Skip to main content
sharethis

เมื่อวิกฤติการเงินในกรีซถูกมองว่าเป็นเรื่องที่กลุ่มเจ้าหนี้พยายามเล่นงานรัฐบาลฝ่ายซ้ายซึ่งเพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเมื่อต้นปีที่แล้ว การประกาศให้มีการลงประชามติล่าสุดจึงกลายเป็นเรื่องของความเหลืออดของประชาชนที่ถูกบีบจากนโยบายลดงบประมาณและเรื่องของประชาธิปไตย

30 มิ.ย. 2558 นักการเมืองยุโรปตกลงให้ประเทศกรีซมีการลงประชามติว่าประชาชนต้องการรับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจหรือไม่ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (5 ก.ค.) ซึ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นแผนการจากกลุ่ม 'ทรอยก้า' ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมธิการยุโรป, ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ต้องการให้กรีซมีนโยบายปรับลดงบประมาณหนักกว่าเดิมแลกกับการช่วยเหลือทางการเงิน ในขณะที่ถ้าหากกรีซไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ก็มีโอกาสที่จะต้องออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปและแบกรับภาระหนี้สินต่อไป

อย่างไรก็ตาม วิกฤติทางการเงินของกรีซเกิดขึ้นมานานนับตั้งแต่เกิดวิกฤติทางการเงินทั่วยุโรปในปี 2551 เว็บไซต์ Vox ระบุว่าเนื่องจากกรีซเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนและมีหนี้สินมากที่สุดทำให้กรีซได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤติการเงินในครั้งนั้น และถ้าหากในตอนนั้นกรีซไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปก็อาจจะสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจโดยการพิมพ์ธนบัตรค่าเงินดราชมาออกมามากขึ้น เป็นการลดค่าเงินในตลาดนานาชาติทำให้กรีซมีการแข่งขันด้านการส่งออกมากขึ้น ลดอัตราดอกเบี้ย และส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ แต่กรีซไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะต้องอิงกับนโยบายทางการเงินของยุโรป

อดิตยา จักรวาตี ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ในสำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่า สำหรับนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ของกรีซแล้วการลงประชามติที่จะถึงนี้เป็นเรื่องที่ว่าประชาชนชาวกรีซจะยอมทนรับ "มาตรการลดงบประมาณที่มีความเข้มงวดและเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" นี้ต่อไปหรือไม่ ทั้งที่นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้เคยขอร้องไม่ให้ผู้นำเยอรมนีเลิกให้พวกเขาใช้นโยบายลดงบประมาณแต่ก็ไม่เป็นผลจนมีชาวกรีกออกมาประท้วงในช่วงปี 2554 เพื่อเรียกร้องให้พวกชนชั้นนำและนักการเงินที่ชักใยอยู่ให้ทางเลือกอื่นแก่พวกเขา

เมื่อช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 มิ.ย.) มีประชาชนหลายหมื่นคนรวมตัวกันในกรุงเอเธนส์เพื่อแสดงการสนับสนุนพรรคซีริซาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซซึ่งต้องแบกรับภาระปัญหาจากมาตรการปรับลดงบประมาณซึ่งมีมาก่อนหน้านี้ ซึ่งการโหวต 'ไม่ยอมรับ' ในการลงประชามติในวันที่ 5 ก.ค. ที่จะถึงนี้สำหรับพวกเขาแล้วถือเป็นการต่อต้านมาตรการปรับลดงบประมาณและ "นโยบายล้าหลัง" อื่นๆ ที่มาจากทรอยก้า ทางด้านซีปราสเปิดเผยในรายการโทรทัศน์ของกรีซว่าเขาอยากให้คนช่วยโหวต 'ไม่ยอมรับ' ด้วยเช่นกัน

ประชาชนอย่างน้อย 20,000 คนรวมตัวกันที่ลานหน้าอาคารรัฐสภาหลายคนถือป้ายที่เขียนเพียงสั้นๆ ว่า "ไม่!" รวมถึงป้ายอื่นๆ ที่เขียนว่า "ชีวิตของพวกเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับพวกเจ้าหนี้" และ "อย่ายอมอ่อนข้อ"

นอกจากนี้ข้อเรียกร้องของพวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการจากหลายประเทศ อย่างโรแวน วิลเลียมส์ อดีตหัวหน้าบาทหลวงแห่งแคนเทอร์เบอรี, สลาวอย ชิเชค นักปรัชญาและนักวิพากษ์วัฒนธรรมชาวสโลวีเนีย, จูดิธ บัทเลอร์ นักปรัชญาและนักทฤษฎีเรื่องเพศสภาพชาวอเมริกัน ต่างแสดงออกร่วมกันในการสนับสนุนให้โหวต 'ไม่ยอมรับ' อีกทั้งในอังกฤษยังมีกลุ่มผู้รณรงค์แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาชนชาวกรีกในการโหวต 'ไม่ยอมรับ' ด้วยคำขวัญที่ว่า "ไม่ยอมรับมาตรการลดงบประมาณ ขอสนับสนุนประชาธิปไตย"

อย่างไรก็ตามถ้าหากผลการโหวต 'ยอมรับ' ออกมามากกว่าก็จะกลายเป็นการกดดันให้ซีปราสต้องลาออก เปิดทางให้กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซกลับมามีอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง โจเซฟ สติกลิตซ์ ประเมินไว้ในแบบเดียวกัน สติกลิตซ์ยังเขียนบทความระบุอีกว่าการกำจัดซีปราสอาจจะเป็นแผนการหลักของกลุ่มผู้นำยุโรปและเจ้าหนี้ของกรีซ เช่นเดียวกับข้อสังเกตของจักรวาตีที่ว่าธนาคารกลางของยุโรปประกาศไม่ยอมรับพันธบัตรของรัฐบาลกรีซหลังจากที่ซีริซาได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเพียงไม่นาน

"ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องที่ชวนให้ลำบากอย่างมากในการที่รัฐบาลกรีซต่อต้านนโยบายทุกชนิดที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคมากขึ้นในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว และพวกเขาก็มีพันธกิจในการลดอำนาจความมั่งคั่งที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีการควบคุม" สติกลิตซ์ระบุในบทความ

ทางด้านจักรวาตีมองว่าข้อถกเถียงเรื่องเศรษฐศาสตร์และการเงินในประเด็นของกรีซเป็นแค่เรื่องทางเทคนิคเท่านั้น ในความเป็นจริงการโหวตในเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างประชาชนกับทุนนิยมในรูปแบบที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง

สถานการณ์ในกรีซแสดงถึงความย่ำแย่ เช่น มีการปิดธนาคาร มีคนพากันถอนเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจักรวาตีระบุว่า การควบคุมของระบอบทุนทำให้คนที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือคนที่ไม่มีทุนใดๆ เลย เช่นคนที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการหลังเกษียณ คนงานคอปกน้ำเงิน ผู้มีอาชีพครู

จักรวาตีย้ำว่าเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในกรีซไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแต่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว โดยมีการ "ขายฝัน" ว่า "การปฏิรูปโครงสร้าง" อย่างการลิดรอนสิทธิแรงงาน การบังคับขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วยราคาถูกมาก และสวัสดิการรัฐที่ลดลง จะช่วยเหลือกรีซ แต่แทนที่จะดีขึ้นกลับยิ่งทำให้กรีซแย่ลงอย่างที่เห็น กระนั้นก็ตามกลุ่มชนชั้นนำก็ยังคงพยายามโฆษณาชวนเชื่อคำโกหกแบบเดิมๆ อยู่ต่อไป

ในบทความของจักรวาตีระบุอีกว่ากรีซจะต้องเลือกว่าจะยังคงถูกบีบคั้นทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจจากระบอบของกลุ่มทรอยก้าต่อไปหรือจะออกจากระบอบเช่นนี้ แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใดก็ตามก็ถือเป็นทางเลือกที่ไม่ปลอดภัยทั้งกับกรีซเองและกับยุโรป ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์เคยประเมินว่าการออกจากสมาชิกภาพยุโรปอาจจะทำให้เกิดการควบคุมทางเศรษฐกิจในกรีซหนักขึ้นและมีการบังคับโอนอุตสาหกรรมให้เป็นของรัฐ แต่นั่นก็เป็นแค่ทางเลือกว่าจะตายอย่างช้าๆ หรือจะเดินลงเหวไปในทันที

อย่างไรก็ตามบทความของโจเซฟ สติกลิตซ์มองในแง่ดีกว่านั้น เขาระบุในบทความว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากรีซมีความสามารถจัดการทางเศรษฐกิจได้ดี ถึงแม้ว่าจะมีคนทุกข์ยากอยู่มากแต่รัฐบาลกรีซก็มีข้อเสนอที่เข้าถึงความต้องการเจ้าหนี้ของพวกเขาได้ สติกลิตซ์ระบุอีกว่าการโหวต "ไม่ยอมรับ" อย่างน้อยก็เป็นการเปิดทางความเป็นไปได้ให้กับกรีซซึ่งมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ทำให้พวกเขามีโอกาสในการสร้างอนาคตด้วยตัวของพวกเขาเองได้

 

เรียบเรียงจาก

'No to Austerity': Tens of Thousands Back Syriza at Rally in Athens, CommonDreams, 29-06-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/06/29/no-austerity-tens-thousands-back-syriza-rally-athens

This referendum is a fight between the Greeks and Europe’s cruel capitalism, Aditya Chakrabortty, The Guardian, 29-06-2015
http://www.theguardian.com/commentisfree/2015/jun/29/referendum-greeks-europe-capitalism-greece-eurozone-economic-system

Joseph Stiglitz: how I would vote in the Greek referendum, Joseph Stiglitz, The Guardian, 29-06-2015
http://www.theguardian.com/business/2015/jun/29/joseph-stiglitz-how-i-would-vote-in-the-greek-referendum

The Greek financial crisis, explained in fewer than 500 words, VOX, 29-06-2015
http://www.vox.com/2015/6/29/8862583/greek-financial-crisis-explained

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net