Skip to main content
sharethis
อมร วาณิชวิวัฒน์ สปช. ระบุในสภาปฏิรูปมีดราม่าเยอะเหมือนสภาการเมือง โดยเฉพาะการพูดถึงผลประโยชน์ในพื้นที่ของตนเอง ไม่ต่างจาก ส.ส. บางคนพูดแต่เรื่องธุรกิจของตนเองหรือบางคนไม่ได้พูดอะไรเลยแต่ชอบย้ายที่นั่งเพื่อได้ออกทีวี
 
12 มิ.ย. 2558 เนชั่นทันข่าวรายงานว่านายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ และประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมด้วยนายวรรณชัย บุญบำรุง สปช. และนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล อนกรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงข่าวถึงการดำเนินการปฏิรูปที่ผ่านมา โดยนายอมรกล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษาและยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมติดตามและเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย พ.ศ. ... เพื่อปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายในภาพรวมของประเทศ เป็นการแก้ปัญหาทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ โดยบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งถ้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลเห็นความสำคัญของกฎหมายนี้ เชื่อว่าแม้สปช.จะหมดอายุไปแต่คณะอนุกรรมาธิการฯ จะเข้ามาทำงานนี้ต่อแน่นอน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง โดยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว รวมทั้งเสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของการเสริมมาตรการทางภาษีให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ตามมาตรา 247 ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนในการตรวจสอบช่วงต้นของกระบวนการเพื่อคัดกรองบุคคลผู้ประสงค์เข้าสู่กระบวนการใช้อำนาจรัฐ 
  
นายอมร กล่าวอีกว่า สปช.ไม่ได้เสียขวัญที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ทำให้สปช.เหลือเวลาในการทำงานเพียง 3 เดือน ทราบว่าสาเหตุที่ต้องมีการเขย่าขวด สปช.นั้น เนื่องจาก สปช.ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 60 ปี ถือว่าสภาพร่างกายมีปัญหา และบางบุคคลเป็นข้าราชการประจำ มีภารกิจมากจนไม่มีเวลาประชุม เท่าที่ทราบสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้นกำหนดอายุขั้นต่ำ 35 ปี ชัดเจนว่าเขาอยากได้คนที่มีกำลังวังชาเข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สปช.ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ แต่ผลงานยังมีข้อบกพร่อง เพราะการอภิปรายในสภามีดราม่าเยอะเหมือนสภาการเมือง โดยเฉพาะการพูดถึงผลประโยชน์ในพื้นที่ของตนเอง ไม่ต่างจาก ส.ส. บางคนพูดแต่เรื่องธุรกิจของตนเอง หรือบางคนไม่ได้พูดอะไรเลยแต่ชอบย้ายที่นั่งเพื่อได้ออกทีวี ทั้งนี้ยอมรับว่า สปช.บางคนต่อสายตรงถึงผู้ใหญ่ให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในการทำงานของ สปช. คนเหล่านี้คอยกระซิบให้เห็นว่าใครมาทำงานอย่างสม่ำเสมอหรือเซ็นชื่ออย่างเดียวแล้วออกไป ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาในการคัดเลือกสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อไป 
  
นายอมร กล่าวด้วยว่า มีความเสี่ยงที่สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ถ้า สปช.นึกถึงผลประโยชน์ส่วนตัวก็มีแนวโน้มว่าจะร่อแร่ แต่ถ้านึกถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศก็อยากให้เดินหน้าต่อไป เพราะสปช.ส่วนใหญ่มีแต่น้ำดีแถวหนึ่งของประเทศ คงไม่มีใครอยากให้เกิดปรากฎการณ์ใช้คนแถวสองแถวสามเหมือนในอดีตมาทำงาน ทั้งนี้ แม้ตนจะขอให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียวคือมาตรา 7 แต่หากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่แก้ไขให้ก็ไม่ติดใจ ยังคงโหวตให้ผ่าน แต่ตนไม่แน่ใจว่ากลุ่มอื่นที่เสนอแก้ไขเป็นร้อยมาตรานั้น หากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ยอมแก้ไขให้แล้วจะโหวตอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net