Skip to main content
sharethis

วิกฤตการเงินของกรีซมีชุดคำอธิบายไปในทำนองว่า "เจ้าหนี้ผู้ใจดี" บอกให้ประเทศถังแตกมัธยัสถ์ในนาม "นโยบายรัดเข็มขัด" แต่ในอีกชุดคำอธิบายหนึ่งก็ชี้ว่ามันเป็นเรื่องของกลุ่มการเงินยักษ์ใหญ่ที่ทำตัวเป็น "มาเฟียต้มตุ๋น" จนทำให้ประเทศหนึ่งเป็นหนี้และบีบเค้นเอากับคนจนที่ได้รับผลกระทบมาก่อนอยู่แล้ว


7 ก.ค. 2558 เว็บไซต์ต่างประเทศจำนวนมากนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤตทางการเงินของกรีซซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ผู้คนจับตามองทั่วโลก โดยในขณะที่สื่อกระแสหลักจะนำเสนอเรื่องราวโดยมีชุดคำอธิบายไปในทำนองว่าวิกฤตกรีซมาจากการที่รัฐบาลใช้เงินมากเกินไปจนถังแตกทั้งๆ ที่ "ธนาคารผู้เอื้อเฟื้อ" ได้ให้เงินกับพวกเขาแล้วแต่พวกเขาก็ยังจัดการเงินไม่ได้จนเกิดวิกฤติ แต่ก็มีสื่ออีกหลายแห่งมองเรื่องนี้ในมุมอื่นๆ

เช่น คริส แคทธัน นักเขียนผู้เคยชำแหละบรรษัทยักษ์อย่างมอนซานโตเขียนบทความในเว็บไซต์ Nation of Change ระบุว่าเรื่องที่ว่ากรีซทำผิดพลาดเองเป็นเรื่องโกหกที่กลุ่มธนาคารและบรรษัทต่างใช้กับประเทศอื่นๆ ในละตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา มาแล้ว และประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น สเปน โปรตุเกส อิตาลี ต่างก็ประสบปัญหาจากนโยบายปรับลดงบประมาณทั้งสิ้น ซึ่งแคนธันมองว่ากลุ่มการเงินมีความพยายามผลักให้รัฐบาลกรีซประสบปัญหาเพื่อทำให้บรรษัทข้ามชาติและกลุ่มคณาธิปไตยได้รับผลประโยชน์จากความโกลาหลและความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น แคทธันถึงขั้นเปรียบแผนการของกลุ่มการเงินยักษ์ใหญ่ว่าเป็นวิธีการแบบ "มาเฟีย"

อย่างไรก็ตามจอห์น คิเรียโคว ชาวอเมริกันเชื่อสายกรีซที่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยสถาบันศึกษานโยบายเขียนบทความลงในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ (FPIF) ไปในอีกแนวทางหนึ่งว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรีซอยู่ในภาวะขาดดุลทางการเงินตั้งแต่แรกมาจากนโยบายของรัฐบาลกรีซในอดีตตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรี อันเดรีย ปาปันเดรอู ที่มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในการจ้างคนเข้าไปทำงานให้รัฐและกำหนดเพดานการเกษียณอายุต่ำกว่าประเทศอื่นในยุโรป ต่อมาในยุคสมัยของรัฐบาลอนุรักษ์นิยมก็มีการหลีกเลี่ยงภาษีเพิ่มขึ้นมากและระบบการเมืองก็เต็มไปด้วยการทุจริต หลังจากนั้นกลุ่มเจ้าหนี้ของกรีซก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือ

ถึงแม้จะระบุถึงสาเหตุในอีกมุมมองหนึ่ง แต่คิเรียโควก็มองว่ามาตรการปรับลดงบประมาณหรือที่เรียกว่า 'มาตรการรัดเข็มขัด' ที่กลุ่มเจ้าหนี้ของกรีซโดยเฉพาะเยอรมนีต้องการให้กรีซกระทำตามถือเป็นเรื่องที่โหดร้ายเพราะเป็นการตัดสวัสดิการทางสังคม ทำลายภาครัฐของกรีซ และทำให้ประเทศจมสู่ความสิ้นหวัง

คิเรียโควระบุอีกว่าชาวกรีซซึ่งทนไม่ไหวกับความยากจนและการว่างงานซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายปรับลดงบประมาณทำให้พวกเขาแสดงออกผ่านการเลือกตั้งโดยปฏิเสธพรรคการเมืองกระแสหลักแล้วหันมาสนับสนุนพรรคฝ่ายซ้ายอย่างซีริซาที่พยายามปกป้องกลุ่มชนชั้นล่างของกรีซจากมาตรการด้านเศรษฐกิจที่โหดร้าย


แผนการ 4 ขั้น ทำเศรษฐกิจกรีซล่ม

ในแง่นี้แคทธันไม่เพียงมองว่ากลุ่มธนาคารมีความโหดร้ายจากการบีบเค้นกรีซด้วยมาตรการปรับลดงบประมาณเท่านั้น  แต่ระบบธนาคารและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศก็มีส่วนในการ "ก่ออาชญากรรม" ที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่เมื่อปี 2551 ที่เรียกว่าวิกฤติซับไพรม์ ที่มาจากการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป ซึ่งแคทธันมองว่าระบบการธนาคารดังกล่าวทำให้กลุ่มธนาคารและเหล่ากูรูจากวอลล์สตรีทมีความมั่งคั่งแต่ก็เป็นขั้นแรกของ "การหลอกลวงต้มตุ๋น" เพื่อผลกำไรที่ยิ่งกว่าเดิมในขั้นต่อๆ ไป

แคทธันแบ่งขั้นแผนการวางแผนหาผลประโยชน์จากการทำเศรษฐกิจล่มเป็น 4 ขั้นตอน จากขั้นตอนที่ระบุถึงในชั้นแรกแล้วขั้นตอนต่อมาคือหลังจากเกิดภาวะฟองสบู่แตกแล้วก็ทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นทุกที่ ผู้กอบโกยผลประโยชน์จากกองซากปรักหักพังอย่างโกลด์แมน แซคส์ และธนาคารใหญ่อื่นๆ ต่างก็ได้รับผลประโยชน์จากการซื้อกิจการธนาคารอื่นๆ แซคส์ยังได้รับผลประโยชน์จากการที่เขา "พนัน" ว่าความมั่นคงทางการเงินจะล่มสลาย อีกทั้งธนาคารใหญ่ก็แทงซ้ำที่แผลเดิมด้วยการเรียกร้องเงินช่วยเหลือจากประชาชนที่ถูกพวกเขาทำให้ชีวิตพัง

ในชั้นตอนที่ 3 แคทธันอธิบายว่าเป็นขั้นตอนที่ให้รัฐบาลยอมรับหนี้สินเป็นจำนวนมาก กลุ่มธนาคารนานาชาติทำลาย "ระบบภูมิคุ้มกัน" ด้วยการลดระดับเครดิตพันธบัตรของประเทศบีบให้ประเทศหนึ่งๆ ต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อกู้ยืมเงินหรือขอขยายอายุสัญญาเงินกู้ นอกจากนี้ยังมีการใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมืองกรีซในปี 2554 โดยการบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีกรีซในสมัยนั้นออกจากตำแหน่งและให้รองประธานธนาคารกลางยุโรปดำรงตำแหน่งแทนโดยไม่มีการเลือกตั้งแต่อย่างใดและทำการเอื้อประโยชน์ต่อนักการธนาคารทั้งหลาย และต่อมาในปี 2555 ก็มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับจากพันธบัตรกรีซเป็นร้อยละ 50 ซึ่งแคทธันระบุว่าเป็น "การก่อการร้ายทางการเงิน"

แคทธันเปรียบเทียบว่าการให้กู้ยืมของธนาคารระหว่างประเทศไม่เหมือนกับการที่ประชาชนทั่วไปกู้ยืมจากธนาคารหรือเป้นหนี้บัตรเครดิต แต่เป็นการกู้ยืมที่มีเงื่อนไขอย่างการแปรรูปสัมบัติของประเทศเป็นของเอกชน แคทธันระบุอีกว่าในขั้นตอนที่ 4 คือการ "ข่มเหงกระทำชำเรา" ด้วย "มาตรการรัดเข็มขัด"  หรือ "การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง" ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงการดำเนินกิตการของประเทซกรีซ เช่นการไม่ยอมให้ปรับลดงบประมาณด้านการทหาร หรือไม่ยอมให้เพิ่มภาษีบรรษัทขนาดยักษ์และพวกคณาธิปไตย กลายเป็น "เผด็จการ" ภายใต้เหล่าวาณิชธนากร

การแทรกแซงทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้เงินคลังของรัฐบาลลดลงและหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มนายทุนยักษ์ใหญ่กลับโยนภาระเหล่านี้ไปให้กับประชาชนทั่วไปโดยการกำหนดมาตรการรัดเข็มขัดหรือมาตรการปรับลดงบประมาณที่จำเป็นต่อพวกเขา จนเกิดการตัดสวัสดิการสังคม การขึ้นภาษี ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนหมู่มากร้อยละ 99 แต่ไม่กระทบพวกคนรวยร้อยละ 1 เช่นการลดเงินบำนาญลงครึ่งหนึ่งแต่ขึ้นภาษีการค้าเป็นมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งทำให้กรีซประสบภาวะวิกฤติทางการเงินที่ย่ำแย่ยิ่งกว่าสหรัฐฯ ในช่วง คริสตทศวรรษที่ 1930s ทั้งนี้กลุ่มนักการธนาคารยังเสนอมาตรการให้เก็บภาษีเพิ่มและลดสวัสดิการประชาชนลงกว่าเดิมอีกซึ่งแคทธันเปรียบเปรยว่าเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางเศรษฐกิจ"


"มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องความทระนงในศักดิ์ศรีของตนเอง"

เรื่องเหล่านี้ไม่เพียงแค่นักวิเคราะห์เท่านั้นที่รู้ ประชาชนในกรีซเองก็เข้าใจสถานการณ์ดีถึงมีการเฉลิมฉลองของประชาชนหลังการประกาศการลงประชามติออกมาว่ากรีซจะไม่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ ผู้คนทั้งผู้รับเงินบำนาญ ผู้ที่เคยประสบความยากลำบากจากการหางานทำ ผู้ที่เคยมีงานแต่ถูกลอยแพหลังจากโรงงานปิดตัวลง ทั้งหมดนี้ต่างให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในเชิงไม่ยอมรับให้มีมาตรการรัดเข็มขัดที่โหดร้ายมากขึ้นกว่านี้อีกแล้ว บางคนถึงขั้นเรียกมาตรการนี้ว่าเป็น "ลัทธิเผด็จการของสถาบันทางการเงินที่ไม่มีใครเลือกตั้งเข้ามา"

ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนมาตรการของกลุ่มเจ้าหนี้พยายามรณรงค์ด้วยการสร้างความหวาดกลัวแต่ก็ไม่เป็นผล มีนายจ้างบางส่วนพยายามข่มขู่ลูกน้องให้โหวตยอมรับมาตรการเพราะต้องการแก้แค้นที่มีคนงานจำนวนมากเลือกรัฐบาลฝ่ายซ้ายขึ้นมาบริหารประเทศ แต่ฝ่ายโหวตคัดค้านก็ยังชนะด้วยคะแนนโหวตร้อยละ 61 ซึ่งคนงานด้านสิ่งพิมพ์ชื่อ ยอร์กอส ที่เป็นหนึ่งในผุ้โหวตคัดค้านกล่าวว่า การพยายามข่มขู่และสร้างความหวาดกลัวของฝ่ายตรงข้ามทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกปิดล้อมโดยผู้ยึดครองที่มีปืนใหญ่แต่ฝ่ายพวกเขาเองก็มีฝุงชนจำนวนมหาศาล

ไม่เพียงแค่ฝูงชนจากกรีซเท่านั้น ก่อนหน้าการลงประชามติก็มีประชาชนในหลายประเทศชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนให้ชาวกรีซต่อต้านมาตรการรัดเข้มขัดและแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวกรีซ

คิเรียโคว มองว่าการที่ผู้นำยุโรปอย่างเยอรมนีกระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่เคารพต่อการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนในประเทสกรีซจะยิ่งทำให้ชาวกรีซซึ่งยังคงความแค้นจากยุคสมัยที่ถูกกระทำจากนาซียิ่งมีความเกลียดชังเยอรมนีเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

ในแง่ที่กรีซโหวตไม่ยอมรับมาตรการจากกลุ่มเจ้าหนี้ คิเรียโควประเมินว่ามันมีความเสี่ยงอาจจะทำให้เศรษฐกิจของกรีซพังแต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นจุดจบ เขาเชื่อว่ากรีซจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้โดยอาจจะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปอีกหลายปี แต่กรีซก็จะรอด

"ถึงแม้จะเจ็บปวด แต่คนจนก็จะรู้ว่ารัฐบาล (กรีซ) ทำเพื่อพวกเขา ชาวกรีซจะรู้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นหนี้บุญคุญเยอรมนีหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ" คิเรียโควระบุในบทความ

"มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องความทระนงในศักดิ์ศรีของตนเอง" คิริอาโควระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Greece – What You are not Being Told by the Media, Nation of Change, 05-07-2015

Eyewitness in Athens: 'People have said no to austerity – and it's only the start', Socialist Worker, 05-07-2015
Why Greece Won’t Take a Deal, FPIF, 01-07-2015

 

 

 


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net