เสนอ 'รัฐ-โรงเรียน-พ่อแม่' หนุนน้องเรียนหนังสือ หวังยุติปัญหาใช้แรงงานเด็กข้ามชาติ

งานวิจัยเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานเผยยังมีแรงงานข้ามชาติที่เป็นเด็กทำงานในทุกกระบวนการผลิตอาหารทะเล โดยเสนอภาครัฐต้องดูแลเด็กที่มากับครอบครัวแรงงานข้ามชาติ - โดยที่ประชุมเสนอว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เด็กต้องได้เรียนหนังสือ มีหลักสูตรที่เอื้อกับเด็ก ซึ่งต้องอาศัยการผสานความร่วมมือจาก 'รัฐ-โรงเรียน-พ่อแม่'

 

12 มิ.ย.2558 – ที่ห้องประชุม NE8T SPACE อาคารธนาคารเอเชีย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) จัดเสนอผลรายงานวิจัย เรื่อง “สถานการณ์ของเด็กข้ามชาติและแรงงานเด็กข้ามชาติ ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร” เนื่องในวันต่อต้านแรงงานเด็กสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี โดยแบ่งเนื้อหาในงานเป็นสองช่วง ได้แก่ ช่วงนำเสนอผลการศึกษาโดยคณะวิจัย และตามด้วยช่วงวิพากษ์และข้อเสนอแนะโดยวิทยากรรับเชิญทั้งนี้ทีมวิจัยเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายแนะเน้นผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อสร้างยุทธศาสตร์และกลไกเพื่อการปกป้องสิทธิและประโยชน์ของแรงงานเด็กข้ามชาติ

ในช่วงแรก ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล หัวหน้าทีมวิจัย และสรัญญา ยอดมีกลิ่น สมาชิกผู้จัดทำปฏิมา เริ่มต้นด้วยการเปิดวิดีโอสารคดีที่ทางกลุ่มวิจัยได้จัดทำ ในวีดีโอสารคดีได้ระบุว่าจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานเด็กข้ามชาติ 20,000 คนสามารถแบ่งประเภทได้เป็น3ประเภทคือ 1.แรงงานเด็กข้ามชาติที่ไม่ได้รับการศึกษาและทำงานเต็มเวลา 2. เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาและ 3. เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา และทำงานบางเวลา

ปฏิมา กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครนั้นLPN ได้ทำงานมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว สมุทรสาครเป็นพื้นที่ทำอุตสาหกรรมประมง อัตราการส่งออกอาหารทะเลของไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก งานประมงต่อเนื่องมีงานลักษณะที่ทำด้วยเครื่องจักรไม่ได้ ต้องใช้มือ เช่นการแกะกุ้ง จึงต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ตลาดแรงงานในด้านนี้จึงมีความต้องการแรงงานสูง

“สมุทรสาคร เป็นเมืองในฝันของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีตลาดแรงงานที่ใหญ่ แรงงานชุดแรกเป็นคนที่มาจากพม่าเชื้อสายมอญ จากนั้นก็ตามด้วยกะเหรี่ยง พม่า ทวาย เมื่อแรงงานอพยพเข้ามามากขึ้น แต่เดิมก็ไม่มีนโยบายให้เด็กต่างชาติเข้าเรียน ภายหลัง มีนโยบายว่า เด็กทุกคนสามารถเรียนได้ จึงมีการส่งเสริมให้เด็กต่างชาติเข้ามาศึกษาในโรงเรียนไทย แต่ในบางราย ผู้ปกครองก็นำเด็กเข้าไปทำงานในโรงงานด้วย เนื่องจากขาดความรู้และเข้าใจว่ามีการส่งเสริมให้มีการศึกษา ทั้งยังไม่มีสถานที่ที่ปลอดภัยแก่บุตรหลานตน” ปฏิมากล่าวเสริม

ทั้งนี้ในรายงานผลการวิจัยระบุว่า โจทย์การวิจัยนั้นสนใจที่เรื่องรูปแบบการทำงานของเด็กข้ามชาติเป็นอย่างไร สภาพการทำงานของเด็กมีความเหมาะสมหรือไม่และส่วนภาครัฐเมื่อจะมีระเบียบและวิธีการต่างๆ ที่ใช้ดูแลเด็กกลุ่มนี้อย่างไร แบบไหนบ้าง

ในส่วนเป้าหมายของการศึกษางานวิจัยชิ้นนี้จะเน้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ คือเด็กจำนวนหนึ่งที่มูลนิธิดูแลอยู่ 700 คน และเด็กในโรงงานอุตสาหกรรม 100 กว่าคน สถานการณ์แรงงานเด็กในสมุทรสาคร พบว่ามีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จากการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2557  จำนวน 92,560 คน และในอำเภอเมืองสมุทรสาคร จำนวน 5,500 คนซึ่งจากจากกลุ่มตัวอย่าง786 คนเด็กส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลร้อยละ 56 ที่เหลือ ไม่ได้เข้าเรียน และไม่ได้ทำงาน อาชีพของบิดา มารดาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง แสดงให้เห็นว่า อาชีพของบิดา มารดา เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การกลายเป็นแรงงานเด็กของบุตรหลาน

สถิติจากทีมวิจัย จากการสำรวจเด็กจำนวน101 คน เป็นหญิงร้อยละ48  เป็นชายร้อยละ52 ที่ทักษะการสื่อสารมีปัญหา ร้อยละ 80 อ่านและเขียนภาษาพม่าได้ ร้อยละ 20 ไม่สามารถอ่านเขียนภาษาพม่าได้ โดยเฉพาะในกรณีเด็กต่างชาติที่เกิดในประเทศไทยและไม่เคยได้รับการศึกษาในภาษาพม่ามาก่อน  และเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญซึ่งใช้ภาษามอญเป็นภาษาหลักของการสื่อสาร การไม่รู้ภาษาพม่าเองก็เป็นปัญหาในการทำงาน เพราะว่าป้ายเตือนต่างๆเป็นภาษาพม่า จึงต้องอาศัยเพื่อนร่วมงานด้วยกันช่วยเหลือ 

การทำงานของแรงงานเด็กต่างชาติ มีรูปแบบการได้รับรับค่าตอบแทนที่ต่างกันออกไป บางงานจ่ายเป็นราย 15 วัน บางงานจ่ายเป็นรายเหมา โดยจ่ายค่าแรงตามผลงาน, รายเดือน รายวัน และรายสัปดาห์

ซึ่งจากผลการวิจัยรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนแบบรายครึ่งเดือนจ่ายครั้งหนึ่งมีมากที่สุดถึงร้อยละ 56.4 แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมการประมงต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่าสองปี งานวิจัยชิ้นนี้ได้รวมถึงเด็กในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น แก้ว พลาสติก

เงื่อนไขและสภาพการทำงานนั้น ร้อยละ10 มีสัญญาจ้างส่วนชั่วโมงการทำงาน เด็กจะทำงานหนักใช้เวลายาวนานประมาณ 6 วันต่อสัปดาห์ มีวันหยุดในวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่บางโรงงานก็ไม่มีวันหยุดให้ แต่จะมีการยื่นข้อเสนอให้ทำงานในวันหยุดและได้ค่าแรงเพิ่มเป็นพิเศษ เฉลี่ยร้อยละ9.32 ชั่วโมง ต่อวัน รวมการทำงานล่วงเวลา

เวลาการทำงานของเด็กนั้นจะขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ทำงาน งานที่แตกต่างกันก็จะมีเวลาทำงานแตกต่างกันเช่นกันแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นในระบบเหมา เด็กจะทำงานอย่างยาวนาน แต่ในส่วนของเด็กที่เข้าสู่ระบบโรงงานแบบเป็นกะ ก็จะเข้ากะสลับกัน 2 สัปดาห์ต่อครั้ง กลางวัน 2 สัปดาห์ กลางคืน 2สัปดาห์ ซึ่งข้อนี้ไปขัดแย้งกับพระราชบัญญัติสิทธิแรงงานเด็ก ที่ว่าเด็กสามารถทำงานได้เมื่ออายุ 15-18 ปี แต่มีข้อห้ามไม่ให้ทำงานในเวลา 22.00 – 06.00นาฬิกาซึ่งถือว่าเวลานี้เป็นยามวิกาล

