Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่าลิงบาบูนจะมีลำดับชั้นทางสังคมในแง่การแบ่งทรัพยากร แต่พวกมันก็มีคุณสมบัติจากการวิวัฒนาการอย่างหนึ่งคือการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเสียงข้างมากโดยไม่สนว่าผู้ตัดสินใจเลือก 'ลงคะแนน' จะมีลำดับชั้นทางสังคมแบบใด


20 มิ.ย. 2558 สถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียน (STRI) รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมลิงบาบูนพบว่าถึงแม้ลักษณะทางสังคมของกลุ่มลิงบาบูนจะมีการแบ่งลำดับชั้นทางสังคม แต่ก็มีการลงคะแนนเสียงกันเวลาที่ต้องการตัดสินใจเคลื่อนย้ายฝูงในแต่ละวัน

มาร์กาเร็ต โครฟุต นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียน (STRI) กล่าวว่า ถึงแม้ลิงบาบูนจะมีผู้นำฝูงเป็นตัวผู้ที่ตัวใหญ่ที่สุดแต่มันก็ไม่มีอิทธิพลจะสั่งว่าฝูงลิงควรเคลื่อนย้ายไปที่ใด ซึ่งจากการสังเกตการณ์ของนักวิจัยทำให้ทราบว่าลิงเหล่านี้มีการลงคะแนนเสียงโดยที่ทุกตัวสามารถร่วมโหวตได้

เว็บไซต์สถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียนระบุว่า งานวิจัยนี้ทำให้เห็นว่าแม้แต่ในกลุ่มสังคมที่ซับซ้อนก็อาจจะมีวิธีการจัดการลดความขัดแย้งได้ด้วยหลักการความเสมอภาค (egalitarian rules) ซึ่งเป็นข้อดีที่ได้รับมาจากการวิวัฒนาการ

นักวิจัยทำการศึกษาด้วยการใช้ระบบติดตามจีพีเอส (GPS) ที่มีความคมชัดสูงเพื่อติดตามลิงบาบูนสีมะกอกซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Papio anubis ที่อาศัยอยู่ในป่าประเทศเคนยาจำนวน 25 ตัว เป็นเวลา 14 วัน และมีการวิเคราะห์คำนวณข้อมูลเพื่อหารูปแบบพฤติกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกลิงบาบูนจะเดินทางไปเป็นฝูงและทำกิจกรรมร่วมกันโดยที่อาจจะมีลิงบางตัวต้องการให้ฝูงของตนเดินทางไปในทิศทางอื่นและทำให้ลิงตัวอื่นๆ พากันเดินตามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่จำเป็นว่าลิงตัวนั้นจะต้องเป็นลิงจ่าฝูงหรือลิงอาวุโส ในบางกรณีลิงที่เดินพาฝูงไปทางอื่นแต่ไม่มีตัวอื่นเดินตามก็จะย้อนกลับมาเข้าฝูงเหมือนเดิม

งานวิจัยระบุอีกว่าในกรณีที่กลุ่มลิงเริ่มเดินแยกออกไปในทิศทางที่ต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีการพยายามเดินแบบประนีประนอมอยู่กลางๆ ระหว่างทั้งสองฝ่ายที่แยกกัน เว้นแต่ถ้าทิศทางของลิงฝ่ายต่างๆ ออกห่างกันมากเกินไป ในท้ายที่สุดลิงทุกตัวก็จะเดินตามฝูงของฝ่ายที่มีจำนวนมากกว่าเสมอซึ่งเป็นลักษณะของการลงคะแนนเสียงอยู่กลายๆ

อย่างไรก็ตามโครฟุตกล่าวว่าพวกเขากำลังพยายามวิเคราะห์แบบแผนพฤติกรรมของลิงให้ละเอียดกว่าเดิมเช่น การดูบริบทว่าอะไรที่เป็นแรงจูงใจให้ลิงบาบูนเดินออกจากฝูง หรือมีวิธีการที่ลิงบาบูนชิงเอาเปรียบสถานการณ์เพื่อส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของตัวอื่นๆ ในกลุ่มหรือไม่


เรียบเรียงจาก

The Majority Rules When Baboons Vote With Their Feet, STRI,
http://www.stri.si.edu/#.VYW344p2oC8

Power in numbers: Democracy, not elders, dictates baboon movement, UPI, 19-06-2015
http://www.upi.com/Science_News/2015/06/19/Power-in-numbers-Democracy-not-elders-dictates-baboon-movement/1201434719377/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net