Skip to main content
sharethis

ผู้อำนวยการร่วมของเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus เผยการกุมอำนาจการตัดสินใจทางนวัตกรรมของกลุ่มนักเก็งกำไรผู้มีความมั่งคั่งโดยคำนึงถึงสิ่งเดียวคือความมั่งคั่งที่มากขึ้นของพวกเขาเท่านั้นโดยไม่สนใจชีวิตของชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่าง

13 มิ.ย. 2558 จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการร่วมของเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus และ นักวิจัยของมูลนิธิโอเพ่นโซไซตี้เขียนบทความเชิงวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันที่เขาเรียกว่าเป็นการเสี่ยงโชคแบบใหม่ (neo-lotteryism) ซึ่งมาจากการเล่นล้อกับคำว่าเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) อีกทีหนึ่ง

ในบทความมีการเกริ่นถึงแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบ "เรแกนโนมิกส์" ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ได้รับการส่งเสริมจากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในยุคนั้น เศรษฐกิจแบบเรแกนโนมิกส์เน้นให้รัฐเข้าไปจัดการกับอุปทานรวมของระบบเศรษฐกิจอย่างการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการผลิตภาคเอกชน

เฟฟเฟอร์ระบุว่าก่อนหน้านโยบาย "เรแกนโนมิกส์" มีการนำนโยบายแบบเน้นอุตสาหกรรมมาใช้ในอเมริกาเช่นเดียวกับเกาหลีใต้และบางประเทศในยุโรปอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งจะมีการ "เลือกผู้ชนะและผู้แพ้" ทางเศรษฐกิจเพื่อให้ได้รับทุน จนถึงตอนนี้นโยบายแบบเน้นอุตสาหกรรมยังไม่หมดไป แต่ปัญหาคือแนวคิดแบบเรแกนโนมิกส์ทำให้ "มือที่มองไม่เห็น" เข้าไปจัดการกับตลาดเพื่อหาผู้ชนะและผู้แพ้แทนที่จะเป็นสิ่งที่กระทำโดยรัฐ

เฟฟเฟอร์วิจารณ์ว่าถึงแม้ว่าชนชั้นนำที่เป็นนักลงทุนจะช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศให้กับสหรัฐฯ เพียงร้อยละ 0.3 แต่ชนชั้นนำเหล่านี้กลับมีอิทธิพลมากอย่างไม่สมกับจีดีพีที่พวกเขาสร้าง พวกเขาคอยตัดสินใจวิธีการสื่อสารและวิถีชีวิตของผู้คน อีกทั้งกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ก็เป็นผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจโน้มเอียงเข้าข้างกลุ่มคนร่ำรวยมหาศาล อำนาจเหล่านี้ทำให้พวกเขา "ได้พนันง่ายกว่า"

ในบทความมีการเปรียบเทียบเศรษฐกิจแบบนี้กับการเสี่ยงโชค โดยเฟฟเฟอร์เรียกว่าเป็นการเสี่ยงโชคแบบใหม่ (neo-lotteryism) เขาเปรียบเทียบว่าในขณะที่กลุ่มคนทำงานเสี่ยงโชคด้วยการเล่นล็อตเตอร์รีกลุ่มชนชั้นกลางจะเล่นเสี่ยงโชคในแบบที่ต่างออกไปเช่น การเสี่ยงโชคทางการศึกษา (educational lottery) ที่ให้ผลลัพธ์เป็นงานที่ดีแก่ลูกหลานของพวกเขาเพื่อคงสถานะทางชนชั้นไว้ได้

เฟฟเฟอร์ระบุว่า ถึงแม้ชาวอเมริกันจะเชื่อมายาคติเรื่อง "การสร้างความร่ำรวยจากจากยาจกเป็นเศรษฐี" (rags to riches) แต่สุดท้ายแล้วการศึกษาก็มีส่วนทำให้กลุ่มชนชั้นแรงงานต้องปากกัดตีนถีบมากกว่าในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีเมื่อเทียบกับชนชั้นกลางอีกทั้งยังสร้างหนี้ให้พวกเขาทำให้มีการพัฒนาเปลี่ยนทางชนชั้นได้น้อย

ในส่วนของชนชั้นนำ เฟฟเฟอร์ระบุว่ามีการเสี่ยงโชคในอีกแบบหนึ่งคือการที่นักลงทุนในระดับสูงเป็นผู้ตัดสินว่าแนวความคิดแบบไหนจะเป็นผู้แพ้แบบไหนจะเป็นผู้ชนะ หรือไม่ก็ทำให้บริษัทที่พวกเขาลงทุนอยู่ขยายตัวมากขึ้นจนเกิดการครอบงำตลาด แต่การทำธุรกิจร่วมลงทุนเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันที่เชื่อมายาคติเรื่องจากยาจกเป็นเศรษฐีเกิดความหวัง เป็นความหวังแบบเดียวกับการเสี่ยงพนันหรือการลงทุนกับการศึกษา แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือธุรกิจแบบร่วมลงทุนส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับที่ไม่เหมาะสม

เฟฟเฟอร์ระบุว่านโยบายอุตสาหกรรมที่อยู่ในความควบคุมของรัฐเป็นเรื่องดีในแง่การสร้างความมั่งคั่งแล้วกระจายความมั่งคั่งออกไป แต่ถ้าให้อำนวจควบคุมเป็นของกลุ่มทุนที่เลือก "ผู้ชนะ" เพียงหยิบมือก็จะทำให้เกิดกระบวนการที่ความมั่งคั่งตกอยู่ในมือคนน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการว่างงานโดยเฉพาะในภาคส่วนธุรกิจไอทีซึ่งมีการจ้างงานน้อยมากเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ

ในมุมมองของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจแล้วพวกเขามองว่าคนงานจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรวมถึงสวัสดิการต่างๆ พวกเขาจึงพยายามลดต้นทุนด้านแรงงานด้วยการลดอัตราการจ้างงาน ลดค่าจ้างคนงาน ใช้คนงานทำงานในชั่วโมงที่มากขึ้น หรือต้องแบกรับภาระงานอื่นเพิ่ม

แต่เฟฟเฟอร์ก็ระบุว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของธุรกิจร่วมลงทุนซึ่งเป็นแค่ส่วนปลาย สิ่งที่ทำให้เกิดระบบธุรกิจที่เอื้อต่อการนำความมั่งคั่งไปให้คนชั้นสูงคือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการควบรวมกิจการ ผู้จัดการกองทุนเก็งกำไร (เฮดจ์ฟันด์) และตลาดพันธบัตร อีกทั้งยังมีระบบโครงสร้างภาษีที่ทำให้คนรวยยังคงความมั่งคั่งของตนต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินทุนแบบขึ้นไปสู่ชนชั้นนำเบื้องบน

"แม้ว่าจะมีทุนจำนวนหนึ่งที่ไหลหยดลงสู่เบื้องล่างบ้างอย่างช่วยไม่ได้ แต่เมื่อเทียบกับการสูบความมั่งคั่งเสียงดังสนั่นของคนที่อยู่เบื้องบนแล้วถือว่ามากกว่าอย่างเทียบไม่ติด" เฟฟเฟอร์ระบุในบทความ

บทความใน FPIF ยกตัวอย่างกรณีของเดวิด ซาสลาฟ ประธานของช่องสถานีดิสคัฟเวอร์รี่แชนแนลทำเงินได้มากกว่า 150 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับค่าเงินเดือนโดยเฉลี่ยของผู้บริหารในพื้นที่รัฐวอชิงตันดีซีที่ได้รับราว 4 ล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนซีอีโอของบริษัทเครื่องฟอกไตที่อาศัยรายได้ 2 ใน 3 มาจากภาษีของประชาชนอเมริกันก็มีรายได้ถึง 14 ล้านดอลลาร์ต่อปี

เฟฟเฟอร์ระบุว่าแต่เดิมแล้วผู้พัฒนานวัตกรรมจะอาศัยธนาคารและหน่วยงานธุรกิจขนาดย่อม หรือไม่ก็อาสัยแหล่งทุนจากคนในครอบครัวที่มีความมั่งคั่ง แต่ในตอนนี้พวกเขาต้องอาศัยนักธุรกิจแบบร่วมลงทุนที่แม้จะมีความรู้อย่างเช่นในภาคส่วนเทคโนโลยี แต่พวกเขาก็เน้นอยู่อย่างเดียวคือการทำกำไรอย่างไม่ลืมหูลืมตา พวกเขาต้องการกำไรกลับมาเป็นพันเท่า ทำให้พวกเขามีแต่ความมั่งคั่งส่วนตัว การบริจาคของพวกเขาก็ทำให้ชนชั้นกลางเหมือนไม่มีอยู่จริงบนโลกเหมือนโลกนี้มีแต่คนจนกับคนรวย

ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกที่ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปเรื่อยๆ และต้องการกลไกบางอย่างในการสนับสนุนนวัตกรรม และไม่มีอะไรหยุดกระแสธารเชี่ยวกรากของทุนนิยมได้ แต่เฟฟเฟอร์ก็ระบุว่าสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้คือการมีนโยบานอุตสาหกรรรมที่เหมาะสม โดยมีบรรทัษฐานการพิจารณาอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการทำกำไร เช่นด้านการจ้างงาน ความยั่งยืน ผลประโยชน์ต่อสาธารณะ ผลประโยชน์ต่อชาติ เป็นต้น

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net