Skip to main content
sharethis

ตำรวจพม่าตั้งข้อหาจัดชุมนุมไม่ขออนุญาตต่อแกนนำนักศึกษา 5 คน ที่จัดชุมนุมขับไล่สมาชิกรัฐสภาที่มาจากทหาร ซึ่งรัฐธรรมนูญพม่ากำหนดโควตาให้ 25% ของที่นั่งในสภาทุกระดับ - โดยการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสมาชิกรัฐสภาจากกองทัพร่วมกันโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่า ที่มีเนื้อหาลดอำนาจกองทัพลงเล็กน้อย

นักศึกษาชุมนุมในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. เรียกร้องให้กองทัพพม่าสละที่นั่งในรัฐสภา (ที่มา: สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า DVB)

3 ก.ค. 2558 - สำนักข่าวอิระวดี รายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า นักศึกษาพม่า 5 คน ที่เดินขบวนต่อต้านสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งของกองทัพ จะถูกดำเนินคดีในข้อหารวมตัวทำผิดกิจกรรมอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้จากคำแถลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจของย่างกุ้ง

โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 มิ.ย.) นักศึกษาพม่าจัดการเดินขบวนที่ย่างกุ้ง มีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคน โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้กองทัพสละที่นั่งในสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2008 ของพม่า จัดสรรให้ร้อยละ 25 ของที่นั่งในสภาทุกระดับตั้งแต่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และสภาระดับรัฐท้องถิ่น

ทั้งนี้การชุมนุมเกิดขึ้นหลังจากเมื่อ วันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการอภิปรายและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่า โดยสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนสมาชิกรัฐสภาจากกองทัพอภิปรายโน้มน้าวไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้แม้การลงมติสมาชิกรัฐสภาจากกองทัพจะแพ้โหวต แต่ญัตติก็ยังไม่ผ่านเกณฑ์เสียงข้างมากร้อยละ 75 ที่จะทำให้มีผลแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ก็ทำให้หลายคนมีข้อสรุปว่าสมาชิกรัฐสภาจากกองทัพลงมติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พ.ต.ท.จ่อตุด นายตำรวจซึ่งดูแลพื้นที่ย่างกุ้งฝั่งตะวันตก สถานที่ซึ่งมีการชุมนุมของนักศึกษา ยืนยันว่านักศึกษาถูกฟ้องตามมาตรา 18 ของกฎหมายว่าด้วยการรวมตัวสมาคมอย่างสันติ "เราทำสำนวนฟ้อง เซยะ ละวิน, แปง เยตุ๊ และอีกสามคน ด้วยมาตรา 18 เมื่อวานนี้ ที่สถานีตำรวจเจ้าก์ตะดา และปะเบดั่น เนื่องจากพวกเขาไม่ขออนุญาตจัดการชุมนุม" พ.ต.ท.จ่อตุด กล่าวกับผู้สื่อข่าวอิระวดี "ถ้าเราระบุชื่อผู้ร่วมการชุมนุมได้เพิ่ม เราก็จะฟ้องพวกเขา"

แปง เยตุ๊ หนึ่งในแกนนำการชุมนุม กล่าวกับผู้สื่อข่าวอิระวดีว่า ยังไม่ทราบข่าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีการฟ้องพวกเขา เขากล่าวด้วยว่าจะไม่ยอมรับขั้นตอนการดำเนินคดีที่มีผลมาจากการชุมนุมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาดังกล่าว

"ผมอาจจะไม่ไปศาลเพื่อฟังคำพิจารณาและไม่ขอประกันตัว แต่ผมจะไปที่คุกเลย" เขากล่าว และระบุด้วยว่าการตัดสินใจของเขามาจากจุดยืนที่ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับมาตรา 18 ของกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ตามมาตรา 18 ของกฎหมายว่าด้วยการรวมตัวสมาคมอย่างสันติ ระบุว่า ผู้จัดการชุมนุมใดก็ตามในพม่าจะต้องได้รับอนุญาตเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือปรับเงินไม่เกิน 30,000 จ๊าต (750 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

"เราดำเนินการในสิ่งที่พวกเราเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ" แปง เยตุ๊กล่าว และว่า "ประชาชนทุกคนรู้ดี และเราจะเผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น"

 

ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่า 6 ข้อ ผ่าน 1 ไม่ผ่าน 5

สำหรับการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลงมติโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก มีทั้งทั้งสิ้น 6 ประเด็น โดยตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 2008 ญัตติที่จะผ่านต้องได้รับเสียงเห็นชอบ 75% ขึ้นไป ขณะที่ในรัฐสภาทุกระดับมีโควตาของกองทัพอยู่แล้ว 25%

โดยข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นแรก มาตรา 59 (d) ในเงื่อนไขคุณสมบัติของประธานาธิบดี ที่เดิมกำหนดว่า "ประธานาธิบดีต้องมีความรอบรู้ทั้งด้านการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ และกิจการกองทัพ ของสหภาพ" โดยขอเปลี่ยนจากคำว่า "กองทัพ" เป็น "กลาโหม" โดยมาตรานี้ ส.ส. ลงมติเห็นชอบ 95.37% ไม่เห็นชอบ 4.63%

ขณะที่อีก 5 ประเด็นที่เหลือ แม้คะแนนลงมติจะได้เสียงข้างมาก แต่ก็ไม่ได้เสียงข้างมาก 75% ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของเสียงเห็นชอบเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 ทำให้ญัตติเหล่านั้นตกไป

โดยประเด็นที่สอง และประเด็นที่สาม มาตรา 436 (a) และ มาตรา 436 (b) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 436 (a) ได้กำหนดให้มาตราที่มีความสำคัญในรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านการลงประชามติได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียก่อน จึงจะนำมาขอความเห็นชอบในรัฐสภาได้ โดยในญัตติที่เสนอแก้ไข มีการขอลดเงื่อนไขลง จากเดิม 75% ของสมาชิกรัฐสภาทั้ง 2 สภา แก้ไขเป็น 70% อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติ มาตรา 436 (a) เห็นชอบ 66.55% ไม่เห็นชอบ 33.45% เช่นเดียวกับ มาตรา 436 (b) เห็นชอบ 66.55% ไม่เห็นชอบ 33.45% ซึ่งทั้งสองประเด็นดังกล่าว ได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์ 75% ทำให้ญัตติตกไป

ประเด็นที่สี่ ในมาตรา 60 (c) เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณสมบัติของประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี โดยญัตติขอแก้ไขคุณสมบัติกำหนดให้ต้องเลือกมาจาก "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น" โดยเป็นการตัดข้อความเดิมที่ว่า "เลือกมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งข้อความเดิมนี้ทำให้ประธานาธิบดีพม่าสามารถมาจาก "ประธานาธิบดีคนนอก" ที่อาจจะมาจากนายทหารในกองทัพ หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสัดส่วนโควต้า 25% ที่เป็นนายทหารในกองทัพพม่า

อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติมาตรา 60 (c) เห็นชอบ 66.21% ไม่เห็นชอบ 33.79%  ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ 75% ทำให้ญัตติตกไป

ประเด็นที่ห้า มาตรา 59 (f) เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี เนื้อหาในรัฐธรรมนูญระบุว่า ตัวประธานาธิบดี รองประธาธิบดีนั้น ทั้งตัวเขา หรือพ่อหรือแม่ของเขา หรือคู่สมรส หรือหนึ่งในบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสของบุตร จะต้องไม่เป็นผู้สวามิภักดิ์ต่ออำนาจของต่างชาติ หรือเป็นคนในบังคับหรือพลเมืองของต่างชาติ

ซึ่งมาตรานี้มีผลกีดกัน ออง ซาน ซูจี ทำให้ขาดคุณสมบัติเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากสมรสกับคนต่างชาติ และบุตรชายทั้งสองของออง ซาน ซูจี เป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักร

โดยการขอแก้ไขมาตรา 59 (f) ซึ่งยื่นญัตติโดยพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ได้เสนอให้ตัดข้อความที่ว่า "หนึ่งในบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสของบุตร" อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติมาตรา 59 (f) เห็นชอบ 55.06% ไม่เห็นชอบ 44.94% ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ 75% ทำให้ญัตติตกไป

และ ประเด็นที่หก การขอแก้ไขมาตรา 418 (b) เกี่ยวข้องกับเรื่องการถ่ายโอนอำนาจการบริหารไปยังผู้บัญชาการกองทัพพม่า เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 418 (b) กำหนดให้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วให้หน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น ได้แก่ ภาคการปกครองตนเอง และเขตการปกครองตนเอง สิ้นสุดลง ซึ่งญัตตินี้เกี่ยวข้องกับอำนาจของเขตปกครองตนเองกลุ่มชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตามผลการลงมติขอแก้ไขมาตรา  418 (b) เห็นชอบ 66.21% ไม่เห็นชอบ 33.79% ทำให้ญัตติตกไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net