Skip to main content
sharethis

นักวิทยาศาสตร์ในหลายแขนงพยายามค้นคว้ากันมานานแล้วว่าอะไรเป็นนิยามของคำว่า "สวย" หรือ "หล่อ" แต่ก็ไม่เคยได้ข้อสรุปที่ใช้ได้อย่างเป็นสากล และมีโอกาสที่จะเป็นแค่การสร้างคุณค่าให้เกิดการคล้อยตามกันของกลุ่มคน


25 มิ.ย. 2558 เดวิด รอบสัน นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ในสำนักข่าวบีบีซีชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าความงามแบบสากล (Universal beauty) ซึ่งเขาระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงและมีความเป็นอัตวิสัยมากกว่าที่คิด

ถึงแม้จะมีคนสรุปว่าคุณค่าความงามเป็นเรื่องมุมมองของแต่ละคน แต่นักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ก็พยายามค้นคว้าเสมอมาว่ามนุษย์เราตัดสินคุณค่าความสวยหรือความหล่อโดยมองจากอะไร เคยมีคำอธิบายในเชิงวิวัฒนาการว่ามนุษย์มองคุณค่าความงามในฐานะสิ่งที่แสดงออกถึงสุขภาวะที่ดีและความสามารถในการเจริญพันธุ์ในการหาคู่ แต่ในบทความของรอบสันระบุว่ายิ่งนักชีววิทยาและนักจิตวิทยาศึกษาในเรื่องนี้มากเท่าไหร่กลับยิ่งพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดมาตรฐานด้านความดูดีในตัวมนุษย์ได้

หนึ่งในคำอธิบายของนักวิทยาศาสตร์คือมนุษย์เราชอบสิ่งที่ดูสมดุลและสมมาตร เพราะความเครียดและโรคภัยต่างๆ ในช่วงวัยเด็กทำให้รูปลักษณ์ของคนเราดู "ไม่สมดุล" ได้ หน้าตาที่ดูไม่สมดุลจึงถูกตีความว่าเป็นสิ่งที่ "อ่อนแอทางกายภาพ" และไม่เหมาะกับการเจริญพันธุ์

แต่รอบสันก็ระบุว่าคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ยังมีปัญหาตรงที่ในกระบวนการสำรวจมีโอกาสที่ผิดพลาดด้วยความบังเอิญได้เพราะใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยเกินไป และมีการวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยแบบอภิมาน (meta-analysis) ทำให้เห็นว่าเมื่อมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้น ผลก็จะไม่สามารถสรุปเรื่องคุณค่าความงามได้ชัดเจน และจากการวิจัยในปี 2557 ที่วิจัยโดยการสแกนใบหน้าวัยรุ่น 5,000 คน แบบสามมิติพร้อมทั้งสอบถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์พบว่าผู้ที่มีใบหน้าแบบสมมาตรก็ไม่ได้มีสุขภาพที่ดีมากกว่าคนอื่นๆ

นักชีววิทยาก็เคยตั้งสมมติฐานเรื่องการให้คุณค่าความสวยหรือความหล่อว่ามาจากการดูใบหน้าเพื่อประเมิน "ความเป็นชาย" หรือ "ความเป็นหญิง" จากเพศนั้นๆ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องฮอร์โมนเพศ แต่การวิจัยที่ชี้ให้เห็นเรื่อง "ความเป็นชาย" และ "ความเป็นหญิง" ก็เป็นงานวิจัยที่ทำในตะวันตกเท่านั้น เมื่อมีการทดลองจริงๆ กับคนในพื้นที่อื่นๆ อย่างเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และรัสเซีย ก็จะพบว่าความชื่นชอบมีความแตกต่างหลากหลายกว่าเรื่องความเป็นหญิงหรือความเป็นชาย ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องความแตกต่างของยุคสมัยที่แม้แต่ในโลกตะวันตกเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการให้คุณค่าทางสรีระ เช่นในบางยุคสมัยจะชอบผู้หญิงอวบหรืออ้วนมากกว่า เป็นต้น

แอนโธนี ลิตเติล นักวิจัยเรื่องการเลือกคู่ของมนุษย์จากมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิงกล่าวว่า ปัจจัยแวดล้อมทางสังคมและสุขภาวะของตัวผู้ตัดสินความงามก็มีส่วนต่อรสนิยมความชอบของแต่ละคน เช่นในสังคมที่มีความเสี่ยงเรื่องความอดอยากมักจะเลือกคู่ที่ดูมีน้ำหนักมาก หรือคนที่เสี่ยงต่อการป่วยไข้ก็มักจะมองหาคนที่รูปร่างหน้าตาบ่งบอกว่าสุขภาพดี

แต่ถึงแม้ว่าคุณค่าความงามจะฟังดูเป็นเรื่องอยู่เหนือกาลเวลา แต่รอบสันก็ชี้ว่าบางทีมันอาจจะเป็นการให้คุณค่าที่เกิดขึ้นเพียงไม่นานมานี้เองก็ได้ โดยรอบสันชี้ว่าจากการวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการตัดสินคุณค่าความงามเป็นผลมาจากการคล้อยตามกัน (conformity) เช่น การเห็นคนชื่นชมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเยอะๆ ก็ทำให้เกิดการสร้างค่านิยมทางสังคมว่าสิ่งนั้นดู "สวยงาม" ตามไปด้วย

โดยรอบสันยกตัวอย่างการทดลองจากวิทยาลัยธุรกิจจอห์น ฮ็อปกินส์ แครี ที่ให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบให้คะแนนรูปใบหน้าโดยมีการแสดงคะแนนเฉลี่ยจากผู้เยี่ยมชม ทำให้ถึงแม้ว่าจะไม่มีคำตอบที่ "ถูก" หรือ "ผิด" ในแง่นี้แต่คนที่เข้าร่วมก็จะเริ่มให้คะแนนมากกว่ากับใบหน้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับใบหน้าที่ได้คะแนนสูง เรื่องนี้ทำให้รอบสันสรุปว่าความสวยงามเป็นเรื่องของกระแสที่ดาราบางคนอาจจะนำมาใช้ประโยชน์

รอบสันระบุอีกว่าปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการดึงดูดด้านหน้าตาคือเรื่องของความคุ้นเคย การได้เห็นรูปร่างหน้าตารูปแบบหนึ่งอยู่บ่อยๆ จะทำให้รูปร่างหน้าตารูปแบบนั้น "ดูน่าดึงดูด" ขึ้นมาได้

 

เรียบเรียงจาก

The Myth of universal beauty, BBC, 23-06-2015
http://www.bbc.com/future/story/20150622-the-myth-of-universal-beauty

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net