ความฝันอยากเป็นประธานาธิบดีของเด็กผู้ด้อยโอกาส หนึ่งในเรื่องราวของ 'การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก'

เมื่อเด็กผู้ไม่มีความมั่นใจในตัวเองกล้าลุกขึ้นมาประกาศว่าอยากเป็นประธานาธิบดี เป็นเรื่องราวความประทับใจจากคำบอกเล่าของคนทำงานองค์กรเพื่อการศึกษาแก่เด็กที่ไม่มีพ่อแม่ดูแล ในที่ประชุมหารือเรื่อง "การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก" จากแนวคิดของยูเอ็น

17 มิ.ย. 2558 บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า "การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก" (Global Citizenship Education หรือ GCED) แต่ไม่แน่ใจว่ามันควรจะหมายถึงการศึกษาแบบไหน ทางสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (IPS News) ซึ่งเป็นสำนักข่วทางเลือกนำเสนอเรื่องนี้ผ่านการสัมมนาที่สำนักงานสหประชาชาติเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ในเว็บไซต์ขององค์กรยูเนสโกระบุว่า "การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก" เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์โครงการด้านการศึกษาประจำปี 2557-2560 ของยูเนสโก ซึ่งมีเป้าหมายต้องการให้ผู้เรียนรู้ในทุกช่วงวัยมีความรู้และทักษะซึ่งมีรากฐานและการซึมซับเอาการเคารพในสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมในสังคม ความหลากหลาย ความเสมอภาคทางเพศ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เพื่อเป็นการเสริมพลังให้ผู้เรียนรู้เป็นพลเมืองของโลกที่มีความรับผิดชอบ

โซเฟีย การ์เซีย-การ์เซีย จากองค์กรหมู่บ้านเด็กเอสโอเอสซึ่งเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายตอบสนองความต้องการเด็กมากกว่า 80,000 คน ใน 133 ประเทศ เล่าถึงประสบการณ์ที่เธอเคยทำโครงการเคลื่อนไหวเพื่อเด็กในละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน เธอจัดให้เด็กและวัยรุ่น 1,080 คน จากประเทศแถบละตินอเมริกา 10 ประเทศ หารือกันว่าอะไรควรจะเป็นเรื่องสำคัญที่มาก่อนในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติหลังปี 2558 หลังจากนั้นจึงมีการสรุปรวมตีพิมพ์ในรายงานชื่อ "โลกที่พวกเราต้องการ" ในแบบที่เด็กอ่านได้ง่าย

การ์เซีย กล่าวถึงประสบการณ์ที่เธอทำงานร่วมกับเด็กในโครงการของเอสโอเอสซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่ พวกเขามักจะมีความเคารพในตัวเองที่ต่ำมาก แต่หลังจากที่เธออธิบายเสร็จแล้วบอกพวกเขาว่า "เราต้องการฟังเสียงของพวกเธอ พวกเธอคือตัวแทนของความเปลี่ยนแปลง" เด็กที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักพูดเลยก็ลุกขึ้นบอกโดยทันทีว่าเขาต้องการเป็นประธานาธิบดี ซึ่งการ์เซียบอกว่านี่คือพลังที่แท้จริงของ "การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก"

ในที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ให้การสนับสนุนอย่างสมาพันธ์เอ็นจีโอ 2,600 องค์กรในยุโรปซึ่งรวมตัวกันในนามสมาพันธ์คองคอร์ด (CONCORD) สมาคมโซคาสากล (SGI) และสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส ซึ่งเป็นการประชุมหารือเพื่อสร้างแบบแผนและองค์ประกอบสำคัญสำหรับการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก

อุสมาน ซาร์กี รองผู้แทนถาวรไนจีเรียประจำสหประชาชาติจะกล่าวในที่ประชุมเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการเข้าถึงการศึกษาว่าเป็นสิทธิที่สำคัญต่อจากสิทธิในการมีชีวิตอยู่และสิทธิเสรีภาพ แต่จากข้อมูลขององค์กรยูเนสโกแสดงให้เห็นว่าเด็กจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสิทธิด้านการศึกษา มีเด็ก 58 ล้านคนทั่วโลกต้องออกจากโรงเรียน 100 ล้านคน ไม่จบการศึกษาในระดับชั้นเทียบเท่าประถมศึกษา ประชาชน 781 ล้านคนทั่วโลกไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งในยุคปัจจุบันไม่เพียงแค่การอ่านและเขียนทั่วไปเท่านั้นแต่รวมถึงความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตของผู้คน

แต่การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกไม่ได้หมายถึงแค่การศึกษาเพื่อหาเลี้ยงชีพเท่านั้น ในความหมายของยูเนสโกยังหมายถึง "ความรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในระดับใหญ่และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ" อย่างเรื่องความเข้าใจทางวัฒนธรรม สำนักพลเมืองโลกแบบศตวรรษที่ 21 ที่มีเรื่องของสิทธิมนุษยชน สันติภาพ และความเสมอภาคร่วมด้วย

อินเตอร์เพรสเซอร์วิสระบุว่าในขณะที่การรณรงค์เรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกจะเป็นไปในระดับโลก แต่การนำมาใช้จะมีลักษณะทั่วไปตามการจัดการของรัฐนั้นๆ

ในประเด็นเรื่องการศึกษาดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่คำนึงถึงเรื่องการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงการให้การศึกษาเพื่อเป็นตัวแก้ปัญหาเรื่องสันติภาพ ความมั่นคง และลดแนวคิดแบบหัวรุนแรง ซึ่งซาร์กีเปิดเผยว่าการเข้าถึงการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาแนวคิดก่อการร้ายได้เนื่องจากผู้นำกลุ่มก่อการร้ายก็เป็นคนที่มีการศึกษาสูง จึงควรตั้งคำถามว่าการศึกษาแบบใดที่จะทำให้คนไม่เป็นผู้มีความคิดคับแคบ

ทางด้านการ์เซียซึ่งทำงานให้กับองค์กรที่ช่วยเหลือครอบครัวที่เสี่ยงต่อการพลัดพรากและเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ดูแลกล่าวว่าสำหรับพวกเธอแล้วการศึกษาแบบไม่เป็นทางการมีความสำคัญมากเท่ากับการศึกษาที่เป็นทางการ โดยองค์กรหมู่บ้านเด็กเอสโอเอสที่เธอทำงานอยู่มีส่วนช่วยเหลือการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกในฐานะเป็นผู้ให้การศึกษาในแบบพิเศษแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส

ทั้งนี้แนวคิดการศึกษาของยูเอ็นยังมีโอกาสขยายผลไปถึงการศึกษาของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่รวมแล้วมากกว่า 370 ล้านคน และส่วนมากก็กำลังต่อสู้เพื่อที่จะรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมของพวกเขาไว้เช่น ภาษาท้องถิ่น หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เล่าสืบต่อกันมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปรัชญาการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกที่ต้องการทำให้คนที่อยู่ชายขอบได้มีส่วนร่วมมากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

When a Kid With Low Self-Esteem Dreams of Becoming the President, Kanya D'almeida, IPS News, 15-06-2015
http://www.ipsnews.net/2015/06/when-a-kid-with-low-self-esteem-dreams-of-becoming-the-president/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Global Citizenship Education, UNESCO
http://www.unesco.org/new/en/global-citizenship-education

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท