ชัยชนะของนักถ่ายรูป สภายุโรปคว่ำร่างข้อเสนอแก้ไข กม.ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายสถานที่สาธารณะ

นักท่องเที่ยวยุโรปและผู้ถ่ายภาพสถานที่สาธารณะโล่งใจได้ เมื่อพรรคไพเรตจากเยอรมนีร่วมรณรงค์ผลักดันจนทำให้ ส.ส.ยุโรปลงมติคว่ำร่างแก้ไขกม.เก็บค่าลิขสิทธิ์ภาพถ่ายสถานที่ โดย ส.ส.พรรคไพเรตบอกว่ายังต้องสู้ต่อไปเพื่อสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตไม่ให้ข้ออ้างเรื่องลิขสิทธิ์เข้ามาลิดรอนเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากเกินไป

10 ก.ค. 2558 สภายุโรปปฏิเสธข้อเสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์การถ่ายภาพในที่สาธารณะ ซึ่งข้อเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวระบุให้ประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกต้องขออนุญาตจากสถาปนิกหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนเผยแพร่ภาพทางโซเชียลมีเดียไม่เว้นแม้แต่ภาพถ่ายเล่นๆ อย่าง "เซลฟี่"

อย่างไรก็ตาม ส.ส.ยุโรป 502 คนลงมติต่อต้านข้อเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการถ่ายภาพตนเองร่วมกับสถานที่ๆ มีความสำคัญทางสถาปัตยกรรมหรือที่เรียกว่า "เสรีภาพในทัศนียภาพ" (Freedom of Panorama) โดยหนึ่งในหัวหอกสำคัญของการเคลื่อนไหวนี้คือจูเลีย เรดา ส.ส. และนักการเมืองพรรคไพเรตของเยอรมนี

เรดากล่าวว่าถึงแม้ ส.ส.จะมีมติเสียงข้างมากทำให้ยังสามารถรักษาสิทธิของผู้คนในการโพสต์รูปเซลฟี่ทางอินเทอร์เน็ตหรือการรับชมภาพจากเว็บไซต์วิกิพีเดียโดยไม่ถูกกีดกันจากกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ แต่พวกเขาก็ยังต้องทำงานรณรงค์ต่อไปเพราะมีส.ส. อีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมต่อเรื่องลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ต ทำให้พวกเขาต้องสร้างความเข้าใจเพื่อวางรากฐานกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เหมาะสมต่อยุคดิจิตอล

ถึงแม้ว่ากฎหมายของอังกฤษจะมีการคุ้มครองสิทธิในการถ่ายภาพอาคารสาธารณะแต่ในบางประเทศเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และเบลเยียม มีกฎให้ช่างภาพและผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ต้องขอใบอนุญาต รวมถึงจ่ายค่าธรรมเนียมในการถ่ายทำในพื้นที่สาธารณะ แต่ก็มีคนบางกลุ่มพยายามทำให้กฎหมายแนวนี้ครอบคลุมทั้งยุโรป ซึ่งเรดาเปิดเผยว่าคนกลุ่มที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างเปิดเผยคือกลุ่มนักสะสมของฝรั่งเศสที่ทำรายได้หลายล้านจากระบบการขออนุญาตดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ ฌอง-มารี คาวาดา ส.ส.ฝรั่งเศส เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ยุโรปในเรื่องการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่งผลให้ภาพสถานที่สำคัญต่างๆ ในยุโรป ไม่สามารถถูกนำไปเผยแพร่ได้อย่างเสรี ซึ่งจะเกิดกระทบโดยตรงกับช่างภาพมืออาชีพที่ใช้ภาพถ่ายในเชิงพาณิชย์

ด้านเว็บไซต์สารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย มีนโยบายใช้ภาพที่ไม่มีลิขสิทธิ์เท่านั้น การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลให้ภาพจำนวนมากในเว็บไซต์ต้องถูกลบ นอกจากนี้ ความคลุมเครือของข้อกฎหมายนี้อาจรวมไปถึงการโพสต์ภาพลงในเว็บไซต์ที่แสวงหากำไร เช่น เฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมอีกด้วย

ไมเคิล แม็กส์ ประธานวิกิมีเดียในอังกฤษกล่าวว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวถือเป็น "หายนะ" ทำให้ช่างภาพในเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทัมเบลอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ มีความเสี่ยงด้านกฎหมาย และจะกระทบต่อเว็บไซต์อื่นๆ ที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไรแต่เป็นไปในเชิงให้การศึกษา รวมถึงเว็บไซต์การกุศลและเว็บไซต์วิชาการอีกด้วย ซึ่งถ้าหากข้อเสนอแก้ไขได้รับการอนุมัติจะส่งผลให้ผู้ถ่ายทำภาพยนตร์จำนวนมากต้องหนีออกไปถ่ายทำนอกพื้นที่ยุโรป

เรดาเปิดเผยอีกว่าก่อนหน้าที่กฎหมายนี้จะเข้าสภายุโรปได้มีการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการกิจการด้านกฎหมายซึ่งเธอมองว่าคณะกรรมาธิการดังกล่าวไม่ได้พิจารณากฎหมายอย่างถี่ถ้วน แต่มีแค่ความคิดแบบเดิมๆ ที่ว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

แต่จากกระแสต้านทำให้เรดามองว่าการแก้ไขกฎหมายนี้จะไม่กลับมาอีกครั้งเพราะมี ส.ส. ที่ลงมติคัดค้านจำนวนมากรวมถึงส.ส. คาวาดา เองก็ร่วมโหวตคัดค้านด้วย รวม 502 คน ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนมีเพียง 40 คน ทั้งนี้ยังมีการรณรงค์จากที่อื่นๆ เช่น ราชวิทยาลัยแห่งสถาปนิกอังกฤษ (RIBA) เคยแถลงเมื่อเดือน มิ.ย. ว่าการแก้ไขกฎหมายนี้อาจจะทำให้เกิดข้อจำกัดซึ่งส่งผลกระทบเสียหายต่อการถกเถียงอภิปรายเรื่องสถาปัตยกรรมและพื้นที่สาธารณะ ขณะที่ในเว็บ Change.org มีการรณรงค์ล่ารายชื่อคัดค้านการแก้กฎหมายนี้จนได้รับรายชื่อมากกว่าครึ่งล้าน

เรดายังหวังจะผลักดัน "เสรีภาพในทัศนียภาพ" (Freedom of Panorama) ให้กลายเป็นวาระสำคัญในประเด็นลิขสิทธิ์ของยุโรป ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องการถ่ายภาพแล้วก่อนหน้านี้ส.ส.เยอรมนียังเคยเสนอเก็บ "ภาษีชิ้นส่วนข่าว" (Snippet Tax) ที่ทำให้กูเกิลเลิกเผยแพร่ข่าวจากเยอรมนีเพื่อป้องกันปัญหาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเรดาว่าเป็นภาษีที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประเทศตนเองได้ แต่ข้อเสนอนี้ก็ถูกโหวตลงมติคัดค้านไปในที่สุดเช่นกัน

ข่าวดีอีกเรื่องหนึ่งสำหรับผู้สนับสนุนเสรีภาพคือมีการเรียกร้องให้เกิดระบบการยืมหนังสือทางอินเทอร์เน็ตและการทำให้ห้องสมุดเป็นระบบดิจิตอลเพื่อเอื้อต่อการค้นหาข้อมูลสำหรับนักวิทยาศาสตร์ แต่เรดาก็บอกว่าเธอจะยังต้องเดินหน้าทำงานรณรงค์ต่อไปเพราะยังมีบริษัทหลายกลุ่มที่ต่อต้านเสรีภาพข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งโดยส่วนตัวเธอเองคิดว่าเป็นการนำเรื่องลิขสิทธิ์มาอ้างเพื่อหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งการให้บริษัทเอกชนแทรกแซงกฎหมายลิขสิทธิ์มากขึ้นจะส่งผลเสียต่อเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพราะทำให้ข้อมูลเข้าถึงได้ยากขึ้นจากการบล็อคเนื่องจากกลัวว่าจะละเมิดลิขสิทธิ์

เรียบเรียงจาก

A German pirate just saved our right to take public selfies, Wired, 10-07-2015
http://www.wired.co.uk/news/archive/2015-07/10/public-selfies-saved-by-a-german-pirate

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท