Skip to main content
sharethis

ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาวิกฤติศรัทธาในผู้บังคับใช้กฎหมายจากกรณีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจกับคนผิวดำหลายกรณี องค์กรด้านวัฒนธรรมในเมืองฮาร์ตฟอร์ดก็ได้ไอเดียจับตำรวจกับเยาวชนผิวดำและผู้มีเชื้อสายฮิสแปนิค เข้าชั้นเรียนดนตรีร่วมกันหวังสร้างความเข้าใจและลดอคติที่มีต่อกัน

5 ก.ค. 2558 เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์รายงานว่า ในนครฮาร์ตฟอร์ด เมืองหลวงของรัฐคอนเนตทิคัต มีโครงการสร้างความเข้าใจกันระหว่างตำรวจกับเยาวชนคนผิวดำและผู้มีเชื้อสายฮิสแปนิคโดยการให้ร่วมร้องเพลงแร็พและเล่นดนตรีร่วมกัน

โครงการดังกล่าวจัดโดยศูนย์วัฒนธรรมชาร์เตอร์โอ๊คและกรมตำรวจเมืองฮาร์ตฟอร์ด มีการให้เด็กวัยเรียน 20 คน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย เข้าชั้นเรียนดนตรีร่วมกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยมีการสอนร้องเพลงแร็พและสอนวิธีการเล่นกีตาร์ โดยโครงการนี้ยังมีความต้องการขยายผู้เข้าร่วมเป็นเด็กจำนวน 60 คน และเจ้าหน้าที่ 15 นาย

โครงการนี้มีชื่อว่า "กู๊ด ไวเบรชั่น" (Good Vibrations) หรือ "แรงสั่นสะเทือนในทางดี" ที่แรบไบ ดอนนา เบอร์มัน ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์วัฒนธรรมชาร์เตอร์โอ็คเปิดเผยว่าจัดขึ้นเพื่อลดการเหมารวมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับเยาวชน

ก่อนหน้านี้เบอร์มันเคยเป็นผู้ร่วมจัดการประท้วงหลังเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เครื่องช็อตไฟฟ้ากับวัยรุ่นที่ไม่มีอาวุธในเมืองฮาร์ตฟอร์ดเมื่อปีที่แล้ว แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับเจมส์ โรเวลลา ผู้กำกับการตำรวจเมืองฮาร์ตฟอร์ด เธอก็คลายจากอคติที่เคยมีต่อตำรวจและได้ไอเดียเกี่ยวกับโครงการกู๊ด ไวเบรชั่น

ไบรอัน โฟลีย์ รองผู้กำกับการตำรวจเมืองฮาร์ตฟอร์ดกล่าวว่าพวกเขามีความกระตือรือร้นจะเข้าร่วมโครงการนี้เพราะเชื่อว่าการสร้างปฏิสัมพันธ์ในทางบวกกับเด็กในเมืองของพวกเขาเองจะช่วยลดภาพลักษณ์ด้านลบที่มาจากแหล่งอื่นได้ โฟลีย์ยอมรับอีกว่าที่ผ่านมาฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ทำได้ไม่ดีพอในการสร้างความเชื่อใจในหมู่ประชาชน

ในสหรัฐฯ มีเหตุการณ์อื้อฉาวเกี่ยวกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนผิวดำหรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ หลายกรณีจนทำให้มีการประท้วงเรียกร้องให้คำนึงถึงชีวิตของประชาชนเหล่านี้ อีกทั้งยังทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจในตัวเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในฮาร์ตฟอร์ดหลังมีโครงการกู๊ด ไวเบรชั่น คือการที่เด็กชาวฮิสปานิค 2 คนโบกมือทักทายเจ้าหน้าที่ได้ในขณะที่กำลังเดินกลับจากโรงเรียนเนื่องจากพวกเขาเคยร่วมชั้นเรียนดนตรีเดียวกันมาก่อน

อย่างไรก็ตามมีคนที่ยังตั้งข้อสงสัยว่าโครงการเรียนดนตรีร่วมกันจะช่วยลบอคติที่มีต่อกันได้จริงหรือ เช่น คาลิม เคลลี  ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "กวีแร็พ" ในนามศิลปินคือ "Self Suffice" ได้เข้าร่วมเป็นครูฝึกสอนด้านดนตรีในโครงการแต่ก็ยังสงสัยว่าโครงการนี้จะได้ผลเพราะเขาเคยถูกตำรวจเรียกตัวเพียงเพราะ "เดินแบบคนดำ" หรือ "ขับรถแบบคนดำ" มาก่อน อีกทั้งในชั้นเรียนช่วงที่ยังไม่มีตำรวจเข้าร่วมเด็กในชั้นดูจะพูดเรื่องต่างๆ อย่างอิสระมากกว่าเช่นเรื่องกรณีที่เกิดขึ้นในเมืองเฟอร์กูสัน หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ แต่กวีแร็พผู้นี้ก็เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยทำให้ทั้งสองฝ่ายได้เล็งเห็นความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้บ้าง

"ถ้าหากผมมีเพลงที่จะให้เยาวชนในเมืองได้แสดงออกว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาและให้ตำรวจเข้ามาร่วมด้วยมันจะไปได้ไกลกว่าให้ผมบอกว่าความคิดส่วนตัวของผมคืออะไร และบางทีเราอาจจะดึงเอาส่วนความเป็นมนุษย์ที่ทั้งสองฝ่ายออกมาได้จากในเพลงเดียวกัน" เคลลีกล่าว

นิวยอร์กไทม์รายงานอีกว่าในตอนแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมโครงการมีท่าทีต้องการแค่เข้ามาสังเกตการณ์โดยยืนกอดอกหรือล้วงกระเป๋าดูการดำเนินกิจกรรมโดยไม่ได้เข้าร่วม แต่หลังจากนั้นก็มีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น และต่อมาก็เริ่มร่วมเล่นดนตรีด้วยตามคำขอของเคลลี

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมนายหนึ่งชื่อโอเทโรกล่าวว่าในทีแรกเขาคิดว่าการเข้าร่วมจะช่วยให้พวกเขาแสดงให้เด็กๆ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน แต่เมื่อเข้าร่วมแล้วมันทำให้เขาเรียนรู้มากกว่านั้น คือเรื่องการปฏิสัมพันธ์ผ่านดนตรีที่ต่างฝ่ายต่างก็สอนกัน เรียนรู้จากกันและกัน

เบอร์มันบอกว่านอกจากโครงการในเมืองฮาร์ตฟอร์ดแล้ว ตอนนี้เธอกำลังหารือร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่นๆ ในเมืองบอลติมอร์และเฟอร์กูสันเพื่อเริ่มทำโครงการคล้ายๆ กันในเมืองเหล่านั้น

หลังจากเข้าชั้นเรียนดนตรีร่วมกัน 10 สัปดาห์พวกเขาก็จัดแสดงคอนเสิร์ตร่วมกันในงานแสดงดนตรีประจำปี แต่เป็นเรื่องน่าย้อนแย้งที่ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ขึ้นแสดงร่วมกับเด็กๆ พวกเขาถูกเรียกไปทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนในการชุมนุมของกลุ่ม "ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย" (Black Lives Matter) ในย่านใจกลางเมืองที่มีคนถูกจับกุม 17 คน ในข้อหากีดขวางการจราจร


เรียบเรียงจาก

Hartford Police Officers Rap With Youths to Erode Stereotypes, New York Times, 03-07-2015
http://www.nytimes.com/2015/07/05/nyregion/hartford-police-officers-rap-with-youths-to-erode-stereotypes.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net