ในส่วนความปลอดภัยในสถานทำงาน ทางทีมวิจัยมองว่า ความไม่ปลอดภัยมาจากอุปกรณ์การทำงานต่างๆ แต่เด็กหลายคนมองตรงข้าม ความไม่ปลอดภัยในมุมของเด็ก คือตำรวจไม่สามารถเข้ามาจับได้ เนื่องจากสถานประกอบการอาจจะมิดชิดหรือหาเจอได้ยาก ในด้านความอันตรายจากการทำงาน ทีมวิจัยมองว่าจะเกิดจาก สภาพการทำงาน เช่นในภาวะที่เด็กทำงานเป็นเวลายาวนานในที่เฉอะแฉะ อาจลื่นล้มในช่วงยกของหนักหรือแม้กระทั้งเด็กแต่ละคนจะต้องยื้อแย่งเอาวัตถุดิบเนื่องจากการจ่ายค่าตอบแทนถ้าใครทำมากได้มากเท่าไรค่าตอบแทนก็จะมากเท่านั้น เด็กจึงยื้อแย่งกันบางทีก็หกล้มบางทีก็ทะเลาะกันเอง

นอกจากนี้ผลการวิจัยระบุว่าแรงงานเด็กต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นจะเข้ามากับพ่อแม่มากถึงร้อยละ 41.6และผ่านนายหน้า ญาติ เพื่อน และ มาด้วยตนเอง ตามลำดับ

เพื่อแสดงให้เห็นผลการวิจัยที่มากขึ้น สรัญญาได้แสดงแผนภาพการผลิตของอุตสาหกรรมกุ้ง แสดงให้เห็นว่าในกระบวนการตั้งแต่จับกุ้ง ไปจนถึงนำกุ้งเข้าตลาด เข้าโรงงาน เข้าแพปลา นั้นมีแรงงานเด็กอยู่ในทุกกระบวนการผลิต

นอกจากนี้มีการยกกรณีศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติ ได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับแรงงานเด็กข้ามชาติ ผ่านสายสัมพันธ์ของครูและความสนิทสนมกับเด็กเพื่อให้เด็กเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เช่น

000

พอจี เด็กข้ามชาติอายุ 13 ปี ที่ทำงานภาคประมง พอจีมาจากทวาย ภาคตะนาวศรี เข้ามาทำงานแกะกุ้งกับแม่ ทำงานได้ประมาณ 3 เดือน พ่อพาไปทำงานบนเรือ ได้รับค่าตอบแทน9,000 บาทต่อเดือน พอจีเล่าว่าเขาใช้ชีวิตอยู่บนเรือ 1 เดือน อยู่บ้าน 1 เดือน กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ พ่อเป็นลูกเรือ แม่เป็นคนงานอุตสาหกรรม เด็กก็วนทำงานอยู่สองแบบนี้

ธานีโพ อายุ 15 ปี ธานีโพทำงานตั้งแต่ 08.00 – 17.00น. (ทำงานเต็มเวลา) บางทีก็ทำโอที 2 ชั่วโมง เลือกทำงานเพราะยายกับป้าที่อยู่พม่าป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ และส่งรายได้กลับพม่า

นีมู อายุ 15 ปี ทำงานระบบเหมา นีมูจะเรียนในวันจันทร์ถึงวันศุกร์แต่จะทำงานวันเสาร์และวันอาทิตย์

แจม เด็กข้ามชาติอายุ 17 ปี แจมเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ 7 ขวบ จนตอนนี้อายุ 17 กรณีของแจมจะแสดงให้เห็นถึงสภาพการทำงานที่เลวร้าย โดยแจมเริ่มทำงานในล้งกุ้ง เมื่อล้งปิดตัว พ่อแม่เลยย้ายกลับพม่า แต่แจมเข้ามาทำงานที่โรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ แจมต้องถอดก้างปลาซาบะ ที่มาจากสายพานการผลิต วันหนึ่งทำประมาณ8 กระบะ แต่ละกระบะมีปลา 12 ตัว แจมบอกว่ากระบะเดียวก็ไม่ไหวแล้ว แต่หัวหน้างานบังคับให้ทำให้เสร็จ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้กลับบ้านซึ่งในโรงงานใช้ระบบการทำงานแบบกำหนดเวลา แต่ละชั่วโมงต้องทำให้ได้ตามเวลากำหนด จนทนไม่ไหว ท้ายที่สุดก็ลาออก แจมมีเพื่อนหลายคนที่มีความรู้ด้านภาษาไทย และอ่านภาษาไทยออก จึงมีโอกาสที่ดีกว่าแจมในด้านหน้าที่การงาน

000

ปฏิมา ยังกล่าวถึงแนวปฏิบัติและแนวนโยบายที่พึงประสงค์ต่อแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงจากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และภาครัฐตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้ 

“ผู้ปกครองเอง เมื่อเคลื่อนย้ายก็มีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อจะเข้ามาทำงานในไทย บุตรหลานเริ่มทำงานด้วยค่านิยมที่ถือว่า บุตรหลานควรเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า เมื่อเริ่มทำงานได้ก็เลยเริ่มทำงานครูอาจารย์ รับภาระหนักมาก เมื่อเด็กโตเข้ามาเรียน บางคนโตกว่าอายุในชั้นเรียนนั้น เช่นอายุ 15 ปีแต่ยังอยู่ ป.3 อยากจะเสนอว่าการศึกษาทางเลือกที่มีความสอดคล้องกับวุฒิภาวะของเด็กโตจึงมีความจำเป็น”

ปฏิมา กล่าวถึงระบบการคุ้มครองเด็กในพื้นที่ชุมชนว่าไม่ค่อยมีการพูดถึงในประเด็นนี้ อบต. ผู้ใหญ่บ้านทราบดีเรื่องจำนวน กลไกในการดูแลควรถูกสร้างขึ้นมาจากระดับท้องถิ่น ก่อนที่จะขยายไปในระดับที่กว้างขึ้น คิดว่า ปัจจุบัน สมุทรสาครมีระบบดูแลแรงงานเด็กต่างชาติที่ดีกว่าที่อื่น เพราะภาคการศึกษาและภาคธุรกิจตระหนักรู้ มีวิธีการดูแลและร่วมมือกันระหว่างภาคส่วน

ปฏิมาเสริมว่า ระบบGood Labor Practice เริ่มมีการร่วมมือจากภาคธุรกิจบนบก แต่ในน้ำ ก็คือในเรือประมง ที่พบว่ามีเด็กทำงานเป็นจำนวนมาก ในส่วนของผู้ซื้อ ผู้บริโภค ควรรณรงค์เรื่องสวัสดิภาพของแรงงานเด็ก เลือกซื้อสินค้าที่ไม่กดขี่แรงงานเด็ก นอกจากนี้ มาตรการในการดูแลอย่างเท่าเทียมควรถูกนำมาใช้ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงประเทศ ไม่ว่าเด็กจะมาจากที่ไหน

ปฏิมา เสนอว่า ประเด็นการขึ้นทะเบียน การถือหนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่ได้พูดถึงการขึ้นทะเบียนผู้ติดตามมากนัก ก็คือบุตรหลาน ดังนั้น เด็กบางคนอยากอยู่อย่างถูกกฎหมายและอยากทำงาน ก็ไปโกหกอายุ ในงานวิจัยร้อยละ 70 คือเด็กที่ไม่มีเอกสาร

ในส่วนข้อเสนอของงานวิจัยชิ้นนี้ได้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ในส่วนภาครัฐควรออกนโยบายที่ชัดเจนในการดูแลเด็กข้ามชาติอย่างชัดเจน  และควรจะจัดระบบลงทะเบียนต่อเด็กข้ามชาติที่มีอายุระหว่าง15-18 ปีไว้ ในส่วนภาคธุรกิจผู้ประกอบการควรตรวจสอบอายุของแรงงานอย่างชัดเจนและถ้ารับแรงงานที่มีอายุระหว่าง15-18 ปี ควรกำหนดสภาพงานให้เหมาะสมกับแรงงาน ในส่วนภาคผู้บริโภคต้องไม่สนับสนุนสินค้าที่มาจากแรงงานเด็ก

000

ภายหลังจากการนำเสนอผลการวิจัย ได้เข้าสู่วงเสวนาโดยผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย รศ.ดร. ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต  รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร. นฤมล นิราทร อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์  ธนียา รุญเจริญ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน  พิศุทธิ์ วีระจิตต์  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทสาคร ประสิทธิ์ กานดา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหญ่จอมปราสาท และอาทร พิบูลธนพัฒนา ตัวแทนจากภาคสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยและองค์กรภาคธุรกิจ

ศิรินันท์ มองงานวิจัยชิ้นนี้ว่า“เสียดายที่ไม่ได้นำเสนอวิธีการเก็บข้อมูลของโครงการ ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเป็นข้อมูลที่เก็บยาก ที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีปฏิบัติการที่ดีมากในเรื่องการสำรวจข้อมูลแรงงานเด็ก ถ้าประเทศไทยมีวิธีการในเชิงนโยบายในการทำบ้างก็คงจะดี ขอฝากไว้ว่า เมื่อเราลงไปแล้วเกิดความสนิทสนมกับแหล่งข้อมูลมาก ข้อมูลที่เราได้มาบวกกับความลำเอียงข้อมูลจะออกมาเป็นข้อมูลเชิงลบ”

ศิรินันท์ แนะว่าในงานวิจัยนั้นนิยามศัพท์มีความสำคัญมาก เราพบว่า แรงงานเด็กบังคับ เชิงพาณิชย์ งานผิดกฎหมาย และงานเสี่ยง อันตรายนิยามอายุในข้อมูลชนิดนี้ไม่ค่อยชัดเจนในเกณฑ์อายุ นอกจากนี้ยังรวมถึง คำว่า เด็ก, แรงงานเด็ก, แรงงานบังคับ, แรงงานในสภาพเลวร้าย, แรงงานกลุ่มเสี่ยงด้วย

“ที่ไปถูกทาง คือ ข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษา นโยบายและแผนระดับชาติที่สกัดการใช้แรงงานเด็ก ยุทธศาสตร์หนึ่ง เน้นในเรื่องการกระจายโอกาสทางการศึกษาในเรื่องจำนวน เชิงนโยบายมีปัญหามากเพราะเวลาทำนโยบาย มีมาตรการ มีตัวชี้วัด แผนปฏิบัติการ อยากให้งานวิจัยนี้เผยแพร่แนวทางการเก็บข้อมูลเชิงจำนวนให้ได้แม่นยำที่สุดแก่พื้นที่อื่นๆ ซึ่งตรงนี้ผูกกับเรื่องของการนิยาม”ศิรินันท์แสดงความเห็นด้วย

ด้านนฤมลมีความคิดเห็นว่างานชิ้นนี้ ทำให้เห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับภาพของเด็กในระบบการทำงานในสมุทรสาคร เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญในการทำงานด้านนี้ต่อไป งานชิ้นนี้จะสมบูรณ์มากขึ้น ถ้ามีแผนผังเชิงปริมาณที่ชัดเจนว่ามีเด็กจำนวนเท่าใดในกระบวนการผลิตต่างๆ ประเด็นที่สอง งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าเด็กต่างชาติสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาในประเทศได้มากขึ้น ชี้ให้เห็นวิธีการปรับตัวของโรงเรียน ประเด็นที่สาม ปฏิมาพูดไว้ก็คือเรื่องบทบาทของท้องถิ่นในสมุทรสาคร จะเป็นต้นแบบในการทำงานในภาคส่วนอื่นๆ ควรดึงท้องถิ่นเข้ามาทำงานส่วนนี้ด้วย มองเขาในฐานะแรงงาน และฐานะที่เป็นเด็ก ในส่วนที่เขาเป็นเด็ก การใช้ชีวิตในวัยเด็ก เราจะต้องวางอะไรบ้าง 

นฤมล แนะว่า“ปัญหาต่อไปอาจไม่ใช่ปัญหาแรงงาน จะต้องมองปัญหาสังคมด้วย ขอให้มองพวกเขาเหมือนลูกหลานเรา เป็นหนึ่งในสังคมของเรา อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ชื่นชมที่เด็กต่างชาติอายุน้อยแต่ก็ทำงานแล้ว ในขณะที่เด็กไทยอายุเท่ากัน แต่ทำอะไรกันอยู่ ขอชื่นชมที่เด็กต่างชาติมีสำนึกในเรื่องการช่วยเหลือครอบครัว” 

