สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 ก.ค. 2558

แรงงานไทยกลับจากเกาหลี ติดต่อขอคืนเงินประกันด่วน
 
แรงงานไทยที่เคยไปทำงานที่เกาหลี ที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้วเดินทางกลับไทย ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินประกันการเดินทาง ให้ติดต่อขอรับเงินคืนได้ที่สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด
       
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขอให้แรงงานไทยที่เคยเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีจนครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้วเดินทางกลับประเทศไทย และยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินประกันการทำงานครบสัญญาจ้าง หรือ เงินแทจิกึม และเงินประกันการเดินทาง สามารถตรวจสอบสิทธิ์และยื่นเอกสารเพื่อขอรับเงินประกันคืนได้ที่ เว็บไซต์ www.hrdkoreathailand.com หรือที่สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี สำนักงานประจำประเทศไทย (Human Resources Development Service Of Korea in Thailand) โทรศัพท์ 0 2245 9433, สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กลุ่มงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2232 1240 และสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ตามวันและเวลาราชการ
       
ทั้งนี้ แรงงานไทยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินประกันการทำงานครบสัญญาจ้าง หรือ เงินแทจิกึม จะต้องเป็นแรงงานไทยที่ทำงานกับนายจ้างรายเดียวติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แล้วเปลี่ยนงานหรือเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะมีสิทธิ์ได้รับเงินประกันเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน สำหรับผู้ที่ทำงานครบ 1 ปี และจะได้รับเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของเวลาที่ทำงานเกิน 1 ปี ส่วนผู้มีสิทธิ์ได้รับคืนเงินประกันการเดินทางกลับจะต้องเป็นผู้ที่ได้จ่ายเงินประกันในระหว่างการทำงานเป็นจำนวนเงิน 400,000 วอน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3/7/2558)
 
เดือนมิถุนายน 2558 มีคนงานไทยไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศ รวม 8,277 คน
 
การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเป็นภารกิจของกรมการจัดหางานอีกด้านหนึ่ง ตามนโยบายของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมุ่งส่งเสริมการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศที่มีศักยภาพ มีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อนำกลับมาใช้ในประเทศโดยเฉพาะในสาขาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องมี 5 วิธี คือ 1.ไปทำงานผ่านบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนเป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานกับกรมการจัดหางานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 2.ไปทำงานโดยการจัดส่งของกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นวิธีที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยจ่ายเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่ต้องเสียค่าบริการจัดหางาน 3.การแจ้งเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง เป็นกรณีที่แรงงานไทยติดต่อสมัครงานกับนายจ้างในต่างประเทศโดยตรง แล้วมาแจ้งการเดินทางไปทำงานกับกรมการจัดหางาน 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ ซึ่งจากสถิติคนงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ ประจำเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า มีคนงานไทยไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศ รวม 8,277 คน แยกเป็นประเทศในเอเชีย 5,411 คน ประเทศในตะวันออกกลาง 1,584 คน ประเทศในยุโรป 752 คน ประเทศในแอฟริกา 192 คน ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ 254 คน ประเทศในทวีปออสเตรเลียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก 63 คน และประเทศในทวีปอเมริกาใต้ 21 คน
 
จากความต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ยังมีจำนวนมากจึงทำให้เกิดการคิดแสวงหาประโยชน์จากแรงงานไทย จะเห็นได้ว่า การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยวิธีรัฐจัดส่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนหางาน ซึ่งคนหางานจะไม่ต้องเสียค่าบริการ (ค่าหัว) จะเสียเพียงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนั้นยังช่วยไม่ให้คนหางานถูกหลอกลวงจากสาย/นายหน้าเถื่อนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศจำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขในสัญญาจ้างงานอย่างละเอียด โดยสัญญานั้นจะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานแรงงานไทยหรือสถานทูต/สถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ และต้องเดินทางไปทำงานด้วยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น ทั้งนี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวการเปิดรับสมัครงานได้จากเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน www.doe.go.th หรือเว็บไซต์ของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.overseas.doe.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร.0-2245-6499 หรือสายด่วน กรมการจัดหางาน โทร.1694 
 
(บ้านเมือง, 3/7/2558)
 
สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ยื่น สนช. ค้าน โอนแรงงงานนอกระบบ ม.40 เข้ากองทุนการออมแห่งชาติ
 
3 ก.ค. 58 - สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ยื่น กรรมาธิการวิสามัญฯ  สนช.  ค้าน โอนแรงงงานนอกระบบ ม.40เข้ากองทุนการออมแห่งชาติ  เหตุทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์น้อยลง   พร้อมย้ำ  กฎหมายไม่ควรนำมาใช้ย้อนหลัง  โดยเฉพาะ เมื่อผลที่เกิดขึ้น ลิดรอนสิทธิอันมีอยู่เดิมของประชาชน   
 
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การให้สิทธิแก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติบางกรณีและการโอนเงินจากกองทุนประกันสังคมในกรณีชราภาพไปยังกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ....  รับหนังสือจากนายสมคิด ด้วงเงิน นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) และคณะ เพื่อขอให้ยุติการโอนย้ายผู้ประกันตน มาตรา 40 ของพ.ร.บ.ประกันสังคมไปสู่กองทุนการออมแห่งชาติ   เพราะไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะบังคับให้แรงงานนอกระบบโอนย้ายไปอยู่กับกองทุนการออมแห่งชาติ   เนื่องจากแรงงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติประกันสังคม  เช่นเดียวกับแรงงานที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการ  ตามที่รัฐบาลขยายการคุ้มครองมาตั้งแต่ปี 2554  ขณะที่การโอนย้ายสิทธิประโยชน์ในกรณีชราภาพของแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา40 ไปสู่กองทุนการออมแห่งชาติ  ทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์น้อยลง  เช่น ทางเลือกที่3 ปัจจุบันเมื่อผู้ประกันตนสบทบเงิน 100 บาท รัฐบาลจะสมทบ 100 บาทเช่นกันกับผู้ประกันตนทุกคน  แต่ในกองทุนการออมแห่งชาติ กลับกำหนดเงือนไขการสมทบของรัฐบาลแบบขั้นบันได ตามอายุ พร้อมย้ำว่า กฎหมายไม่ควรนำมาใช้ย้อนหลัง โดยเฉพาะ เมื่อผลที่เกิดขึ้นเป็นการลิดรอนสิทธิอันมีอยู่เดิมของประชาชน
 
ด้านนายอิสระ ระบุว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาของกรรมาธิการฯ  เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับทุกฝ่าย ต่อไป
 
(วิทยุรัฐสภา, 3/7/2558)
 
ร้อง สพฐ. จ่อใช้ครู ร.ร.โยธินบูรณะ เสิร์ฟอาหารในงานวันครบรอบ 12 ปี
 
วันที่ 4 ก.ค. 2558 ผู้สื่ีอข่าวรายงานว่า บุคลากรโรงเรียนโยธินบูรณะ ติง สพฐ. ใช้สถานที่โรงเรียนซักซ้อมจัดงานวันครบรอบ 12 ปี จ่อใช้บุคลากรครูโรงเรียนทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารในงาน ให้เด็กนักเรียนเลิกเรียนก่อนเวลา 
 
ตามที่มีคำสั่งโรงเรียนโยธินบูรณะ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครบรอบ 12 ปี ในวันอังคารที่  7 ก.ค. 2558 โดยจัดให้มีการแข่งขันกีฬาสีภายใน สพฐ. โดยทาง สพฐ. ได้ขอความอนุเคราะห์ใช้สถานที่ของโรงเรียนโยธินบูรณะ เพื่อจัดกิจกรรมแข่งกีฬา และกิจกรรมสันทนาการของข้าราชการและลูกจ้าง ตั้งแต่เวลา 10.00 - 17.00 น.
 
แหล่งข่าวผู้เป็นบุคลากร ร.ร.โยธินบูรณะ เปิดเผยด้วยความไม่สบายใจว่า ในการซักซ้อมเตรียมงานดังกล่าวผู้จัดงานได้มีการจัดเตรียมให้บุคลากร ของ ร.ร.โยธินบูรณะ เป็นผู้เสิร์ฟอาหารในงานวันดังกล่าว นอกจากนี้ งานวันที่จัดขึ้นในวันอังคารนี้ยังต้องให้เด็กนักเรียนเลิกเรียนเร็วขึ้น เพื่อเตรียมจัดงานดังกล่าว ตามที่ สพฐ. มาขอใช้สถานที่ของโรงเรียนด้วย
 
ทั้งนี้ ในคำสั่งโรงเรียนโยธินบูรณะ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา สพฐ. ครบรอบ 12 ปี ได้ระบุรายชื่อคณะกรรมการอำนวยการ , คณะกรรมการดำเนินงาน , คณะกรรมการฝ่ายสวัสดิการจัดเลี้ยง และ คณะกรรมการฝ่ายพยาบาลด้วย
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 4/7/2558)
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบจากเเรงงานที่เรือประมงหยุดเดินเรือ เพราะรัฐผ่อนผันกฎให้สามารถยืมแรงงานระหว่างเรือได้
 
นายพีรพัฒน์  พรศิริเลิศกิจ  อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงาน ภายหลังเรือประมงหลายลำหยุดเดินเรือ ว่า ขณะนี้ได้รับทราบจากรายงานว่าแรงงานประมงยังไม่มีผลกระทบจากการที่นายจ้างหยุดเดินเรือ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า แรงงานประมงในประเทศหายาก ทำให้นายจ้างที่หยุดเดินเรือยังคงต้องจ่ายค่าจ้างและเลี้ยงดูแรงงานดังกล่าวเช่นเดิม แต่หากเกิดผลกระทบกับแรงงานเกิดขึ้นทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีมาตรการในการกำกับดูแลอยู่ เพื่อลดผลกระทบไม่ให้เกิดขึ้นกับแรงงานทุกระดับที่อาจจะเกิดขึ้น
 
นายพีรพัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นกรมการจัดหางานยังมีมาตรการผ่อนผันช่วยเหลือชาวประมง โดยให้แรงงาน 1 คนสามารถมีนายจ้างได้มากกว่า 1 คน เนื่องจากกฎหมายบังคับให้เรือประมงต้องมีแรงงานครบตามจำนวนที่แจ้งไว้จึงจะสามารถออกเดินเรือได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการยืมตัวแรงงานประมงระหว่างเรือแต่ละลำได้ แต่ทั้งนี้ต้องแจ้งให้ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง ให้รับทราบก่อนจึงจะสามารถออกทำการประมงได้
 
(สำนักข่าวไทย, 5/7/2558)
 
โรงน้ำแข็งปัตตานีเผยอาจต้องปิดกิจการหลังประมงหยุดออกเรือหาปลา
 
(6 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ท่าเทียบเรือปัตตานี ยังคงมีเรือประมงที่อยู่กลางทะเลทยอยเข้ามาจอดที่ท่าเทียบเรือปัตตานีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณเรือประมงที่ท่าเทียบเรือปัตตานีเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับบรรยากาศการซื้อขายปลาที่สะพานปลา ยังคงเงียบเหงา เนื่องจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าปลาต่างก็ต้องหยุดการซื้อปลาในช่วงนี้ เพราะปลามีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และราคาสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางรายเลือกที่จะหยุดซื้อเพื่อรอดูท่าที่ไปก่อน
 
นอกจากนี้ การหยุดหาปลาของเรือประมงยังส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตน้ำแข็ง เนื่องจากยอดสั่งซื้อน้ำแข็งเพื่อใช้ในการดองปลาลดลงอย่างมาก ทำให้โรงงานบางแห่งต้องหยุดผลิตชั่วคราว และโรงงานอีกหลายแห่งลดปริมาณการผลิตน้ำแข็งลง โดยพบว่า มีการหยุดใช้เครื่องผลิตน้ำแข็งขนาดใหญ่ ใช้เฉพาะเครื่องผลิตน้ำแข็งขนาดเล็กเท่านั้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย
       
ด้าน นายเจ๊ะอาแซ เจ๊ะซู หัวหน้าการตลาดสหกรณ์โรงน้ำแข็งประมงปัตตานี กล่าวว่า อยากวอนให้รัฐบาลเร่งเข้ามาช่วยเหลือชาวประมงอย่างเร่งด่วนด้วย เนื่องจากส่งกระทบในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะโรงงานผลิตน้าแข็ง ซึ่งจำหน่ายให้แก่เจ้าของแพปลา และพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อปลาเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ทำให้จำนวนปลาลดลงอย่างมาก ส่งผลให้การซื้อน้ำแข็งลดลงตามไปด้วย
       
ตนจึงต้องลดปริมาณการผลิตลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานซึ่งพบว่า บางรายเตรียมหางานใหม่ทำ ส่วนบางรายก็เตรียมที่จะเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากค่าแรงลดน้อยลง ถ้าหากว่าสถานการณ์อย่างนี้ยืดเยื้อนานไปกว่านี้ ปัญหาก็จะกระทบเป็นลูกโซ่ และเสียหายต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5/7/2558)
 
ทีดีอาร์ไอเผยรายได้ 300 บาท อาจเลี้ยงครอบครัว3คน ให้สูงกว่าเส้นยากจนไม่ได้
 
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงนี้มีคนสนใจว่าประเทศไทย ควรจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในตอนต้นปี2559 หรือไม่ แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่จะประเมินค่าจ้างที่คน ๆ เดียวหามาได้300 บาทนั้น เลี้ยงคนในครอบครัวให้พออยู่ได้ (วัดด้วยเส้นยากจน)มากน้อยเพียงใดผลการศึกษาของทีมวิจัยของผู้เขียน พบว่า ถ้าครอบครัวมีสมาชิกอยู่ร่วมกันไม่เกิน 2คนไม่ว่าจะอยู่ในเขตเทศบาลหรืออยู่นอกเขตเทศบาลหรืออยู่ในจังหวัดใดในแต่ละภูมิภาคของประเทศก็ตามสามารถอยู่ได้โดยไม่ยากจนแน่นอนในปัจจุบัน
 
แต่ถ้าเรานำเอาคำจำกัดความของค่าจ้างขั้นต่ำในอดีตของILO มาใช้ กล่าวคือ รายได้ของคนงาน 1 คน จะต้องสามารถเลี้ยงสมาชิกครอบครัวได้อีก2 คน ก็จะพบว่ารายได้ 300 บาท (ที่ไม่ได้ทำ OT ) นี้เลี้ยงคนในครอบครัวโดยเฉลี่ยไม่เพียงพอ จากการวิเคราะห์เส้นยากจนใน 77 จังหวัดพบว่าครอบครัวที่มีคนอยู่ด้วยกัน 3 คนมากถึง 61จังหวัด (ร้อยละ79)  ในเขตเทศบาลที่รายได้ต่อวัน300 บาท ติดลบต่ำกว่าเส้นยากจนมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัดอย่างไรก็ตามถ้าครัวเรือนเหล่านั้นอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล พบว่าสามารถเลี้ยงดูครอบครัว (อยู่ด้วยกัน 3 คน) ได้ดีกว่าผู้ที่อาศัยในเมือง กล่าวคือยังมีครอบครัวใน  38 จังหวัด (ร้อยละ 49)ที่รายได้ 300 บาทต่ำกว่าเส้นยากจน ซึ่งแน่นอนครอบครัวเหล่านี้ถ้ามีเพียง 1 คนที่หารายได้เลี้ยงภรรยาและบุตร 1 คน ที่ยังไม่มีรายได้ต้องเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายชักหน้าไม่ถึงหลังแน่นอน
 
ในสภาพเป็นจริงถ้ามีเพียง 1 คนที่หารายได้ก็ต้องทำงานเพิ่มเติมเช่น ทำงานล่วงเวลา หรือหารายได้เสริมในวันหยุดหรืออาจจะให้ภรรยาหรือสามีคนใดคนหนึ่งช่วยทำงานหารายได้เสริมให้กับครอบครัวและที่จริงก็คงมีครอบครัวไม่มากนักที่แต่งงานมีบุตรแล้วและจะยังเป็นลูกจ้าง“แรกเข้า” ทำงานและให้สามีหรือภรรยาทำงานแต่ฝ่ายเดียวดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ปัญหาที่น่าห่วงมากก็คงเป็นเรื่องของคนงานที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือลูกจ้างรายวันที่ทำงานในสถานประกอบการขนาดจิ๋ว และขนาดย่อมซึ่งไม่มีโครงสร้างเงินเดือน ผู้ประกอบการก็จะอาศัยอ้างอิงค่าจ้างขั้นต่ำเป็นพื้นฐานในการจ่ายค่าจ้าง และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็คือลูกจ้างในภาคเกษตรมีค่าจ้างต่ำมากไม่ถึง 250 บาทต่อวัน และถ้าต้องเลี้ยงดูคนอีก 2คนในครอบครัวก็จะตกอยู่ในฐานะ  “ครอบครัวยากจน” แน่นอน
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 6/7/2558)
 
พยาบาลแสดงออกผ่านโซเชียล ติดริบบิ้นดำไว้อาลัย เรียกร้องความเป็นธรรม
 
(7 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากพยาบาลวิชาชีพที่มาเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ และความก้าวหน้าในวิชาชีพที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว กลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่ประสบปัญหาในการเดินทางมา เนื่องจาก นพ.อำนวย กาจีนะ รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกคำสั่งสกัดไม่ให้เดินทางเข้ามารวมตัว พบว่า ในสังคมออนไลน์ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้หันมาแสดงออกโดยโพสต์เฟซบุ๊ก เชิญชวนให้กลุ่มพยาบาลวิชาชีพร่วมใจกันเปลี่ยนภาพประจำตัวและภาพหน้าปกในเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นริบบิ้นสีดำ มีข้อความ “คืนความสุขให้พยาบาล” เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไว้อาลัยแด่ความทุกข์ของพยาบาล ในการเรียกร้องความเป็นธรรม ขณะเดียวกัน มีกลุ่มพยาบาลวิชาชีพจำนวนมากได้แสดงออกด้วยการติดโบว์ หรือริบบิ้นด ำด้วย ซึ่งกระจายใน รพ. ต่าง ๆ อาทิ รพ.กาฬสินธุ์ รวมไปถึงบางส่วนในคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รพ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.พัทลุง รพ.มหาสารคาม รพ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร รพ.อำนาจเจริญ รพ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เป็นต้น
       
ทั้งนี้ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 6/2558 ระบุว่า จากสถานการณ์ที่พยาบาลยังขาดเสรีภาพและความเป็นธรรม ทำงานหนัก เครียด เสี่ยง ผลตอบแทนไม่เป็นธรรม เจ็บป่วยจากการทำงาน เสียชีวิต บาดเจ็บในขณะส่งต่อผู้ป่วย เงินเดือนน้อย การทำงานไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของสภาการพยาบาลและกฎหมายแรงงาน อยู่เวร แบบไร้ค่าตอบแทน ต้องทำหน้าที่แทนวิชาชีพอื่นๆ เกิดเหตุฉุกเฉินที่ขาดระบบช่วยเหลือ ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านความก้าวหน้าและการพัฒนาวิชาชีพ จบปริญญาเอก ปริญญาโท ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (APN: Advance Practice Nurse) เพิ่มคุณภาพทางการพยาบาล แต่ไม่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ
       
จากปัญหาดังกล่าวมีข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้ 1. สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมนักวิชาการสาธารณสุขแห่งประเทศไทยและข้าราชการพลเรือนสามัญที่ได้รับผลกระทบ ขอร้องทุกข์ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจ และขอให้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการพลเรือนสามัญโดยเฉพาะตำแหน่งประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับชำนาญการลงมา (ระดับ 7 ลงมา)
       
2. จากเหตุการณ์พยาบาล หรือบุคลากรสาธารณสุข เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ทางสหภาพพยาบาลฯ ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ข้าราชการ,พนักงานของรัฐ, พนักงานกระทรวง, ลูกจ้างภาครัฐ ให้ได้รับการคุ้มครองจากกรณีเจ็บป่วย บาดเจ็บ เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ จากการปฏิบัติหน้าที่ โดยขอเสนอให้ภาครัฐ จัดงบประมาณ ส่งสมทบในฐานะนายจ้าง แก่ข้าราชการและลูกจ้างของรัฐ และเพิ่มกฎหมายคุ้มครองผู้ให้บริการสุขภาพภาครัฐ ดังนี้ ในส่วนของข้าราชการ ขอให้รัฐจัดงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน โดยให้ข้าราชการได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะกรณี ทุพพลภาพ และกรณีตาย อันเนื่องมาจากการทำงานเท่านั้น เนื่องจากเป็นสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการ ไม่มีมาแต่เดิม
       
ส่วนลูกจ้างภาครัฐที่มีระบบประกันสังคมอยู่เดิม ขอให้เพิ่มการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน ทั้งนี้ ให้ได้รับสิทธิคุ้มครอง ไม่ต่ำกว่ากว่ากฎหมายแรงงานทุกฉบับ ปัจจุบันผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลและลูกจ้างของรัฐ ยังขาดหลักประกันความมั่นคง รวมทั้งสวัสดิการและความปลอดภัยในการทำงาน ไม่มีกองทุนทดแทน เมื่อเกิดกรณี เจ็บป่วย บาดเจ็บ เสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอให้ภาครัฐปฏิบัติเหมือนนายจ้างมีกองทุนทดแทนให้ลูกจ้างภาครัฐ คุ้มครอง การเจ็บป่วย บาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต หรือรัฐอาจกำหนด พ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองการทำงานของข้าราชการ หรือลูกจ้างภาครัฐ ภาคพลเรือน โดยสิทธิประโยชน์เหมาะสม เทียบเคียงไม่ต่ำกว่าสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน หรือดูแล เช่น ทหาร ตำรวจ ที่ทุพพลภาพเสียชีวิต จากการปฏิบัติหน้าที่ และ 3. ให้รัฐบาลพิจารณาบรรจุพยาบาลวิชาชีพพนักงานกระทรวงและลูกจ้างชั่วคราวภายในเวลา 1 เดือน เพื่อลดอัตรากำลังขาดแคลนบุคลากรด้านการพยาบาลรักษาไว้ซึ่งบุคลากรที่มีความสามารถ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7/7/2558)
 
"สหภาพพยาบาล"  ร้องขอความเป็นธรรม เร่งรบ.พิจารณาบรรจุพยาบาล ใน 1 เดือน
 
เมื่อเวลา 10.40 น. ที่รัฐสภา น.ส. มัลลิกา ลุนจักร ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ ได้เดินทาง เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม กับนายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งนี้ เนื่องจากการทำงานไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของสภาการพยาบาลและกฎหมายแรงงาน จึงขอเรียกร้องให้พิจารณาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเพดานเงินเดือน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2558 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจแก่พยาบาล ทั้งยังเสนอให้รัฐจัดงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน โดยให้ข้าราชการได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะ กรณี ที่พยาบาลหรือบุคลากรสาธารณสุขเสียชีวิตหรือทุพพลภาพในขณะปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ยังขอรัฐบาลพิจารณาบรรจุพยาบาลวิชาชีพพนักงานกระทรวงและลูกจ้างชั่วคราวภายในเวลา 1 เดือนเพื่อลดอัตราการขาดแคลนบุคลากรด้านการพยาบาลรักษาไว้ซึ่งบุคลากรที่มีความสามารถ
 
ด้าน นายเกรียงไกร กล่าวว่า ตนอยากให้ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลเพราะมีกระทรวงสาธารณสุขที่สามารถรับเรื่องดังกล่าวได้โดยตรงและขณะนี้มีมาตรา 44 อยู่ซึ่งคาดว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ทันที
 
(บ้านเมือง, 7/7/2558)
 
ครม.ไฟเขียว ร่างพ.ร.บ.กำลังสำรอง ระบุค่าตอบแทน สวัสดิการชัดเจน หากนายจ้างไม่ให้มารายงานตัว มีความผิด และต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ
 
วันที่ 7 กรกฎาคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมครม. ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ของกระทรวงกลาโหม ประเด็นสำคัญนั้นคือกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันประเทศ ดูแลความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงมีความจำเป็นต้องมีกำลังพลด้านกำลังรบที่เพียงพอในส่วนสนับสนุนการรบและการช่วยรบ ต้องมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงไม่สามารถดำรงสภาพของกำลังรบไว้ได้ตลอดเวลา จึงต้องมีการจัดการกำลังสำรองอย่างมีประสิทธิภาพ
 
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะตอบสนองปัญหาเหล่านี้ เช่น มีการกำหนดประเภทบุคคลชัดเจนว่าประเภทใดบ้างต้องเป็นกำลังพลสำรอง มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการกิจการกำลังสำรองทั้งหมด หน้าที่ สิทธิ ของกำลังพลสำรองที่จะได้รับจากการเข้ารับราชการทหาร จะมีคณะกรรมการกำลังพลสำรองขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรมการสรรพกำลังของกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานฝ่ายเลขา ในรายละเอียดนั้นเป็นการกำหนดให้ชัดเจนว่ากำลังพลทุกคนที่เป็นกำลังพลสำรองนั้น จะต้องไปรายงานตัวเพื่อตรวจสอบความพร้อม ทั้งเรื่องระบบการติดต่อสื่อสารกับภาคราชการ การฝึกวิชาทหาร หากไม่มารายงานตัวก็จะมีโทษ และจะมีการดูแลสวัสดิการ ว่าในระหว่างเข้ามาตรวจสอบความพร้อมในรอบของแต่ละประเภทนั้นจะได้รับสิทธิ ค่าตอบแทนจากราชการด้วย
 
ทั้งนี้ นายจ้างที่ท่านทำงานอยู่ก็จะต้องอนุญาตให้เข้ามารายงานตัว หากไม่อนุญาต นายจ้างมีความผิด และในระหว่างการรายงานตัว นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินค่าแรงตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานด้วย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายฉบับใหม่ แต่อยู่ในกฎหมายการรับราชการทหารเพียงแต่วันนี้แยกเรื่องนี้ออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อพัฒนาระบบกำลังสำรองอย่างมีประสิทธิภาพและจำเป็นเหมือนทุกประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องการหมุนเวียนกำลังพลสำรอง
 
(มติชนออนไลน์, 7/7/2558)
 
กกร.หนุนคิดค่าแรงขั้นต่ำตามพื้นที่-เสนอ กรอ.หาทางช่วยกลุ่มประมง
 
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมหารือกนในวันนี้ โดย กกร.ได้หารือผลการสำรวจทัศนะจากหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2559 และเห็นว่าไม่ควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ และควรให้"คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด"พิจารณากำหนดการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามสภาพข้อเท็จจริงของเศรษฐกิจและสังคมและความจำเป็นของแต่ละจังหวัด โดยไม่ต่ำกว่า 300 บาท/วัน
 
สำหรับข้อร้องเรียนจากจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัดเรื่องผลกระทบตามประกาศกำหนดข้อปฏิบัติ 15 ข้อ และหารือแนวทางการผ่อนคลายตามข้อปฏิบัติดังกล่าวเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดย กกร. จะนำเสนอเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ในวันที่ 8 ก.ค.58
 
นอกจากนั้น กกร.ให้ความสำคัญเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 2/2558 ในวันที่ 24 ก.ค.58 โดยเน้นใน 2 ประเด็น คือ (1) "Ease of Doing Business" โดยจัดลำดับความเร่งด่วนของ 5 กระบวนงานหลัก ได้แก่ การจัดตั้งธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การชำระภาษี กระบวนการนำเข้า-ส่งออก และ การทำ Visa & Work Permit// และ (2) การพัฒนา คลัสเตอร์ (ตาม value chain)โดยได้คัดเลือก 7 คลัสเตอร์ เพื่อดำเนินการในระยะแรก ได้แก่ ข้าว อ้อย กุ้ง ยางพาราและไม้ยางพารา ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิสก์ และ ภาคการเงิน โดยผลรวมของมูลค่าทั้ง7 คลัสเตอร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.8 ต่อ GDPและมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5 ปีที่ร้อยละ 9.7 อย่างไรก็ตาม กกร.อยู่ระหว่างการพิจารณาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในรายคลัสเตอร์ เพื่อจัดแผนงานที่เป็น quick-win ในระยะ 1 ปี
 
(ryt9.com, 7/7/2558)
 
ทีดีอาร์ไอคาด กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม คืออนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เสนอการปรับค่าจ้างต่อคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ
 
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระบุว่าอีกไม่ถึง 6 เดือน จะครบกำหนดของการใช้ฐานค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตามที่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยกระทรวงแรงงานได้มีประกาศจากคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน  พ.ศ.2554 ข้อ 2 ว่า“ให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาท ไปพื้นที่ 77 จังหวัด โดยมีผลใช้บังคับเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ.2556 และในปี 2557 และ 2558 ให้คงไว้ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศหากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนมากและส่งผลรุนแรงต่อค่าครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี2557 และ 2558 ได้ตามความเหมาะสม” การจะพิจารณาปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้น มีทางเลือกและข้อพึงพิจารณาในการตัดสินใจอย่างไร ให้เกิดการยอมรับร่วมกันของทั้งฝ่ายลูกจ้าง ผู้ประกอบการ และต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
 
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ โดยระบุว่า ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านซึ่งประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีค่าจ้าง(ขั้นต่ำ)สูงในชั้นแนวหน้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์และบรูไน ดารุซาราม ซึ่งล้วนแต่มีระดับการพัฒนาและรายได้ต่อหัวสูงกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น และเป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมิได้พิจารณาอะไรเพิ่มเติมถึงแม้จะมีแรงกระเพื่อมอยู่บ้างทุกครั้งที่ถึงวันแรงงาน แต่ฝ่ายลูกจ้างก็ทราบดีว่า ค่าจ้างที่ได้รับไปนั้นส่งผลต่อต้นทุนและผลกำไรมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเป็นสถานประกอบการประเภทใดและขนาดของธุรกิจแตกต่างกันเพียงใด โดยรัฐมีนโยบายค่อนข้างจำกัดในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ในที่สุดเพื่อให้สถานประกอบการอยู่รอดหรือเดินหน้าต่อไปได้ในธุรกิจ จำเป็นต้องทำให้ธุรกิจของตัวเองสามารถรักษาระดับการแข่งขันเอาไว้ให้ได้ มิฉะนั้นก็จะต้องปิดตัวเองลง ผู้ประกอบการได้ใช้เวลา 2 ปีที่ผ่านมาพยายามปรับปรุงธุรกิจของตัวเองให้อยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องและการว่างงานมิได้เป็นปัญหาต่อสังคมไทยมากนัก
 
ปัจจุบันการเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2559 ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการอ้างถึงการเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นมากจนแรงงานที่เคยได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทแทบจะไม่สามารถอยู่ได้ ทำให้ทางรัฐบาลกลับมาสนใจว่าในช่วงต้นปี 2559 นั้น จำเป็นต้องมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่  ถ้าต้องขึ้นจะขึ้นอย่างไรและเป็นจำนวนเงินเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งจากผลการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เสนอแนะแนวทางในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 5 แนวทาง คือ 1)ให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิมกล่าวคืออนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เสนอการปรับค่าจ้างต่อคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ พิจารณาเพื่อประกาศขึ้นค่าจ้างไปตามปกติเหมือนก่อนการขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศเมื่อกลางปี 2556 และตอนต้นปี 2557 2)ให้กำหนดค่าจ้างแบบลอยตัว 3)ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามการพัฒนาเศรษฐกิจ  4) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกลุ่มอุตสาหกรรม 5.การปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยวิธีผสมผสานหลายรูปแบบ (ดูรายละเอียดการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของทั้ง 5 ทางเลือกได้ที่ http://tdri.or.th/tdri-insight/minimum-wage/)
 
ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า อาจจะเป็นความพลั้งเผลอของคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติซึ่งปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานจนเหลือเวลาอีกเพียง 3-4 เดือนก่อนเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งปกติควรจะเริ่มดำเนินการพิจารณาหารูปแบบของการจ่ายค้าจ้างเอาไว้แต่แรกแล้วโดยใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วย แต่กระนั้นเมื่อ พ.ร.บ.ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังไม่ได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับการมี ค.ส.ช. (เมื่อพฤษภาคม 2557) ดังนั้นการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงยังต้องเป็นไปตามมาตรา 87ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาคือ 1.การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 2.การขยายตัวของภาคการส่งออกของประเทศ 3.การขยายตัวของการค้าการลงทุนในประเทศ 4.ดัชนีผลิตภาพแรงงาน 5.ต้นทุนและองค์ประกอบของค่าจ้างในต้นทุน 6.ดัชนีค่าครองชีพ (CPI) 7.อัตราเงินเฟ้อ 8.ดัชนีราคาสินค้าอุปโภค บริโภค เป็นต้น
 
การพิจารณา 4 แนวทางแรก ไม่มีทางเลือกใดที่มีความสมบูรณ์และสามารถที่จะเลือกมาอย่างหนึ่งหรือผสมผสานหลายๆทางเลือกเป็นตัวแทนได้ทั้งประเทศ ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดคือทางเลือกที่ 1 การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยปรับแก้เพิ่มเติมการบริหารจัดการบางประการ โดยความเป็นไปได้เนื่องจาก 1) เป็นรูปแบบที่คุ้นเคย และสอดคล้องกับการบริหารจัดการแรงงานในรูปของไตรภาคีซึ่งคณะกรรมการเกี่ยวกับแรงงานของไทยส่วนมากบริหารในรูปแบบนี้ ไม่เพียงแต่คณะกรรมการค่าจ้างเท่านั้น   2) ผลงานในอดีตก่อนที่จะมีการปรับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทในทุกจังหวัด ถึงแม้ว่าจะเป็นการปรับเพื่อชดเชย "ความไม่มีประสิทธิภาพ" ของคณะกรรมการค่าจ้างในอดีตที่ไม่สามารถขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ทันกับผลิตภาพและค่าครองชีพของแรงงานเกือบ 20% แต่การขึ้นค่าจ้าง 300 บาทได้ชดเชยในส่วนของค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำเกินไปในอดีตไปแล้ว และยังมีส่วนที่เพิ่มรายได้ให้กับแรงงานที่เพียงพอที่จะทำให้แรงงานทุกคนหลุดพ้นจาก "เส้นยากจน" ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่ดีเพียงพอในการหาวิธีการกำหนดค่าจ้างที่เหมาะสมในปี 2559ต่อไปได้  และ 3)  การกำหนดค่าจ้างในปี 2559 น่าจะสามารถนำเอารูปแบบอื่นๆ ที่ปกติส่วนใหญ่ก็เป็นหลักเกณท์ของการพิจารณาประกอบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วเป็นข้อดีมาประกอบด้วย เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ และระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ประเภทและขนาดของสถานประกอบการ ความจำเป็นในการใช้แรงงานที่มีมาตรฐานสมรรถนะมากน้อยแตกต่างกัน เป็นต้น
 
ดังนั้น รูปแบบผสมผสานที่เหมาะสมเพื่อนำมาพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 คือ หนึ่ง ยังใช้รูปแบบของอนุกรรมการไตรภาคีอยู่เหมือนเดิม แต่เนื่องจากกิจกรรมของการผลิตและบริการมีความเข้มข้นไม่เท่ากัน อีกทั้งตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างอาจไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริง และอาจจะมีอำนาจต่อรองสู้นายจ้างไม่ได้ การผนวกจังหวัดที่ลักษณะการผลิตที่คล้ายกันเข้ามาด้วยกัน ทำให้สามารถเลือกตัวแทนของนายจ้างและลูกจ้างที่แท้จริงได้มากขึ้น แต่ถ้ามีปัญหาในการบริหารจัดการคัดเลือกตัวแทนก็ใช้รูปแบบของการเอาตัวแทน 3 ฝ่ายจากคณะกรรมการค่าจ้างที่แต่งตั้งไปแล้ว มารวมกันพิจารณาเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น 5 จังหวัดในภาคอีสาน ก็จะมีตัวแทนนายจ้าง 25 คน ตัวแทนลูกจ้าง 25 คน และฝ่ายรัฐบาล 25 คน รวมเป็น 75 คน โดยฝ่ายรัฐบาลทำหน้าที่ในการจัดหาข้อมูลตามตัวแปรที่ใช้ในการพิจารณาให้ครบถ้วนเป็นกลางให้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างได้พิจารณาและนำส่งผลต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลาง
 
สอง ยังใช้รูปแบบของอนุกรรมการโดยภาคีในระดับพื้นที่เสนอค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมไปให้คณะกรรมการค่าจ้างแต่แตกต่างกันตรงที่เพิ่มขึ้นตอนให้ส่งผลการพิจารณาไปที่คณะกรรมการค่าจ้าง "ภาค" (ซึ่งจะต้องแต่งตั้งขึ้นมาใหม่) ระดับภาคเพื่อที่จะได้ผู้แทนที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเพื่อมาเป็นตัวแทน 2 ฝ่าย(นายจ้างกับลูกจ้าง) ในขณะเดียวกันก็สามารถสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ (ราชการ) ทั้ง 5 คนที่มีตัวเลือกมากขึ้น เมื่อคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีผลการพิจารณามาที่คณะกรรมการค่าจ้างภาคแล้ว ผ่านผลไปยังคณะกรรมการค่าจ้างระดับประเทศก็อาจจะช่วยให้ตัดสินใจในการปรับค่าจ้างจากส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากได้มีการกลั่นกรองมาถึง 2 ชั้น
 
อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลความจำเป็นของฝ่ายลูกจ้างในเรื่องของภาระค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็อยู่ที่นายจ้างว่ามีขีดความสามารถในการแบกรับต้นทุนได้มากน้อยเพียงใด ถ้านายจ้างมีความสามารถในการแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้พร้อมๆ กับการที่แรงงาน (ที่ทำงานใหม่ไร้ฝีมือ) ได้ค่าจ้างที่คุ้มกับค่าครองชีพ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่มาก
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 8/7/2558)
 
ก.แรงงาน แนะใช้ต่างด้าว "นำเข้าแบบ MOU" ถูกกฎหมาย ไม่ยุ่งยาก
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุม Morning Brief ณ ห้องประชุมประสงค์ฯ ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ว่ามาตรการภายหลังจากการสิ้นสุดการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวมารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่กำหนดเมื่อ 30 มิถุนายน 2558 นั้น โดยยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมามีประมาณ 1.2 ล้านคน ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายรอบใหม่แต่อย่างใด และแรงงานต่างด้าวที่ไม่มาดำเนินการจะไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยและทำงานได้ สำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายกำหนด
 
โดยภายหลังสิ้นสุดการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวมารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่ กระทรวงแรงงานมีนโยบายบริหารจัดการเพื่อควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว การจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งต่อไปจะเน้นการนำเข้าแรงงานต่างด้าวถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ MOU ตามนโยบายของ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้มีการปรับระเบียบให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และคุ้มค่า อาทิ กรมการจัดหางานได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้บริการ โดยไม่พักเที่ยง ให้บริการแบบลดขั้นตอน ลดจำนวนวันในการติดต่อ ประหยัดค่าใช้จ่ายลดค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตจากเดิม 1,900 บาท เป็น 1,000 บาท ลดการตรวจลงตรา จาก 2,000 บาท เป็น 500 บาท และคุ้มค่าโดยสามารถมีใบอนุญาตทำงานได้ 4 ปี และจากเดิมต้องกลับไปประเทศต้นทางนาน 3 ปี ลดเหลือเพียง 30 วัน ต่อไปประเทศไทยจะมีแต่การใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 8/7/2558)
 
แนวโน้มลูกจ้างชีวิตดีขึ้น ยอด "กองทุนทดแทน" หด
 
นายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยถิตย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนมีเงินสะสมกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท มีนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนกว่า 350,000 ราย และลูกจ้างอยู่ในความคุ้มครองกว่า 9.1 ล้านคน และในช่วง 3 ปี กองทุนฯมีรายรับปีละ 4-5 พันล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2548 มีลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนฯกว่า 210,000 คน ซึ่งสถิติลูกจ้างมาขอใช้สิทธิลดลงเรื่อยๆ กระทั่งปี 2557 ลดเหลือประมาณ 100,000 คน โดยเฉลี่ยกองทุนจ่ายเงินปีละ 1 พันล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่มีลูกจ้างมาใช้สิทธิกองทุนลดลง เนื่องจากการรณรงค์ลดอุบัติเหตุและบาดเจ็บจากการทำงานได้ผลมากขึ้น และบางส่วนเกิดจากนายจ้างหลบเลี่ยงไม่ยอมให้ลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน แต่ให้ไปใช้สิทธิประกันสังคม หรือประกันสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชนแทน ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บจากการทำงาน จากข้อมูลพบว่ามีสถิติลดลงเรื่อยๆ โดยในช่วงปี 2548 จนถึงปี 2557 มีลูกจ้างเสียชีวิตประมาณ 1,000 คน ล่าสุด ลดลงเหลือ 603 คน กรณีทุพพลภาพมี 19 คน ขณะนี้ลดเหลือ 11 คน กรณีสูญเสียอวัยวะโดยเฉพาะตาและนิ้วมากที่สุดซึ่งโดยรวมมีกว่า 3,000 คน ล่าสุด ลดเหลือประมาณ 1,700 คน
 
นายรักษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปส.กำลังเร่งปฏิรูปกองทุนเงินทดแทนทั้งระบบ โดยเน้นการส่งเสริมการป้องกันและดูแลความปลอดภัยในการทำงานเพื่อลดจำนวนลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการทำงานให้มากที่สุด รวมทั้งจะดูแลให้ลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนได้ง่ายขึ้น ล่าสุด ได้เพิ่มวงเงินค่ารักษาจากเดิมจ่าย 45,000 บาท เป็น 1 ล้านบาท และปรับปรุงระบบการรักษาพยาบาลของกองทุน โดยจัดให้มีโรงพยาบาลสำหรับกองทุนเงินทดแทนโดยเฉพาะ ตอนนี้มีการนำร่องโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ 2 แห่ง และเตรียมจะขยายเพิ่มอีก 5 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 8/7/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท