Skip to main content
sharethis

บทสัมภาษณ์หลังการไปเยือนจีนของอองซานซูจี พูดถึงความคืบหน้าหรือล้าหลังของการปฏิรูปการเมืองในพม่าและความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงก่อนเลือกตั้งเดือน พ.ย. รวมถึงประเด็นเรื่องกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงและเรื่องชนกลุ่มน้อยอย่างชาวโรฮิงญา


(แฟ้มภาพ) 31 พ.ค. 2555 อองซานซูจี ขณะมาเยือนมหาชัย

 

18 มิ.ย. 2558 สำนักข่าววอชิงตันโพสต์สัมภาษณ์อองซานซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของพม่าทางโทรศัพท์เกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งที่ตามกำหนดการจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. และประเด็นอื่นๆ เนื้อหาการสัมภาษณ์มีดังนี้

คุณได้อะไรบ้างจากการไปเยือนจีน
อองซานซูจี : มันเป็นการหารือที่ดี พวกเราเข้าใจว่าประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านกันควรจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติและกลมเกลียว

คุณได้หารือกับจีนในเรื่องการกักขัง 'หลิวเสี่ยวโป' (นักสิทธิมนุษยชนจีนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) ด้วยหรือไม่
ฉันต้องคอยอธิบายอยู่เสมอว่าฉันจะไม่พูดถึงรายละเอียดในเรื่องการสนทนาระหว่างตัวฉันเองกับผู้นำรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ ซึ่งโดยปกติแล้วถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

ในช่วงที่คุณถูกกักขัง ทางการจีนก็ไม่ได้สนับสนุนคุณ แล้วคุณก็ยินดีเมื่อผู้นำต่างประเทศยกประเด็นเรื่องการกักขังคุณมากล่าวถึง
เสรีภาพและประชาธิปไตยในแต่ละประเทศเป็นสิ่งที่ประชาชนในประเทศนั้นๆ ต้องต่อสู้เพื่อมันด้วยตนเอง ในฐานะความสัมพันธ์ของพวกเรากับประเทศจีน มันเป็นเรื่องของการไม่ก้าวก่ายกันอยู่เสมอมา ฉันเชื่อว่าพวกเราจะยังคงความสัมพันธ์แบบนี้อยู่ได้แม้ว่าพวกเราจะเห็นไม่ตรงกันในเรื่องอุดมการณ์ที่พวกเราอยากจะให้เกิดในประเทศของแต่ละฝ่าย

ดังนั้นแล้ว ที่คุณบอกว่า "เสรีภาพและประชาธิปไตยในแต่ละประเทศเป็นสิ่งที่ประชาชนในประเทศนั้นๆ ต้องต่อสู้เพื่อมันด้วยตนเอง" เป็นทัศนคติแบบเดียวกับที่คุณอยากให้สหรัฐฯ มีต่อพม่าใช่หรือไม่
ฉันคิดว่าประชาชนทุกคนต่างก็ทำงานเพื่อให้เกิดสิ่งที่ตัวเองต้องการในประเทศของตัวเอง และแน่นอนว่าพวกเขาต่างก็หวังว่าเพื่อนของพวกเขาจะช่วยเหลือถ้าช่วยได้

ขอถามเกี่ยวกับประเทศคุณหน่อย
ได้ค่ะ ฉันคิดว่าฉันอยากจะพูดถึงประเทศของตัวเองมากกว่า

คุณคิดว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้จะทำให้มีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างไร
พวกเราเข้าสู่ช่วงที่น่าตื่นเต้นมากๆ เป็นครั้งแรกที่พวกเราเริ่มหารือเกี่ยวกับร่างบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสภา การเลือกตั้งจะเป็นอิสระและเป็นไปอย่างยุติธรรมได้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐธรรมนูญส่วนแก้ไขเพิ่มเติมจะให้โอกาสผู้แข่งขันเท่าเทียมกันหรือไม่

นั่นหมายความว่ายังคงมีโอกาสที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการเลือกตั้งใช่หรือไม่
มันมีโอกาสที่จะเกิดการแก้ไขอยู่เสมอ พวกเราไม่ได้วางใจว่าจะเกิดขึ้น พวกเราไม่ได้รณรงค์การเลือกตั้งบนสมมติฐานที่ว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่เราก็ไม่ตัดความเป็นไปได้ออกไป

ถ้าไม่ตัดความเป็นไปได้เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป เป็นไปได้หรือไม่ที่ประธานาธิบดีและสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้
ถ้าหากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างอิสระและยุติธรรม แน่นอนว่าสภาจะสามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้ ส่วนในเรื่องประธานาธิบดีนั้นก็ขึ้นอยู่ว่ารัฐธรรมนูญจะได้รับการแก้ไขหรือไม่

แล้วเรื่องการขอที่นั่งในสภาให้กับทหารร้อยละ 25 เป็นอย่างไรบ้าง
พวกเรารู้เรื่องกฎร้อยละ 25 แต่กฎนี้ก็ไม่จำเป็นต้องคงอยู่ตลอดไป ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น แล้วผู้คนก็มักจะพูดไม่ใช่หรือว่า "กฎมีไว้ให้แหก"

ดังนั้นถ้าเกิดว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก่อนการเลือกตั้ง พรรคเอ็นแอลดีจะมีหนทางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎนี้หรือไม่
พรรคเอ็นแอลดีเคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าผู้แทนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและเรื่องนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่พวกเราก็ยังคงเคยบอกไปว่าเพื่อผลประโยชน์ด้านความปรองดองในชาติแล้ว เรื่องนี้ควรจะมีการเจรจาต่อรองกันเป็นขั้นเป็นตอน แล้วพวกเราก็ไม่ได้จะยืนกรานให้ผู้แทนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งออกจากสภาไปทั้งหมด

โดยทั่วไปแล้ว คุณมองการปฏิรูปการเมืองของรัฐอย่างไร
สิ่งที่พวกเราหวังไว้คือว่ารัฐบาลจะเข้าสู่การเจรจาต่อรองกันอย่างแท้จริงเพื่อทำให้เกิดกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ แต่ก็เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจในการเจรจาอย่างจริงจังมากนัก...

แต่ในอีกแง่หนึ่งพวกเราก็ไม่ได้หวังว่ามันจะเป็นไปอย่างราบรื่นโดยตลอดรอดฝั่งอยู่แล้ว

รัฐบาลจะสามารถหยุดยั้งกระบวนการในตอนนี้ได้หรือไม่ หรือแบบเดียวกับในกัมพูชาที่เรียกว่าเป็นการ "จัดฉาก" ให้ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยแต่รัฐบาลและอดีตผู้นำทหารระดับสูงยังคงควบคุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจแทบทั้งหมด
พวกเรากังวลว่าการปฏิรูปจะกลายเป็นเพียงภาพลวงตาทั้งหมด พวกเราคิดว่าพวกเราต่างจากกัมพูชามาก ฉันคิดว่าปัญหาของพวกเราแก้ยากยิ่งกว่าปัญหาในกัมพูชา รวมถึงมีเรื่องขนาดของประเทศ ขนาดของประชากร สงครามภายใน และการสู้รบที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว

ทำไมถึงมีกลุ่มชาตินิยมแนวพุทธเพิ่มขึ้นในพม่า
ฉันคิดว่าพวกเราควรจะแยกแยะระหว่างชาตินิยมทั่วไปกับชาตินิยมแบบหัวรุนแรง และพวกเราก็กำลังกังวลเกี่ยวกับชาตินิยมแบบหัวรุนแรง แนวคิดชาตินิยมถ้าหากมีการควบคุมและใช้ในทางที่ถูกมันก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นชาตินิยมแบบหัวรุนแรงต่างหากที่เป็นปัญหา

แล้วมันยังเป็นปัญหาในพม่าอยู่หรือไม่
ในตอนนี้ฉันคิดว่าแนวคิดแบบหัวรุนแรงทั่วโลก ไม่จำเพาะเพียงแค่พม่า ไม่ว่าจะในสังคมใดก็ตาม แนวคิดแบบหัวรุนแรงล้วนเป็นปัญหาทั้งสิ้น

อะไรที่เป็นต้นตอทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ในประเทศของคุณ ทำไมเราถึงเห็นว่ามีปัญหาแบบนี้อยู่ในปัจจุบัน
ฉันสงสัยในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่แน่นอนว่าพวกเรากำลังพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว สถานการณ์เริ่มคุกรุ่นมาสักระยะก่อนหน้านี้แล้ว และรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไรมากพอที่จะลดความตึงเครียดและไม่สามารถขจัดต้นตอของความขัดแย้งได้

คุณคิดว่าชาวโรฮิงญาควรได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองหรือไม่
รัฐบาลในตอนนี้กำลังพิจารณาเรื่องสัญชาติตามหลักกฎหมายเรื่องสัญชาติพลเมืองของปี 2525 ฉันคิดว่าพวกเขาควรจะทำเรื่องนี้ให้เร็วๆ และทำอย่างโปร่งใส แล้วจะได้ตัดสินใจว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอะไร

คุณจะบอกอะไรกับเพื่อนของคุณที่อยู่นอกประเทศที่บอกว่าคุณควรจะพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องสภาพที่ย่ำแย่ที่ชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ต้องเผชิญ
พวกเรามีชนกลุ่มน้อยจำนวนมากในประเทศนี้ และฉันก็คอยพูดปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยรวมถึงเรื่องสันติและความกลมเกลียวอยู่ตลอดเวลา แล้วก็พูดถึงเรื่องความเสมอภาคกับเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคุณค่าทางด้านประชาธิปไตยที่พรรคเอ็นแอลดีและคนอื่นๆ ร่วมกันต่อสู้มาเป็นเวลามากกว่า 30 ปีแล้ว พวกเราถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมาตลอด และคนอื่นๆ ก็โดนละเมิดด้วย แล้วชนกลุ่มน้อยมากมายที่ต้องจับอาวุธขึ้นสู้เพราะสิทธิของพวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครอง

การคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อยเป็นประเด็นที่ควรจะมีการพูดถึงอย่างระมัดระวังมากๆ และอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และฉันก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลได้ทำอะไรมากพอเกี่ยวเรื่องนี้หรือไม่ จะว่าไปแล้วฉันคิดว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรมากพอ

คุณหมายความว่าอย่างไรตอนที่บอกว่า "อย่างระมัดระวังมากๆ"
มันหมายความว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก และมีกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มศาสนาอยู่หลายกลุ่ม ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไรกับกลุ่มๆ หนึ่งก็จะส่งผลกระทบถึงอีกกลุ่มไปด้วย ดังนั้นนี่จึงถือเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนและไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถแก้ไขได้ชั่วข้ามคืน

กลุ่มหัวรุนแรงถือว่าเป็นภัยทางการเมืองต่อพรรคเอ็นแอลดีหรือไม่ และนั่นจะถือเป็นสาเหตุที่มีการปลุกระดมคนที่มีแนวคิดแบบหัวรุนแรงหรือไม่
นั่นก็เป็นไปได้ เพราะพรรคเอ็นแอลดีไม่เคยสนับสนุนแนวคิดหัวรุนแรงแบบใดเลย ดังนั้นกลุ่มหัวรุนแรงจึงจะไม่มองตัวเองว่าเป็นเพื่อนกับเอ็นแอลดี แล้วก็มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะมีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของสิ่งที่เรียกว่าขบวนการทางศาสนา

ปัญหาเรื่องการลงทะเบียนการเลือกตั้งส่งผลกระทบมากแค่ไหน
พวกเราศึกษาจากเมือง 10 เมืองในเขตภูมิภาคย่างกุ้งและในบางเมืองก็มีข้อผิดพลาดสูงถึงร้อยละ 80 นั่นเป็นเรื่องที่แย่มาก ในบางแห่งก็มีข้อผิดพลาดร้อยละ 30 พวกเราจะแก้ไขรายชื่อที่ผิดพลาดเหล่านี้ให้ทันเวลาก่อนการเลือกตั้งได้อย่างไร แล้วถ้าขนาดในเขตย่างกุ้งยังแย่ขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับที่อื่นเช่นเมืองตามชายแดนจะแย่ขนาดไหน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นคนที่จริงจังมากเกี่ยวกับการแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้ แต่ฉันก็สงสัยว่าพวกเขาจะมีเวลาและความชำนาญมากพอในการแก้ไขปัญหาพวกนี้ได้ทันเวลาหรือไม่

มีการลิดรอนเสรีภาพขึ้นพื้นฐานเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ นับตั้งแต่ประเทศเปิดเสรีมากขึ้นในช่วงต้น
เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้วที่พวกเราเริ่มสังเกตว่ารัฐบาลเริ่มลิดรอนเสรีภาพสื่อ คุณคงเคยได้ยินมาก่อนว่านักข่าวถูกจับกุมและถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลานานๆ ได้อย่างไร แล้วพวกเราก็ได้ว่าในช่วงนั้นไม่เพียงแค่กระบวนการปฏิรูปจะชะงักงันไปเท่านั้นแต่ถึงขั้นถอยหลัง

ในตอนนี้การปฏิรูปยังคงถอยหลังอยู่ไหม
ฉันไม่คิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งนอกจากประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ และในความคิดเห็นของฉันแล้ว รัฐบาลก็ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นถือเป็นความล้าหลัง คุณคิดแบบนั้นไหม

ตอนนี้คุณอายุจะ 70 ปีแล้ว คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
ฉันไม่รู้สึกว่ามีอะไรแตกต่างออกไปมากเท่าไหร่ แต่มันก็น่าสนใจที่ฉันมาไกลได้ขนาดนี้

 

เรียบเรียงจาก

Aung San Suu Kyi on the state of democracy in Burma, The Washington Post, 16-06-2015
http://www.washingtonpost.com/opinions/aung-san-suu-kyi-on-the-state-of-democracy-in-burma/2015/06/16/b3bfa124-141c-11e5-89f3-61410da94eb1_story.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net