ธนียา มองว่าประเทศไทยควรจะทำในการปฏิรูปการศึกษาให้เอื้อกับเด็กต่างชาติ เด็กเองสามารถทำงานได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตงานที่ไม่ทำให้พัฒนาการของเด็กสูญเสีย แต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่ระบุว่างานใดคืองานเบาที่เด็กทำได้ ซึ่งควรจะออกเป็นกฎกระทรวงในเรื่องนี้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายใหญ่นั้นครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คือจะทำอย่างไรให้เป็นกระแสสังคมที่รับรู้กันทั่ว

“ประเด็นต่อไปคือ หน้าที่ของเด็กคือต้องเรียน กระทรวงศึกษาธิการควรเข้ามารับผิดชอบ ในขอบข่ายเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และขยายผลความสำเร็จของโมเดลของสถานศึกษาที่รองรับเด็กต่างชาติไปสู่พื้นที่อื่น และปัญหาคือการขยายผลไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ แต่ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรในประเทศไทย” ธนียา กล่าวเสริม

ด้าน อาทร มองว่างานวิจัยชิ้นนี้ เป็นงานวิจัยที่พร้อม ครบถ้วน สำหรับการเป็นงานวิจัยดีๆ เพราะใช้ต่อยอด ใช้อ้างอิงได้ สะท้อนว่าคนทำตั้งใจ และทำเพื่ออะไร งานวิจัยนี้บอกเล่าในสิ่งที่ทุกคนรู้ว่ามีแต่มองไม่เห็นก็คือปัญหาแรงงานเด็กข้ามชาติ จากนั้นอยากให้มองลึกลงไปอีกว่าแรงงานเด็กข้ามชาติต้องการอะไร อยากเรียนแบบไหน ระบบการศึกษาภาคบังคับหรือในรูปแบบอื่นๆ 

อาทรเสนอว่าควรออกแบบระบบการศึกษาจากพื้นฐานความต้องการของเด็กหลักสูตรเดียวที่จะใช้รองรับความแตกต่างของรูปแบบที่ต่างไปจากเด็กไทย มีบางกรณีที่นักเรียนแรงงานข้ามชาติ อายุ 18 ปี ต้องมานอนพร้อมเด็กอนุบาล เรียน ก.ไก่พร้อมกันเพราะตามหลักสูตรระบุไว้

อาทร เสริมว่า“เราต้องถามว่าน้องอยากเรียนแบบไหน อยากเรียนเพื่อไปทำอะไร จะเรียนไปใช้อะไร ต่อไปคือ อนาคตของเด็กที่ตัวเด็กต้องการคือจะเป็นอย่างไร”

ด้านประสิทธิ์กล่าวว่า “กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่น้อยในการแก้ไขปัญหาเด็กข้ามชาติ แต่มีหน้าที่เยอะมากในทางปฏิบัติ ด้านโรงเรียนเป็นปลายเหตุ เด็กต่างชาติหรือเด็กที่มีปัญหามาจากที่อื่นแต่มาจบที่โรงเรียน เช่นตัวอย่างจำนวนเด็กในโรงเรียนเป็นเด็กต่างด้าว 132 คน เป็นเด็กไทย 66 คนใจจริงคิดว่าว่าควรจัดโรงเรียนให้เป็นของเด็กต่างชาติไปเสียทีเดียว ในทางปฏิบัติการติดตามเด็กทำได้ยากเพราะหลายคนไม่มีหลักฐานที่อยู่ ไม่ได้อาศัยในเขตโรงเรียน จึงสืบสาวราวเรื่องไม่ได้”

ประสิทธิ์มองงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ไม่ได้กล่าวถึงปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางสุขภาพ การขาดหลักฐานระบุตัวตนทำให้มีอุปสรรคเรื่องการทำประกันชีวิตหมู่

ด้านพิสุทธิ์ ชี้ว่า การทำงานของเด็กนั้นมีทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย การนำเสนอภาพเพียงด้านลบด้านเดียวจึงอาจเกิดผลกระทบที่ไม่ดี ในความเป็นจริงทุกโรงเรียนรับทราบมานานแล้วในการเปิดรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่สังคมไม่รู้ แต่ในบางโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง อาจเป็นการปิดกั้นการเข้าศึกษาของเด็กกลุ่มดังกล่าวไปโดยปริยาย 

พิสุทธิ์กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้ มีกฎหมายการศึกษาภาคบังคับแค่กับเด็กไทยแต่ยังไม่มีกฎหมายบังคับเด็กต่างชาติให้เข้าเรียน สมุทรสาครเป็นต้นแบบแรกที่มีศูนย์การศึกษาเยอะ ที่สามารถรองรับเด็กที่ไม่อยากเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ การเข้าระบบแรงงานควรเป็นไปแบบพาร์ทไทม์ คงเป็นการยากที่จะออกกฎหมายบังคับเด็กต่างชาติให้เข้าศึกษาในระบบการศึกษาภาคบังคับ ปัญหาในพื้นที่มีปัญหาในการเชื่อมโยงระบบศูนย์การศึกษาในจังหวัดสมุทรสาครเพื่อสร้างเครือข่ายเพราะขาดความร่วมมืออุปสรรคจึงอยู่ที่ข้อกฎหมาย

“โอกาสทางการศึกษาเปิดตลอด มีทุกภูมิภาค ไม่ใช่แค่สมุทรสาคร บางโรงอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ มีสิทธิ์เข้าเรียนอยู่แล้ว บางโรงเรียนความพร้อมสูงมีการเตรียมความรู้เรื่องภาษาไทย มันเปิด แต่ปัญหาคือเด็กไม่ค่อยเข้ามาเรียนตามที่เราอยากได้ ปัญหาคือไม่รู้จำนวนและที่อยู่ของเด็กที่แน่ชัด เด็กไทยระบุจำนวนได้ แต่เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีหลักฐาน จะไม่มีการระบุตัวตน ”พิสุทธิ์กล่าว

ในช่วงท้ายผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีมาตรการไหนที่จะรู้ว่ามีแรงงานเด็กอยู่ในภาคส่วนการผลิต 

อาทร จากสมาคมอาหารแช่แข็งตอบว่า “สมาคมมีนโยบายชัดเจนว่าไม่สนับสนุนแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก หากเจอหรือมีข่าว หรือข้อกล่าวหากับสมาชิก ทางสมาคมจะเข้าไปตรวจสอบทันที ถ้าเจอว่าผิดก็จะเข้าไปตรวจสอบ และถ้าผิดจริง ก็จะขับออกจากการเป็นสมาชิก เท่ากับหมดโอกาสส่งออกหรือค้าขายได้ และสมาคมก็ลงลึกไปอีกชั้นว่า สมาชิกซื้อของจากผู้ที่ละเมิด ก็จะขับออก เวลาเขียนข่าว นำเสนอข่าว ช่วยกันสร้างผลสะท้อน ดังนั้น อยากทราบความเห็นจากภาคส่วนอื่นเช่นกัน”

ธนียากล่าวเสริมว่า“เราสามารถสอบถามเครือข่ายแรงงานได้ เรียนว่า เครือข่ายคนงานเองดูแลและระมัดระวังตนเองมากขึ้น กฎหมายที่ประเทศดูแลไม่ได้ ก็ต้องดูแลตัวเอง ดูแลกันและกัน”

ทั้งนี้วงเสวนาเสนอว่าทางออกที่จะแก้ปัญหาเด็กข้ามชาติได้เร็วที่สุดก็คือการให้การศึกษาแก่เด็ก แต่ต้องขอให้เกิดการผสานความร่วมมือทั้งจากทางภาครัฐ  โรงเรียน และพ่อแม่เอง โดยในทางภาครัฐนั้นกระทรวงแรงงานต้องเข้ามาดูแลในมาตรการการตรวจสอบแรงงานเด็กในภาคอุตสาหกรรม ในด้านพ่อแม่และโรงเรียนต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้เด็กได้เข้ารับการศึกษาเท่าที่จะทำได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท