Skip to main content
sharethis
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2558 เว็บไซต์ Deep South Watch เผยแพร่ปาฐกถาพิเศษอาจารย์ซอและห์ ตาเละ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและการลงทุน มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในหัวข้อ “เส้นทางสู่สันติภาพ”  ในงานเสวนายื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย เวทีเชื่อมเครือข่ายสานพลังขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณเพื่อปฏิรูปชายแดนภาคใต้  จัดโดยสภาพัฒนาการเมือง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2558 ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
 
เราต้องสร้างสันติภาพที่มาตุภูมิ ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
อาจารย์ซอและห์ กล่าวว่า หัวข้อ “เส้นทางสู่สันติภาพ” ที่จะกล่าวถึงในวันนี้ถึงแม้ไม่ได้เขียนต่อเติมว่าเป็นสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คงจะเข้าใจกันเองว่า บริบทพื้นที่ที่เรากล่าวถึงย่อมสื่อถึงพื้นที่ที่เป็นมาตุภูมิที่เราเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน และถึงแม้ว่าเราจะเขียนว่าเส้นทางสู่สันติภาพเป็นการสื่อสารถึงอนาคต แต่เราก็คงไม่เพิกเฉยและไม่ละเลยที่มองย้อนหลังว่า เราได้เดินทางมายาวไกลแค่ไหนแล้ว และเดินมาได้อย่างไร เราสามารถถอดบทเรียนอะไรได้บ้างในการที่จะเดินทางต่อไปข้างหน้า บนทางเส้นทางสันติภาพที่เราวาดฝัน
 
อันที่จริงอิสลามให้ความสำคัญกับสันติภาพอย่างยิ่งยวด เพราะหากปราศจากสันติภาพ การเผยแผ่สัจธรรมความดีงามทั้งหลาย พัฒนาการต่างๆ จะหยุดชะงัก อารยธรรมจะไม่ได้รับการก่อกำเนิดและต่อยอดขึ้นมาได้ โดยธาตุแท้มนุษย์ทุกคนปรารถนาและต้องการสันติภาพ เพราะประสบการณ์ของมนุษย์ชาติได้ให้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่ไร้สันติภาพจนก่อให้เกิดความรุนแรง สงคราม และความสูญเสียมามากเกินคณานับ
 
ความเข้าใจผิดเรื่องการใช้กำลังเรียกร้องสันติภาพ
 
ความไร้สันติภาพที่นำไปสู่การทำลายล้าง มันไม่มีผู้ชนะที่แท้จริง มีแต่ผู้แพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่เป็นรากหญ้าทั้งหลาย เพียงแต่ว่าประสบการณ์ส่วนหนึ่งของมนุษย์ได้ถูกถ่ายทอดว่า สันติภาพจะไม่เกิดขึ้น ถ้าปราศจากการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง ความสูญเสียและการเสียสละ จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งเชื่อในการใช้กำลังเพื่อเรียกร้องสันติภาพ ดังนั้นปรากฏการณ์ที่มีการใช้กำลังความรุนแรงในขณะที่มีการพูดคุยเจรจาสันติภาพ จึงมักปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ มันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรองเจรจา ถึงแม้มันจะสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อเส้นทางสันติภาพก็ตาม
 
หลักการคำสอนอิสลามได้สอนมนุษย์ทั้งในเรื่องสัจธรรมหรือความเป็นจริงที่เกี่ยวกับมนุษย์และอุดมการณ์ที่มนุษย์จะต้องยึดมั่นเพื่อสถาปนาความสุขสันติในโลกนี้ สัจธรรมเกี่ยวกับมนุษย์นั้น อัล-กุรอานได้เปิดเผยถึงธาตุแท้หรือสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ที่ชอบสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดินและชอบหลั่งเลือด ด้วยสาเหตุที่มนุษย์มีอารมณ์ มีตัณหาและกิเลส ปรารถนาที่จะมีอำนาจ มีอิทธิพล และใช้อำนาจอิทธิพลเพื่อครอบครองความมั่งคั่ง ถึงแม้จะต้องบุกรุก รุกราน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ดังที่บรรดานักล่าอาณานิคมหรือมหาอำนาจได้ไปรุกรานล่าอาณานิคมเกือบทั่วโลกหรือสงครามขยายดินแดนในอดีต ผลพวงของอดีตในหลายๆ ประเทศก็ยังก่อให้เกิดความไร้สันติภาพจนกระทั่งถึงวันนี้
 
เมื่อมีความอยุติธรรม ย่อมไร้ซึ่งสันติภาพ
 
สัจธรรมและปรากฏการณ์ของความไร้สันติภาพส่วนหนึ่งมาจากความอยุติธรรม ซึ่งสอดคล้องกับหลักคำสอนอิสลาม อิสลามให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ฐานะตำแหน่งของความยุติธรรมอยู่ใกล้เคียงกับความยำเกรงหรือความศรัทธาต่อพระเจ้า ดังอัล-กุรอานได้กล่าวว่า
 
 “จงยุติธรรมเถิด ความยุติธรรมใกล้ชิดอย่างมากกับความยำเกรง”
 
หมายความว่าผู้ละเมิดความยุติธรรมย่อมแสดงถึงความมีปัญหาของความศรัทธาและความยำเกรง เป็นบุคคลที่ไม่กลัวบาปและพร้อมที่จะละเมิดความยุติธรรม จนนำสู่ไปการสร้างความเคียดแค้นอาฆาตและโต้กลับด้วยความรุนแรงและสงคราม
 
บทเรียนจากการละเมิดความยุติธรรมที่นำไปสู่สงคราม
 
แม้กระทั่งในโลกมุสลิมเอง การละเมิดความยุติธรรมก็ได้นำไปสู่สงครามและความสูญเสีย ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ อินโดนิเซีย เมื่อรัฐบาลกลางอินโดนิเซียไม่สามารถสถาปนาความยุติธรรมต่อประชาชนชาวอาเจะห์ ประชาชนในพื้นที่ไม่มีอำนาจทางการเมือง การปกครองและการจัดการทรัพยากรของตัวเอง อำนาจและผลประโยชน์ตกอยู่กับนายทหารที่เป็นชาวชวา สุดท้ายนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ใช้เวลาหลายสิบปี สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมายกว่าจะนำสู่สันติภาพและแก้ไขความอยุติธรรมได้ ทั้งๆ ที่เป็นประชาชนชาวมุสลิมประเทศเดียวกัน
 
เหตุการณ์คล้ายคลึงกันที่เกิดสงครามแยกประเทศระหว่างปากิสถานตะวันออกและตะวันตก เนื่องมาจากชาวบังกาลีที่พำนักในประเทศปากีสถานตะวันออกรู้สึกถูกริดรอนและละเมิดความยุติธรรม เพราะอำนาจในการปกครองและผลประโยชน์ตกอยู่กับชาวปัญจาบซึ่งเป็นกลุ่มชนและเผ่าพันธุ์ที่มาจากปากีสถานตะวันตก เป็นชนกลุ่มน้อยที่มาครอบครองในดินแดนที่อยู่อาศัยของชาวบังกาลีส่วนใหญ่ จึงก่อให้เกิดความเคียดแค้นและได้นำสู่สงครามระหว่างมุสลิมด้วยกัน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย จนนำไปสู่การแยกประเทศ กลายเป็นประเทศบังกลาเทศในที่สุด
 
เงื่อนไขและอุปสรรคการสร้างสันติภาพชายแดนใต้
 
ความไร้สันติภาพ ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจัยส่วนหนึ่งก็มาจากความอยุติธรรมเคียงคู่ปัญหาประวัติศาสตร์และอัตตลักษณ์ ปัญหาความยุติธรรมหากไม่ได้รับการแก้ไขจะเปรียบเสมือนระเบิดเวลา พร้อมที่จะระเบิดในวันใดวันหนึ่ง ถ้าหากคนส่วนใหญ่ในพื้นที่รู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมและถูกละเมิด ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรมด้านโครงสร้างสังคม การศึกษา เศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้นกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนต่อเส้นทางสันติภาพชายแดนใต้ก็คือการปฏิรูปและปรับปรุงโครงสร้างสังคม การศึกษา เศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง จนคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้รู้สึกเหลื่อมล้ำอีกต่อไป และได้สัมผัสกับความยุติธรรมอย่างแท้จริง
 
ความอยุติธรรมอาจจะเป็นเพียงความรู้สึกที่เป็นมายาคติ หรืออาจจะเป็นความผิดพลาดของการกำหนดนโยบาย ทั้งสองประการนี้ควรได้รับการแก้ไขเยียวยา ปรับเปลี่ยนปฏิรูป รวมทั้งสื่อสารให้เข้าใจบทบาทในการสำรวจความรู้สึกอยุติธรรม เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลง อันนี้ควรเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทหน้าที่ภาคประชาสังคมที่จะต้องสื่อสารให้ภาครัฐได้รับรู้และเข้าใจ การปล่อยปละละเลยจะกลายเป็นอุปสรรคและขวากหนามต่อเส้นทางสันติภาพต่อไปในอนาคต
 
นอกเหนือจากการเปิดเผยถึงสัจธรรมด้านลบของมนุษย์ และวิกฤติที่จะเกิดกับสังคมมนุษย์  อิสลามได้ปลูกฝังอุดมการณ์ คุณธรรม เพื่อควบคุมกำกับสัญชาตญาณดิบ และชี้แนะแนวทางสันติสุข โดยกระตุ้นเตือนให้มนุษย์ได้ตระหนักว่าเดิมทีเขาเป็นชาวสวรรค์ อาดัม บรรพบุรุษของมนุษย์เป็นชาวสวรรค์ แต่เกิดผิดพลาดถูกไซฏอนหลอกลวงจนต้องถูกเนรเทศออกจากสวรรค์ ดังนั้นเราบรรดาลูกหลานของอาดัมจะต้องเพียรพยายามกลับไปสู่สวรรค์ให้ได้
 
 “อาดัมบรรพบุรุษของเราได้แสดงคุณสมบัติที่จะทำให้เราได้กลับไปสู่สวรรค์ก็คือการสำนึกผิด การกลับตัวและปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้เราทุกคนที่เป็นลูกหลานอาดัมจึงไม่รอดพ้นจากความผิดพลาด และก็มีโอกาสที่จะสำนึก ทบทวนเรียนรู้ ความผิดพลาดในอดีต และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม”
 
สันติภาพชายแดนภาคใต้ไม่ได้มืดมน เมื่อทุกคนพร้อมเป็นแนวหน้า
 
ดังนั้นเส้นทางสันติภาพชายแดนใต้จึงไม่ได้มืดมน และเจอทางตัน ส่วนลึกของหัวใจบรรดาลูกหลานของอาดัมจะต้องตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดจากการขาดสันติภาพ และเพียรพยายามที่จะถักทอขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะบรรดาลูกหลานที่เป็นคนทำงานภาคประชาสังคมที่มารวมตัวในวันนี้
 
ผมมั่นใจว่าพวกเราทุกคนพร้อมที่จะเป็นแนวหน้าบุกเบิกเส้นทางสู่สันติภาพ ขยายพื้นที่สร้างสันติภาพในบรรดาเครือข่ายทั้งหลาย พยายามสื่อสาร ทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้เขาได้รับรู้ถึงความต้องการและเจตนารมณ์ของเครือข่ายภาคประชาชน คงไม่ไกลเกินรอที่พวกเราจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของสันติภาพที่แท้จริงปรากฏขึ้น
 
ขอขอวิงวอนจากพระผู้เป็นเจ้า โปรดชี้นำแนวทางสันติภาพให้แก่พวกเราทุกคน ขจัดอุปสรรค์ต่างๆ และให้เกิดความสะดวกง่ายดายต่อกระบวนการสันติภาพทั้งหลาย พร้อมประทานความมั่นคงและการยืนหยัดแก่บรรดาผู้รักสันติภาพ สามารถรักษาอุดมการณ์สันติภาพได้อย่างยั่งยืนยาวนาน อามีน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net