คุยกับ ‘ชลิดาภรณ์’ : ความโกลาหลของคนมาเรียนรัฐศาสตร์

ถอดประสบการณ์สัมภาษณ์นักศึกษารัฐศาสตร์ใหม่ พบแอดมิชชั่นมักไม่รู้ว่าคณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไร ขณะที่สอบตรงใฝ่รู้การเมืองมากกว่า โยนโจทย์ใหญ่ปัญหาระบบการศึกษาไทย ที่สร้างความโกลาหล

สืบเนื่องจากโพสต์เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 58 ในเฟซบุ้กของ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่โพสต์โดยใช้ชื่อ Chalidaporn Songsamphan[1] [2] เกี่ยวกับประเด็นการสอบสัมภาษณ์นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งนักเรียนบางคนไม่สามารถตอบคำถามสัมภาษณ์ได้อย่างชัดเจนและสะท้อนความไม่พร้อมด้านความรู้รอบตัว, สถานการณ์ปัจจุบัน และ ความเข้าใจในการเมืองไทย ของเยาวชนไทยส่วนหนึ่ง ที่ต้องการศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ และสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทย (ตามภาพ)

ในโอกาสนี้ ประชาไท จึงได้สัมภาษณ์ ชลิดาภรณ์ ถึงความรู้สึก, ความคิดเห็น และ ทรรศนะ ในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์ ในประเด็นเกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจของเยาวชนไทยในเรื่องรัฐศาสตร์และการเมืองไทย

ชลิดาภรณ์ กล่าวเพื่อทำความเข้าใจก่อนว่า ข้อความที่ได้โพสท์ในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการสอบสัมภาษณ์นั้น คือเป็นการสัมภาษณ์ในส่วนของรอบแอดมิชชั่น (วันที่ 15 มิ.ย.) ซึ่งการสอบสัมภาษณ์รอบแอดมิชชั่นนั้นคำตอบที่ได้จะค่อนข้างจะต่างกับรอบสอบตรง ซึ่งเด็กรอบสอบตรงจะมีความสนใจและกระตือรือร้นใฝ่รู้ความรู้ด้านการเมืองมากกว่า

ชลิดาภรณ์ อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบแอดมิชชั่นหรือแม้กระทั่งระบบเก่าซึ่งก็คือเอ็นทรานซ์ คนสมัครนั้นจะเลือกคณะที่ต้องการได้มากกว่า 1 คณะ ดังนั้นเวลาเลือกคณะก็จะเลือกโดยมีเป้าหมายว่าอยากสอบติด เลือกเพราะอยากเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ ไม่ได้อยากเรียนคณะนั้นๆ จริงๆ ก็เลยกลายเป็นวิธีเลือกเพื่อให้สอบได้ของคนจำนวนไม่น้อย คำตอบในการสัมภาษณ์รอบแอดมิชชั่นบางส่วนก็จะออกมาในรูปแบบนี้ คือเด็กไม่รู้ว่าคณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไร จึงใช้วิธีเดาๆ เพื่อตอบคำถาม

“ถ้าพูดให้เห็นภาพรวม คนที่เข้ามาจากระบบแอดมิชชั่นที่ดิฉันเห็นมาหลายปีจะไม่ค่อยชัดในคำตอบมากเท่าไหร่ว่ารัฐศาสตร์คืออะไร? ก็จะตอบโดยเดาเอาจากชื่อคณะหรือสาขา คำตอบก็จะออกมาตามที่คุณเห็นกัน”

อย่างไรก็ตาม ชลิดาภรณ์ได้เล่าถึงการสัมภาษณ์ในระบบสอบตรง ซึ่งแตกต่างกันว่า ในรอบสอบตรงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยากเรียนรัฐศาสตร์จริงๆ ตนไม่ได้มีเจตนากล่าวเหมารวมแต่กล่าวคร่าวๆ จากจำนวนเท่าที่เคยเห็น โดยเด็กรอบสอบตรงนั้นจะมีความสนใจพื้นฐานในระดับหนึ่ง จึงจะเข้าใจว่าจะมาเจออะไร และเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ฉันอยากเรียน

“ในขณะที่รอบแอดมิชชั่นนั้น วันจันทร์ที่ผ่านมา (15 มิ.ย.) มีเด็กซิ่วบอกว่าเรียนคณะเก่าไม่มีความสุข พอมาสัมภาษณ์ดิฉันก็ถามไปว่า แล้วคุณรู้ไหมว่ารัฐศาสตร์คืออะไร? เขาก็ตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน ถ้าไม่แฮปปี้ก็ซิ่วต่อไป”

"ดิฉันจึงคิดว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทย ไม่ใช่เฉพาะคนมาเรียนรัฐศาสตร์ มันเป็นความโกลาหล"

สิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนวิกฤตความเข้าใจการเมืองของเยาวชนไทยได้หรือไม่?

ชลิดาภรณ์ อธิบายว่า สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนความคิดชุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ความคิดชุดใหม่แต่อย่างใด เป็นความคิดชุดเก่าที่เราต่างก็รู้ดีว่า เด็กไทยเรียนหนังสือเพื่อการสอบเท่านั้น คิดว่าไม่ต้องรู้อะไรเกี่ยวกับโลกนี้ก็ได้ เพราะไม่มีอะไรที่จะกระตุ้นให้เด็กอยากรู้ในเรื่องอื่น เวลาผ่านไปก็ยิ่งรู้เป็นท่อนๆ คือไม่ได้รู้ทั้งหมด รู้เพื่อเอาไว้ใช้สอบเท่านั้น

ชลิดาภรณ์ ยกตัวอย่างคำถามที่เคยใช้สัมภาษณ์คัดเลือกเด็กเข้าศึกษาต่อ  เมื่อถามว่าชอบนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คนไหน? เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มาสอบไม่รู้จักใครเลย คือไม่อ่านอะไรอื่นเลยและไม่ได้ทำการบ้านมาสัมภาษณ์

“ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ดิฉันว่าอาจจะต้องดูการประกอบชีวิตของเขา คือมันไม่มีความจำเป็นต้องรู้ เวลาคุณเรียนหนังสือแล้วสอบในโรงเรียน มันไม่มีความจำเป็นจะต้องใฝ่รู้ในเรื่องอื่น ชีวิตมีมิติเดียวมาก คือไม่ใหม่ สังคมไทยเป็นแบบนี้มานาน"

มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ ก่อนมาเรียนไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่จบไปแล้วต้องรู้แล้วควรรู้หรือไม่ต้องรู้อะไรก่อนเข้ามาเรียนรัฐศาสตร์?

"แน่นอนว่าถ้าคุณรู้ทั้งหมดก็ไม่ต้องมาเรียน ถูกหรือไม่? แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือความสนใจของคุณ"

ชลิดาภรณ์ กล่าวต่อว่า คนที่จะเข้ามาเรียนรัฐศาสตร์ควรมีความสนใจในเรื่องประเด็นทางการเมืองในความหมายแคบ เช่น การเมืองภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งเด็กที่ไม่สนใจเลยในประเด็นแบบนี้ ก็เริ่มจะลำบากเพราะเวลาที่เรียนนั้น คนเรียนรัฐศาสตร์ ไม่ว่า จะเป็นสาขาการเมืองการปกครองหรือสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออื่นๆ เวลายกตัวอย่าง ต้องยกตัวอย่างปรากฏการณ์ และถ้าไม่สนใจเลยก็ลำบาก เป็นความลำบากซ้อนความลำบาก ดังนั้นคนที่อยากเข้ามาเรียนก็ควรที่จะต้องมีความสนใจเบื้องต้นบ้าง

ความคาดหวังและคำแนะนำในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์

ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า อยากเห็นเด็กๆได้อ่านอะไรที่กว้างขวางไปกว่าหนังสือเรียนเพื่อการสอบ พออ่านกว้างขวางไปก็จะมีประเด็นที่สนใจ ประเด็นหลายเรื่องอาจจะเป็นเรื่องการเมืองภาครัฐ ซึ่งประเด็นหลายเรื่องทางการเมืองในขณะนี้ นักรัฐศาสตร์นิยามประเด็นการเมืองไว้กว้างขวางมาก อย่างน้อยๆต้องมีอะไรบางอย่างเป็นไฟในใจตัวเด็กเอง ซึ่งถ้าไม่มีเลยมันจะลำบากในแง่การเรียนเพราะผู้เรียนจะไม่มีความสุข การที่จะเข้ามาเรียนในคณะรัฐศาสตร์นั้น แนะนำว่าอย่างน้อยต้องมีความสนใจในประเด็นการเมือง

“อยากให้เด็กๆ ได้เห็นโลกอย่างกว้าง และได้คิดใคร่ครวญ โดยเฉพาะคนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยโดยถือว่าขอให้เข้ามาให้ได้ก่อน แล้วปรากฏตัวเองไม่แฮปปี้แล้วจะซิ่ว ดิฉันคิดว่าคุณได้เดินทางมาแล้วหนึ่งครั้ง คุณมีโอกาสที่จะใคร่ครวญกับชีวิตของตัวเอง ประเด็นนี้ที่พูดอาจจะไม่ใช่เฉพาะเด็กที่เรียนรัฐศาสตร์ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กไทยพอถึงเวลาหนึ่งเขามีความสามารถที่จะคิดเองและลองผิดลองถูก” ชลิดาภรณ์ กล่าว



[1] Chalidaporn Songsamphan 15 มิถุนายน เวลา 9:33 น. https://www.facebook.com/chalidaporn/posts/10204587721112678

 

[2] Chalidaporn Songsamphan 15 มิถุนายน เวลา 10:02 น. https://www.facebook.com/chalidaporn/posts/10204587784354259

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท