70 ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี 83 ปีประชาธิปไตย “คนหนุ่มสาวคือความหวัง”

<--break- />

24 มิถุนายน นอกจากจะเป็นวันเกิดของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ซึ่งทำคลอดโดยคณะราษฎรแล้ว มันยังเป็นวันเกิดของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ นักเขียน ศิลปินผู้คร่ำหวอดในวงการวรรณกรรมไทยมาอย่างยาวนานจนนับได้ว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง

จากความเข้ม-คม บนหน้ากระดาษ ยุคสมัยพาให้ในช่วงปีสองปีมานี้ เราได้มีโอกาสพบเห็นข้อความเผ็ดร้อนของ ‘รุ่นใหญ่’ ผ่านเฟซบุ๊กอยู่บ่อยครั้ง เป็นข้อความอันมีจุดยืนชัดเจน ขัดแย้งกับศิลปินรุ่นใหญ่-เล็กอีกมากมายในบรรณพิภพ
 
ก่อนจะมีงานฉลอง 70 ปีของสุชาติในวันที่ 27 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ‘ประชาไท’ พูดคุยกับเจ้าของวันเกิดในวันเกิดจริงๆ ของเขาทั้งเรื่องวรรณกรรมและเรื่องการเมือง พร้อมๆ กับขบวนนักศึกษาที่ฉลองวันเกิดของ ‘ประชาธิปไตย’ ด้วยการชุมนุมกันอยู่หน้า สน.ปทุมวัน กับเสียงตะโกน ‘คสช. ออกไป’ และลั่นวาจาจะสร้าง ‘ประชาธิปไตยใหม่’
 
ตลอดการทำงานที่ผ่านมา พอใจกับสิ่งที่ทำไหม ?
 
สุชาติ : มีงานหลายส่วนที่ทำ ที่ชัดเจนคืองานบรรณาธิการ ถือว่าเป็นงานอาชีพและทำให้ผมมีบทบาท       ที่โดดเด่น เป็นพวกสังคมและวรรณกรรมนะ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ โลกหนังสือ บานไม่รู้โรย แต่ที่ชัดๆ ก็เป็นช่อการะเกด

ในแง่บทบาทบรรณาธิการต้องถือว่าพอใจในระดับหนึ่ง แค่ระดับเดียว เพราะมันไม่สามารถทำต่อเนื่องได้ ผมรู้สึกว่ามันต้องนับหนึ่งใหม่ การทำงานบรรณาธิการมันมีเงื่อนไขที่การอ่าน การอ่านมีปัญหาเพราะหนังสือที่เราทำมีความจำกัดอยู่ในกลุ่ม เช่น กลุ่มปัญญาชนนักศึกษาเท่านั้น เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเป็นปัญหาที่ต้องนับหนึ่งใหม่ก็เพราะทำแล้วก็ต้องหยุด อย่างสังคมศาสตร์ปริทัศน์ หยุดโดยการเมือง 6 ตุลา    พอมาทำโลกหนังสือก็ทำได้ 6 ปี พอมาทำบานไม่รู้โรยก็ได้ 1 ปี แต่เป็นหนังสือที่ยังมีคนทำต่อ ไม่ได้ตายไปพร้อมกับผม แล้วก็มาทำช่อการะเกด แต่ช่อการะเกดเราก็ยังหวัง ผมบอกกับตัวเองว่าผมไม่มีอะไรจะต้องพิสูจน์ในบทบาทบรรณาธิการ คิดว่าพอแล้ว แล้วก็มีความสนใจอย่างอื่นด้วย เช่นหันมาทำงานศิลปะ เมื่อนึกย้อนไปแล้วบทบาทในการทำหนังสือชัดกว่าเพื่อน ไม่ใช่ในฐานะที่มีบทบาทในการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร แต่เป็นหนังสือเล่มด้วย ช่วง 40 ปีที่ผ่านมาก็คลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้ในฐานะของคนทำหนังสือ

มีแรงผลักดันอะไรที่ยังทำให้ทำนิตยสารช่อการะเกดอีกครั้ง ?

อันที่จริงคิดว่ามันจะจบไปแล้ว ที่กลับมาทำฉบับรัฐประหารกับสังคมไทย เพราะดันมีรัฐประหารและเราก็อยากจะรู้ความคิดของนักคิดนักเขียน เพราะทุกทีเวลามีรัฐประหาร นักคิดนักเขียนจะมีเอกภาพในการไม่เอารัฐประหาร ไม่เอากับความคิดเผด็จการ แต่รัฐประหารครั้งนี้มีความพิเศษและซับซ้อน จะเห็นว่าคนที่ทำงานด้านความคิดนั้นแตกออกจากกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นกวี นักคิด นักเขียน ศิลปิน ดูเหมือนว่าพอมาถึงหลักการใหญ่ เขาก็มีความเห็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราก็แปลกใจ เพราะเมื่อ 40 ก่อน มีการรัฐประหารมันทำให้คนที่ทำงานด้านหนังสือมารวมกัน แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะแตกกัน แต่ละฝ่ายแต่ละข้างคงมีเหตุผลของเขา ก็ไม่ว่ากัน แต่ผมคิดว่าผมชัดเจนตรงนี้ ผมไม่เห็นด้วย เพราะหลักการของผมตรงนี้ชัดเจนมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยถนอม (กิตติขจร) ประภาส (จารุเสถียร) แล้ว

เพราะฉะนั้นก็เลยคิดอยากลองดูซิว่า จะมีใครที่ส่งเรื่องสั้นมา ประเด็นคือเรื่องรัฐประหารในสังคมไทย หมายความว่าคุณใช้จินตนาการหรือเนื้อหาได้ร้อยแปด ไม่ต้องมาเอาใจตัว บก.ว่าไม่เอารัฐประหาร ผมยังทำงานศิลปะ เพราะฉะนั้นผมต้องการงานเขียนที่แสดงออกที่มีวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ มีความคิดริเริ่ม มีความเข้มข้นทางสถานการณ์ แต่ไม่ต้องมาเอาใจว่าไม่เอาเผด็จการ  เปิดกว้างและให้เสรีภาพ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนข้างไหน  แต่ต้องมีการนำเสนอที่มีชั้นเชิง คือ ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการนำเสนอประเด็นนี้

ที่เกิดช่อการระเกิดอีกครั้งในวาระที่ 4 ในวาระรัฐประหารนี่ ผมหวังว่าจะมีเล่มนี้เล่มเดียวนะ

คิดว่าวรรณกรรมหรือศิลปะที่เกิดในช่วงนี้นั้นรับใช้ใคร ?

 คำว่า รับใช้ใคร หรือ รับใช้อะไร นี่ผมเบื่อแล้ว เราพูดกันมานานแล้ว 40 ปี วรรณกรรมเพื่อนั่นเพื่อนี่ นักเขียนต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้ ผมคิดว่าเราควรจะมองเนื้องานที่เขานำเสนอมากกว่า ผมถึงบอกว่าศิลปะเพื่อนั่นเพื่อนี่หากมีการนำเสนอที่ไม่มีชั้นเชิง ไม่มีศิลปะ เป็นกลไก ก็เหมือนติดหล่มบางอย่าง พวกเพื่อชีวิตก็เคยด่าอีกพวกว่าเป็นน้ำเน่า พวกน้ำเน่าก็มองพวกเพื่อชีวิตว่าเป็นลักษณะที่เน้นแต่ชวนเชื่อ สำหรับผมมองว่าแนวเพื่อชีวิต ถ้าเขียนเป็นกลไกก็เป็นน้ำเน่าได้  เพราะฉะนั้นผมคิดว่าศิลปะเพื่ออะไรไม่สำคัญ มันต้องมีชีวิตก่อน หมายความว่าคนสร้างงานต้องสร้างให้มีชีวิต คุณต้องมีความคิดริเริ่ม มีความเข้มข้น มีภาษาที่ลงตัว เป็นชิ้นงานคุณภาพ นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ ฉะนั้นผมให้ความสำคัญกับงานศิลปะ การเขียนเรื่องสั้น การเขียนหนังสือ คุณกำลังทำงานศิลปะ ส่วนประเด็นด้านสังคมและการเมืองก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนำเสนออย่างไรให้มีพลัง ลักษณะการนำเสนอแบบตรงไปตรงมาในลักษณะแบบรับใช้เพื่อนั่นเพื่อนี่ คงต้องดูจากบริบทและเนื้อหาว่ามีความเข้มข้น ไม่นำเสนอแบบกลไกและเสนออย่างมีชีวิต มันก็จะสร้างพลัง แล้วหลังจากนั้นจะเพื่ออะไรก็เป็นเรื่องของคนอื่น

งานอย่างช่อการะเกดจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร หรือส่งผลสะเทือนต่อผู้มีอำนาจอย่างไร ?

(หัวเราะ) ไม่นะ สิ่งที่ผมทำมานี่ไม่เห็นมีอะไรสะเทือนสักอย่าง อาจกล่าวได้ว่าล้มเหลวซะด้วยซ้ำ ตั้งแต่ทำหนังสือมาจนกระทั่งทุกวันนี้  เพราะดูเหมือนว่าคนก็อ่านหนังสือน้อยลง

แต่ก็ยังมีบางส่วนที่อ่าน

ก็ยังมีบ้าง ทำให้คนแก่มีกำลังใจ นึกย้อนกลับไปเวลาผมไปสอนหรือไปพูดที่ไหน อย่างสัก 30 คน ขอแค่สักคนที่อ่านหนังสือหรือลุกขึ้นมาทำอะไรเกินหน้าเกินตาครูไปได้เลย มันแปลก อาจเป็นเพราะวิธีการนำเสนอหรือเงื่อนไขการเขียนอย่างไรก็แล้วแต่ ดูเหมือนว่าหนังสือแนวนี้เมื่อก่อนตีพิมพ์มา 2,000 เล่มใช้เวลา 2 ปี เดี๋ยวนี้ออนไลน์แค่ 500 เล่มก็ยังลำบาก เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดเรื่องวางหนังสือตามแผง ตอนนี้คิดถึงเรื่องสร้างเครือข่ายที่เป็นร้านหนังสืออิสระ แล้วก็ขายหนังสือในลักษณะของคนที่ต้องการหนังสือจริงๆ แทนที่จะไปให้กับสายส่ง เพราะคนทำหนังสือหรือคนคนเขียนหนังสือต้องเสี่ยงตลอดเวลาในสังคมที่ไม่เข้มแข็งทางการอ่าน 

ที่บอกเช่นนี้หมายความว่าคนที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็ควรจะมีความเข้มแข็งทางการอ่านในการอ่านหนังสือลักษณะแบบนี้ เพราะจบกันปีหนึ่งเป็นหมื่นๆ คน แต่หนังสือแบบนี้กลับมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือวิชาการหรือหนังสือเชิงคุณภาพสร้างสรรค์ เมื่ออยู่ในสังคมแบบนี้ก็ต้องลงไปแข่งขันกัน นับหนึ่งเท่ากัน ถ้าทุนน้อยก็ไปก่อน ส่วนผมก็อึดหน่อย ที่บอกว่านับหนึ่งใหม่ตลอดหมายความว่าเสร็จเล่มนั้นก็ไปเล่มอื่น ทำนองนี้ แต่ผมก็ยังเชื่อว่ายังมีคนอ่านรุ่นใหม่ แม้บางคนจะโตมากับการอ่านมังงะ อ่านการ์ตูน แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่ความเสียหาย  แต่ก่อนผมก็มีอคติกับเรื่องนี้ว่าคนที่อ่านแต่พวกนี้จะไม่สามารถเติบโตได้  แต่ผมคิดว่าเขาจะเติบโตได้ เพราะการ์ตูนมีเรื่องราวในลักษณะการนำเสนอที่เป็นเนื้อหา มีความหลากหลาย แต่น่าเสียดายหน่อยที่เป็นการ์ตูนของที่อื่น การ์ตูนที่เป็นของเราเองไม่ค่อยเห็น ทั้งที่เรามีฐานของเส้นการ์ตูนมานานแล้วเพราะฉะนั้นจะดูหรืออ่านจากภาพก็ได้ เดี๋ยวนี้ผมเปิดกว้างมาก หมายความว่าคุณจะเรียนรู้ได้จากทุกสื่อ ไม่ต้องอ่านจากหนังสือก็ได้ จะอ่านผ่านจอก็ได้  ข้อมูลมีอยู่เต็มตัวคุณ เปิดGoogle ก็ได้ รุ่นผมกว่าจะหาข้อมูลได้แต่ละชิ้นบางทีก็ต้องสร้างเครือข่ายหรือต้องรอหนังสือที่สั่งจากต่างประเทศ เดี๋ยวนี้ไวมาก คือโลกล้อมเราแล้ว เพียงแต่เรามีฐานเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ไหมซึ่งก็คือโครงสร้างทางการศึกษาของเรา ถ้ามีฐานจากการอ่านการ์ตูนหรือจากอินเตอร์เน็ตก็ได้ วันหนึ่งเขาจะอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ การอ่านนี่เป็นความเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง หากคุณยังอ่านอยู่ ไม่ว่าจะอ่านผ่านเล่มหรือผ่านเครื่อง แล้วสามารถพัฒนาการรับรู้ จะเรียกว่ารสนิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ จากเล่มไปสู่อีกเล่ม ซึ่งมีระดับที่สูงขึ้นไป จากเรื่องเริงรมย์ไปสู่วิชาการ ไปสู่การหาวิชาความรู้หรือข้อมูล

เพราะฉะนั้นการอ่านสามารถเริ่มต้นได้จากทุกที่ แม้แต่คุณเรียนจบไปแล้ว คุณเลิกอ่านเลิกศึกษาเท่ากับจบ ไม่มีความหมายอะไร ผมก็ยังหวังอยู่ว่าสิ่งที่ทำยังมีผลกับคนรุ่นต่อไป ถ้าหากเขาหวนกลับมาศึกษา วันก่อนมีคนถามถึงหนังสือที่ผมทำเมื่อ 40 ปีก่อน เรื่องภัยเหลือง เขาอยากจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้แต่เขาเกิดไม่ทันรุ่นนั้น แต่ผมยังอยู่เลยมาคุยกัน ผมก็ยังมีความหวังว่าอย่างน้อยก็มีคนสนใจในสิ่งที่เราเคยสนใจมาก่อน แล้วเขาก็คงจะไปได้ไกลกว่าผม เพราะเขาเป็นคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวก็ยังเป็นชีวิตอยู่ คนรุ่นผมมันหมดแล้ว

ยิ่งครั้งนี้ยิ่งมีความเศร้ามากขึ้นด้วย ผมหมายถึงว่าการที่นักคิดนักเขียนคนที่เล่นกับความคิดมาตลอดมีความเห็นที่เอาด้วยกับเผด็จการ การรัฐประหาร ผมไม่เข้าใจเพราะก่อนหน้านี้เขาก็เคลื่อนไหว และอยู่ในเอกภาพเดียวกับการไม่เห็นด้วย คือ มันไม่มีทางอื่นหรอกครับ ที่บอกว่าคนเท่ากันก็ต้องเท่ากันโดย 1 คะแนนเสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือเป็นเจ้า เราจะต้องใช้วิธีการนี้เพื่อแสดงความเท่ากัน มันเป็นรูปแบบและวิธีการ แล้วก็เป็นหลักการด้วย สิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่มีหลักการแบบ 1 คะแนนเสียงเท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าหากคุณมาล้มหรือสมรู้ร่วมคิดยังไงก็แล้วแต่ ผมก็ว่าจบ มันเศร้านะ เศร้าด้วยความรู้สึกว่าทำไมมันเกิดขึ้นตอนผมอายุ 70 มันควรจะเกิดขึ้นนานแล้ว และก็ผ่านไปแล้ว แต่มันกลับไปนับหนึ่งใหม่ ไม่ใช่นับหนึ่งแบบที่ผมทำหนังสือเจ๊งแล้วไปเริ่มใหม่ แต่เป็นการนับหนึ่งของสังคม แล้วก็พายเรือวนอยู่ในอ่าง ลึกเข้าไป ซับซ้อนมากขึ้น แล้วคนในแบบที่ใกล้เคียงกันก็ยังมีความแตกต่าง ถ้ามองอีกทีมันก็เป็นเรื่องปกติ เพราะคนก็ต่างจิตต่างใจ ก็ต้องมองด้วยวิธีคิดของเขาว่าเขาคิดยังไง ผมก็ยังเชื่อว่าเขาเชื่อในเรื่องระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เชื่อในแบบว่าล้มในแบบที่มีอยู่เดิมแล้วไปจัดการใหม่  แล้ววิธีที่ล้มไปก็คือการพึ่งอำนาจที่ไม่ได้มาด้วยหนทางปกติ

อะไรที่ทำให้หันมาสนับสนุนการต่อต้านรัฐประหาร  อย่างเช่นไปร่วมงานรดน้ำขอขมาเด็ก ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ?

เรื่องไม่เอารัฐประหาร  รัฐประหารก็คือเผด็จการ จะระดับไหนก็แล้วแต่ จะสุภาพหรือรุนแรงมันก็คือเผด็จการ ต้องดูกันต่อไป คือผมไม่เอามานานแล้วตั้งแต่สมัยถนอม-ประภาส ก็ทำหนังสือมาหลายภัย เช่น ภัยขาว ภัยเหลือง ภัยเขียวที่ทำมาเมื่อ 30-40 ปีก่อน พรรคพวกเพื่อนฝูงที่แปรเปลี่ยนไปก็ล้วนอยู่ในขบวนนี้ ถึงบอกว่าไม่เข้าใจ แต่ก่อนผมก็ไม่ได้คิดว่าจะมาอยู่ตรงนี้ ในเมื่อชัดเจนเรื่องกติกาถ้าเขายุบสภาแล้วก็ต้องไปเลือกตั้ง แต่เมื่อยุบสภาแล้วบอกว่าต้องปฏิรูป อันนี้ไม่เข้าใจ แต่พอรัฐประหารเลยเข้าใจ ทีนี้เลยเข้าใจที่เขาพูดเลยว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ แล้วเพื่อนเราก็เข้าไปอยู่ในขบวนของสิ่งที่เขาเชื่อว่าต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เขาคงเชื่อจริงๆ มั้งว่าจะแก้ปัญหาได้ แล้วมันจะแก้ยังไงล่ะในเมื่อหลักการมันเสียตั้งแต่ที่มาแล้ว

แต่ก็ยังมีความหวังนะครับ คนหนุ่มสาวนี่แหละที่เป็นความหวัง คนอย่างผมที่ไปรดน้ำเด็กก็ด้วยความรู้สึกว่าแทนที่ผมจะทำให้สังคมดีขึ้น ดันกลับมาอยู่ที่เดิม ทำให้พวกคุณต้องพบกับปัญหาที่มันน่าจะผ่านไปแล้วในสมัยคนรุ่นผม แต่พวกคุณกลับยังพบอยู่ มันเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นก็ต้องไปขอขมาคนรุ่นหลัง ผมทำได้แค่นี้แหละ ลึกๆ ไปแล้วก็รู้สึกล้มเหลว บางทีการขอขมาเด็กน่าจะทำให้ผมรู้สึกดีขึ้น แล้วมีกำลังใจทำงานต่อเท่าที่มีเวลาเหลืออยู่ หลายคนที่คุยกันก็ยังเห็นว่ายังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่เขายังเป็นตัวของเขาเอง แม้ว่าโครงสร้างโดยรอบจะบีบคั้นเขา เช่นธรรมศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเมื่อ 40 ปีก่อนที่ธรรมศาสตร์เหมือนแดนปลดปล่อย ทุกคนก็มาใช้พื้นที่นี้ ชาวนากรรมกรก็มาจัดกิจกรรม มาปรึกษาหารือนักศึกษา ครูบาอาจารย์  บรรยากาศของธรรมศาสตร์ที่ลึกไปอีกก็เป็นตลาดวิชาสำหรับคนยากคนจน คือคนที่สนใจจะศึกษาหาความรู้ก็มาที่ตลาดนี้ได้ ดังนั้นคือสิ่งที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนบอกว่าธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชนก็คือตรงนี้ เพราะฉะนั้นผมถึงรู้สึกว่าที่ไปรดน้ำตรงนั้นก็เหมือนเป็นสัญลักษณ์ รู้สึกเศร้าใจแทนธรรมศาสตร์ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น เราแปลกใจว่าคนที่เป็นผู้บริหารในสถาบันเมื่อก่อนเขาเป็นคนหนุ่มสาวที่กระตือรือร้น มีหลักการ มีอุดมการณ์ ส่วนหนึ่งก็เคยร่วมกับกิจกรรมทางสังคม บางคนก็เคยเข้าป่า บางคนก็มีความคิดสุดโต่ง แต่ก็อย่างที่ว่า เวลาเปลี่ยนคนก็เปลี่ยน แต่เวลาเปลี่ยนคนไม่เปลี่ยนก็มีนะ แต่ก็มีจำนวนน้อย เป็นธรรมดา

ผมคิดว่าพื้นที่อาจเปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงอย่างไรถ้าจิตวิญญาณอยู่ มันก็ยังคงอยู่ ถึงไม่มีป่าให้เข้า แต่ก็ยังมีเฟซบุ๊ก เราพึ่งสื่อกระแสหลักไม่ได้ โลกมันล้อมด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ของเทคโนโลยีต่างๆ ผมหัดเล่นเฟซบุ๊กเมื่อปีที่แล้ว คิดว่าจะเอามาใช้งานศิลปะที่ผมทำ แต่ดันมีรัฐประหารก่อน เลยกลายเป็นอีกแบบไป

ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและอนาคตไว้อย่างไร ?

อนาคตไกลๆ ไม่รู้ แต่ในเวลาใกล้นี้ก็จะไปสู่โรดแมปของการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าจะจัดการยังไงให้คุมได้มากที่สุด คือจะไปสู่จุดนั้นเพียงแต่จะมีวิธีการแต่งตั้งนายกคนนอก ส.ว.แต่งตั้งก็ว่ากันไป เราก็จะดูว่าประชามติที่ออกมาจะเป็นอย่างไร จะทำกันแบบไหน  ยังไงก็ต้องไปถึงจุดนั้น เพราะว่าสภาพเงื่อนไขที่อยู่ล้อมรอบ ที่บอกว่าโลกล้อมรอบ ไม่ใช่เพราะเรายิ่งใหญ่ แต่ที่ล้อมเพราะสภาพเงื่อนไข เช่น คุณจะต้องแข่งขัน เมื่อก่อนคุณต้องแข่งขันกับคนอื่น แต่ตอนนี้ต้องแข่งขันกันใกล้ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน  แต่ก่อนอาจจะเสียดุลให้ญี่ปุ่น แต่ตอนนี้เริ่มมีเกาหลี จีน แล้วตอนนี้จีนก็มีบทบาทใหม่ในฐานที่กำลังเป็นมหาอำนาจ จะวางตัวอย่างไร ผมเข้าใจว่าเขาจะต้องปล่อยและในที่สุดจะมีการเลือกตั้ง แต่จะเป็นอย่างไรก็ต้องดูกันต่อไป ดูว่าเราจะเสียเวลาอีกแค่ไหน ทำอะไรได้ก็แค่เชิงสัญลักษณ์แบบที่นักศึกษาคนหนุ่มสาวยังทำอยู่ แต่นี่ก็น่าเป็นห่วงนะ กลัวจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เพราะนี่เป็นแค่สัญลักษณ์แล้วก็เป็นสันติวิธี เราไม่ต้องการให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อ ผมไม่ต้องการเป็นแนวร่วมด้านกลับของใครทั้งนั้น แค่ผมเห็นด้วยกับการไม่เอารัฐประหารก็กลายเป็นเสื้อแดง แดงกระทันหัน ผมว่าคนหนุ่มสาวหรือคนที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ก็เพราะเป็นเรื่องของหลักการที่ว่าคุณจะต้องทำให้สังคมเปิด เป็นประชาธิปไตย ต้องเคลื่อนไปสู่จุดนั้นให้เร็วที่สุด ที่บอกว่าโลกล้อมรอบเรา มันรอเวลาไม่ได้ เผด็จการไม่สามารถอยู่ได้นานเหมือนอย่างปักจุงฮีหรือซูฮาโต้ หรือสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คงไม่ถึงขั้นนั้นหรอก” 

ครบรอบ 70 ปี อยากได้ของขวัญหรือขอพรอะไรไหม ?

ไม่ขออะไรแล้ว ถ้าขอให้ตัวเองก็ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังที่จะทำอะไรได้ อายุปูนนี้ก็มีโรคประจำตัว อย่างน้อยขอให้เดินมาร่วมกิจกรรม ให้ยังสามารถทำอะไรได้ ยังมีฝันอีกหลายอย่างทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้ามีกำลังทำตรงนี้ได้ก็จะทำต่อไป ขอเรื่องสุขภาพนี่แหละ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา การขอก็แค่คำปลอบใจ เพราะขึ้นอยู่กับตัวเรา

อยากฝากอะไรทิ้งท้าย ?

ขอให้หนุ่มสาวมีชีวิต ผมแก่แล้ว 70 แล้ว พวกคุณเหมือนนาฬิกา 7 โมงเช้า อยากให้เป็นพลังสำคัญ และเป็นความหวัง แล้วเมื่อเขามีชีวิตก็เปรียบเหมือนปลาที่ว่ายทวนน้ำ เพราะปลาที่ว่ายตามน้ำก็คือปลาที่ตายแล้ว ขนาดที่ใกล้ความตายแล้วผมก็พยายามว่ายทวนน้ำอยู่  ก็ยังรู้สึกอยู่ ยิ่งมีเพื่อนพ้องที่เป็นแบบนี้ด้วย ก็รู้สึกเศร้าและค่าเช่าที่ก็แพงขึ้นเรื่อยๆ (หัวเราะ)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท