Skip to main content
sharethis

นักวิจัยในออสเตรเลียหาวิธีลดปัญหาการข่มเหงรังแกกันในโรงเรียนด้วยการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ให้นักเรียนจัดวงแลกเปลี่ยนความรู้สึก ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางบวก สร้างความเคารพซึ่งกันและกัน พบว่าสามารถลดพฤติกรรมการข่มเหงรังแกได้

11 มิ.ย. 2558 ดร. เวโรนิกา มอร์คอม ผู้ช่วยนักวิจัยกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเมอร์ดอช ประเทศออสเตรเลียเปิดเผยว่าเธอทดลองใช้วิธีการแก้ไขปัญหาการข่มเหงรังแกกันในโรงเรียนโดยการสร้าง 'พื้นที่แสดงออกทางอารมณ์ร่วมกัน' (shared effective spaces) ซึ่งเป็นวิธีที่แตกต่างจากที่ใช้กันทั่วไปในโรงเรียนแถบออสเตรเลียตคะวันตก วิธีการดังกล่าวจะเน้นให้นักเรียนพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองในตอนนั้นและไม่ได้เน้นในเรื่องการพัฒนาทักษะทางสังคมทั่วไป

ผลการวิจัยในเรื่องนี้พบว่าการพยายามแก้ปัญหาการข่มเหงรังแกกันด้วยวิธีการตั้งวงแลกเปลี่ยนความรู้สึกสามารถเสริมสร้างการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) ส่งเสริมการเรียนรู้ทางสังคมและช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ได้

มอร์คอมกล่าวว่านักเรียนที่เข้าร่วมโครงการของเธอเคยผ่านโครงการพัฒนาด้านสังคมและอารมณ์จากภาคเอกชนมาก่อนแต่ก็มีผลน้อยมากกับนักเรียนกลุ่มใหญ่ๆ ที่ชอบข่มเหงรังแกผู้อื่น มอร์คอมจึงลองใช้วิธีการจัดห้องเรียนแบบองค์รวมโดยให้นักเรียนล้อมวงกันพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์ของตัวเองและเชื่อมโยงความรู้สึกของพวกเขากับพฤติกรรมซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าพฤติกรรมข่มเหงรังแกกันเป็นอย่างไรและทำไมจึงควรหยุดพฤติกรรมนี้

วืธีการดำเนินการคือการจัดนักเรียนออกเป็นกลุ่ม 4-6 คน โดยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสลับกันไปทุกๆ 6-8 สัปดาห์ แล้วสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกของตัวเอง เช่นในวงคุยมีการให้พูดชื่อและอารมณ์ของตัวเองในปัจจุบันเพื่อรับรู้เรื่องความรู้สึกและทำให้เข้าใจกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดการปัญหาในห้องเรียนด้วยการจัดประชุมรายสัปดาห์เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน

มอร์คอมบอกว่ากระบวนการเช่นนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นด้วยความรู้สึกเคารพซึ่งกันและกันเพราะครูจะอนุญาตให้นักเรียนพูดถึงปัญหาของตัวเองได้และมีการหารือเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา

อีกกระบวนการหนึ่งที่มอร์คอมใช้คือการโยงความรู้สึกเข้ากับแนวความคิดต่างๆ เช่น กลุ่มเด็กนักเรียนตัดสินใจร่วมกัน ว่า "การเห็นคุณค่าในตัวคนอื่น" คือการที่ "คนรับฟังกันและกัน" หรือโยงคำว่า "คนที่มีความเป็นมิตร" กับคุณสมบัติหรือวลีเช่น "ความภาคภูมิใจ" "ความปลอดภัย" "การมีคุณค่า" และ "เป็นเรื่องที่ดี"

เพื่อที่จะทราบว่ากลุ่มนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมสามารถเข้าใจ เรียนรู้ภายในตนเอง และลงมือปฏิบัติจริงได้ มอร์คอมได้สำรวจเปรียบเทียบจากบันทึกผลสะท้อนกิจกรรมจากนักเรียนในแต่ละช่วงและการตอบรับจากผู้ปกครอง

ผลปรากฏว่าภายในสิ้นปีมีการเปลี่่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของนักเรียน ทั้งด้านคำพูด การกระทำ และพฤติกรรม โดยมีผู้ชอบข่มเหงรังแกคนอื่นรายหนึ่งไม่ก่อเหตุรังแกคนอื่นอีกในเวลาตลอด 8 เดือน และกลายเป็นหัวหน้าห้อง

มอร์คอมกล่าวว่าการพัฒนาความสัมพันธ์ในเชิงบวกมีความสำคัญต่อการชี้ให้เห็นปัญหาการข่มเหงรังแกกันเนื่องจากมันช่วยทำให้นักเรียนมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเยาะเย้ย

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net