Skip to main content
sharethis

เป็นการรวมตัวที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ระหว่างหัวหอกนักกิจกรรมผู้วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจโลกอย่างนาโอมิ ไคลน์ กับผู้นำศาสนาอย่างพระสันตะปาปาฟรานซิส อีกทั้งยังมีการเกณฑ์กลุ่มนักกิจกรรมและนักวิทยาศาสตร์เพื่อให้ความรู้คณะสงฆ์ในการประชุมเรื่องโลกร้อนที่กำลังจะมีขึ้นในนครรัฐวาติกัน

นิตยสารดิออปเซอร์เวอร์ในสังกัดของสำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า พระสันตะปาปาฟรานซิสเชิญ นาโอมิ ไคลน์ นักกิจกรรมชื่อดังผู้วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมศตวรรษที่ 21 ให้เข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่นครรัฐวาติกัน

นาโอมิ ไคลน์ กล่าวว่าเธอรู้สึกแปลกใจแต่ก็ยินดีที่ได้รับเชิญจากสำนักงานของพระคาร์ดินัล ปีเตอร์ เติร์กสัน ให้ร่วมการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะมีทั้งนักบวช นักวิทยาศาสตร์ และนักกิจกรรม ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องโลกร้อน

ไคลน์เป็นผู้ที่รณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินโลกเพื่อแก้ไขปัญหานี้ซึ่งเป็นความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกับที่พระสันตะปาปาเคยกล่าวไว้ ก่อนหน้านี้พระสันตปาปาฟรานซิสเคยกล่าวว่านักการเมืองเป็นผู้สร้างระบบที่รับใช้แต่ประเทศที่ร่ำรวยโดยเบียดเบียนประเทศที่ยากจน

"ที่พวกเขาเชิญฉันแสดงว่าพวกเขาคงไม่ยอมเลิกสู้ง่ายๆ มีคนจำนวนมากชื่นชมพระสันตะปาปาในเรื่องนี้แต่ก็บอกว่าเขาพูดผิดเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนฉันกลับคิดว่าเขาพูดถูกในเรื่องเศรษฐกิจ" ไคลน์กล่าว

นักกิจกรรมและผู้นำทางศาสนามีแผนจะรวมกลุ่มกันในกรุงโรมช่วงวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (5 ก.ค.) โดยจะมีการเดินขบวนในกรุงโรมโดยเริ่มจากสถานทูตฝรั่งเศส ก่อนที่จะไปร่วมประชุมที่นครรัฐวาติกันซึ่งจะเน้นพูดกันถึงเรื่องการประชุมใหญ่เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนโดยสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นในกรุงปารีสของฝรั่งเศสภายในเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้

ก่อนหน้านี้บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติส่งสารถึงวาติกันในการประชุมซัมมิทเมื่อเดือน เม.ย. ว่าพวกเขาต้องการให้พระสันตะปาปาเป็นปากเสียงและผู้นำในเชิงศีลธรรมเพื่อให้มีการขับเคลื่อนประเด็นโลกร้อนรวดเร็วขึ้น

มีการตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นการรวมกลุ่มกันอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ของนักกิจกรรม นักวิทยาศาสตร์ และนักบวชซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ต่อต้านแนวคิดวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกาลิเลโอ แต่ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวาติกัน คณะสงฆ์ได้ขอให้นักวิทยาศาสตร์อย่าง ฮันส์ จัวคิม เชล์นฮูเบอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยผลกระทบจากภูมิอากาศพอตส์ดัม มาให้ความรู้ด้านภูมิอากาศแก่นักบวชในวาติกันด้วย

ถึงแม้ว่าการตัดสินใจนำคนนอกเข้าร่วมของพระสันตะปาปาจะทำให้ชาวอนุรักษ์นิยมบางส่วนไม่พอใจเพราะคิดว่าคณะสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับประเด็นที่ควรจะเป็นหน้าที่ของนักการเมือง แต่ไคลน์ก็บอกว่าตำแหน่งของประสันตะปาปาเป็นเสมือน "ปากเสียงในเชิงศีลธรรม" ของโลก เพื่อที่จะสามารถทำให้ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและวิกฤติโลกร้อนเป็นเรื่องเดียวกันได้แทนที่จะแยกจากกัน โดยที่พระสันตะปาปาระบุว่าควรจะให้ประเทศที่กำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงในการหารือเรื่องโลกร้อนมากขึ้นด้วย

ไคลน์กล่าวอีกว่าการตัดสินใจของพระสันตะปาปาไม่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาติเท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงจากภายในคณะสงฆ์เองด้วยซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญมาก

 

เรียบเรียงจาก

Pope Francis recruits Naomi Klein in climate change battle, The Guardian, 28-06-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/jun/28/pope-climate-change-naomi-klein

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net