Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี  2557 เพื่อเปิดให้มีการลงประชามติในการรับรองรัฐธรรมนูญปี 2558 และประชามตินี้อาจรวมถึงการยินยอมให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกจากข้ออ้างที่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศดำเนินไปเสร็จสมบูรณ์ ทำให้ผู้เขียนนึกประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 70-80 ซึ่งมีสภาพทางการเมืองเป็นเผด็จการทหารไม่แตกต่างจากประเทศไทยสมัยนี้เท่าไรนักไม่ว่าอาเจนตินา บราซิล ชิลี ฯลฯ โดยผู้นำของประเทศเหล่านั้นร่วมกับบรรดาลิ่วล้อได้มีความพยายามเล่นเกมเตะถ่วงเพื่อให้ตัวเองและกลุ่มอยู่ในอำนาจได้นานๆ  แต่แล้วก็พ่ายแพ้หรือต้องลงจากเวทีทางการเมืองไปเพราะกระแสประชาธิปไตยและทุนนิยมที่แพร่เข้ามา   

สำหรับชิลีที่ผู้เขียนจะยกมากล่าวถึงในบทความนี้มีตัวอย่างที่โดดเด่นคืออดีตประธานาธิบดีออกุสโต          ปิโนเชต์ซึ่งน่าจะเป็นที่รู้จักกันดีกว่าผู้นำเผด็จการประเทศใดในละตินอเมริกา (ที่สูสีกันก็คงได้แก่นายพลฮวน เปรองอดีตผู้นำของอาเจนตินา)  ด้วยสาเหตุว่านอกจากการเล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามเสียอยู่หมัดแล้ว ฝ่ายขวาน่าจะสร้างลัทธิเชิดชูบุคคลการสร้างภาพการเป็นนายทหารผู้เข้มแข็งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับปิโนเชต์ในการปกครองประเทศอย่างล้นพ้นแบบเดียวกับพลเอกประยุทธ์ และที่น่าสนใจว่าในช่วงท้ายปิโนเชต์เลือกที่จะใช้ประชามติในการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองและระบบเผด็จการเหมือนพลเอกประยุทธ์  จึงทำให้เกิดความน่าสนใจว่าท้ายที่สุดแล้วประยุทธ์จะมีชะตากรรมคล้ายกับปิโนเชต์หรือไม่[i]


บทความต่อนี้ไปแปลและแต่งเติมจากข่าวมรณกรรม (Obituary) ของนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ จากเว็บไซต์บีบีซี ส่วนเชิงอรรถมาจากผู้แปลเอง

นายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ ได้นำกองทัพชิลีในการทำรัฐประหารอันน่าตื่นเต้นโค่นล้มรัฐบาลฝักใฝ่ลัทธิมาร์กซ์ที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ความรุนแรงของการทำรัฐประหารและการกวาดล้างปรปักษ์ที่ตามมานั้นทำให้โลกต้องตกตะลึง

ในเดือนกันยายน ปี 1973 บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านรัฐประหารถูกล้อมกรอบในสนามฟุตบอลแห่งชาติซานติอาโก้  พวกเขาหลายคนถูกสังหาร[ii]

นายพลปิโนเชต์ในคราบของบุรุษแว่นดำได้ก้าวขึ้นมาปกครองประเทศ เป็นเวลานานที่รัฐสภาถูกยุบและการเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ในขณะที่ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลถูกบดขยี้ การจลาจล การจับกุมและการทรมานร่างกายกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป ประชาชนหลายพันคนถูกอุ้มหาย ตลอดเวลานี้ นายพลปิโนเช่ต์อ้างว่าเขาได้ช่วยชิลีไม่ให้ตกเป็นคอมมิวนิสต์


การทำรัฐประหาร

ปิโนเชต์มีชื่อเต็มว่า Augusto Pinochet Ugarte เกิดในปี 1915 เป็นบุตรชายคนโตที่สุดในบรรดาพี่น้อง 6 คน หลังจากเข้าเรียนโรงเรียนทหาร เขาเข้าร่วมกับกองทัพเมื่ออายุได้เพียง 18 ปี

ในปี 1969 เขาเป็นเสนาธิการของกองทัพและปี 1973 ได้เป็นนายพลและผู้บัญชาการทหารบกของชิลี ตอนนั้นประธานาธิบดีผู้เลื่อมใสในลัทธิมาร์กซ์คือซัลวาดอร์ อาเยนเดได้อยู่ในตำแหน่งเกือบ 3 ปีแล้ว ความขัดแย้งทางการเมือง ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานอย่างไม่หยุดหย่อนและความวุ่นวายทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดรัฐประหารแต่ล้มเหลวในเดือน มิถุนายน ปี 1973

2  เดือนต่อมา อาเยนเดได้แต่งตั้งปิโนเชต์ให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยความเชื่อที่ว่าจะพึ่งพาอาศัยได้ แต่ในเดือนกันยายน ปิโนเชต์บอกกับอาเยนเดให้ลาออกหรือไม่ก็โดนทำรัฐประหาร

อาเยนเดปฏิเสธและเมื่อกองทัพบุกเข้ามาในทำเนียบรัฐบาล[iii] ก็พบกว่าเขาได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ภรรยาม่ายของเขาบอกว่าเขาถูกสังหารโดยพวกขบถ คนอื่นๆ บอกว่าเขาฆ่าตัวตาย


ความยุ่งยากที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

2  วันต่อมา ปิโนเชต์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าของกลุ่มทหารที่ปกครองประเทศ สิทธิมนุษยชนถูกโยนลงชักโครก พรรคการเมืองที่นิยมลัทธิมาร์กซ์กลายเป็นพรรคนอกกฏหมาย อำนาจของสหภาพแรงงานถูกลดทอนลง มีการห้ามการแสดงออกทางการเมืองอย่างเข้มงวด ปัญญาชนหลายคนลี้ภัยไปต่างประเทศ

เป็นที่รู้กันภายหลังว่าสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาหรือซีไอเอลงทุนกว่าหลายล้านเหรียญในการบ่อนทำลายรัฐบาลของอาเยนเด[iv]  ในเดือนกันยายน ปี 1974  ปิโนเชต์ก้าวขึ้นมาเป็นเป็นประธานาธิบดี และในปี 1978 เขาได้เปิดให้กลุ่มที่เรียกว่าที่ปรึกษาแห่งชาติลงมติว่ารับรองนโยบายในการบริหารประเทศของเขาหรือไม่ ปิโนเชต์ได้รับชัยชนะจากคะแนนเสียงถึงร้อยละ 75

ในปี 1980 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกนำออกใช้ และปีถัดมาปิโนเชต์ก็ได้สาบานตนเป็นประธานาธิบดีต่ออีก 8 ปี   ในช่วงทศวรรษที่ 80 เขาต้องพบกับความยากลำบากที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นโยบายของเขาได้ลดอัตราเงินเฟ้อลงอย่างมหาศาลและได้นำความมั่งคั่งให้กับอาชีพต่างๆ และการพาณิชย์ก็จริง กระนั้นอัตราการว่างงานได้พุ่งทะยานขึ้นและในปี 1981 การถดถอยทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการจลาจลประท้วงบนถนนซานติอาโก้


พันธมิตรที่วางตัวดีของอังกฤษ

ในช่วงที่ที่เกิดสงครามแย่งชิงหมู่เกาะฟลอคแลนด์ในปี 1982   ชิลีเป็นพันธมิตรที่วางตัวได้ดีของอังกฤษในการทำสงครามกับอาเจนตินา   รัฐบาลของนางมาร์กาเรต แทชเชอร์ก็ได้ยกเลิกการห้ามขายอาวุธให้กับชิลี แม้ว่าพรรคแรงงานจะทำการประท้วงก็ตาม

เป็นเวลาหลายปี ที่ประธานาธิบดีปิโนเชต์ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และเขาก็เปิดช่องให้ประชาธิปไตยอยู่พอสมควร แต่ในเดือนตุลาคม 1988 ประชาชนชาวชิลีก็ได้รับสิทธิในการเลือกที่จะเอาเขาเป็นผู้นำต่อหรือไม่ และเสียงออกมาคือไม่เอาเขาถึงร้อยละ 54.7 เขาทำท่าลังเลใจในการยอมรับผลและถึงแม้จะปฏิเสธเสียงของฝ่ายค้านในการร้องขอให้คืนอำนาจโดยด่วน เขาก็ก้าวลงจากตำแหน่งในเวลา 2 ปีหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามเขายังเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพต่อไปเป็นเวลา 7  ปี ต่อมาก็ได้เป็นวุฒิสมาชิกของชิลีแบบตลอดชีพของรัฐสภาที่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย สิ่งนี้สร้างความละอายใจให้กับฝ่ายตรงกันข้ามของเขาอย่างมาก

หากปิโนเชต์คิดว่าเขาจะได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสงบสุข เขาก็คิดผิดเสียแล้ว เมื่อเขาถูกจับกุมในเดือนตุลาคม 1998 ขณะไปรักษาตัวที่กรุงลอนดอนที่ซึ่งเขาไปเยือนอยู่บ่อยครั้งและมีเพื่อนมากมาย


การกลับบ้านที่น่าตื้นตันใจ

ศาลของสเปนได้ร้องขอการส่งตัวปิโนเชต์มาเพื่อเผชิญกับข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและท่ามกลางความขัดแย้งทางการกฏหมาย รัฐบาลอังกฤษก็ได้สั่งให้เขาถูกคุมขังไว้แต่ในบ้าน เพื่อนเก่าของเขาดังเช่นคุณหญิงแท็ชเชอร์ได้ปรากฏตัวมาปลอบขวัญเขาจนเป็นข่าวใหญ่โต

แต่ฝ่ายตรงกันข้ามของเขาก็เดือดดาลอย่างยิ่ง เมื่อรายงานจากคณะแพทย์ที่มีชื่อเสียงได้สรุปว่าปิโนเชต์ป่วยหนักเกินกว่าที่จะขึ้นศาลและรัฐบาลอังกฤษก็ตกลงที่จะปล่อยเขากลับบ้าน

ในเดือนมีนาคม  ปี 2000 ภายหลัง 18 เดือนของการลี้ภัย เครื่องบินสัญชาติชิลีก็ได้พานายพลปิโนเชต์ออกจากอังกฤษกลับสู่มาตุภูมิและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากกองทัพและผู้สนับสนุนซึ่งแสนจะดีอกดีใจ

หลายอาทิตย์ต่อมา ศาลในนครซานติอาโกก็ได้เพิกถอนเอกสิทธิคุ้มครองของเขา สิ่งนี้ทำให้เกิดการต่อสู้กันทางกฏหมายเป็นเวลาหลายปี

เดือนมีนาคม ปี 2005 ศาลอุธรณ์ของชิลีได้ลงคะแนนในการพลิกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ว่าปิโนเชต์สามารถถูกลงโทษด้วยข้อหาในปฏิบัติการณ์คอนดอร์ (Condor) หรือความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลละตินอเมริกาทั้ง 6  ประเทศในการไล่ล่าและเข่นฆ่าปรปักษ์ทางการเมืองในทศวรรษที่ 70

 ถึงกระนั้นในเวลาที่เขาเสียชีวิต[v] นายพลปิโนเชต์ยังคงพบกับข้อหาอื่นๆ อีกหลายกระทง ที่เด่นชัดที่สุดคือข้อหาการฉ้อโกงภาษีเป็นเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ

แต่ความอ่อนแอของสุขภาพเขา ภายหลังจากที่เกิดอาการหัวใจวายหลายครั้งหมายความว่าเขาจะไม่ต้องถูกดำเนินคดี และแม้แต่ตอนที่ม่านชีวิตของเขาถูกคลี่คง คำตัดสินต่อตัวออกุสโต ปิโนเชต์ยังคงสร้างความแตกแยกในสังคมชิลีอย่างเผ็ดร้อน

 




    

     [i]  หากมองดูให้ดีจะพบว่าทั้ง 2 คนอาจจะแตกต่างกันอยู่บ้างเช่น ปิโนเชต์เลือกใช้ความรุนแรงกับปรปักษ์เพราะในทศวรรษที่ 70 เป็นช่วงสงครามเย็นที่สิทธิมนุษยชนยังไม่ถูกกล่าวถึงนัก ส่วนประยุทธ์ใช้วิธีการเชิงข่มขู่กับผู้มีความเห็นต่างเพราะน่าจะเรียนรู้มาจากเผด็จการแบบปิโนเชต์ อย่างไรก็ตามปิโนเชต์นั้นกลับเป็นที่รักของตะวันตกซึ่งหน้าไหว้หลังหลอกในเรื่องประชาธิปไตย ส่วนประยุทธ์สนิทแนบแน่นกับเผด็จการตะวันออกอย่างเช่นจีนและรัสเซีย   

     [ii] ตัวอย่างของผู้พบกับความตายอันน่าสยดสยองได้แก่วิกเตอร์ จารา ( Víctor Jara) นักร้องและนักแต่งเพลงแนวเพื่อสังคมและชีวิตได้ถูกพวกขวาจัดจับกุมตัวและทรมาณร่างกายอย่างเช่นทุบมือจาราให้แหลกและบังคับให้เขาเล่นกีตาร์โชว์ (บางเวอร์ชันบอกว่าจาราถูกตัดมือก่อนถูกยิงเป้าด้วยปืนกล)  ศพของเขาถูกโยนทิ้งลงบนถนนในนครซานติเอโก เมืองหลวงของชิลี  การสังหารฝ่ายซ้ายอย่างโหดเหี้ยมของชิลีในครั้งนี้เกิดขึ้นในปีเดียวกับ 14 ตุลาคม ปี 2516 ของไทย แต่ฝ่ายขวาอำมาตย์นิยมของไทยน่าจะเอาไปเลียนแบบกับนักศึกษาในอีก 3 ปีต่อมาคือเหตุการณ์ 6 ตุลาคมปี  2519

    [iii] เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน จนมีคนขนานนามว่าเป็น 9/11 ของชิลี  ฝ่ายรัฐประหารได้ทำการโจมตีทำเนียบรัฐบาลซึ่งอาเยนเดอยู่ข้างในทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ ก่อนหน้านั้นอาเยนเดได้กล่าวคำปราศรัยผ่านการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุแก่ประชาชนชาวชิลีเพื่อแสดงการยืนหยัดอยู่กับอุดมการณ์ของเขาแทนที่จะยอมแพ้และลี้ภัยไปยังต่างประเทศตามข้อเสนอของปิโนเชต์

   [iv] ผู้ที่บงการสำนักข่าวกรองกลางได้แก่เฮนรี คิสซิงเจอร์ หัวหน้าที่ปรึกษาความมั่นคงของประธานาธิบดีริชาร์ด  นิกสันซึ่งมีนโยบายเป็นปรปักษ์กับชิลีอย่างมากภายหลังจากที่อาเยนเดได้เป็นประธานาธิบดีในปี 1970 เพราะนอกจากการเป็นพวกซ้ายจัดแล้วเขายังสนับสนุนคิวบาซึ่งเป็นศัตรูของสหรัฐฯ ในสมัยนั้น ดังนั้นภายหลังจากปิโนเชต์ขึ้นมามีอำนาจก็ได้มีนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ตามความต้องการของสหรัฐฯ  อนึ่งวีรกรรมเช่นนี้ของคิสซิงเจอร์เจ้าพ่อแนวคิดสัจนิยมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้กลายเป็นตราบาปติดตัวเขาไปเช่นเดียวกับการสนับสนุนให้สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดในอินโดจีนช่วงสงครามเวียดนามและการเปิดไฟเขียวให้กองทัพอินโดนีเซียทำการบุกรุกติมอร์ตะวันออกในปี 1975  จึงเป็นเรื่องที่คุ้นตาเมื่อ คิสซิงเจอร์ในวัย 90 กว่าเดินทางไปพูดหรือกล่าวปาฐกถาที่ใดก็จะมีคนประท้วงพร้อมกับประณามว่าเขาเป็นอาชญากรสงคราม

v] ปิโนเชต์เสียชีวิตเมื่อวัน 10 ธันวาคม ปี 2006  สิริรวมอายุ 91 ปี เขาจึงคล้ายกับผู้นำเผด็จการทั่วโลกจำนวนไม่น้อยที่มักจะเสียชีวิตในวัยชรา หลายคนจบแบบล้มแบบฟูก หากเชื่ออย่างงมงายแบบสลิ่มคือคนเหล่านั้นเปี่ยมด้วยบารมีเพราะทำบุญมามากในชาติปางก่อน แต่หากมองแบบตามความเป็นจริงแล้วผู้นำเผด็จการจำนวนไม่น้อยนั้นนอกจากจะอาศัยความชอบธรรมทางการเมืองในทุกกลวิธีแล้ว พวกเขายังสร้างวิธีในการลงหลังเสืออย่างชาญฉลาดเช่นการสร้างระบบอุปถัมภ์และระบบเครือข่ายทางอำนาจที่จะทำให้ผู้มีอำนาจในยุคหลังคอยช่วยเหลือตัวเขายามตกยาก ไม่นับกับการยักยอกเงินของแผ่นดินไปฝากไว้ในธนาคารต่างประเทศเพื่อใช้ในยามลี้ภัยในต่างประเทศ (ซึ่งมักเป็นพันธมิตรกับตนยามมีอำนาจ ตัวอย่างอื่นเช่น เฟอร์ดินันด์ มาร์คอสซึ่งลี้ภัยไปยังฮาวายในปี 1986) นอกจากนี้ผู้นำเผด็จการจำนวนมากยังประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากของประเทศนิยมในการปกครองแบบเผด็จการซึ่งจะกลายเป็นเกราะป้องกันสำหรับตัวเขาในภายหลังยามเมื่อเขาตกยากและถูกดำเนินคดีภายในประเทศตัวเอง สำหรับกรณีชิลีนั้นความแตกแยกต่อตัวปิโนเชต์สะท้อนถึงการปะทะกันระหว่างกระแสประชาธิปไตยและกระแสเผด็จการที่ยังคงค้างมาจากยุคของปิโนเชต์ หากมองสังคมไทยก็คงจะได้แก่การที่ไม่มีเผด็จการในอดีตคนใดรวมไปถึงผู้สนับสนุนถูกนำตัวมาดำเนินคดีแม้แต่คนเดียวเช่นเดียวกับงานระลึกถึงเหตุการณ์การปราบปรามประชาชนในแต่ละครั้งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ไม่น่าใส่ใจเหมือนรัฐพิธีทั่วไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net