัจจุบันคือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ได้เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวนี้ โดยอาศัยเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานไว้

โดยอาศัย “เรื่องเล่า”หรือ”จินตนาการ” อันไม่จบสิ้นเกี่ยวกับพระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคสมัย พระสงฆ์ไทยไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับความปรารถนาดีที่สถาบันกษัตริย์จะมีต่อพุทธศาสนา ในด้านหนึ่ง “เจตนารมณ์” ของพระมหากษัตริย์ในอดีตก็มักจะถูกอ้างเพื่อกระตุ้นเตือนให้รัฐไทยสมัยใหม่ตระหนักว่ารัฐไทยในปัจจุบันมีหน้าที่ต้องสืบทอดรักษาการอุปถัมภ์บำรุงสถาบันพุทธศาสนาตามแบบอย่างที่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์เคยกระทำไว้ อาทิ กรณีที่ต้องการให้มีการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยในรัฐธรรมนูญ พระสงฆ์ยกข้ออ้างว่ารัฐ (ชาติไทยสมัยใหม่) คือผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีหน้าที่สำคัญในการอุปถัมภ์บำรุงและปกป้องพุทธศาสนาให้สถาพรสืบไป ข้ออ้างนี้มีบทบาทผลักดันให้รัฐข้ามไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมบางอย่างเกี่ยวกับพุทธศาสนา หรือผลักดันให้พุทธศาสนาก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของรัฐ  จึงไม่แปลกถ้าหากจะมีผู้มีอำนาจรัฐหรือคณะสงฆ์เรียกร้องให้รัฐดำเนินภารกิจการปฏิรูปพุทธศาสนา ควรสังเกตว่า การปฏิรูปใด ๆ หากเชื่อว่ากระทำด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้มั่งคงแล้วก็จะไม่มีข้อคัดค้านใด ๆ จากคณะสงฆ์หรือชาวพุทธส่วนใหญ่ หากกระทำภายใต้ร่มเงาของพระบรมราชูปถัมภ์ คณะสงฆ์ย่อมเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นการทำเพื่อความก้าวหน้าและความมั่นคงของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะจินตนาการเกี่ยวกับชาติและพุทธศาสนาได้หล่อหลอมชี้นำให้สถาบันสงฆ์เชื่อ ศรัทธาและภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เสมอมา

 

รายการอ้างอิง

[1] ศรีศักร วัลลิโภดม. พัฒนาการทางสังคม-วัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2544: 76-77

[2] เรื่องเดียวกัน, 77-78

[3] เรื่องเดียวกัน, 119

[4] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2542. 71-74

[5] ศรีศักร วัลลิโภดม, อ้างแล้ว. 120

[6] เรื่องเดียวกัน, 120-121

[7] เรื่องเดียวกัน, 122-123. อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ไทยคนสำคัญคือ ชาญวิทย์ เกษตรสิริ และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองรัฐกับพุทธศาสนาว่า ในสมัยโบราณ พระสงฆ์จัดเป็นกลุ่มทางสังคมที่มีการรวมตัวกันได้มากที่สุด มีประชากรสงฆ์มากมายในอาณาจักร และพระสงฆ์เหล่านั้นก็มีบทบาทใกล้ชิดกับประชาชนซึ่งอาจมีผลกระทบต่อพระราชบัลลังก์ได้ ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องหาความชอบธรรมในหมู่พระสงฆ์เพื่อการคงอำนาจทางการเมืองไว้ (ดู ชาญวิทย์ เกษตรสิริ, “พุทธศาสนาและการรวมอาณาจักรสมัยต้นอยุธยา (พ.ศ.1893-1991/ค.ศ.1351-1448)” ใน อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.171-188. และ นิธิ เอียวศรีวงศ์, อ้างแล้ว. 242-262.)                       

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท