บรรยง พงษ์พานิช: รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อว่าด้วยอายุรัฐบาล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ขณะนี้ สังคมยังคงสับสนกับช่วงระยะเวลาที่คณะรัฐบาลชุดที่มาจากการรัฐประหารนี้ ควรจะอยู่บริหารประเทศ ว่าควรจะอยู่นานมากน้อยสักเพียงใด

บ้างก็ว่าน่าจะอยู่ให้สั้นที่สุด คือจัดเลือกตั้งให้ได้ภายในไม่เกินกลางปีหน้า(ผมเป็นพวกนี้นะครับ อยากให้เลือกตั้งไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2559)  บ้างก็บอกขออีกสองปี(ก็ไม่รู้ว่าสองปีจากปัจจุบัน หรือสองปีจากกำหนดเดิม ซึ่งจะกลายเป็นสามปีไป) ...บ้างก็เชียร์ให้อยู่ยาวห้าหกปีไปเลยโน่น

ถ้าจะว่าไป ตามRoadmap ที่ประกาศตั้งแต่ต้น เราควรจะเลือกตั้งได้ในปลายปีนี้ด้วยซำ้ แต่ก็ดันมีอุบัติเหตุในการร่างรัฐธรรมนูญ(ไม่รู้จงใจหรือเปล่านะครับ) ทำให้ต้องเลื่อนอย่างน้อยหกเดือน ซึ่งเรื่องนี้ ในความเห็นผม มีแนวอยู่แค่สองแนว คือ

แนวทางแรก ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบสากล คือ ให้กระชับ เป็นหลักใหญ่ๆเท่านั้น มีการกำหนดกลไกการคานอำนาจไว้ตามควร ที่เหลือ ให้สังคมได้มีความคล่องตัว ที่จะพัฒนาไปได้ตามพลวัตรของโลก (มีแค่ 150 มาตราก็พอ) หรือ

แนวทางที่สอง ก็เป็นไปตามที่ท่าน กมธ.ร่างฯชุดนี้วางไว้ คือ ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี จินตนาการสังคมอนาคต แล้วเขียนวางกรอบเผื่อไว้เลยว่า คนแบบไหนที่ไม่ต้องการ การปฏิรูปแบบไหนที่ชาติน่าจะต้องการ องค์กรแบบไหนที่อยากให้มีเพื่อมาคานมาคุมคนที่ประชาชนเลือก เยอะแยะไปหมดกว่าสิบองค์กร ทำอย่างกับเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม บังคับให้ปฏิรูปไปตามแนวทางที่คิดว่าถูกว่าชอบ วางแผนอนาคตให้ตามภูมิความรู้ที่มีในวันนี้

คงไม่ต้องบอกว่าคนแนวคิดเสรีนิยม(Liberal)อย่างผมจะชอบแบบไหน

ผมคิดว่าไม่แฟร์ ที่พวกเรา"เหล่าคนดี" จะไปคิดแทนทำแทนเจ้าของประเทศคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนในอนาคตเขาขนาดนั้น เพราะมันเป็นอนาคตของพวกเขาชาว GenX GenY GenZ ไม่ใช่อนาคตของพวกเราเหล่าคนแก่หัวโบราณที่เกิดในยุค Baby Boomer

นอกจากนั้น รธน.ที่มีกฎมากมายย่อมมีความยืดหยุ่นตำ่ ไม่สอดคล้องกับพลวัตรสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง และเชื่อมโยงกันทั้งโลก

ผมขอทำนายว่า ถ้า รธน.เป็นไปตามร่างที่ท่านผู้หวังดีวางไว้ ประเทศจะค่อนข้างเป็นอัมพาต เหมือนต้องแบกกระสอบทรายไปวิ่งแข่งกับคนอื่น ประเทศอื่น ผู้บริหารประเทศจะขาดอิสสระที่จะทำงานตามที่ควรจะทำ กลายเป็นว่าเรากลัวเขาทำไม่ดี กลัวเขาทำชั่ว แต่กลายเป็นว่า สิ่งที่ควร สิ่งที่ดี (แต่บังเอิญวันนี้ คนเก่งคนดีอย่างเรายังไม่รู้ ยังคาดไม่ออก)ก็เลยทำไม่ได้ไปด้วย

แต่เอาเถอะครับ ในเมื่ออำนาจที่จะเลือกว่าเอาแนวไหน มันก็อยู่ที่ท่านผู้นำเพียงคนเดียว ก็ขอให้เลือกมาเถอะครับ อย่างไรท่านก็ประกาศรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวไปแล้ว จะเอาทางไหนก็ส่งสัญญาณให้ชัด แล้วก็เดินหน้าต่อ อย่าประวิงเวลา ท่านจะเลือกอย่างไร คนรุ่นต่อไปเขาก็ต้องรับผล ถ้าผิดพลาดยังไง ก็ให้เขาไปดิ้นรนแก้ไขเอาเอง

มีผู้ใหญ่บางคนบอกผมว่า จำเป็นต้องประวิงเวลาไว้ก่อนอีกระยะ อย่างน้อยก็สองสามปี เพราะถ้าเลือกตั้งวันนี้ พวกชั่วเดิมๆก็คงจะกลับมาแน่ แล้ววังวนความแตกแยกวุ่นวายอย่างเดิมก็จะกลับมาอีก วนเวียนไม่สิ้นสุด .ผมถามว่า"พวกไหนหรือครับ เรากลัว"พวกเขา" หรือกลัว"สิ่งที่เขาทำ"กันแน่"  ถ้าบอกว่า เรากลัวว่าคนไม่ดีจะพยายามเข้าสู่อำนาจ นั่นก็เป็นเพราะ อำนาจนั้นทำให้คนทำสิ่งที่มิชอบได้ โกงกินได้ ทำให้ประเทศเสียหายได้ อำนาจนั้นทำให้ใช้นโยบายใช้ทรัพยากรรัฐอย่างมิชอบ(เช่น ประชานิยมไร้เหตุผล)เพื่อซื้อเสียงสืบทอดอำนาจ  ถ้าเป็นอย่างนั้น เรามาหาทางสร้างกฎ สร้างกลไก ให้คนที่มีอำนาจทำเรื่องไม่ดีไม่ได้ ทำชั่วไม่ได้ ไม่ดีกว่าหรือ เพราะมันจะทำให้คนชั่วไม่ต้องการอำนาจ โดยเฉพาะถ้าต้องลงทุนมากมายเพื่อแสวงหาอำนาจ

ซึ่งการสร้างกฎไม่ให้ผู้มีอำนาจทำชั่ว ห้ามทำสิ่งที่นำความเสียหายมาให้นั้น ง่ายกว่า เป็นไปได้มากกว่า การพยายามห้ามคนชั่วครองอำนาจ เพราะว่า ดี-ชั่วนั้น ล้วนเป็นนามธรรม ล้วนเป็นมนุษย์กำหนด แต่ละคน แต่ละกลุ่มต่างมีมาตรฐานต่างๆกัน  แม้สมมุติว่า กำหนดให้คนที่เป็นนายกฯต้องเคยเป็น ผบ.ทบ.มาก่อน ต่อให้ประเทศนี้ไม่เคยมี ผบ.ทบ.ที่เป็นคนไม่ดีมาก่อน ต่อไปก็ต้องมีคนชั่วกระเสือกกระสนเข้าไปเป็น ผบ.ทบ.จนได้ แถมอาจง่ายกว่า อาจถูกกว่าการซื้อเสียงทั้งประเทศอีก

เพราะฉะนั้น กฎกติกาที่ดี ระบบที่ออกแบบดี สำคัญกว่า"คนดี" ถ้าเรามุ่งแต่จะรอให้กลุ่มไหน พวกไหน ตายจาก หรืออ่อนกำลังลง มันก็มีพวกใหม่ กลุ่มใหม่ ตระกูลใหม่ เกิดขึ้นอยู่ดี

กฎกติกา และกลไกที่ว่านั้น ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอันใด มีตัวอย่างมีพัฒนาการให้เห็นแล้วทั่วโลก เราสามารถร่างรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับ รธน.ฉบับที่ดีที่สุดได้ไม่ยาก และไม่เห็นจะต้องใช้เวลานานเลยครับ (เราได้เปรียบด้วยซ้ำที่ทำทีหลัง) กฎหมายกรอบต่างๆ ถ้าจะทำก็ทำได้ง่าย รวดเร็ว โดยเฉพาะในยามที่มีอำนาจเต็มเช่นนี้ ขอให้ยึดหลักให้แน่น วางกรอบให้ดี แล้วให้คนรุ่นหลังเขาพัฒนาไป ให้เขากำหนดอนาคตเขาเอง ถ้าตั้งใจจะวางให้เสร็จจริงๆ เวลาครึ่งปีก็น่าจะเพียงพอ

ผมขอยกตัวอย่างนะครับ  

ถ้าเรากลัวประชานิยมไร้เหตุผล ก็กำหนดใน รธน.ได้ ว่าทุกนโยบายต้องแจ้งต้นทุน ที่มาของแหล่งเงิน ภาระที่จะเกิด แล้วกำหนดให้ต้องรายงานต่อเนื่อง

ถ้าเรากลัวโกงกิน เราก็กำหนดให้มี มาตรการกฎหมายต่างๆ ริเริ่มกลไกที่บังคับให้โปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้เกิดองค์กรNGOs มีภาคประชาสังคม มีสถาบันวิชาการติดตาม

ถ้าเรากลัวภาครัฐ ทั้งโกงทั้งไม่มีประสิทธิภาพ ก็จำกัด บทบาท ขนาด และอำนาจรัฐได้ ปรับการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ

สรุปโดยรวมว่า ถ้าเรากลัวว่าใครจะทำอะไรที่มิชอบ ก็แค่วางกลไกห้ามไม่ให้เขาทำ และสุดท้ายที่สำคัญและได้ผลที่สุด คือ ทำให้โปร่งใส ให้ประชาชนเข้าใจ และสามารถติดตามได้ ซึ่งจะว่าไปแล้ว หลายเรื่องก็ได้ริเริ่มทำไปมากแล้ว เช่น มาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นหลายอย่าง แนวการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ

ถ้าท่านวางกรอบริเริ่มเรื่องอย่างนี้เสร็จ ก็ควรถอยออกไป ให้มีการเลือกตั้ง ให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไป ไอ้กรอบที่ว่านี่แหละครับ จะเป็นผลงาน จะเป็นอนุสาวรีย์ให้ท่าน ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มาสร้าง มากระตุกให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในด้านดี เป็นจุดหักเห ให้ประชาธิปไตยที่ล้มลุกมากว่า 80 ปี ได้พัฒนาจริงๆเสียที

แต่ถ้าท่านไปหลงเชื่อ คนที่ยุยงให้อยู่นานๆ (ต้องคิดให้ดีนะครับ ว่าเขายุเพื่อ ประโยชน์ชาติ ประโยชน์ของท่านผู้นำ หรือ ประโยชน์ของตัวเขาเอง) แล้วคล้อยตาม ด้วยเชื่อว่าท่านคนเดียวเท่านั้น ที่จะจรรโลงชาติได้ ผมคิดว่า ในอนาคต เมื่อเวลาผ่านไป โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะสดุดีว่าท่านเป็น"เผด็จการผู้ทรงคุณ"(Benevolent Dictator)นั้น แทบจะไม่มีเลยทีเดียว และที่น่ากลัวกว่า ก็คือ ถ้าตัดสินใจอยู่ต่อ เมื่อเวลามาถึง โอกาสที่จะลุกจากอำนาจยิ่งน้อยลงไปอีกด้วย และนั่นหมายถึงความเสี่ยงของประเทศชาติจะยิ่งสูงไปด้วย

ทั้งหมดนี้ จะถูกจะผิด ก็ขอเรียนว่าเป็นความคิดความรู้สึกอย่างจริงใจ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ถ้าท่านอยู่นาน คนอย่างผม น่าจะได้ประโยชน์ไม่น้อย เพราะมีตำแหน่งอยู่ตั้ง 3 ตำแหน่ง (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจฯ กก.ต่อต้านทุจริตแห่งชาติ และที่ปรึกษานายกฯ) ดูยิ่งใหญ่ไม่เบา เดือนหนึ่งๆเข้าประชุมที่ทำเนียบหลายครั้ง ซึ่งถ้ามีเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ ก็คงไร้อำนาจ ถูกปลดออก ไร้ตำแหน่งใดๆ แต่ขอเรียนว่า ผมเข้ามาก็เพื่อตั้งใจรับใช้ชาติ รับใช้สังคม รวมทั้งจริงใจรับใช้ท่านผู้นำอย่างไม่เคยคิดจะยึดติดใดๆ

ขอยืนยันคำเดิมครับ ...ทำให้น้อย(แต่เป็นประโยชน์นาน) กับ ถอยให้เร็ว

รักยาวต้องบั่น รักสั้นต้องต่อ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท