ตื่นเถิดสหายสิทธิ์ (อย่ามัวแต่คุยกันเอง)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ณ ชายขอบของงานประชุมเสรีภาพออสโล (Oslo Freedom Forum-OFF) นักกิจกรรมชาวตูนีเซียที่มีนามว่าอามีร่า ยายาอุย (Amira Yahyaoui)ได้แสดงทัศนะเชิงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานของชุมชนนักสิทธิมนุษยชนเอาไว้อย่างแหลมคม

ฉันเพิ่งเดินทางกลับจากการไปร่วมงานประชุมเสรีภาพออสโล หรือที่ใครๆต่างพากันเรียกว่า “ดาวอสของนักปฏิวัติ”[i] งานนี้ หากจะเรียกว่าเป็นเวทีการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะเป็นเวทีที่ประกอบไปด้วยวิทยากรซึ่งแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ปีนี้ก็เช่นกัน ไม่เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะมีทั้ง ซีเน็บ เอล-ฮาซุยอี (Zineb El Rhazoui) คอลัมนิสต์ นิตยสารชาร์ลี เอ็บโด ซึ่ง ได้ขึ้นกล่าวสดุดีไว้อาลัยแก่เพื่อนร่วมงานของเธอที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้อย่างปลุกเร้า, ชีราซ มาเฮอร์ (Shiraz Maher) อดีตสมาชิกกลุ่มฮิซบุตาห์รีร์ (Hizb ut-Tahrir) ที่มาให้แง่คิดว่าเหตุใดความสุดโต่ง (ในที่นี้หมายถึง ความเชื่อทางศาสนาอิสลาม-ผู้แปล) จึงเป็นที่นิยม, และ จีซุงโฮ (Ji Seong Ho) ที่เล่าย้อนถึงความพยายามที่เป็นไปไม่ได้ของเขาหลายต่อหลายครั้งในการหลบหนีออกจากประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งในตอนท้ายของการนำเสนอนี้ ทำเอาล่ามของเขาถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่

แต่อย่างไรก็ดี ช่วงโปรดของฉันคือ ตอนที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับอามีร่า ยายาอุย นักกิจกรรมชาวตูนีเซีย แบบตัวต่อตัว

ในปี 2004 ยายาอุยในวัยยี่สิบปี ต้องหนีไปอยู่ปารีสหลังจากที่เธอถูกตำรวจลับติดตามตัว จากการที่เธอเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี เซน เอล-อาเบอดีน เบน อาลี (Zine el-Abidine Ben Ali) เธอสามารถกลับเข้าประเทศบ้านเกิดได้อีกครั้งหลังการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจเผด็จการ ‘อาหรับสปริง’ ในปี 2011 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเธอได้กลายเป็นหนึ่งในนักสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่ทำให้เธอหยุดพูดในสิ่งที่เธอคิด

บนเวทีในงาน OFF เธอได้วิพากษ์วิจารณ์ชุมชนนักสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ และย้ำเตือนถึงอันตรายในการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนที่ดูเหมือนจะอยู่แต่กับความพึงพอใจในกลุ่มของตนเองและขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนทั่วไป หลังจากที่ได้ฟังสิ่งที่เธอพูดบนเวที ฉันรู้สึกว่ายังมีประเด็นอีกมากมายที่อยากจะคุยกับเธอ ระหว่างพักเบรค ฉันจึงตามหาเธอเพื่อขอสัมภาษณ์ ซึ่งเธอได้เล่าเกี่ยวกับการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศตูนีเซีย  -- รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์โลกขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ได้อย่างคมคาย

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ถูกเรียบเรียงใหม่เพื่อความกระชับและชัดเจน

FP: ในการนำเสนอของคุณบนเวที คุณพูดเกี่ยวกับการขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน ทำไมคุณจึงเลือกที่จะโฟกัสประเด็นนี้?

ยายาอุย: พวกเราต่างก็โฟกัสประเด็นสิทธิมนุษยชนกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิที่จะเชื่อ สิทธิที่จะทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ -- แต่เราไม่พูดถึงชีวิตของประชาชนทั่วๆไป ในประเทศตูนีเซียถึงแม้ตอนนี้เราจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว แต่เสรีภาพนี้ถูกใช้โดยกลุ่มคนเพียงแค่หยิบมือเดียว ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพนี้มาโดยตลอด แน่นอน มันเป็นสิทธิที่สำคัญมาก แต่นอกจากประเด็นนี้ ยังมีประเด็นอื่นอีกมากมายที่อาจฟังดูไม่เซ็กซี่เพียงพอสำหรับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ใช่ว่าจะมีความสำคัญน้อยไปกว่ากัน เช่น ความยุติธรรมทางสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมือง พวกเรา [นักกิจกรรม] ต่างมีส่วนร่วมทางการเมือง พวกเราได้สิทธินี้ แต่สำหรับคนอื่นๆแล้วนั้น การจะเข้าถึงสิทธินี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ฉันขอยกตัวอย่างง่ายๆ ในประเทศตูนีเซีย ปัญหาด้านการจ้างแรงงานหญิงในชนบท และการเข้าถึงสิทธิทางสังคมเป็นปัญหาที่น่าวิตกมาก พวกเราใช้เวลาครึ่งหนึ่งของเวลาทั้งหมดที่เรามีพูดถึงประเด็นสิทธิสตรี -- แต่สำหรับพวกเราแล้ว สิทธิสตรีหมายถึงสิทธิที่จะได้เข้าไปนั่งอยู่ในรัฐสภา หรือสิทธิที่จะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี แต่สิทธิขั้นพื้นฐาน -- สิทธิของประชากรอีก 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ -- กลับไม่ถูกพูดถึงหรือแม้แต่ถูกเรียกร้อง เราทำการปฏิวัติซึ่งเริ่มต้นจากข้อเรียกร้องทางสังคม และเราเปลี่ยนเแปลง เราปฏิรูปทุกอย่าง ยกเว้นทำตามข้อเรียกร้องนั้น คุณจินตนาการออกไหมว่าประชาชนทั่วไปจะรู้สึกคับข้องใจเพียงใด? มันเป็นการหักหลังดี ๆ นี่เอง

แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ฉันกำลังทำอยู่ตอนนี้คือ การสร้างคลังสมองด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ เป็นงานใหม่ที่กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นภายในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ และฉันจะต้องทำงานอย่างมากกับเยาวชนเรื่องการ (ถูก) ทำให้มีความเชื่อ(ทางศาสนา-ผู้แปล)แบบสุดโต่ง

 

FP: สำหรับคุณ ความมั่นคงถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆอย่างงั้นหรือ?

ยายาอุย: แน่นอน ความมั่นคงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุด เราเป็นประเทศที่เล็กมาก ถูกคุกคามจากทั้ง อัลเคด้าในแอลจีเรีย และ [จาก Islamic State (IS) ใน] ลิเบีย -- มันเละเทะมาก คุณว่าไหมหละ? นอกจากนั้นแล้ว หนึ่งในกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะของตูนีเซียคือการที่เราไม่มีกองทัพเหมือนในประเทศอียิปต์ เบนอาลีเป็นเผด็จการและเขาเลือกที่จะทำให้กองทัพอ่อนแอลง เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการทำรัฐประหาร แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ ทุกวันนี้กองทัพของตูนีเซียไม่มีความพร้อมเลย ในขณะที่กลุ่มก่อการร้ายกลับมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียในการทำงานจัดตั้ง ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมฉันจึงทำสิ่งที่กำลังทำอยู่

แต่อีกเหตุผลคือ ในความคิดของนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ความมั่นคงถือเป็นสิ่งต้องห้าม ความมั่นคงแปลว่าคุณต่อต้านสิทธิมนุษยชน เมื่อนักสิทธิมนุษยชนมีความคิดเช่นนั้น อีกด้านหนึ่งก็ทำให้คนที่อาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนได้มีพื้นที่และเข้ามาทำงานด้านนี้ แต่ฉันคิดว่าคนที่มีพื้นฐานการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นความมั่นคงให้มากกว่านี้ และเลิกคิดว่าความมั่นคงเป็นสิ่งต้องห้าม ถ้าพวกเราต้องการช่วยปกป้องสิทธิของผู้อื่น สิ่งแรกที่เราจำเป็นต้องปกป้องคือ สิทธิที่พวกเขาจะมีชีวิตรอดและไม่ถูกฆ่าตาย นี่คือก้าวแรก

 

FP: ฟังดูเหมือนว่างานส่วนใหญ่ของคุณจะโฟกัสในสิ่งที่คุณมองว่าเป็นจุดอ่อนของขบวนการสิทธิมนุษยชน -- นั่นคือการที่ขบวนการไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งก็คือเรื่องความมั่นคง คุณยังมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

ยายาอุย: แน่นอน ปัญหาของฉันคือ นับวันฉันยิ่งรู้สึกว่าหัวข้อสิทธิมนุษยชนเป็นแค่เพียง “การพูดคุยของชนชั้นกระฎุมพี” ฉันหมายความว่าฉันรักเวที OFF แห่งนี้ แต่อย่าลืมว่าพวกเรากำลังพักอาศัยอยู่ในแกรนด์โฮเต็ลนะ อย่างเวลาที่พวกเราพูดถึงราอิฟ บาดาวี (Raif Badawi - นักเขียนและนักกิจกรรมชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกทางการดำเนินคดีจากการที่เขาวิพากษ์วิจารณ์บางแง่มุมของศาสนาอิสลาม - ผู้แปล) ฉันคิดว่าเราน่าเลือกพักในโรงแรมที่ไม่ต้องแพงเท่านี้และนำเงินส่วนที่เหลือไปให้ภรรยาของเขา ฉันมีปัญหากับเรื่องพรรค์นี้ และฉันก็วิพากษ์วิจารณ์กับเรื่องแบบนี้เวลาที่อยู่ในตูนีเซีย เพราะฉันไม่เชื่อเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่มาจากโรงแรมห้าดาว ดังนั้นฉันจึงขอท้าทายมันสักหน่อย และฉันรู้ดีว่าคนจำนวนมากจะรู้สึกไม่โอเคกับคำวิจารณ์ของฉัน แต่มันเป็นปัญหาซีเรียสจริงๆ

 

FP: คำวิจารณ์ของคุณหมายถึงในตูนีเซียด้วยใช่ไหม?

ยายาอุย: ใช่ พวกเราจัดงานประชุมแล้วก็มีแต่คนหน้าเดิมๆมาร่วมงาน และแน่นอน คนเหล่านี้มักเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเราพูด ดังนั้นแล้วทำไม? ทำไมพวกเราถึงยังทำแบบนี้อยู่อีก?

 

FP: ในงานที่คุณทำ คุณจึงพยายามที่จะเข้าหาคนกลุ่มใหม่ๆให้มากขึ้น?

ยายาอุย: เราไม่คุยกับคนที่เห็นเหมือนเรามากเท่าไหร่ มันเสียเวลา เราเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนเพียงหนึ่งเดียว ที่ทำงานอย่างแข็งขันกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เราช่วยให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงเทศบาลในชุมชนของตน ให้สามารถเข้าถึงงบประมาณ และการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ และเราให้คนในท้องถิ่นทำสิ่งเหล่านี้ด้วยลำแข้งของพวกเขาเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คนเมืองอย่างพวกเราไปช่วยเหลือ “คนยากจน”

และที่ฉันอยากจะเน้นย้ำคือ สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในตูนีเซีย มันมีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าคุณไปที่ไหนคุณก็เห็น ไม่ว่าจะเดินทางไปอเมริกา มาออสโล หรือไปแอฟริกาใต้ นี่คือวิธีที่เอ็นจีโอทำอยู่ทุกวันนี้

ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน คุณจะเห็นว่าความเชื่อมั่นระหว่างรัฐบาลและประชาชนล้วนพังทลายโดยสิ้นเชิง แต่ความเชื่อมั่นระหว่างภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไปก็เสื่อมถอยลงเช่นกัน และนี่คือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในหลายๆแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในอาหรับ หรือในเฟอร์กูสัน ไม่ได้ถูกจัดตั้งโดยเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคม หากแต่เกิดจากการรวมตัวของสามัญชนด้วยกัน ฉันคิดว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ประชาชนไม่ศรัทธาในองค์กรอันโก้เก๋ของบรรดาชนชั้นนำเหล่านี้

 

FP: คุณเคยประสบความยากลำบากในการทำงานเชื่อมโยงกับผู้คนบ้างไหม?

ยายาอุย: แน่นอน มันต้องมีก้าวแรกเสมอ ซึ่งก็คือ “เธอไม่ใช่พวกฉัน”

 

FP: แล้วคุณก้าวข้ามความยากลำบากนั้นไปได้อย่างไร?

ยายาอุย: ฉันเกลียดการเป็น “ผู้ช่วยชีวิต” ฉันเกลียดความคิดที่ว่าเอ็นจีโอเป็นผู้มาโปรด ฉันเกลียดปรัชญาลักษณะนี้ สิ่งที่พวกเราทำคือ เราอยู่เบื้องหลังและจะให้ความช่วยเหลือก็ต่อเมื่อพวกเขาร้องขอ แต่พวกเขาจะต้องหาทางออกหรือแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง

 

FP: นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมคุณจึงโฟกัสที่ประเด็นความพร้อมรับผิดของรัฐ (government accountability) ในงานของคุณใช่หรือไม่? เพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็งให้คนในท้องถิ่น ให้พวกเขาสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐใช่หรือไม่?

ยายาอุย: แน่นอน การทำให้คนเสพติดคุณ ต้องพึ่งพาอาศัยคุณ มันน่าเย้ายวนใจอยู่ไม่น้อย -- “ความต้องการเป็นฝ่ายถูกต้องการ” มันเป็นพฤติกรรมที่แสนจะธรรมดาของมนุษย์ แต่มันส่งผลร้ายต่อคนที่เราไปให้ความหวัง (ลมๆแล้งๆ) ไว้ ว่า “เราจะช่วยเหลือคุณตลอดไป” เพราะมันไม่จริง มันไม่มีทางที่เราจะช่วยเหลือใครสักคนได้ตลอดไป

 

FP: แล้วคุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเปลี่ยนผ่านโดยทั่วไปในตูนีเซีย? คุณพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นไหม?

ยายาอุย: มันน่าเหลือเชื่อมาก จริงๆนะ เพราะประเทศนี้ไม่เคยมีประชาธิปไตยมาก่อน และภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3-4 ปี เรามีความเป็นประชาธิปไตยได้ราวกับว่าที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด ฉันเคยออกมาต่อต้านรัฐบาลชุดก่อนอย่างแข็งขัน และหลังจากนั้นไม่กี่ปีฉันแทบจะจำประเทศของตัวเองไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันน่าเหลือเชื่อมาก ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในเมืองหลวงหรืออะไรทำนองนั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คน มันน่าทึ่งมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศอาหรับที่ผู้นำเผด็จการพยายามอธิบายกับประชาชนว่า ไอเอสกำลังจะมาเขมือบพวกเขา และชาวอาหรับยังไม่พร้อมที่จะมีประชาธิปไตย ตูนีเซียเป็นตัวอย่างอันน่าเหลือเชื่อ พวกเราเป็นเสมือนห้องแล็บค้นคว้า ทดลอง ที่พิสูจน์ให้ทั่วโลกได้เห็นแล้วว่า อิสลาม อาหรับ คนยากจน ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ เป็นครั้งแรกที่พวกเราสามารถตอบได้ว่า “จริง” เมื่อถูกถามว่า “สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสากลจริงหรือ?” ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย แอฟริกา ยุโรป ลาตินอเมริกา อเมริกา -- ในทุกหนแห่ง ยกเว้นตะวันออกกลาง ในโลกอาหรับ แต่ในท้ายที่สุด เราสามารถตอบได้ว่า “จริง” เพราะประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นทั่วโลกแล้วจริงๆ

แต่มันก็ถือว่าเป็นงานที่หินมาก ปัญหาของเราคือเรายากจนมาก ประเทศของเราไม่มีทรัพย์สินมากพอ สิ่งที่เรามีคือท้องทะเล -- และมันสมอง ถ้าคุณมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวอาหรับที่มาจากประเทศอื่น เขาจะบอกคุณว่าชาวตูนีเซียนนั้นมีความต่างเพราะพวกเขาฉลาดกว่า แต่ในความเป็นจริง พวกเราไม่ได้ฉลาดกว่าใคร แต่เป็นเพราะเราไม่สามารถเอาแต่คอยพึ่งพาอาศัยอะไรได้ จริงๆแล้วประเทศตูนีเซียถูกสาปให้ต้องเปิดกว้าง ต้องเรียนรู้ และต้องทำ และนี่อาจเป็นอีกสาเหตุที่ว่าทำไมตูนีเซียถึงกำลังประสบความสำเร็จ เพราะพวกเราไม่สามารถพูดได้ว่า “มานอนเล่นกันเถอะ อย่าได้กังวลอะไรเลย เพราะเรามีเงินงอกเงยออกมาจากผืนดิน ”

ฉะนั้นเพื่อตอบคำถามของคุณ ฉันใช้ชีวิตทุกๆวันอยู่ระหว่างกึ่งกลางของประวัติศาสตร์ เป็นเช่นนี้ทุกวัน และแน่นอน มันเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ฉันมั่นใจว่าในอีกสิบปีหรือสิบห้าปีข้างหน้า มันจะเป็นเรื่องเล่าอันน่าเหลือเชื่อเรื่องหนึ่ง

 

 

ที่มา:

http://foreignpolicy.com/2015/06/05/a-wake-up-call-for-ngos-tunisia-arab-spring-oslo-freedom-forum/

 

ที่มาภาพ: รูปอามีร่า ยายาอุย https://oslofreedomforum.com/speakers/amirayahyaoui

 

 



[i] ดาวอสคือเมืองที่เป็นสถานที่จัดประชุมเศรษฐกิจโลก 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท