Skip to main content
sharethis

12 มิ.ย. 2558 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดงาน วันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ ครบรอบ 66 ปี ณ ห้อง ศ.ทวีแรงขำ (ร.103) ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘ก้าวย่างในยามวิกฤต : รัฐ ราชการ มนุษย์’ ดำเนินรายการโดย จิตติภัทร พูนขำ วิทยากรร่วมเสวนาโดย วสันต์ เหลืองประภัสร์, วรรณภา ติระสังขะ และ พินิตพันธุ์ บริพัตร โดยวิทยากรทั้งสามเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ ในช่วงแรก ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวนำในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ  ‘รัฐ ราชการ มนุษย์ : ความจำกัด/ย้อนแย้ง/วนเวียนของชีวิตทางการเมือง’ โดยกล่าวถึงสามประเด็นพร้อมตั้งคำถาม ดังนี้

รัฐ : ชลิดาภรณ์ กล่าวถึงประเด็นใหญ่ในสังคมตอนนี้ซึ่งคือการร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ซึ่งสังคมไทยได้เชื่อมประชาธิปไตยเข้ากับรัฐธรรมนูญ โดยสองสิ่งนี้มีความใกล้ชิดแนบแน่นกันตามความเข้าใจของผู้คน รัฐสภา การเลือกตั้ง เสียงข้างมาก นั้นเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยตามความเข้าใจของทั่วโลก

ชลิดาภรณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การจะเป็นประชาธิปไตยโดยเสียงข้างมากได้จะต้องมีฝ่ายแพ้-ชนะ ซึ่งเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นศัตรู รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่นั้นตั้งอยู่บนความเชื่อหลายประการ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญเชิงกลไก คำถามคือรัฐธรรมนูญเชิงกลไกบนพื้นฐานประชาธิปไตยความเป็นศัตรูนี้จะนำไปสู่อะไร?

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่? จะสร้างฉันทามติได้หรือไม่? ในช่วงเวลาที่คนเห็นต่างและมองโลกต่าง โดยกล่าวต่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นเทคนิคมาก ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้คิดและโต้เถียงซึ่งถือว่าเป็นการผลักประชาชนออก ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่นำไปสู่ฉันทามติ ดังนั้นหากมองว่ารัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ทางออก จึงต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่ทุกคนช่วยกันคิดฉันท์มิตร เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากมุมมองทางการเมืองไม่ใช่ทางเทคนิค

ราชการ : ถือว่าเป็นแขนขาของรัฐสมัยใหม่ เป็นระบบที่ปฏิเสธไม่ได้ จึงต้องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตอบความต้องการประชาชน โดยมีความคาดหมายว่า ระบบราชการจะสนับสนุนระบบประชาธิปไตยของรัฐ แต่ตอนนี้ระบบราชการจะถูกวางไว้ตรงไหนในเมื่อตอนนี้ราชการเข้าคุมรัฐเสียเอง ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ (ระบบราชการเข้าคุมรัฐ) จะไปกันได้กับระบบประชาธิปไตยหรือไม่

มนุษย์ : ชลิดาภรณ์กล่าวว่าโจทย์ที่ทางผู้จัดต้องการน่าจะหมายถึงคำว่า ‘มนุษยธรรม’ ประเด็นที่น่าสนใจในเวลานี้คือการเคลื่อนย้ายมนุษย์อย่างกลุ่มคนโรฮิงญา ซึ่งเป็นโจทย์และปัญหาสำคัญที่กำลังทิ่มแทงรัฐอยู่ในขณะนี้

“คำถามชวนคิดคือ เราเริ่มต้นรัฐสมัยใหม่ เราเชื่อว่าอธิปไตยมีเหนือดินแดน รัฐคุ้มครองและบริการพลเมืองของตน แต่จะเลยไปถึงพลเมืองรัฐอื่นไหม?” ชลิดาภรณ์ กล่าว

00000

วรรณภา ติระสังขะ : (รัฐ)ธรรมนูญ ความสำคัญและการก้าวย่างผ่านวิกฤต

วรรณภา ได้กล่าวถึงคำว่า ‘รัฐ’ ซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึง ‘รัฐธรรมนูญ’ ตามสภาพการณ์ปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่ารัฐกำลังวิกฤตใช่ไหม? อะไรคือวิกฤต? และรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของไทยเป็นสาเหตุของวิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหรือไม่?

“รูปธรรมของวิกฤตความขัดแย้งตลอดสิบปีที่ผ่านมา หรือมากกว่านั้น ใช่เรื่องเหล่านี้หรือเปล่า? ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าลงของประชาธิปไตยแบบตัวแทน การทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่เสมอภาคทางการเมือง การใช้ความรุนแรง ปัญหาการชุมนุมสาธารณะ เสรีภาพของสื่อมวลชน การขยับเคลื่อนตัวของชนชั้นกับการพยายามรักษาฐานอำนาจของกลุ่มชนชั้นเดิม  การไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน หรือการไม่มีสมดุลของสังคมในการใช้อำนาจ คำถามที่ชวนคิดต่อมาคือ ถ้าสิ่งเหล่านี้มันใช่ และเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตของสังคมไทยเรา ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปที่ก้าวผ่านวิกฤตนี้ออกไปเนี่ย การมุ่งไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นนั้น จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของวิกฤตนี้ได้หรือไม่ และเรายังมีความหวังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่?” วรรณภาตั้งคำถามเพื่อเริ่มต้นการอภิปราย

วรรณภา กล่าวถึงเหตุผลว่า ทำไมเราต้องใช้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกในการก้าวย่างออกจากวิกฤต นั่นเป็นเพราะรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ เป็นกฎหมายสูงสุดในรัฐซึ่งได้กำหนดระเบียบอำนาจสูงสุดในรัฐ กำหนดความสัมพันธ์อำนาจ ในรัฐธรรมนูญจะพูดถึงเจ้าของอำนาจสูงสุด ผู้ใช้อำนาจ การแบ่งแยกอำนาจ การใช้อำนาจ ความสัมพันธ์ต่ออำนาจสูงสุดเหล่านี้ต่อกัน รวมถึงสิทธิเสรีภาพของปวงชน ที่สำคัญไม่ว่าประเทศไหนจะปกครองด้วยระบอบใดก็ตามก็ย่อมมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้ยืนยันว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตย หากอยากทราบว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ต้องอ่านด้านในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามในแต่ละประเทศก็อาจจะไม่ได้เรียกว่ารัฐธรรมนูญ บางประเทศเรียก Basic Law แต่ชื่อก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่สำคัญเท่าไหร่นัก

วรรณภา อภิปรายต่อว่า รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้จากเหตุผลที่ต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศประชาชนโค่นล้มระบอบกษัตริย์ เช่น ฝรั่งเศส หรือรัสเซีย หรือพัฒนาการและการต่อสู้ภายในบางประเทศ กษัตริย์และกลุ่มขุนนางยอมประนีประนอม เช่น อังกฤษ หรือการต่อสู้เพื่อเอกราชในประเทศอาณานิคม หรือประเทศเกิดใหม่ เช่น อเมริกา อินเดีย พม่า หรือเกิดจากประเทศยึดครองเป็นผู้ร่างให้ เช่น ญี่ปุ่น หรือเกิดจากการทำรัฐประหาร หรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น ไทย เป็นต้น เหตุที่รัฐธรรมนูญเป็นก้าวย่างสำคัญในการผ่านพ้นวิกฤต เพราะรัฐธรรมนูญมีศักดิ์เป็นกฎหมายสูงสุดเหนือกฎหมายอื่นใด กฎหมายอื่นๆ จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายตามอุดมการณ์แบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประชาคมที่ประชาชนทุกคนร่วมตกลงสร้างขึ้น และยินยอมใช้ร่วมกัน คำอธิบายกระบวนการในการตรารัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ามีการให้ความสำคัญในขั้นตอนการเขียน กรรมการ ระยะเวลาในการจัดทำ ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญมีความแตกต่างจากกฎหมายอื่นๆ คำอธิบายในเชิงที่มาของอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ อำนาจนี้คือ อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชนที่มอบให้ หรือยินยอมให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผ่านหลายๆ กระบวนการในการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้น หลังการเขียนรัฐธรรมนูญเสร็จ อำนาจที่ตามมาคืออำนาจที่เกิดขึ้นจากการมีรัฐธรรมนูญใช้ ทั้งอำนาจตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติที่เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ความสำคัญของรัฐธรรมนูญอีกอย่างหนึ่งคือเนื้อหา ซึ่งมีเนื้อหาพูดถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ความสัมพันธ์ของอำนาจต่อกัน สิทธิเสรีภาพ องค์กรทางการเมือง เมื่อในเชิงเนื้อหามีความสำคัญจึงต้องมีกลไกปกป้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งแล้วแต่ประเทศต่างๆ ในการออกแบบการปกป้อง โดยส่วนใหญ่จะมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรทำหน้าที่ปกป้อง

ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญสำคัญ จึงสามารถเป็นเครื่องมือก้าวผ่านวิกฤตและการปฏิรูปได้ โดยสิ่งสำคัญคือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นคือการสร้างสังคมให้สมดุล รัฐธรรมนูญที่ดีมีหัวใจสำคัญคือ ทำยังไงให้สังคมสมดุลให้ได้

วรรณภา กล่าวถึงเรื่องหลักนิติรัฐ โดยกล่าวว่าในสังคมไทยมีปัญหาในการทำความเข้าใจเรื่องนี้

1. หลักนิติรัฐคือ หลักที่กฎหมายเป็นใหญ่กว่าคน เพราะคนมีอารมณ์ อคติ จึงอาจจะใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ ดังนั้นกฎหมายจึงเป็นหลักที่เป็นกลางที่สุดและสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยในตัวเอง รัฐจะทำอะไรที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้ รัฐจะต้องถามถึงขอบเขตของกฎหมายเสมอ

2. ระบบนิติรัฐคือ การแบ่งแยกอำนาจซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งตามที่เข้าใจกันคือการแบ่งอำนาจเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และให้ทั้งหมดถ่วงดุลกัน แต่ควรไปไกลกว่านั้น คือการแบ่งแยกอำนาจหรือการใช้อำนาจต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนด้วย เมื่อใดก็ตามใช้อำนาจมาก จะต้องมีที่มาที่เชื่อมกับประชาชนมาก

3. หลักนิติรัฐ และรัฐธรรมนูญ เรียกร้องว่ารัฐธรรมนูญเป็นแหล่งที่มาของการใช้อำนาจ และการจำกัดการใช้อำนาจ การใช้อำนาจทำได้ภายใต้ขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญให้ เมื่อไม่มีกฎหมายก็จะไม่มีอำนาจ สิ่งสำคัญคือไม่ว่าในกฎหมายใดหรือรัฐธรรมนูญก็ตามต้องมีความแน่นอน มีความต่อเนื่อง ห้ามให้มีผลย้อนหลัง ซึ่งหลายฉบับๆ จะมีความย้อนหลังของรัฐธรรมนูญ

4. นิติรัฐเรียกร้องให้กฎหมายเป็นใหญ่ไม่ใช่คนเป็นใหญ่ นั่นคือตุลาการต้องเป็นอิสระเช่นกัน นิติรัฐก็คือทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย กฎหมายนั้นต้องมีความสอดคล้องทั้งในรูปแบบและเนื้อหา รูปแบบคือต้องมีกระบวนการตราและเขียนโดยอำนาจที่ถูกต้องชอบธรรม มีเนื้อหาสาระที่เป็นประชาธิปไตย ประกันสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดของหลักนิติรัฐ ดังนั้นรัฐธรรมนูญก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้สังคมก้าวพ้นผ่านวิกฤตไปได้ ลดปัญหาความขัดแย้งได้

วรรณภาเสนอ ‘3 ต้อง’ ของรัฐธรรมนูญที่ดี

รัฐธรรมนูญ ต้องไม่เป็นตัวปัญหา หรือสร้างเงื่อนไขของวิกฤตขึ้นใหม่ การออกแบบจึงต้องสร้างดุลภาพของการเมืองไม่ก่อให้เกิดปัญหา ย้อนดูปัญหาที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นเพราะความไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างใหม่ต้องคำนึงความเชื่อมโยงที่มีต่อประชาชนว่ามากน้อยเพียงใด

รัฐธรรมนูญ ต้องแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นในอดีตได้ด้วย โดยสิ่งที่เห็นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือความพยายามที่จะแก้ไขปัญญาโดยมองว่าฝ่ายบริหารหรือนักการเมืองมีปัญหาคอร์รัปชัน จึงมีการจัดตั้งองค์กรต่างๆมากมาย แต่คำถามคือทำไมไม่ปฏิรูประบบราชการ มีองค์กรใหม่ๆมากมายเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป คำถามคือองค์กรเหล่านี้จะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นใหม่หรือไม่? มีองค์กรเกิดขึ้นมากมายแต่ระบบเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข

การที่รัฐธรรมนูญจะแก้ไขปัญหาในอดีตได้จะพิสูจน์ได้อย่างไร นั่นคือต้องใช้เวลา ต้องมีการบังคับใช้ เรียนรู้ และปรับเปลี่ยน ดังนั้นเงื่อนไขอีกข้อคือรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้ ไม่ตายตัว ต้องเปิดโอกาสให้มีการทบทวบรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ต้องสามารถจัดการ หรือมีทางออกให้กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอนาคต ต้องไม่สร้างกับดักใหม่ให้เกิดขึ้น

“นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือเรียกร้องให้เราเห็น และยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ดิฉันคิดว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราก้าวผ่านวิกฤตความขัดแย้งในสังคมไปได้ นอกจากรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือกลไกที่สำคัญ การสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าคนเท่ากัน มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นคนที่เท่ากัน แน่นอนว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เพศสภาพ เชื้อชาติ ลักษณะภายนอกจะทำให้เราแตกต่างกัน แต่ทุกก็ย่อมมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าๆ กัน เพราะทุกคนในสังคมต่างมีสิทธิ์ มีเสียง และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเป็นเจ้าของประเทศนี้เช่นเดียวกันกับทุกๆ คน” วรรณภา กล่าว

 

วสันต์ เหลืองประภัสร์ : ราชการ ปมปัญหาสำคัญในการปฏิรูปการเมืองไทย

วสันต์ ได้อภิปรายในสองประเด็นคือ 1. ปัญหาของระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้นเชื่อมโยงกับราชการทั้งสิ้น และ 2. ปัญหาระบบราชการกับการเมืองไทยในตอนนี้คือ ความสมดุลและไม่สมดุลของการบริหารราชการไทยในการรวมศูนย์-กระจายอำนาจ

วสันต์ เริ่มอภิปรายในปัญหาของระบบราชการต่อประชาธิปไตย โดยตั้งคำถามว่าจะไปด้วยกันได้อย่างไร? ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดในทั่วโลก ในรัฐสมัยใหม่ทั่วโลก สิ่งที่รัฐขาดไม่ได้คือระบบราชการซึ่งนำมาซึ่งความยุ่งยากต่อระบบประชาธิปไตย ปัญหาคือจะไล่ออกไม่ได้ อยู่ด้วยกันก็มีปัญหา แต่อย่างไรก็ถือว่ามีเสน่ห์สำหรับการศึกษาระบบบริหาร เพราะระบบราชการคือระบบในการขับเคลื่อนงานของรัฐ หากระบบการเมืองนิ่ง ระบบบริหารก็จะนิ่งตามได้ง่าย การบริหารราชการนั้นมีเป้าหมายคือมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และประหยัด แต่พอมีระบบประชาธิปไตยเข้ามาแล้วมันเริ่มยุ่งยากมากขึ้นเพราะคุณค่าทางการบริหารแบบดั้งเดิม (ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด) มันอาจจะไม่พอในระบบประชาธิปไตย เพราะมีเรื่องของความรับผิดรับชอบ การมีส่วนร่วม สิทธิเสมอภาคความเท่าเทียมซึ่งเป็นคุณค่าแบบประชาธิปไตย และขัดกันกับคุณค่าของระบบราชการ

ในช่วงศตวรรษที่ 20 ในประเทศเกิดใหม่ โลกได้เห็นปรากฏการณ์ที่ระบบราชการเข้ามายึดกุมอำนาจบริหารประเทศเสียเอง ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยก็เป็นเช่นนั้นด้วย แต่สิ่งที่น่าสนใจนั่นคือในประเทศซึ่งระบอบการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยมั่นคงแล้ว แต่ความสัมพันธ์กับระบบราชการก็ยังเป็นปัญหามาโดยตลอด มีข้อถกเถียงตามมาว่าจะจัดการอย่างไรดี ยกตัวอย่างเช่นในอเมริกา แม้ว่าประชาธิปไตยจะเข้มแข็งแต่ว่าการจะเข้าไปแทรกแซงในระบบราชการนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยกตัวอย่าง เช่น องค์กรตำรวจ ซีไอเอ ฯลฯ ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เราก็จะเห็นว่ามันมีการกระทำใดๆ ก็ตามที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มไปหมดและขัดกับหลักประชาธิปไตยในหลายประการ จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่ารัฐสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยจะอยู่ร่วมกับระบบราชการได้อย่างไร

วสันต์ อภิปรายต่อว่า ปมปัญหาการเมืองที่สำคัญของไทยนั้นยึดโยงกับกลไกระบบราชการอย่างมาก ปัญหาอย่างแรกคือ ระบบราชการนั้นเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบัน ในสังคมมีคนหลายกลุ่ม ระบบราชการก็คือกลุ่มหนึ่ง และหากพูดถึงการเมือง การเมืองก็คือเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งระบบราชการนั้นแม้จะเป็นกลุ่มผลประโยชน์แต่ความพิเศษคือเป็นสถาบันด้วย ในการเชื่อมโยงระบบราชการกับรัฐธรรมนูญนั้น ในทัศนะของตนมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นของปลอมเพราะประเทศไทยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยมากยิ่งกว่าระเบียบราชการใดๆ และขาดความคงเส้นคงวา แต่ในขณะเดียวกฎหมายอื่นโดยเฉพาะกฎหมายอำนาจหน้าที่และกลไกรัฐในการดำเนินงานระบบราชการค่อนข้างที่จะถาวรและเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะระบบราชการคือกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบันดังนั้นอะไรที่กระทบต่อฐานอำนาจ และวิธีการดำเนินงานจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปเปลี่ยน

“อะไรคือปมปัญหาสำคัญของการเมืองการบริหารประเทศไทย ผมก็ยังยืนยันว่าเป็นปัญหาที่ตัวระบบราชการ และความยุ่งยากที่สุดในการปฏิรูปการเมืองไทยก็ยังอยู่ที่ตัวระบบราชการ ก็ตามที่พูดไปแล้วว่าเพราะราชการเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในเชิงสถาบัน แต่อันที่สองอย่าลืมนะครับว่า ในบรรดาสถาบันการเมืองไทยสมัยใหม่ทั้งหมด สถาบันทางการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด มีเสถียรภาพสูงที่สุด มีการปรับเปลี่ยนน้อยที่สุดคือระบบราชการ” วสันต์ กล่าว

วสันต์ กล่าวต่อว่า ระบบพรรคการเมือง การเลือกตั้งนั้นมาทีหลังระบบราชการ ดังนั้นระบบราชการจึงเข้มแข็งอย่างลึกซึ้งมากในสังคมไทย แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนโดยมองไปข้างหน้าเพื่อฝ่าวิกฤตปัจจุบันนั้น ประเด็นสำคัญคือความไม่สมดุลในการจัดโครงสร้างการบริหารระบบราชการไทย ทั้งในการรวมศูนย์อำนาจและการกระจายอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

การรวมศูนย์อำนาจมีข้อดี เช่น เกื้อหนุนในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ เกื้อหนุนต่อการขับเคลื่อนภารกิจบางอย่างที่ต้องเป็นเอกภาพสูง เกื้อหนุนภารกิจบางอย่างที่ส่วนอื่นทำไม่ได้นอกจากรัฐส่วนกลาง เช่น ความมั่นคง หรือการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ผูกพันรัฐทั้งหมด และการกระจายอำนาจเองก็มีข้อดีหลายประการ เช่น เกื้อหนุนต่อประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม  

เรื่องที่ควรรวมไม่รวม แต่เรื่องที่ควรกระจายกลับไม่กระจาย

วสันต์ กล่าวอีกว่า โครงสร้างราชการไทยมีความสับสนมากที่สุด มีความไม่สมดุลระหว่างการรวมศูนย์และการกระจาย เรื่องที่ควรรวมไม่รวม แต่เรื่องที่ควรกระจายกลับไม่กระจาย ภายใต้ยุคโลกาภิวัฒน์ที่การแข่งขันระหว่างประเทศรุนแรง บทบาทรัฐถูกลดทอนไปมาก แต่รัฐก็ยังต้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม เรื่องใหญ่ที่รัฐต้องรวมศูนย์และขับเคลื่อนคือยุทธศาสตร์ชาติ สังคมต้องมีข้อยุติในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอะไร ยืนในจุดไหนในระบบเศรษฐกิจโลก ประเด็นนี้ในระดับประเทศต้องเป็นเอกภาพแต่ประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์ชาติ เรามีปัญหาในการขับเคลื่อนแบบแผนประเทศไปในทิศทางเดียวกัน และเราไปรวมศูนย์ในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์ อำนาจการบริการราชการส่วนใหญ่กระจุกตัวที่กรมส่วนกลางที่มีราว 149 กรม ซึ่งตามหลักทั่วโลกระบบราชการส่วนกลางมักจะทำงานใหญ่ในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติหรืองานส่วนอื่นๆ ที่คนอื่นทำไม่ได้ คำถามคือกรมต่างในไทยส่วนใหญ่ทำอะไร?

“ผมยกตัวอย่างแบบนี้มาหลายครั้ง ทุกวันนี้เราชอบกินเนื้อญี่ปุ่น เกาหลี เนื้อวากิว โกเบ... คำถามคือกรมปศุสัตว์ไทยทำอะไร? ถ้าดูระดับกรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นกรมหน่วยราชการส่วนกลาง คุณจะทำหน้าที่ในด้านวิชาการยุทธศาสตร์ของประเทศ ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ เช่น พันธุ์วัว พันธุ์เนื้อ รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อ แต่สิ่งที่ราชการส่วนกลางในระบบการเมืองไทยทำคือ ชอบออกไปอยู่ต่างจังหวัด” วสันต์ กล่าว

วสันต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกที่ระบบราชการไทยที่ชอบออกไปตั้งอยู่ต่างจัดหวัดไม่อยู่ในกรุงเทพฯ มีการขยายโครงสร้างออกต่างจังหวัดเพื่อทำงานเล็กๆ ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่ในขณะเดียวกันงานใหญ่กลับไม่ทำหรือทำไม่ได้ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุล

ในด้านการกระจายอำนาจซึ่งเป็นการนำอำนาจรัฐมอบให้คนอื่นเพื่อไปทำงานร่วมกับคนอื่นซึ่งไม่ใช่กลไกรัฐส่วนกลาง ซึ่งสามารถทำได้ในหลากหลายร่วมแบบ เช่น การร่วมมือกับเอกชน ฯลฯ ส่วนนี้ที่ควรกระจายกลับไปกระจายหรือกระจายไม่เพียงพอ ในชีวิตประจำวันจะเห็นว่ากลุ่มคนที่ดูแลสวัสดิภาพ และชีวิตเราในระบบราชการนั้นทำงานสับสนมากซึ่งเกิดจากการไม่กระจายงาน การทำบัตรประชาชนใหม่ ต่ออายุพรบ. มีปัญหาถนนหน้าบ้าน พบเจอคนเสพยาใกล้บ้าน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ควรจะบอกหรือแจ้งใครคนส่วนใหญ่ตอบได้ไม่ครบทุกคำถามเพราะคนที่รับผิดชอบชีวิตเราในเรื่องพวกนี้มีเยอะมาก และเราไม่รู้ที่ตั้งสำนักงาน เราต้องเปิดกูเกิ้ลเพื่อค้นหา ปัญหาเหล่านี้เกิดจากส่วนกลางรวมอำนาจการบริการต่างๆ ไว้ไม่กระจายออกไปตามพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน ประเด็นพวกนี้หวังว่าในการปฏิรูปประเทศจะมีการพูดถึงมากขึ้น

“ผมคิดว่าเราควรจะพูดถึงประเด็นนี้มากขึ้น ผมอยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีครับ ผมเพิ่งมีลูกนะครับอายุ 3 ขวบ ผมฝันอยากจะจูงมือลูกไปโรงเรียนใกล้บ้าน ฝันที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีในราคาที่เหมาะสม มีความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี การบริหารราชการแผ่นดินที่ดีจะเป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้” วสันต์ กล่าวทิ้งท้าย

 

พินิตพันธุ์ บริพัตร : วิกฤตการณ์มนุษย์ในโลกสมัยใหม่

พินิตพันธุ์ อภิปรายเชื่อมโยงประเด็นมนุษย์ต่อวิกฤตการณ์ประเทศ ทั้งบริบทในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นการค้ามนุษย์โรฮิงญาซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงในสังคมอย่างมาก

พินิตพันธุ์ เริ่มอภิปรายเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่แม้ว่าจะเป็นวิกฤตในเชิงโครงสร้างหรือการเมือง ทั้งการปะทะกันในพม่าเรื่องกลุ่มนายทุน การก่อการร้ายข้ามชาติขบวนการไอซิส การปฏิเสธการรับผู้ลี้ภัยทั้งในยุโรปและในไทย ปรากฎการณ์อาหรับสปริง และการค้ามนุษย์ ทั้งหมดพินิตพันธุ์กล่าวว่ามันคือ ‘วิกฤตการณ์มนุษย์’

วิกฤตการณ์มนุษย์เกิดขึ้นมากมายและมนุษย์เป็นผู้ได้รับเคราะห์กรรมนั้น แต่เมื่อมองในมุมของนักการระหว่างประเทศต้องมองในภาพที่กว้างกว่าปัญหา จึงเสนอว่าปัญหานั้นเกิดจากโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3 มิติด้วยกัน คือ 1.ความเป็นสมัยใหม่ 2.โลกาภิวัฒน์ และ 3.กระแสประชาธิปไตย

ความเป็นสมัยใหม่นั้นเป็นการพัฒนาในระดับระหว่างประเทศซึ่งเกิดขึ้นอย่างยาวนานโดยเฉพาะหลังช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเป็นสมัยใหม่เป็นความพยายามในการสร้างสรณะ แต่ก็เกิดการโต้แย้งมากมายว่าใครใหม่-ใครเก่า, ใครดี-ใครด้อย, ใครนำ-ใครตาม, ใครควรเป็นแบบอย่าง และใครควรจะถูกประณาม ความเป็นสมัยใหม่หลังยุคสงครามเย็นถูกขยายไปในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศในความเป็นรัฐชาติต่างๆ การกระจายเศรษฐกิจหรือโอกาสในการดำเนินชีวิตทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความเป็นสมัยใหม่ได้สร้างโครงสร้างอะไรบางอย่างที่เป็นปัญหาแม้ว่าจะไม่มีใครตั้งใจให้เกิดขึ้น ความเป็นสมัยใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นในทุกอณูของประเทศใดประเทศหนึ่งได้ เพราะมีการเคลื่อน และมีกระบวนการ

เช่นเดียวกันกับโลกาภิวัฒน์ ซึ่งคือการข้ามแดนอย่างมาก เร็วและแรง มีการกระทบรุนแรง ปัญหาวิกฤตการณ์มนุษย์ที่เกิดขึ้นในรัฐชาติใดรัฐชาติหนึ่งขยายดินแดนได้อย่างรวดเร็วและยากที่จะป้องกัน ความรับผิดชอบจึงต้องเกิดร่วมกันในระบบโลก ดังนั้นโลกาภิวัฒน์ไม่ว่าจะเป็น สื่อ กลุ่มทุน การเดินทาง ฯลฯ ต้องวิ่งตามระบบทุนนิยม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มค้ามนุษย์เองก็ต้องวิ่งตามระบบทุนนิยม มีทุนที่ไหนก็วิ่งไปที่นั่น ชี้ให้เห็นถึงโลกาภิวัฒน์ซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

พินิตพันธุ์ อภิปรายต่อว่า ในประเด็นที่ 3 หรือกระแสความเป็นประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ควรต้องขบคิดสามประเด็น

1. ในโลกสมัยใหม่ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี แต่ในอีกทางหนึ่งเรากำลังเหยียดหยามดูถูกประเทศ หรือสังคมที่เราคิดว่าเขาไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งการขัดแย้งทางความคิดทำให้เกิดปัญหา เช่น ในพม่าที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะเกิดการตั้งคำถามว่าเขาบริหารจัดการกันอย่างไร

2. ความเปิดทางการเมือง ซึ่งสะท้อนถึงโลกสมัยใหม่และเป็นสิ่งที่ดี โดยยุคหลังสงครามเย็นเป็นต้นมามีการเปิดทางการเมืองแต่อย่างไรก็ตามได้ถูกเปิดขึ้นมาพร้อมกับช่องโหว่ของการบริหารจัดการ เช่น การคอร์รัปชั่น อาชญากรรมข้ามชาติ ฯลฯ ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากเราไม่มีการบริการจัดการหรือรัฐบาลที่ดี

3. กระบวนการทางการเมือง การบวนการเปลี่ยนถ่ายจากอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตย ทั้งอาหรับสปริงที่ลิเบีย, พม่า แม้กระทั่งในไทยนั้น มีช่องโหว่ของโอกาสที่ทำให้ประชาชนเกิดการปะทะสังสรรค์ มีนักวิชาการในอเมริกาหลายคนพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าประชาธิปไตยสร้างความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ในยุโรปตะวันออกหลังสงครามเย็น เพราะสิทธิเสรีภาพที่มากยิ่งขึ้นจึงเกิดการเรียกร้อง แต่ความต้องการมาพร้อมกับเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และศาสนา มีความต้องการในผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเปิดทางการเมืองจึงเป็นเสมือนเวทีที่เราต้องทะเลาะกัน หมายถึงการที่มนุษย์ต้องปะทะกัน ซึ่งทั้งหมดนี้คือกระแสระหว่างประเทศที่เราไม่สามารถต้านทานได้

ดังนั้นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์โดยเฉพาะเรื่องการค้ามนุษย์และความมั่นคงมนุษย์ ในที่นี้รวมถึงประเด็นโรฮิงญานั้น เป็นเรื่องทางโครงสร้างและกระบวนการที่สั่งสมมานาน ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้นไม่ควรกล่าวโทษว่าใครเป็นคนผิด คำถามสำคัญคือเราจะร่วมบรรเทาปัญหาอย่างไร เราไม่อาจบอกได้ว่าโรฮิงญาเป็นปัญหาของพม่าที่ต้องรับผิดชอบ เพราะนี่เป็นกระบวนการค้ามนุษย์ที่มีต้นทางและปลายทาง มีมิติในการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ซ้อนทับกันอยู่ ซึ่งพม่าไม่สามารถแก้ไขได้ และเมื่อมองในมุมที่กว้างขึ้นเป็นมุมมองระหว่างประเทศ เราจึงฉุกคิดได้ว่าปัญหานี้ทุกประเทศก็เผชิญหน้ากันทั้งสิ้น

“คุณจะเห็นได้ว่าปัญหาการค้ามนุษย์ก็ดี สิทธิมนุษยชนก็ดี โรฮิงญาก็ดี มันเกิดขึ้นบนการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน พื้นที่ห่างไกล คนได้-คนไม่ได้รับโอกาส มันเกิดขึ้นบนความขัดแย้งของความคิดประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในพม่าเป็นแบบหนึ่ง ไทยแบบหนึ่ง อเมริกาแบบหนึ่ง พอเรามีความคิดประชาธิปไตยขัดกัน การแก้ปัญหาในเรื่องหนึ่งๆ จึงต่างกัน คุณคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะคุณคิดกันคนละแบบ” พินิตพันธุ์ กล่าว

พินิตพันธุ์ กล่าวว่า ปัญหาชาติพันธุ์ และเชื้อชาติเกิดขึ้นเพราะความคิดสมัยใหม่ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างนับตั้งแต่ยุคลัทธิอาณานิคม แรงงานบางคนบอกว่าตัวเองเป็นกะเหรี่ยงไม่ใช่พม่า นี่เป็นนัยยะสำคัญที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ใช่คนพม่า ในอีกทางหนึ่งคนพม่าก็ไม่เอาคนกะเหรี่ยง บนกระแสโลกาภิวัฒน์ซึ่งเอื้อต่อการย้ายถิ่นทำมาหากินจึงเกิดการฉกฉวย แต่ปัญหานี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหรือเราควรฟังการแก้ปัญหาจากใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่อยากจะเห็นคือ การกระจายความเป็นสมัยใหม่และโลกาภิวัฒน์ให้มีความเท่าเทียมกัน นั่นคือกระจายโอกาสให้เท่ากันทุกคน รัฐชาติปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้มีคนตกหล่นในกระบวนการโลกาภิวัฒน์ การมีรัฐบาลที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ที่จะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net